สิ่งปลูกสร้างที่มนุษย์สร้างเพื่อควบคุมธรรมชาติ ซึ่งผ่านการตัดสินใจโดยไม่ได้รับฟังความเห็นรอบด้านของรัฐ มักเป็นปัญหาที่ปรากฎให้เห็นอยู่ทั่วไปในประเทศไทย ทั้งส่งผลกระทบต่อชุมชนในพื้นที่ทั้งด้านความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อมที่หายไป สิทธิทำกินและอยู่อาศัย รวมถึงความสวยงาม 

ภาพยนตร์เรื่อง Solids by the Seashore (ทะเลของฉัน มีคลื่นเล็กน้อยถึงปานกลาง) กำกับโดย ปฏิภาณ บุณฑริก และนำแสดงโดย ไอลดา พิศสุวรรณ และรวิภา ศรีสงวน เป็นภาพยนตร์ที่เลือกสะท้อนการกดทับทางโครงสร้างของมนุษย์ในแง่มุมทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและต่อมนุษย์ด้วยกัน 

Opening Ceremony of Rainbow Warrior Ship Tour in Thailand. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
กรีนพีซ ประเทศไทย จัดงาน “Rainbow Warrior Ship Tour 2024: Ocean Justice” ที่มิวเซียมสยาม นับเป็นการเริ่มกิจกรรมรณรงค์ของ เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ เรือธงที่ใช้ในการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมของกรีนพีซ มาถึงเมืองไทย ทำงานร่วมกับชุมชน เพื่อผลักดันเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเล สิทธิชุมชนชายฝั่ง และความเท่าเทียมทางด้านสิ่งแวดล้อม © Chanklang Kanthong / Greenpeace

หนึ่งในไฮไลท์ของกิจกรรมของกรีนพีซ Rainbow Warrior Ship Tour 2024 : Ocean Justice เมื่อ 1-2 มิถุนายน 2567 ที่มิวเซียมสยาม คือ การจัดฉายภาพยนตร์ Solid by the Seashore พร้อมร่วมพูดคุยกับหนึ่งในนักแสดงนำ แพร-รวิภา ศรีสงวน และผู้ทำงานขับเคลื่อนคัดค้านกำแพงกั้นคลื่นมาตั้งแต่ปี 2555 น้ำนิ่ง- อภิศักดิ์ ทัศนี จาก Beach for Life  ที่มาร่วมกันกัดเซาะแต่ละผลึกชั้นของความลึกซึ้งของภาพยนตร์และผลกระทบจากโครงสร้างที่หนังเรื่องนี้อาจจะไม่อยากให้เรามองผ่านด้วยสายตาที่ชาชิน

*บทความมีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์


ปฏิภาณ บุณฑริก ผู้กำกับเคยกล่าวไว้ว่า “เขื่อนหินกั้นคลื่นถูกสร้างเพื่อปกป้องชายหาด แต่มันดันกัดเซาะมากกว่าเดิม ก็เหมือนชีวิตมนุษย์ที่เราสร้างกำแพงในใจเพื่อปกป้องบางอย่าง แต่มันกลับกัดเซาะตัวเราเอง” ภาพยนตร์ Solids by the Seashore ได้ผ่านการกลั่นกรองและสร้างสรรค์ของผู้กำกับด้วยระยะเวลาเกือบสิบปี ปฏิภาณสนใจในประเด็นกำแพงกั้นคลื่นที่จังหวัดสงขลาและผลกระทบจากโครงการต่อชุมชน จนกระทั่งได้ขยายผลเปรียบเทียบถึงโครงสร้างจากการผลิตสร้างของมนุษย์ผู้มีอำนาจตัดสินใจต่อทั้งสิ่งแวดล้อมและชีวิตของคน 

Solids by the Seashore ดำเนินเรื่องบนความสัมพันธ์ของชาตี หญิงมุสลิม และฝน ศิลปินหญิงจากกรุงเทพ ผู้ที่ต้องการสะท้อนถึงปัญหากำแพงกันคลื่นผ่านนิทรรศการ เรื่องราวเกิดขึ้นที่จังหวัดหนึ่งในภาคใต้ โดยมีประเด็นสิ่งแวดล้อมอย่าง ชายหาดและกำแพงกันคลื่น ซึ่งเป็นการก่อสร้างโครงสร้างขนาดใหญ่จากความพยายามแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งของรัฐ ด้วยการนำหินขนาดใหญ่มาเรียงเป็นกำแพงสูงเพื่อหวังลดการปะทะของคลื่น แต่การป้องกันดังกล่าวกลับสร้างผลกระทบอย่างไม่มีวันหวนกลับ กลายเป็นการเร่งทำลายชายหาดและชีวิตของคนมากกว่าปกป้อง

กรณีที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนคือ แนวชายฝั่งที่หายไปของหาดสะกอม จ.สงขลา ที่ไม่เพียงส่งผลต่อภูมิทัศน์ของหาด อาชีพของชุมชนและชาวประมงพื้นบ้านก็ได้รับความเสียหายจากแนวชายฝั่งที่หายไปเช่นกันโดยแนวดินทรายที่แบ่งตัวเป็นชั้นสูงเหนือศีรษะที่ปรากฎอยู่ในภาพยนตร์นั้น คือภาพที่เกิดขึ้นจริงกับหาดสะกอม โดยความสวยงามของชายหาดถูกทดแทนด้วยหน้าผาลึกกว่า 5 เมตร ตลอดแนวยาวเกือบ 3 กิโลเมตร ซึ่งผาลึกนี้เกิดขึ้นหลังการสร้างกำแพงกั้นคลื่นเพียง 1 ปีเท่านั้น

แพร รวิภา ศรีสงวน นักแสดงนำในภาพยนตร์กล่าวว่า “เขื่อนกั้นคลื่น เป็นสัญลักษณ์ที่มนุษย์สร้างมาเพื่อปกป้องอะไรสักอย่าง เหมือนมนุษย์กับโครงสร้างในสังคมที่สร้างมาเพื่อป้องกันอะไรสักอย่าง ไม่ได้สื่อว่าดีหรือไม่ดี แต่ภาพยนตร์แสดงให้ถึงผลกระทบอื่นนอกจากสิ่งแวดล้อม เช่น ศาสนากับคน”

น้ำนิ่ง อภิศักดิ์ ทัศนี จาก Beach For Life ให้มุมมองต่อสิ่งที่ภาพยนตร์พยายามสื่อว่า “โครงสร้างที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่นแนวคิดที่ใช้กับชายหาดธรรมชาติโดยอยู่บนหลักการว่า ‘ทำแบบนี้สิ ใช้ได้กับทุกหาด’ หรือกับมนุษย์ แต่ที่จริงธรรมชาติแตกต่าง ไม่ได้ใช้แบบนี้ได้กับทุกคนหรือกับทุกที่”

น้ำนิ่ง เป็นผู้หนึ่งที่ทำงานประเด็นนี้มาตั้งแต่มัธยมศึกษาปีที่ 5 หรือช่วงเวลาราว 10 ปี แต่น้ำนิ่งเล่าว่าพี่อิฐ ผู้กำกับได้ทำงานเรื่องนี้มาก่อน ตั้งแต่ช่วงที่มีประเด็นทางการเมืองที่ภาพยนตร์เองก็ระบุถึง คือ คดีจ้างวานฆ่านายพีระ ตันติเศรณี อดีตนายกเทศมนตรีนครสงขลา ผู้ที่คัดค้านโครงการเขื่อนกั้นคลื่นที่สงขลา และโครงการที่ทำลายสิ่งแวดล้อมอื่นๆ น้ำนิ่งเผยว่า “เรื่องนี้ทำให้พี่อิฐรู้สึกฝังใจ และทำการบ้านมาสิบปีจนกระทั่งหนังเรื่องนี้เสร็จ กำแพง สิ่งแวดล้อม ศาสนา นี่คือความแยบยลของพี่อิฐที่มองเห็น  จากมุมของผมคือ หนังไปไกลกว่าสิ่งแวดล้อม และเป็นการตั้งคำถามว่าธรรมชาติคืออะไรกันแน่”

น้ำนิ่งยังให้ข้อมูลเพิ่มว่า หลายประเทศเริ่มตระหนักถึงข้อเสียของกำแพงกันคลื่นและทำลายกำแพงเหล่านี้ลง เช่น ที่ญี่ปุ่นที่รู้ว่ากำแพงอะไรก็สู้สึนามิไม่ได้ ที่ฮาวายที่สูญเสียชายหาดไปเพราะกำแพงกันคลื่น 

“แต่ไทยมีโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งเหล่านี้ไม่ต่ำกว่า 125 โครงการ ใช้งบประมาณกว่า 8,500 ล้านบาท โดยไม่ศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเลย ขณะนี้ชายหาดเช่นที่ ชะอำ ปราณบุรี เริ่มหายไป และทำให้คนต่างชาติคนนึงต้องพิการเพราะลื่นล้มที่ชายหาดชะอำจนยังไม่ฟื้นถึงทุกวันนี้ 

เรารบกวนธรรมชาติเกินกว่าศักยภาพที่ธรรมชาติจะเยียวยาได้ ภาพที่เห็นชายหาดเว้าแหว่งในหนังบางส่วนคือถ่ายที่ระยอง มาบตาพุด ที่ที่ซึ่งเต็มไปด้วยอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จนธรรมชาติไม่สามารถกลับมาแล้ว เราอาจจะต้องยอมรับธรรมชาติอย่างที่ควรจะเป็นบ้าง และเราก็ถอยร่นลงมาซะ”

ในภาพยนตร์ยังกล่าวถึงผลจากการกัดเซาะที่ชัดเจนจากกำแพงกันคลื่นว่าทำให้วัฏจักรของหาดทรายเปลี่ยนไป และทำให้การกัดเซาะรุนแรงขึ้น ต้องเติมโครงสร้างเรื่อยๆ จนหาดทรายไม่เหมือนเดิม และกลายเป็นหน้าตาน่าเกลียดจากการที่ทรายที่ถูกนำมาจากที่อื่นไม่เหมือนกับทรายในพื้นที่หาดเดิม มองไปรอบๆจะเห็นทุกอย่างพังทลายจนไม่สามารถกลับไปเป็นดังเดิมได้ 

“แต่เดี๋ยวนี้ตาเราปรับให้ชินกับหาดแบบนี้ไปแล้ว” ชาตี ตัวละครในเรื่องกล่าวถึงหาดน่าเกลียดที่เกิดขึ้นจากกำแพงกันคลื่น

ปัญหาที่ชาตีต้องพบเจออย่างชาชินด้วยสายตา ไม่ได้มีเพียงแค่มองเห็นถึงการเปลี่ยนไปของชายหาดที่เธอผูกพันมาตั้งแต่สมัยนั่งเล่นที่ชายหาดกับ “โต๊ะ” หรือยายทุกวัน เมื่อเธอเติบโตขึ้น เธอต้องอยู่ในกรอบ ที่ส่งผลไปยังสังคม และวิถีชีวิต 

ภาพตัวละครชาตีนั้นตัดกับฝนอย่างสิ้นเชิง หญิงสาวศิลปินจากกรุงเทพฯ ที่เปี่ยมไปด้วยความเป็นอิสระ ทั้งการแต่งตัว การใช้ชีวิต และการตัดสินใจ ความสัมพันธ์ของทั้งสองพัฒนาขึ้น ขณะที่ชาตีก็ค่อยๆดูมีชีวิตชีวามากขึ้น ราวกับหาดทรายที่สะท้อนแสงแดดและรับแรงคลื่นตามธรรมชาติ แต่ความสัมพันธ์ของทั้งสองนั้นผิดจากกรอบและหลักที่สังคมสร้างกำแพงมากั้นไว้ แม้ว่าความรักและความสัมพันธ์ระหว่างสองคน จะเป็นเรื่องที่แสนธรรมดาสามัญตามธรรมชาติของมนุษย์ก็ตามที

ภายใต้โครงสร้างที่สังคมมนุษย์ก่อตั้งขึ้น หนึ่งในระบบที่ฝังรากลึกที่สุดในสังคมมาตั้งแต่ประวัติศาสตร์มนุษยชาติคือระบบปิตาธิปไตยและกรอบแนวคิด Heteronormativity หรือบรรทัดฐานความปกติรักต่างเพศ ที่กำหนดบทบาทของเพศหญิงและชายในรูปแบบต่างๆ เช่น ความสัมพันธ์เป็นเรื่องของหญิง-ชายเท่านั้น หรือเพศชายเป็นเพศที่เหนือกว่าเพศอื่น สมควรได้รับสิทธิและการควบคุมเหนือเพศอื่น อย่างไรก็ตาม ธรรมชาติที่แท้จริงคือความหลากหลาย แต่มนุษย์คือผู้ที่ก่อโครงสร้างแบบขั้วตรงข้ามและเหมารวมว่าความถูกต้องและความปกติคืออะไร และระบบที่ส่งเสริมหลักการนี้คือระบบปิตาธิปไตยที่ปลูกฝังแนวคิดการครอบงำเหนือธรรมชาติและเพศหญิง (หรือเพศอื่นที่ไม่ใช่ชายตามบรรทัดฐาน) 

แพรกล่าวว่า “ทุกคนมีรูปแบบตอนจบของเรื่องอยู่ในใจ ถึงแม้เขื่อนกันคลื่นที่รัฐทำได้จะมีแต่ผลกระทบที่ทิ้งร่อยรอยบนทรายไว้ และปัญหานี้จะไม่ได้มีคนใส่ใจเท่าพลาสติกหรือปัญหาสิ่งแวดล้อมแบบอื่น แต่ถึงเวลาแล้วที่เราต้องกังวลเรื่องนี้กับการบริหารประเทศแบบนี้ ในเมื่อเรารู้ถึงปัญหาแล้ว เราต้องตั้งคำถามกับมันว่าถูกต้องหรือไม่ และสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นและทำลายธรรมชาติกับวิถีชีวิตคนนี้ยังเชื่อมโยงกับการคอรัปชั่นของหลายภาคส่วน นี่ควรเป็นสิ่งที่เราต้องเริ่มกังวล”


Ocean Justice เป็นหนึ่งในแคมเปญรณรงค์ระหว่างประเทศของกรีนพีซ ที่เรียกร้องให้เกิดการจัดการทรัพยากรทางทะเล ควบคู่ไปกับคำนึงถึงมิติด้านสังคม วัฒนธรรม และการมีส่วนร่วมของชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชายฝั่ง โดยการทำงานของเรือ Rainbow Warrior ในครั้งนี้มุ่งให้เกิดการหันมาส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน และการทำงานร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้เกิดการจัดการทรัพยากรทางทะเลของไทยที่ยั่งยืนและเป็นธรรม