ในวันที่ 8 มิถุนายน 2567 ซึ่งเป็นวันมหาสมุทรโลก (World Oceans Day) เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์และกรีนพีซ ประเทศไทยจึงใช้โอกาสนี้เชิญชวนกลุ่มชุมชนชายฝั่ง ผู้ปกป้องทรัพยากรทางทะเลและสิทธิของชุมชน มาร่วมพูดคุยและนำเสนอแนวทางการพัฒนาพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นแนวทางด้านการจัดการทรัพยากรทะเลชายฝั่ง ด้านความมั่นคงทางอาหาร และสิทธิชุมชนชายฝั่ง เพื่อกำหนดทิศทางในการพัฒนาพื้นที่ที่ตนอาศัยอยู่ร่วมกัน ในวงสนทนาบนเรือ “การมีส่วนร่วมของชุมชนในการกำหนดนโยบายและบริหารจัดการทรัพยากรทะเล” 

วงสนทนาครั้งนี้มีตัวแทนจากชุมชนชายฝั่งกว่า 8 ชุมชน จาก 4 จังหวัดในภาคใต้ (ชุมพร ระนอง สงขลาและพัทลุง) เข้าร่วมนำเสนอแนวทางและพูดคุยถึงความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาให้เป็นนโยบาย ‘การเพิ่มพื้นที่คุ้มครองโดยมีชุมชนเป็นผู้นำ’ โดยในวงสนทนานี้ยังมี พูนศักดิ์ จันทร์จำปี ประธานคณะกรรมาธิการการที่ดิน การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มาร่วมรับฟังและบันทึกข้อเสนอของชุมชนอีกด้วย

วงสนทนาจากตัวแทนเครือข่ายใน ชุมพร ระนอง สงขลาและพัทลุง เพื่อ ‘เพิ่มพื้นที่คุ้มครองโดยมีชุมชนเป็นผู้นำ’

กฏหมายประมง การประมงเกินขนาด การสร้างพื้นที่คุ้มครองทางทะเลที่ชุมชนมีส่วนร่วม และการปรับตัวของชาวประมงพื้นบ้านในยุคโลกเดือด

ณรงค์ ม่วงทองคำ สมาคมสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย พูดคุยในประเด็นดังกล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐมีนโยบายส่งเสริมการทำประมงพาณิชย์โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงการรักษาสมดุลของระบบนิเวศ ทำให้เราเจอปัญหาเครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมาย เช่น อวนตาถี่ที่เป็นเครื่องมือประมงทำลายล้าง จับทุกอย่างขึ้นมาสู่ผิวน้ำ ในชุมพรตอนนี้มีเรือที่ทิ้งอวนปลากระตักอยู่มากกว่า 200 ลำ นอกจากจะจับปลากระตักไปแล้ว อวนยังลากสัตว์อื่น ๆ ไปด้วยแบบไม่เลือก ส่งผลทำให้ทรัพยากรทางทะเลถูกทำลาย นอกจากนี้ยังมีประเด็นของวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านต้องรับมือกับความไม่แน่นอนของสภาพอากาศ ส่งผลต่อการออกเรือหาปลา และตอนนี้ถึงเวลาที่ชุมชนจะต้องเสริมความเข้มแข็ง ร่วมกันเป็นผู้กำหนดนโยบายการพัฒนาพื้นที่ร่วมกับภาครัฐเพื่อใช้ทรัพยากร และดูแลรักษาให้ทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ที่ชุมพรยังคงมีอยู่ต่อไปในอนาคต

สิทธิชุมชนในการบริหารจัดการทรัพยากรและมีส่วนร่วมในการออกแบบการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างยั่งยืนร่วมกับภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรม

รุ่งเรือง ระหมันยะ ตัวแทนจากเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ให้ความเห็นว่าทรัพยากรทางทะเลเป็นของทุกคน การที่ชุมชนทำมาหากินด้วยการแสวงหาจากทรัพยากรทางทะเลจะต้องมีกฎกติกา หากผู้ออกกฎกติกาเอาแต่เอื้อผลประโยชน์ให้กับพวกพ้องเพียงบางกลุ่มกันเอง คนส่วนใหญ่จะลำบาก ดังนั้น เราจำเป็นต้องสร้างความสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจ (นโยบายเศรษฐกิจที่เน้นการผลิตปริมาณมหาศาล) จากการใช้ทรัพยากรทางทะเลกับความยั่งยืนของระบบนิเวศ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือนโยบายและข้อบังคับของรัฐทำให้กลุ่มชุมชนผู้ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านทำมาหากินลำบากมากขึ้น ทั้งประเด็นที่ข้อกำหนดบางข้อยังคลุมเครือ บางข้อเอื้อประโยชน์ให้อุตสาหกรรมประมงที่ใช้เครื่องมือทำลายพื้นที่ชายฝั่งซึ่งเป็นแหล่งอาศัยและขยายพันธุ์ของสัตว์เศรษฐกิจ รวมทั้งสัตว์น้ำวัยอ่อนที่สำคัญมากมาย

“เครือข่ายชุมชนของเรามีความเข้มแข็ง ถ้าเรารวมตัวกันไม่ได้เราจะอ่อนแอไม่สามารถต่อรองกับรัฐได้ แต่ถ้าเรารวมตัวกันได้ด้วยความเข้มแข็ง เราสามารถทำข้อมูลนโยบายไปยื่นกับรัฐบาลได้ การเก็บข้อมูลและทำยุทธศาสตร์ เช่น คุณมีทุเรียนเท่าไร มีปูมีกุ้งเท่าไร มีทรัพยากรสัตว์ทะเลที่เป็นอาหารเท่าไร มีสัตว์ทะเลที่ควรอนุรักษ์ไว้เท่าไร ให้ช่วยกันรวบรวมมาเพื่อเป็นฐานข้อมูลให้รัฐเห็นว่าชุมชนของเรามีดีเกินกว่าจะพัฒนาเป็นแค่โครงการนิคมอุตสาหกรรม”

นโยบายการพัฒนาที่ส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศที่เชื่อมต่อกันจากป่าต้นน้ำสู่ทะเล

เบญจวรรณ ทับทิมทอง จากเครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ ชี้ไปที่รูปแบบการกำหนดนโยบายแบบบนลงล่าง (Top-Down)  ที่รัฐมุ่งแสวงหาทรัพยากรไม่ว่าจะเป็น ทรัพยากรป่าไม้ หรือทรัพยากรทางทะเล กำหนดการพัฒนาระบบเศรษฐกิจมาในรูปแบบอุตสาหกรรมเป็นหลัก นโยบายลักษณะนี้ลุกลามไปทั่วประเทศและส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม เมื่อระบบนิเวศในท้องถิ่นเปลี่ยนแปลงไปเพราะอุตสาหกรรมที่เติบโตในด้านปริมาณเพียงมิติเดียว ชุมชนก็ใช้ชีวิตอยู่ไม่ได้เพราะอุตสาหกรรมก็เอาทรัพยากรของพวกเขาไปหมด ในที่สุดชุมชนก็จำเป็นต้องอพยพย้ายถิ่นฐาน และในชุมพรเองกำลังจะมีโครงการแลนด์บริดจ์และนิคมอุตสาหกรรม โครงการนี้จะส่งผลกระทบกับแหล่งต้นน้ำของชุมพรและระนองที่ไหลลงทะเลและคนที่ได้รับผลมากที่สุดก็คือก็คือคนท้องถิ่น

ผลกระทบของนโยบายพัฒนาต่อกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มคนไร้สัญชาติ และการมีส่วนร่วมในการปกป้องทรัพยากรทางทะเลผ่านวัฒนธรรมภูมิปัญญา

รสิตา ซุ่ยยัง ตัวแทนจากเครือข่ายรักษ์ระนอง มองว่าการพัฒนาต้องเคารพสิทธิของชุมชน ยกตัวอย่างเช่นกรณีของชุมชนชาวมอแกนที่อยู่อาศัยในพื้นที่มานานแต่กลับได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐถือเป็นกรณีที่รัฐไม่เคารพสิทธิมนุษยชนเลย สิ่งที่รัฐต้องทบทวนใหม่คือการเข้ามาร่วมออกแบบการใช้ทรัพยากรกับชุมชนด้วยความเคารพต่างหาก การกระทำแบบนี้จะสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศและรายได้ให้กับชุมชนได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่การสร้างประโยชน์ให้แค่กลุ่มคนที่ได้ผลประโยชน์เท่านั้น

นโยบายในการดูแลพื้นที่อาศัยและสืบพันธุ์ของสัตว์ทะเลที่มีคุณค่าต่อความมั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะพื้นที่ใกล้ปากน้ำ และผลกระทบของชาวประมงพื้นบ้านจากนโยบายที่ซ้ำเติมภาวะโลกร้อน

วิสูตร บุนนาค ตัวแทนชาวประมงพื้นบ้านหลังสวน-ละแม หรือผู้ใหญ่ชาย ที่คนในพื้นที่เรียกให้ความเห็นว่า การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุคือต้องแก้ที่นโยบายรัฐ รายได้อันดับสองของคนชุมพรคือการประมง แต่การย่นเขตพื้นที่ทะเลชายฝั่งน้อยลง จาก 3 ไมล์ เหลือ 2 ไมล์ครึ่ง (ชุมชนเสนอ 5 ไมล์ครึ่ง เพราะเป็นระยะที่ปลาทูวางไข่) จะทำให้เรือประมงพาณิชย์ทำประมงเข้าใกล้ชายฝั่งมากขึ้น จะส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเล นอกจากชาวบ้านจะออกทะเลได้น้อยลงแล้ว สัตว์ทะเลหลายชนิดที่กินสัตว์เล็กสัตว์น้อยเป็นอาหาร เช่น วาฬ จะหายไปจากพื้นที่ ดังนั้นการกำหนดนโยบายของรัฐบาลจำเป็นจะต้องฟังเสียงประชาชนในพื้นที่

นโยบายการบริหารจัดการพื้นที่ชายฝั่ง บทบาทของคนรุ่นใหม่ในการปกป้องพื้นที่ชายฝั่งการรักษาชายหาด สิทธิชุมชนและการมีส่วนร่วมของผู้คนในการปกป้องทะเล

น้ำนิ่ง อภิศักดิ์ ทัศนี จาก Beach For Life คนรุ่นใหม่ที่ร่วมปกป้องชายหาดจากผลกระทบของกำแพงกันคลื่น อธิบายว่า ผลกระทบที่เกิดต่อชายฝั่งและทะเลหลายอย่างเกิดจากนโยบายของรัฐในการสร้างกำแพงกันคลื่น  หลังการทำโครงการกำแพงกันคลื่นถูกถอดออกจากโครงการที่ต้องทำการประเมินด้านสิ่งแวดล้อมหรือ EIA ตั้งแต่ปี 2556 ทำให้เกิดกำแพงกันคลื่นจำนวนมาก ผลกระทบที่ตามมาคือการกัดเซาะชายฝั่ง สูญเสียทั้งพื้นที่ชายหาดและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศทางทะเล 

ตั้งแต่ได้ทำงานรณรงค์เกี่ยวกับกำแพงกันคลื่น น้ำนิ่งเล่าว่าได้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างนโยบายสนับสนุนให้เศรษฐกิจโตเร็วด้วยการใช้ทรัพยากรมากขึ้น จึงเกิดการสนับสนุนให้มีเรือประมงขนาดใหญ่จำนวนมากขึ้น ผลที่ตามมาคือเมื่อมีเรือประมงขนาดใหญ่ก็ต้องสร้าง Jetty ปากร่องน้ำ นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างชายหาดในท้ายที่สุด และเมื่อเกิดปัญหาโครงสร้างชายหาดเปลี่ยนแปลงไป รัฐก็แก้ปัญหาด้วยการสร้างกำแพงกันคลื่น สิ่งเหล่านี้ล้วนเชื่อมโยงกันกลายเป็นประเด็นเรื้อรังที่แก้ไขไม่ได้

ด้วยมายาคติการสร้างกำแพงกันคลื่น การขาดความรู้เรื่องกำแพงกันคลื่น เราจะเห็นว่าประเทศไทยกำลังสร้างกำแพงกันคลื่นเรื่อย ๆ แต่ขณะที่ญี่ปุ่นกำลังรื้อกำแพงเหล่านี้ทิ้ง ในฐานะคนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบมองว่าไทยต้องเพิ่มการศึกษาเรื่องสมุทรศาสตร์มากขึ้นกว่านี้ และรัฐเองก็ต้องเปลี่ยนมุมมองและแนวคิดการจัดการทรัพยากรที่ต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วมมากขึ้น มิใช่การมองว่ารัฐเป็นเจ้าของทรัพยากร ชุมชนเพียงแค่มาอาศัยเท่านั้น

สิทธิของผู้คนในพื้นที่ต้นน้ำและเยาวชนในการเก็บข้อมูลและกำหนดนโยบายการพัฒนายั่งยืนของตนเอง

ครูนุ่น ปฐมพร ปูระนันท์ ครูสอนหนังสือจาก ต.นาทับ จ.สงขลา กล่าวว่า ชุมชนแต่ละพื้นที่มีของดีและมีวิถีชีวิตในการใช้ชีวิตพร้อมกับอนุรักษ์ อยู่ร่วมกัน แต่ปัจจุบันสิ่งเหล่านี้กำลังหายไป เรากำลังถูกตัดขาดจากสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะเด็ก เราอยากสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ ทลายกำแพงการเรียนรู้ผ่านแค่หนังสือแต่จะพาเด็ก ๆ ไปเจอกับคนที่เป็นแหล่งเรียนรู้จริง ๆ

โรงเรียนจะต้องมีความกล้าหาญมากพอที่จะปรับเพื่อให้เด็ก ๆ ได้เชื่อมกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมจริง ๆ เมื่อเด็กได้พบคนได้พบชุมชน เขาจะรู้จักตัวเองและเชื่อมโยงตัวเองกับสิ่งแวดล้อมได้ นอกจากนี้ชุมชนยังได้รับประโยชน์เพราะมีคนที่มารับฟังเรื่องราวการต่อสู้ของพวกเขา เติมเต็มให้ชุมชนมีพลังในการทำงานรณรงค์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

ชุมชนควรเข้ามาช่วยกำหนดหลักสูตรในการเรียนรู้ให้เด็ก เพื่อให้เด็กซึมซับความรู้ที่หลากหลาย รู้จักรากของตัวเองและเชื่อมโยงกับชุมชนได้ ทุกคนเป็นครูได้ไม่ใช่ครูคนเดียวที่เป็นผู้กำหนดความรู้ของเด็ก

ข้อสรุปของวงสนมนาในวันนั้น ชุมชนต่างเห็นว่าเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเลต้องจัดการให้ครบในทุกมิติ ดังที่ เชิดศักดิ์ เกื้อรักษ์ เลขาธิการมูลนิธิพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย ให้ความเห็นว่า อย่างกรณีพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นพื้นที่ที่เป็นรอยต่อระหว่างแผ่นดินกับทะเล มีระบบนิเวศหลากหลายที่เชื่อมต่อระหว่างบกกับทะเลไม่สามารถแยกส่วนกันได้ ดังนั้น ตั้งแต่ผืนป่า พื้นที่ชุ่มน้ำ ชายหาด ทะเล เพราะระบบนิเวศเชื่อมโยงกันทั้งหมด ดังนั้นการออกแบบนโยบายจะต้องนำคนที่อยู่ในพื้นที่เหล่านี้มาร่วมกันออกแบบด้วยกันทั้งหมดเพื่อให้เกิดการอนุรักษ์และปกป้องทรัพยากรอย่างแท้จริง