วันที่ 13 มิถุนายน 2567 เครือข่ายประชาชนเพื่อความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศกว่า 23 องค์กรร่วมแถลงข่าวเตรียมยื่นเสนอร่างกฎหมายโลกเดือด!!! เพื่อยับยั้งทุนนิยมสีเขียว ภายใต้พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นธรรมและยั่งยืน (ฉบับประชาชน) 

โดยใจความสำคัญของกฎหมายฉบับนี้คือการรวบรวมจิตวิญญาณของความห่วงใยการอยู่รอดของทุกชีวิตบนโลกใบนี้ที่ไม่ใช่แค่มนุษย์แต่รวมถึงธรรมชาติ สรรพชีวิต ความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งมันหมายถึงจิตวิญญาณของโลกทั้งมวล และจิตวิญญาณที่รัฐและภาคธุรกิจต้องมีต่อสังคม ที่จะปกป้องสิทธิของประชาชนทำให้เกิดการเคารพและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน สิทธิในชุมชน และสิ่งแวดล้อมให้เป็นคุณค่าหลักในการแก้ไขปัญหาโลกเดือดอย่างจริงจัง 

ทำไมประชาชนต้องเสนอร่างกฏหมายโลกเดือดเอง?

เมื่อทุนนิยมในแบบเดิมและการกัดกินธรรมชาติ (cannibalization of nature) ผ่านการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในการผลิตแบบไม่ชดใช้คืน และใช้ธรรมชาติเป็นถังขยะทิ้งของเสียจากการผลิต เราจะเห็นได้ว่าการเติบโตของอุตสาหกรรมพลังงานในประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับที่ 20 ของโลก มากเกือบร้อยละ 70 ของประเทศโดยมีต้นตอมาจากอุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิลซึ่งเกิดขึ้นอย่างไม่ได้ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ ความเป็นอยู่ของธรรมชาติ รวมถึงสิทธิของพี่น้องในชุมชนและชนเผ่าพื้นเมือง

ปัจจุบันทุนนิยมได้ก้าวไปสู่สิ่งที่เรียกว่า “ทุนนิยมสีเขียว” ซึ่งมุ่งที่จะเติบโตโดยใช้ทรัพยากรในการทำลายทรัพยากรต่อไป บนหลักคิดแบบเดียวกันคือเน้นการเติบโต ไม่ได้คำนึงถึงขีดจำกัดของธรรมชาติและผลักภาระการรับผิดชอบด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมให้กับสังคม โดยเฉพาะการสร้างความเหลื่อมล้ำที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้นยุคสมัยของทุนนิยมจะมาด้วยความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรม

-กฤษฎา บุญชัย Thai Climate Justice for All

ทุนนิยมกำลังจะเริ่มพูดกันด้วยภาษาใหม่เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้เป็น “ทุนนิยมสีเขียว” เราจะเห็นทุนนิยมเริ่มพูดกันว่า Net Zero พลังงานสะอาด หรือ GreenGrowth ซึ่งล้วนแต่เป็นวาทกรรมสีเขียวทั้งสิ้นซึ่งรวมถึงเทคโนโลยีต่างๆ ที่สร้างขึ้นมา เช่น เครื่องดักจับคาร์บอน ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ทุนนิยมจะโตและขยายความมั่นคั่งโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดความเหลื่อมล้ำอย่างไม่เป็นธรรม

-กฤษฎา บุญชัย Thai Climate Justice for All

กฎหมายโลกเดือดทุกฉบับที่ภาครัฐร่างมายังคงเชื่อกันว่าทุนนิยมและอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานฟอสซิลยังโตต่อไปได้ โดยไม่ต้องปรับตัวและเลือกที่จะผลักภาระไปในรูปแบบการชดเชย ทำให้สถานการณ์ปัจจุบันระบบทุนนิยมได้เปลี่ยนผ่านมาใช้วิธีการฟอกเขียวด้วยกลไกตลาดคาร์บอน  เพื่อนำคาร์บอนเครดิตมาชดเชยและค้ำจุนอุตสาหกรรมฟอสซิลให้ชะลอการเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานหมุนเวียนที่สะอาดออกไป โครงการคาร์บอนเครดิตจำนวนมากจะกระทบต่อเศรษฐกิจ วัฒนธรรม ระบบนิเวศที่สังคมต้องรับผิดชอบ ซึ่งอาจรวมไปถึงการละเมิดสิทธิชุมชนและสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองด้วย 

“กฎหมายโลกร้อนประเทศไทยควรเป็นอย่างไร?”

นับจากความตกลงปารีส 2558 สหประชาชาติเร่งรัดให้ทุกประเทศเร่งทำแผนลดก๊าซเรือนกระจกให้สอดคล้องกับการชะลออุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซนเซียส ปีที่ผ่านมาได้ยกระดับเป้าหมายโดยเสนอให้โลกต้องลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 43 ภายในปี 2573 ให้ได้

ประเทศไทยเผชิญความเสี่ยงต่อภาวะโลกร้อนเป็นอันดับ 9 ของโลกต่อเนื่องมาหลายปี ประชาชนได้รับผลกระทบที่ทวีความรุนแรงแรงมากขึ้นในด้านสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (Economic, Social and Cultural Rights – ESCR) ซึ่งเกิดจากความผันผวนจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ที่มีปัจจัยสำคัญมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานฟอสซิล 

วงเสวนาในวันนี้จึงได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของประชาชนที่อยู่บนเส้นความเปราะบางและการถูกใช้อำนาจทับซ้อนในการกดทับอัตลักษณ์  (Intersectionality)  และก่อให้เกิดความเสี่ยงในการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนมากที่สุด ทางเครือข่ายได้ให้ความสำคัญกับคนจนในเมือง กลุ่มผู้หญิง ชนเผ่าพื้นเมืองและภาคประชาสังคมที่ทำงานในพื้นที่อย่างหลากหลายเพื่อสะท้อนมุมมองในการกำหนดนโยบายส่งเสริมสิทธิของทุกคนอย่างเท่าเทียมโดยไม่เลือกปฏิบัติและเคารพในจิตวิญาณของทุกสรรพสิ่งบนโลกนี้  

ในวงเสวนามีผู้ร่วมเสวนาดังนี้ เรวดี ประเสริฐเจริญสุข มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ธารา บัวคําศรี กรีนพีซ ประเทศไทย สาคร สงมา ประธานสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครอง สิ่งแวดลอมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ(สคส.) สมบูรณ์ คําแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ธีรเนตร ไชยสุวรรณ ประธานขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) อรชา จันทร์เดช Thai C-CAN และจันทนี พิเชฐกุลสัมพันธ์ เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย 

การพัฒนากฎหมายของฟิลิปปินส์ กับคุณค่าสิทธิมนุษยชนที่ไทยต้องศึกษาต่อ

ธารา บัวคำศรี กรีนพีซ ประเทศไทย มองว่าถ้าประเทศไทยจะออกกฎหมายเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ หรือกฎหมายโลกเดือด ให้ลองศึกษาดูจากประเทศฟิลิปปินส์ “ที่ผมบอกว่าให้ลองศึกษาดูเพราะน่าสนใจและมีความใกล้เคียงกันในหลายมิติ  เป็นประเทศที่อยู่ใกล้เคียงกับประเทศไทย และระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองอยู่ใกล้เคียงกัน”

ประเทศฟิลิปปินส์ มีกฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาตั้งแต่ปี 2552 โดยมีกฎหมายโลกร้อนที่ยึดโยงกับรัฐธรรมนูญของประเทศที่มีหลักการคือ รัฐมีหน้าที่เคารพ ปกป้อง และส่งเสริมสิทธิของประชาชน สิทธิมนุษยชนที่มีต่อระบบนิเวศที่สมบูรณ์และเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ ในส่วนกฎหมายโลกร้อนมีหลักการง่ายๆ คือหลักการเรื่องสิทธิในการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีที่ยึดโยงเข้ากับกฎหมายระหว่างประเทศตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ที่สำคัญมีกรอบที่ว่าด้วยความเป็นธรรมทางด้านสภาพภูมิอากาศหรือ Climate Justice ซึ่งคำนึงถึงกลุ่มเปราะบาง และนำไปบูรณาการร่วมกับนโยบายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการพัฒนาที่ยั่งยืน เรื่องการลดความยากจน เคารพสิทธิในที่ดินต่อทรัพยากรและสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง 

ในกฎหมาย The people survival fund Act. ว่าด้วยเรื่องการปรับตัวเข้ากับทุกภาคส่วน การพูดถึงเรื่องผลกระทบจากโรคระบาด การพยากรณ์ ระบบเตือนภัย เพื่อรับมือกับพายุไต้ฝุ่น รวมถึงการประกันความเสี่ยงให้กับภาคเกษตรกรด้วย อีกฉบับคือ GREEN JOBs เป็นกฎหมายส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียวยกระดับคุณภาพชีวิตและความเท่าเทียมทางสังคม กฎหมายฉบับนี้ยึดโยงกับ สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม มีกฎหมายน้ำสะอาด ธาราเผยว่า “กฎหมายอากาศสะอาด บ้านเรายังคุยกันอยู่ในสภา แต่ฟิลิปปินส์มีมาตั้งแต่ปี 2543” 

ประเทศไทยปี 2552 ธาราเผยว่า“แทบจะไม่มีอะไร เอาง่ายๆในปี 2552 ชาวบ้านบนเทือกเขาบรรทัดโดนฟ้องข้อหาทำให้โลกร้อนมันดูกลับหัวกลับหางและแตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างฟิลิปปินส์มาก”  

ในปี 2561 – 2565 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ของประเทศฟิลิปปินส์ได้มุ่งเป้าไปที่บริษัทยักษ์ใหญ่ได้แก่ BHP Billiton, BP, Chevron, ConocoPhillips, ENI, ExxonMobil, Glencore, OMV, Repsol, Sasol, Shell, Suncor, Total และ RWE กลุ่ม Carbon Majors เหล่านี้มีส่วนสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดนับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน รวมๆ แล้วบริษัทเหล่านี้ได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ของทั้งโลกและทำการฟ้องร้องบริษัทเหล่านี้ใช้เวลาประมาณ 6 ปี และมีรายงานฉบับสุดท้ายออกมาในปี 2565 จึงก่อให้เกิดการขับเคลื่อนของภาคประชาชน และสุดท้ายเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 ภาคประชาชน เสนอกฎหมาย Climate Accoutability Bill. กฎหมายที่ต้องการกำหนดกรอบทางกฎหมายสำหรับการรับผิดชอบต่อการสูญเสียและความเสียหายต่อสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นนโยบายแรกของโลกในสภาคองเกรสแห่งฟิลิปปินส์ และในรายงานยังชี้ให้เห็นว่าระหว่างปี 2535 – 2565 มีบริษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศไทยอย่าง ปตท. ที่ภายหลังมีความตกลงปารีสในปี 2559-2565 เป็นลำดับที่ 96 และ 79 ตามลำดับจากกลุ่ม Carbon major 

“ถ้าเราลองเทียบกันผมไม่ได้บอกว่าประเทศฟิลิปปินส์จะดีทุกอย่าง อย่างไรก็ตามผมมองว่าถ้าจะศึกษาเรื่องกฎหมายโลกร้อน ประเทศฟิลิปปินส์เป็นอีกหนึ่งประเทศที่น่าสนใจศึกษา” – ธารา บัวคำศรี

กฎหมายฉบับนี้ต้องสร้างกรอบความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ สร้างความเข้มแข็งให้ประชาชน ชุมชนท้องถิ่น และชนเผ่าพื้นเมือง รัฐและภาคเอกชนปฏิบัติตามพันธกิจทำหน้าที่ในการเคารพปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน และต้องกำกับดูแลกิจกรรมภาคธุรกิจรวมถึงภาระการรับผิดของภาคอุตสาหกรรมให้ตรงตามกรอบในหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights (UNGP) เพื่อใช้เป็นแนวทางให้รัฐและองค์กรภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติบนฐานของความสมัครใจ 

รัฐและภาคธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อล้างบาป

สาคร สงมา ประธานสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครอง สิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ(สคส)ให้ความเห็นว่ากฎหมายฉบับร่างของประชาชนเป็นเล่มที่สมบูรณ์ที่สุดซึ่งได้ชี้ให้เห็นว่าก่อนหน้านี้ได้มีอยู่ 3 ฉบับในทุกๆ สิบบรรทัดจะมีคำว่า “คาร์บอนเครดิต” ล้วนแล้วแต่มีความเป็นทุนนิยมสีเขียวที่ไม่เน้นแก้ไขปัญหาแต่จะเพิ่มปัญหาที่ไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้น

“ผมมองว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นฉบับที่เหมาะสมที่สุดบนพื้นฐานของกลุ่มที่ทำงานเพื่อต้องการลดปัญหาโลกร้อน เพราะเป็นร่างที่ให้ความสำคัญครบทุกด้าน ทั้งเรื่องการปรับตัว เรื่องการมีส่วนร่วมของกลุ่มคนทุกมิติทั้งด้านเพศสภาพ และเชื้อชาติที่จะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและการกำหนดเจตจำนงในสิทธิทางด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรมและสังคมชุมชนท้องถิ่นของตัวเอง”

-สาคร สงมา 

ในมาตราที่ 4 นิยามการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คือการจัดการความเสี่ยง และการป้องกันความสูญเสียและเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากผลคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว ทั้งต่อประชาชน และเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ซึ่งรวมถึงระบบนิเวศ และต้องเสริมสร้างศักยภาพให้ประชาชน ระบบเศรษฐกิจ วัฒนธรรม ระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อมได้รับสิทธิในการพัฒนาเพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้หรือได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“พอไปอ่านๆ ดูในฉบับอื่นๆ กลุ่มธุรกิจบอกจะปรับตัวยังไงเพื่อให้ธุรกิจของตัวเองเดินหน้าต่อไปในโลกร้อนได้ คำเดียวกันแต่ความหมายนัยสาระสำคัญต่างกัน เขาใช้คำว่าปรับตัวก็เลยปรับตัวมาเป็นโรงงานสะอาด เป็นอุตสาหกรรมสะอาดเป็นภาพลักษณ์ที่ดีออกมาเยอะแยะ ซึ่งเขาปรับตัวให้เขาได้ทำธุรกิจที่ไม่ได้สนใจสิ่งแวดล้อมต่อ แต่ในทางกลับกันประชาชนต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด”

-สาคร สงมา

ความรับผิดชอบของคนที่ทำให้เกิดโลกร้อนไปเชื่อมโยงกับกองทุน พี่น้องบอกว่า “ธรรมชาติของกองทุนมันเกิดขึ้นในระบบ และเราถูกมองว่าอยู่นอกกรอบ นอกระบบ”  เราต้องทำความเข้าใจว่าเราไม่ได้คุยกันในเรื่องกองทุน เพราะกองทุนไม่ใช่เพื่อเรื่องความช่วยเหลือของคนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์โลกร้อน แต่มันเป็นเรื่องที่คนได้รับผลกระทบต้องไป “ทวงหนี้” จากคนที่ทำให้โลกร้อนเพื่อมาใช้หนี้เรา ซึ่งผมเข้าใจว่าสอดคล้องกับกระเเสโลก ในเวทีประชุม COP ที่ประเทศเยอรมนีและภาคประชาสังคมที่ร่วมประชุมกันมีข้อเสนอว่า

“พวกคุณที่เป็นประเทศในแถบตะวันตกที่เป็นต้นกำเนิดกลุ่ม Carbon major ต้องเอาเงินมาชดใช้ให้พวกเรา เพราะพวกคุณทำให้เกิดโลกร้อน การชดใช้เงินไม่ใช่ว่าเราเห็นแก่เงินแต่เป็นเหมือนเป็นการล้างบาปให้กับสิ่งที่พวกคุณทำ” 

-สาคร สงมา

ผมมองว่าร่างฉบับประชาชนมีจิตวิญญาณของชาวบ้านอยู่บนหลักการมีสิทธิของประชาชนในการดำรงอยู่ในสภาพภูมิอากาศที่ดี สิทธิชนเผ่าพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นต่อวิถีวัฒนธรรมที่เกื้อกูลนิเวศ สิทธิของธรรมชาติที่จะดำรงสภาวะสร้างสมดุลและบริการนิเวศที่ดีและยั่งยืน ตลอดจนถึงหลักความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศที่ต้องสร้างความรับผิดชอบที่แตกต่างระหว่างผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่กับประชาชนส่วนใหญ่ที่ปล่อยคาร์บอนต่ำแต่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง 

“ผมยืนยันว่าพวกเราไม่ได้ทำให้โลกร้อนแต่เราได้รับผลกระทบจากโลกร้อน โดยเฉพาะคนบ้านผม หว่านข้าวสามครั้งก็ยังไม่ขึ้น ทั้งๆ ที่ฉันไม่ได้ทำให้มันแล้งมันร้อน”

-สาคร สงมา

เครดิตภาพ : Thai Climate Justice for All


ภาคประชาชนเดินหน้ายื่นร่างกฎหมายโลกเดือด “กฎหมายที่ต้องมีจิตวิญญาณของสิทธิมนุษยชน” (ตอนที่ 2)