“เอกสารสรุปเชิงนโยบายการจัดพื้นที่คุ้มครองทางทะเลโดยชุมชนเป็นผู้นำเพื่อการออกแบบอนาคตยั่งยืน” ถึงมือนายมาหะมะพีสกรี วาแม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา แล้ว! ในงานรณรงค์ปกป้องทะเลและมหาสมุทรภายใต้โครงการ “Rainbow Warrior Ship Tour 2024: Ocean Justice” ที่หาดสวนกง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา 

ส่งท้ายกิจกรรมที่หาดสวนกง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลาของเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ โดยเครือข่ายชุมชนชายฝั่ง ประกอบด้วยเครือข่ายชุมชนชายฝั่งจาก เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น, สมาคมรักษ์ทะเลจะนะ, จะณะแบ่งสุข, เครือข่ายนาทวียั่งยืน และกรีนพีซ ประเทศไทย ได้ส่งมอบ ‘เอกสารสรุปเชิงนโยบายการจัดพื้นที่คุ้มครองทางทะเลโดยชุมชนเป็นผู้นำเพื่อการออกแบบอนาคตยั่งยืน’ ต่อตัวแทนรัฐบาล ผลักดันการมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายในพื้นที่บ้านเกิด โดยทางชุมชนระบุว่าอำเภอจะนะเป็นพื้นที่แรกๆ ที่พัฒนานโยบายจากล่างขึ้นบน ที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของชุมชนเพื่อพัฒนาจากสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจไปพร้อมกับฐานทรัพยากร และแสวงหาความร่วมมือจากรัฐบาล

“ยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางอาหาร การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน การท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่รักษาทรัพยากร และการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างเป็นธรรม ข้อเหล่านี้สามารถดำเนินการได้จริงแล้ว แต่ยังต้องการการสนับสนุนเชิงนโยบาย ดังนั้นจึงควรเปลี่ยนยุทธศาสตร์เหล่านี้ให้เป็นนโยบายที่เกิดจากความร่วมมือของภาครัฐ” วิภาวดี แอมสูงเนิน นักรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าว 

รุ่งเรือง ระหมันยะ นายกสมาคมรักษ์ทะเลจะนะ กล่าวว่า  “พวกเราส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารในพื้นที่ควน ป่า นา เล เราเล็งเห็นถึงความเชื่อมโยงในระบบนิเวศและพึ่งพาอาศัยกัน ความมั่นคงทางอาหารในนิยามของเราคือ เข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย มั่นคงแม้ในยามภัยพิบัติ  สามารถส่งออกได้ เราจึงขอเสนอให้รัฐใช้กรอบคิดในการจัดพื้นที่คุ้มครองทางทะเลที่มีประชาชนเป็นผู้นำ โดยปรับปรุงพ.ร.บ.ส่งเสริมบริหารจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง 2558 ให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการจัดการทรัพยากร คำนึงถึงการเข้าถึงของชุมชนอย่างเท่าเทียม และคำนึงถึงปัญหาที่ไม่เท่ากันที่มีอยู่ โดยกำหนดเขตต่างๆ เช่น เขตห้ามจับปลาถาวร สร้างความเชื่อใจระหว่างกลุ่มผ่านการสื่อสาร พัฒนาทักษะของชุมชนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงรายงานกลับไปยังสาธารณะชนอย่างโปร่งใส” 

เธียรรัตน์ แก้วนะ ตัวแทนเกษตรกรจากชุมชนพื้นที่จะนะ กล่าวพ้องว่า “เราเห็นร่วมกันว่าเศรษฐกิจเชิงนิเวศคือการผลิตสินค้าที่มาจากภูมิปัญญา ผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้เหลือขยะน้อยที่สุด พวกเราเชื่อว่าเรามีศักยภาพในการพัฒนาตน สร้างเศรษฐกิจในการพัฒนาชุมชนได้เพียงแต่ขาดทักษะ ตลาด และการซื้อขายติดต่อกับผู้บริโภคโดยตรง เราจึงเสนอให้ปรับปรุงพ.ร.บ.นี้ และส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน รวมถึงทำงานกับกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อจัดตั้งธุรกิจระดับกลางให้เป็นซอฟท์พาว์เวอร์จากสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของประเทศ ให้การสนับสนุนด้านการขนส่ง การตลาด และการส่งเสริมชุมชนให้พัฒนาทักษะ” 

เจะปิ อนันทบริพงษ์  ประธานกลุ่มจระโผ้ง ผู้ประสานงานกลุ่มประมงพื้นบ้านตำบลสะกอม อำเภอเทพา  กล่าวว่า “เราอยากให้มีการเชื่อมโยงทั้งชุมชน สิ่งแวดล้อม และภูมิปัญญาท้องถิ่น ตามนโยบายภาครัฐที่บอกว่า “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” 

สนธยา ประไพทรัพย์ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 5 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หนึ่งในผู้มาร่วมกิจกรรมรับมอบนโยบาย แสดงความคิดเห็นว่า “ทางชุมชนชายฝั่งโดยเฉพาะสวนกง จะนะ เทพา เป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็ง และทรัพยากรชายฝั่งหน้าบ้านมีความอุดมสมบูรณ์ การที่ชุมชนร่วมกันดูแลรักษา การที่เครือยื่นหนังสือกับกรมทรัพย์ฯ อยากให้เป็นพื้นที่ความมั่นคงทางอาหาร กรมฯเองมีความยินดีที่จะสนับสนุนการประกาศพื้นที่ความมั่นคงทางอาหารของชุมชน และให้ความร่วมมือในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมสนับสนุนทางวิชาการ แผนและงบประมาณที่กรมสามารถจะจัดสรร โดยเฉพาะในเรื่องของการฟื้นฟูทั้งซั้งและปะการังเทียม ให้ทรัพยากรอุดมสมบุรณ์ขึ้น รวมถึงเรื่องเจ้าหน้าที่และเรือที่จะดูแลเครื่องมือประมงผิดกฎหมายในพื้นที่อำเภอจะนะและเทพา อีกส่วนคือเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่คุ้มครองทางทะเลร้อยละ 30 ภายในปี ค.ศ. 2030 กรมทรัพย์ฯมีนโยบายที่ให้ชุมชนชายฝั่งได้มีการดูแลรักษากันเอง โดยใช้กติกาชุมชนจากการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากชุมชนที่พร้อมที่พื้นที่คุ้มครองทางทะเล กำหนดการใช้เครื่องมือและประโยชน์เองตามข้อตกลงของชุมชน”

ในการรับมอบนโยบายฉบับนี้ “เอกสารสรุปเชิงนโยบายการจัดพื้นที่คุ้มครองทางทะเลโดยชุมชนเป็นผู้นำเพื่อการออกแบบอนาคตยั่งยืน” มาหะมะพีสกรี วาแม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและความเร่งด่วนของวิกฤตสภาพภูมิอากาศว่า “เรามีความจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติด้วยความจำเป็นท่ามกลางวิกฤตสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน แต่ทรัพยาการธรรมชาติทุกวันนี้ถูกทำลายด้วยน้ำมือของมนุษย์ จนกระทั่งเกิดภาวะโลกร้อน น้ำท่วม และปัญหามลพิษ เราจึงควรหันมาใช้ทรัพยาการด้วยความคิด ไม่งั้นโลกเราคงอยู่ไม่ได้ต่อไป”

การส่งมอบนโยบายของชุมชนในครั้งนี้เป็นการสื่อสารไปยังรัฐบาลเพื่อให้ความสำคัญกับการพัฒนาในระดับรากหญ้า สร้างรากฐานที่มั่นคงให้กับเศรษฐกิจและสังคมในระดับชุมชน ให้ความสำคัญกับการพัฒนานโยบายล่างขึ้นบนโดยคำนึงถึงการรักษาฐานทรัพยากร ความหลากหลายทางชีวภาพ สิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชน และสิทธิในการมีส่วนร่วมในการพัฒนา ซึ่งจะเป็นพื้นฐานการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนบนฐานทรัพยากรในพื้นที่อำเภอจะนะและบริเวณข้างเคียงจากการดูแลจัดการโดยชุมชน เลือกเส้นทางพัฒนาบ้านของเราในแบบที่เราต้องการ

Voice of Chana

รายงาน “เสียงแห่งจะนะ” เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างภาคประชาชน นักวิชาการ และภาคประชาสังคม 

อ่ารายงาน