วันที่ 13 มิถุนายน 2567 เครือข่ายประชาชนเพื่อความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศกว่า 23 องค์กรร่วมแถลงข่าวเตรียมยื่นเสนอร่างกฎหมายโลกเดือด!!! เพื่อยับยั้งทุนนิยมสีเขียว ภายใต้พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นธรรมและยั่งยืน (ฉบับประชาชน) 

โดยใจความสำคัญของกฎหมายฉบับนี้คือการรวบรวมจิตวิญญาณของความห่วงใยการอยู่รอดของทุกชีวิตบนโลกใบนี้ที่ไม่ใช่แค่มนุษย์แต่รวมถึงธรรมชาติ สรรพชีวิต ความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งมันหมายถึงจิตวิญญาณของโลกทั้งมวล และจิตวิญญาณที่รัฐและภาคธุรกิจต้องมีต่อสังคม ที่จะปกป้องสิทธิของประชาชนทำให้เกิดการเคารพและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน สิทธิในชุมชน และสิ่งแวดล้อมให้เป็นคุณค่าหลักในการแก้ไขปัญหาโลกเดือดอย่างจริงจัง 

หยุดใช้คาร์บอนเครดิตในกฎหมายทุกฉบับ

สมบูรณ์ คําแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ผู้ทำงานหลักเรื่องป่าชายเลนภาคใต้ และทะเลชายฝั่งภาคใต้มองว่าโจทย์ที่ยากคือการอธิบายกับสังคมว่าทำไมเราถึงตั้งแง่กับคาร์บอนเครดิต กับเรื่อง BCG เพราะเรากำลังถูกทำให้เชื่อว่าคาร์บอนเครดิตจะแก้ไขปัญหาโลกร้อนได้เพราะหลักคิดมันคือการเพิ่มพื้นที่สีเขียว และมีป่าเกิดมากขึ้น การสร้างวาทกรรมสีเขียวของรัฐบาลสร้างความกังวลกับกลุ่มคนทำงานอย่างมากเพราะรัฐบาล และนายทุน กำลังใช้คาร์บอนเครดิตเป็นเครื่องมือผ่านกลไกต่างๆ ของรัฐในการเข้ายึดทรัพยากร ทำให้เกิดการลิดรอนสิทธิที่ดินต่างๆ  

“ตลาดคาร์บอนมันไม่ได้ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกจริงๆ ยกตัวอย่าง เหมือนนาย A ไปต่อนาย B แล้วก็มาจ่ายเงินเยียวยา ซึ่งมันไม่ได้ทำให้แผลหายจริงๆ แผลจะหายได้มันต้องเยียวยารักษา ไม่ใช่ใช้เงินฟาดเอา นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าต่อให้ไปปลูกต้นไม้ให้ทั่วบนสามโลก ก็แก้ปัญหาไม่ได้ตราบใดที่ยังไม่มีการปรับตัวหรือพฤติกรรมในเรื่องการใช้พลังงานที่เป็นการเพิ่มมลพิษให้กับโลกเรา  

“ผมตั้งข้อสังเกตต่อว่า เเล้วการส่งเสริมให้เราปลูกต้นไม้ในพื้นที่ป่าให้กับเอกชน แค่ในโลกนี้โลกเดียวเรายังไม่มีพื้นที่ป่าที่อยู่ในทะเลเลย ทั้งๆที่ มีทะเลกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ไปแล้ว มันแก้ปัญหาได้จริงหรือเปล่า?”

-สมบูรณ์ คําแหง

ในปี 2566 กรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้อนุมัติพื้นที่โครงการป่าชายเลนชุมชนเพื่อจัดทำ “ป่าคาร์บอนเครดิต”  รวมจำนวนทั้งสิ้น 99 แห่ง เนื้อที่ประมาณ 162,590 ไร่ อยู่ในพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ 36 แห่ง พังงา 23 แห่ง สตูล 17 แห่ง ตรัง 8 แห่ง ระนอง 6 แห่ง สุราษฎร์ธานี 4 แห่ง ชุมพร 2 แห่ง ภูเก็ต 1 แห่ง นครศรีธรรมราช 1 แห่ง และ ตราด 1 แห่ง

“เรามองว่ามันตลก คือบางพื้นที่เป็นพื้นที่ป่าอยู่แล้ว ป่าคาร์บอน ในสัญญา เปิดช่องให้กรรมสิทธิ์ในป่าชุมชนกลายเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมระหว่างเอกชนกับชุมชน ทำให้ชุมชนสูญเสียกรรมสิทธิ์ที่ดินเดิมได้กันเต็มๆ ยังต่อเนื่องมาสู่ปัญหาเรื่องที่ดินทับซ้อนของชุมชนกับพื้นที่ป่า”

-สมบูรณ์ คําแหง

หลังจากเกิดโครงการนี้ขึ้น หน่วยงานรัฐมีการปั้นกลุ่มชุมชนขึ้นมา จดทะเบียนป่าชุมชนขึ้นมาใหม่จากพื้นที่ที่ยังไม่ได้มีการจดโดยที่ไม่ได้รับสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ในนิยามด้านสิทธิในการพัฒนา (Right to development) ได้ให้ความสำคัญกับหลักการตัดสินใจหรือการกำหนดเจตจำนงตัวเองในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ  (Self-Determination) และหลักการด้านการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร (Community right to know) แต่ในความเป็นจริง ชาวบ้านไม่ได้เข้าใจในสิ่งเหล่านั้นและรัฐกับภาคธุรกิจก็แสวงหาผลประโยชน์จากพื้นที่ทรัพยากรของชุมชน” 

“สิ่งที่มันกำลังไปข้างหน้าคือกฎหมายฉบับนี้กำลังส่งเข้าสภา สิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดคือส่งกฎหมายประกบเข้าไปและไม่เสนอให้มีเรื่องคาร์บอนเครดิต และพวกเราต้องยืนยันชัดเจนว่าในกฎหมายของเราต้องไม่พูดเรื่องคาร์บอนเครดิต”

-สมบูรณ์ คําแหง

สุดท้ายแล้วเราต้องหันมาตั้งคำถามว่าจริงๆ แล้วคาร์บอนเครดิต เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาโลกร้อนได้จริงๆหรือไม่? เรื่องนี้สังคมควรนำมาพูดคุยกันอย่างกว้างขวางเพื่อทำความเข้าใจร่วมกันว่า ตลาดคาร์บอนเครดิตจะส่งผลกระทบต่อชุมชน 

สู้ด้วยหลักการและการกระจายอำนาจให้เท่าเทียม

ธีรเนตร ไชยสุวรรณ ประธานขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move)ต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับพี่น้องในชุมชนและชนเผ่าพื้นเมืองมายาวนาน ได้ผลักดันปัญหาในพื้นที่จากรายกรณีที่เกิดขึ้นไปสู่การกำหนดนโยบายซึ่งปัจจุบันได้มีกฎหมายประมาณ 28 ฉบับ ที่ยึดหลักให้รัฐทำหน้าที่ปกป้อง คุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิของชุมชน และสิทธิมนุษยชน

จากการประกาศเรื่องนโยบายทวงคืนผืนป่าในช่วงรัฐบาลประยุทธ์ มีการฟ้องร้องพี่น้องชาวบ้านกว่า 46,600 คดี นโยบายส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าที่ถูกรัฐประกาศทับ ซึ่งปรากฏภาพการถูกยึดพื้นที่ทำกินและถูกดำเนินคดี ในช่วงเวลาเพียง 6 ปีหลังมีคำสั่ง คสช. ฉบับนี้ คดีเหล่านี้เป็นลักษณะการฟ้องชาวบ้านที่อยู่กับป่าและเป็นผู้ที่พัฒนาป่าไม้มาโดยตลอด อย่างไรก็ตามรัฐบาลปัจจุบันยังเดินหน้าที่จะขาย คาร์บอนเครดิต การกระทำของรัฐเป็นสิ่งที่ย้อนแย้งกับภาคประชาชนในการแก้ไขปัญหาที่มุ่งไปสู่ความยั่งยืนจริงๆ ภาคประชาชนมีพื้นที่ต้นแบบให้รัฐไปดูเพื่อเป็นกรณีศึกษาในทุกภาค พยายามเสนอการแก้ไขปัญหาให้กับรัฐ เช่นเรื่องคนอยู่กับป่า การจัดการทรัพยากรโดยชุมชน สิ่งนี้เป็นบทบาทที่ภาคประชาชนพยายามผลักดันมาตลอด แต่สุดท้ายยังไม่ได้มีการตอบรับจากฝ่ายรัฐ รัฐบาลยังคงเดินหน้าสร้างหน่วยงานเพื่อยึดพื้นที่ของชาวบ้านไปในตัว 

“พี่น้องต้องบ้านแตกสาแหรกขาดเพราะนโยบายนี้ รัฐบาลใช้เครื่องมืออยู่สองทาง คือ ถ้าชาวบ้านไม่ย้ายออกก็โดนฟ้องคดี  ถ้าเข้าร่วมโครงการก็มีเงื่อนไขให้ชาวบ้านต้องปลูกไม้ชนิดนั้นชนิดนี้อยู่ดี สุดท้ายก็แย่งยึดที่ดินของชาวบ้านไปอยู่ดี”

-ธีรเนตร ไชยสุวรรณ

ทั่วโลกตอนนี้กำลังเผชิญปัญหาเหมือนกันคือ แล้ง ร้อน รุนแรงมากขึ้น ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่ช่วยดูแลพื้นที่ป่า ก็เป็นเกษตรกร พอเจอการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ต้นไม้ก็ตาย ก็ต้องสูญเสียต้นทุน และต้องลงทุนใหม่ เกิดความเปราะบางมากขึ้น เราต้องให้กลุ่มทุนที่เข้ามาทำลายแสดงความรับผิดชอบ รัฐต้องมีกลไกในการส่งเสริมให้คนที่ดูแลป่าใช้วิถีชีวิตในการดูแลป่าเพิ่มมากขึ้น เช่น วิถีทำไร่หมุนเวียนที่แต่เดิมสามารถหมุนเผา หมุนเปลี่ยนพื้นที่ตามวัฎจักรได้ ในปัจจุบันหน่วยงานรัฐห้ามเข้าพื้นที่ ห้ามเผา ทั้งๆ ที่คนที่นั่นรู้ดีว่าต้องมีการบริหารจัดการพื้นที่อย่างไร ในนโยบายของพีมูฟคือการพยายามให้เกิดการกระจายอำนาจ และกระจายการเข้าถึงการเยียวยาจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ 

“เราเห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้ คือเรื่องการรักษาสิทธิของชุมชน และหลักการสิทธิมุษยชน เราต้องยืนยันและปักหลักในเรื่องนี้กันต่อไป”

-ธีรเนตร ไชยสุวรรณ

กฎหมายที่มันมีอยู่มันไม่ Function

อรชา จันทร์เดช Thai C-CAN เริ่มด้วยการตั้งคำถามว่า ทำไมเราต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการทำกฎหมายฉบับนี้? เนื่องจากว่ากฎหมายปัจจุบันที่มันมีอยู่มันไม่ได้ครอบคลุมการแก้ไขที่จริงจังและไม่ function กระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนหรือคนที่ได้รับผลกระทบก็มีน้อยและเข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสารอย่างจริงจังจากภาครัฐ

“ในร่างกฎหมาย พรบ.โลกร้อนฉบับใหม่ของภาครัฐ จะเป็นยังไง? ประชาชนก็ไม่ทราบเพราะเขาก็ไม่ค่อยเปิดให้เกิดการมีส่วนร่วมเท่าไหร่”

อรชา จันทร์เดช

สิ่งสำคัญคือเรื่องการประสบปัญหาของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ในพื้นที่ระยองมีชาวบ้านได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรม ปราจีนได้รับผลกระทบจากนายทุนต่างชาติที่เข้ามาด้วยกฎหมายบางฉบับของรัฐที่เอื้ออำนวยให้ทุนต่างชาติได้เข้ามา สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีการรับผิดรับชอบจากนายทุน

“การลงโทษผู้กระทำผิดมันก็ไม่ได้ function แทนที่จะฟ้องคนปล่อยมลพิษ กลับฟ้องชาวบ้านซะงั้น และมองว่าคนปล่อยมลพิษต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่รัฐต้องรับผิดชอบเงินชดเชย เงินกองทุน ที่มีอยู่มันไม่สามารถชดเชยได้จริงๆ มันไม่สามารถชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ ไม่สามารถชดเชยสิ่งแวดล้อมที่สูญเสียไปแล้วได้”

อรชา จันทร์เดช

สิ่งนี้ไม่ได้มีเพียงในวงการอุตสาหกรรม แต่ภาคเกษตรเองก็ต้องรับผิดชอบเช่นกัน เพราะสารเคมีบางชนิดก็ส่งผลต่อโลกร้อน ซึ่งสารพวกนั้นก็ไม่ได้ถูกบรรจุให้มีการจัดการหรือมีการรับผิดรับชอบอย่างจริงจังอีกด้วย

 “13/12/2 คือแผนพีดีพี PDP นี้อยู่ไปอีก 13 ปี แต่การรับฟ้งมี 12 วัน และมีเวทีรับฟังแค่ เอกชนกับราชการ และจัดเวทีประชาชนแค่ 2 ภาคคือภาคกลางและภาคใต้ ในแผนก็มีปัญหามาก ทั้งการนิยามว่าเขื่อนเป็นพลังงานสะอาด จะต้องมีการสร้างเขื่อนเพิ่มหรือป่าว ทั้งๆที่มันต้องทำลายป่ามาก และยังมีโรงงานนิวเคลียร์อีก ที่ไม่รู้จะไปตั้งตรงไหน”

อรชา จันทร์เดช

Power Development plans Thailand 2024 หรือ PDP  มีเวทีรับฟังความคิดเห็นจากภาครัฐ ภาคธุรกิจไปแล้ว แต่ไม่มีการจัดให้คนในพื้นที่และผู้ได้รับผลกระทบ และมีการจัดการที่มีปัญหา เช่นการส่งลิ้งออนไลน์มาคนในพื้นที่ไม่สามารถเข้ารับฟังได้ อย่างไรก็ตามประชาชนยังคงตั้งคำถามและเรียกร้องให้มีความโปร่งใสในการจัดทำแผน PDP เพราะแผนนี้จะไม่ได้เป็นการเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานหมุนเวียนที่ยั่งยืนแต่จะเป็นการเพิ่มการหมุนเวียนเงินในกระเป๋าของนายทุนอย่างมั่งคั่งและผลักภาระการรับผิดชอบทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม ระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อมให้สังคม ชุมชนเป็นคนรับผิดชอบแทน

ความเปราะบางที่หนักกว่า คนในเมือง ชนเผ่าพื้นเมือง กับวิถีชีวิตคนอยู่กับป่าก็ได้รับผลกระทบเหมือนกัน 

จันทนี พิเชฐกุลสัมพันธ์ เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย มองว่าโดยทั่วไปผลกระทบที่ได้รับจากโลกร้อนก็เหมือนกัน เเต่พี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองจะมีอีกปัญหาที่เจอคือเรื่องการโดนดำเนินคดี เรื่องอคติจากสังคม วาทกรรมที่โยนความผิดเรื่องโลกร้อนให้กับชนเผ่าพื้นเมืองกับการตีตราวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ที่ไม่ได้แก้ไขปัญหาอย่างถูกจุดจากภาครัฐ เพราะรัฐมีแนวคิดแค่จะสร้างพื้นที่สีเขียวและหาผลประโยชน์จากมัน

 “แนวคิดเรื่องการแก้ไขปัญหาโลกร้อนเน้นแต่เรื่องการปลูกป่าเพราะมองว่าต้นไม้เป็นตัวช่วย แต่ไม่ได้มองถึงสาเหตุหลักที่เกิดคือมาจากอะไร มันเป็นเหมือนการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ” 

-จันทนี พิเชฐกุลสัมพันธ์

การกระจายตัวของพี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยประมาณ 6.1 ล้านคน แต่กฎหมายที่ออกมาไม่ได้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชนเผ่าพื้นเมืองเลย  เช่น เรื่องไร่หมุนเวียน กฎหมายแทบทุกฉบับไม่ได้มีมิติเรื่องการเคารพ และส่งเสริม สิทธิทางวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของชนเผ่าพื้นเมือง ไม่ได้เปิดโอกาสให้เราได้กำหนดเจตจำนงชีวิตของตัวเอง เช่น การทำไร่หมุนเวียน ที่คนมักเข้าใจผิดว่าเป็นไร่เลื่อนลอย และถูกรัฐและสังคมใส่ร้ายว่าเป็นสาเหตุของการทำให้โลกร้อน

“ไร่หมุนเวียนมีการปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ (มีงานวิจัยออกมาชัดเจนไม่ได้เป็นตัวปล่อยคาร์บอนแต่เป็นตัวดูดซับ  ในวิถีของเราจะถูกสอนให้การใช้ทรัพยากรที่ยั่งยืนใช้เพื่อถึงลูกหลานของเรา”

-จันทนี พิเชฐกุลสัมพันธ์

ประเทศไทยจะออกกฎหมายต้องคำนึงถึงมิติของชนเผ่าพื้นเมือง ต้องสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน ของชนเผ่าพื้นเมือง กลุ่มเปราะบาง กลุ่มภาคประชาสังคม สร้างการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่โปร่งใส รัฐหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องมีกระบวนการบอกกล่าวแจ้งล่วงหน้า ควรให้ชุมชนเป็นคนออกแบบวางแผนในการพัฒนาชุมชนมากกว่าการบังคับให้ชุมชนต้องพัฒนาตามสิ่งที่รับออกแบบเพราะมันไม่สอดคล้องกับหลักการด้านสิทธิมนุษยชน 

“บ้านของเรา เราต้องมีสิทธิในการออกแบบการพัฒนา บ้านของเราเราต้องมีส่วนร่วม และบ้านของเราต้องให้เราเป็นผู้ตัดสินใจ”

-จันทนี พิเชฐกุลสัมพันธ์

ความเสมอภาคในกฎหมายที่ต้องไม่ถูกลืม

เรวดี ประเสริฐเจริญสุข มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การเริ่มต้นของการร่าง พรบ. ฉบับนี้สร้างความเป็นน้ำหนึ่งน้ำใจเดียวกันในการทำให้ภาคประชาชนลุกขึ้นมาพูดถึงปัญหาเดิมๆ ที่ไม่ได้ถูกรัฐแก้ไขปัญหาและทุกคนมีความคาดหวังไปในแบบเดียวกันเพื่อสร้างการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน เสมอภาค และมีจิตวิญญาณของทุกสรรพสิ่งบนโลกนี้

“ความคาดหวังของเราคือการมีกฎหมายใหม่มันควรจะมาห่อหุ้ม มาเยียวยา แก้ไขปัญหาเดิมที่มีอยู่ แต่กฎหมายฉบับใหม่ของรัฐนี้กลับเยือกเย็นมาก และมาซ้ำเติมปัญหาเดิมให้มันเลวร้ายลงไปอีก”

-เรวดี ประเสริฐเจริญสุข

กฏหมายเป็นเครื่องมือของรัฐโดยมีหลักคิดเพื่อมาเอื้ออำนวยให้พลเมืองและประชาชนที่รัฐมีหน้าที่ดูแล ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งนั้นหมายถึงการที่รัฐต้องทำหน้าที่ในการช่วยดูแล และพัฒนาสิ่งแวดล้อม และมีกลไกในการทำงานที่ประชาชนจะได้รับปกป้องคุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในกฏหมายอย่างเป็นธรรม และทำให้การเรียกร้องของประชาชนได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังบนหลักการที่เสมอภาคและไม่เลือกปฏิบัติโดยต้องปราศจากการแบ่งแยกไม่ว่าเหตุใดก็ตาม

“การขับเคลื่อนกฎหมายสิ่งแวดล้อมมันคือโอกาสที่ดีในการส่งเสริมและสร้างการตื่นรู้เรื่องประชาธิปไตยของสังคม เพราะไม่ได้ขับเคลื่อนเรื่องโลกร้อนอย่างเดียว เรามาช่วยตั้งคำถามเรื่องการพัฒนากลไก มาตรการต่างๆ ที่รัฐเอาภาษีของเรามาใช้ ซึ่งควรจะทำให้คุณภาพชีวิตของพวกเราดีขึ้นจริงๆ”

-เรวดี ประเสริฐเจริญสุข

หลักการไม่เลือกปฏิบัตินั้น นอกจากจะเป็นหลักการพื้นฐานของความเสมอภาค ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นหลักการส่วนหนึ่งของหลักนิติธรรมหรือหลักนิติรัฐ ที่กำหนดให้รัฐต้องมุ่งมั่นในการส่งเสริมและคุ้มครองปัจเจกบุคคลทุกคนโดยปราศจากการแบ่งแยก

“ต้องไม่ลืมใครไว้ข้างหลัง” แต่ลุงลืมตลอด คือจริงๆ ทุกคนจะต้องได้เข้าถึงการแสดงความคิดเห็นได้ ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้หญิง กลุ่มเปราะบาง กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง กลุ่มในพื้นที่อุตสาหกรรม กลุ่มประมง ทุกคนอยู่ในระบบนิเวศที่แตกต่าง ซึ่งจะทำให้มุมมองและข้อเสนอนั้นมีความครบถ้วน ครอบคลุม เราจึงเน้นเอาความเป็นจริงที่มีชีวิต มีจิตวิญญาณ ออกมาสื่อสารให้ทุกคนได้รู้”

-เรวดี ประเสริฐเจริญสุข

สำหรับร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นธรรมและยั่งยืน (ฉบับประชาชน) มีจุดเด่น

เร่งการลดก๊าซเรือนกระจกให้เร็วกว่าเป้าหมายเดิมที่รัฐตั้งไว้ ใส่เจตจำนงค์ไว้ว่าเป้าหมายเพื่อโลก เราต้องฟื้นฟูเยียวยาสิ่งแวดล้อมบนโลก และรวมเรื่องสิทธิมนุษยชนต่างๆ มีกรรมการกำกับที่หลากหลาย และมีคณะกรรมการกึ่งอิสระเพื่อตรวจสอบรัฐ และกรรมการภาคประชาชนเพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมกำกับร่วมด้วยเพื่อคานอำนาจกัน การเข้าถึงสิทธิในการพัฒนาที่ไปสู่กลุ่มเปราะบางให้พวกเขามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง และทำกฎหมายให้มีความเท่าเทียมโดยไม่ใช้เเรงจูงใจมาเป็นเครื่องมือในการสร้างผลประโยชน์ต่อพื้นที่ชุมชน  

เครดิตภาพ : Thai Climate Justice for All


ย้อนอ่านบทความ ภาคประชาชนเดินหน้ายื่นร่างกฎหมายโลกเดือด “กฎหมายที่ต้องมีจิตวิญญาณของสิทธิมนุษยชน” ตอนที่ 1