นิทรรศการฉายภาพโปรเจคเตอร์ Mystery of Ocean ส่วนหนึ่งของงาน Rainbow Warrior Ship Tour 2024: Ocean Justice ที่มิวเซียมสยาม เมื่อวันที่ 1-2 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา ได้พาทุกคนดำดิ่งไปใต้ท้องทะเลไทยที่มีทั้งความสวยงามและปัญหาที่คุกคามทั้งความอุดมสมบูรณ์ทางทะเล ชุมชนชาวประมงชายฝั่ง รวมถึงความมั่นคงทางอาหารของเรา 

เบื้องหลังการฉายภาพท้องทะเลที่หลายคนประทับใจนี้ คือกลุ่ม Quality Lab by CDE Space เยาวชนนักศึกษาชั้นปีที่ 1-3 จากมหาลัยกรุงเทพ คณะนิเทศศาสตร์ สาขาวิชาการผลิตเนื้อหาสร้างสรรค์และประสบการณ์ดิจิทัล Creative Content Production and Digital Experience (CDE) ผู้ที่เชื่อว่าศิลปะไม่ได้หยุดอยู่ที่แคนวาส และผลงานรูปแบบ immersive digital art ของพวกเขาจะสามารถสื่อถึงกลุ่มคนเจน Z ที่เป็นวัยเดียวกัน ให้เข้าถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม 

กรีนพีซจะขอพาไปพูดคุยกับตัวแทนเยาวชนกลุ่มนี้ แองจี้-ณิชากร กี และ อัยลีน-ภนิตา นราวิชัยกุล ถึงแนวคิด ความเป็นตัวตน และการทำงานทางศิลปะเชิงดิจิตอลในประเด็นสิ่งแวดล้อม

กลุ่ม Quality Lab by CDE Space คือใคร ?

อัยลีนและแองจี้ : กลุ่ม Quality Lab by CDE Space เป็นกลุ่มทำงานในสาขาวิชาการผลิตเนื้อหาสร้างสรรค์และประสบการณ์ดิจิตอล โดยมีทั้งหมด 12 คน เป็นการผลิตงานเพื่อประสบการณ์ด้านภาพผ่านรูปแบบดิจิตอล โดยกลุ่ม เริ่มต้นมาจากพี่หยก พี่พูล ที่มีทักษะในโปรแกรม มีความรู้เฉพาะทาง อาจารย์จึงอยากให้ทั้งสองคนแชร์ความรู้ให้กับน้องๆ และเพื่อนๆที่สนใจ และส่งพอร์ตเข้ามา ทั้งสองคนจะคัดคนเข้ามาเพื่อทำงานให้กับสาขา พวกเราเริ่มต้นจากการสอนและเรียนรู้ด้วยกันเอง และรับงานข้างนอก จนมีโอกาสทำงานกับกรีนพีซ และงานนี้เป็นงานสิ่งแวดล้อมงานแรก

แรงบันดาลใจและสิ่งที่ต้องการสื่อในการทำงาน Mystery of Ocean

อัยลีนและแองจี้ : โจทย์ของเราอยากให้คนมาร่วมงานเห็นความสวยงามใต้ท้องทะเลไทย เราหาอาร์ทไดเรกชั่นไปเสนอ เราตั้งใจนำเสนอให้เป็นความไม่เหมือนจริง (unrealistic) เพราะคนทั่วไปถ้าอยากดูก็ไปดำน้ำได้ แต่เราอยากให้เห็นความว้าว ความอุดมสมบูรณ์ที่ทะเลไทยมีจริงๆ พี่ๆให้พันธุ์สัตว์ทะเลมา เช่น ปลากระบอก ปลาทราย พะยูน เต่า โลมา หมึก แมงกะพรุน แต่ดีเทลที่ชอบเป็นพิเศษคือ ปลาเป็นปลาจริงๆที่จากการพิมพ์ภาพปลาของชุมชนจะนะ แล้วมาทำกราฟฟิกอีกที 

เนื่อเรื่องในนิทรรศการแบบอิมเมอร์ซีฟ (Immersive Exhibition) ชิ้นนี้คือ เราจะพาทุกคนดำน้ำลงไปเห็นใต้ท้องทะเล เจอปะการัง ปลาสวยงาม และซาวด์ดีไซน์ที่สดใส พอว่ายไปว่ายมาจะมีอวนเป็นแผงมาไล่จับปลา สื่อถึงผลกระทบจากมนุษย์ที่ส่งต่อสัตว์ ทำให้สัตว์สูญพันธุ์ได้ ทะเลมืดลง สักพักเป็นแสงสว่างขึ้นมา เหมือนเป็นความหวังให้ทะเล แล้วปลาทั้งหมดก็กลับมา และขึ้นมาจากทะเลก็เห็นเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ของกรีนพีซ เป็นเหมือนแสงที่ให้ความหวังทะเลกลับคืนมา “ช่วงที่ทะเลมืดลง เรายืนดูก็รู้สึกเศร้าจริง เหมือนการได้เห็นปะการังฟอกขาว” อัยลีน กล่าวถึงความรู้สึก

ถ้าใครได้เล่น QR code ในงานจะทราบว่า เราสามารถใส่คำพูดให้กับสัตว์ทะเลได้ด้วย ซึ่งอัยลีนและแองจี้เล่าว่า เป็นแนวคิดของพี่พูลและพี่หยก ที่อยากใส่ดีเทลให้งานน่าสนใจมากขึ้น ให้คนได้มีส่วนร่วมกับงาน (interact) ได้มากขึ้น มากกว่าแค่ยืนดู และให้เราพูดแทนสัตว์ทะเล หรือให้สัตว์ทะเลพูดแทนเราได้ เช่น มีคนใส่คำไวรัลให้เต่าว่า “แล้วเต่าทะเลล่ะ” 

มีความประทับใจหนึ่งที่เกิดขึ้นในงานคือ เราได้มองดูคุณน้ากับหลานมาเที่ยว และหลานสแกน QR Code พิมพ์ข้อความใส่เข้ามา โดยหลานส่งข้อความว่า “แฮปปี้เบิร์ดเดย์ อาอี้” เป็นความสุขเล็กๆของเราและของเขาในวันเกิด

มุมมองต่อศิลปะกับสิ่งแวดล้อม

อัยลีนและแองจี้ : เราเชื่อว่า ศิลปะไม่ได้หยุดแค่แคนวาส  แต่สามารถเอาเทคโนโลยีเข้ามาด้วย อย่างที่งาน immersive digital art ที่เราทำ และเป็นการดึงกลุ่มคนที่ถ่ายรูปลงไอจี เป็นการรับรู้ข้อมูลและแทรกซึมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม พวกเรารู้สึกดีที่ได้มาทำงานนี้ และมีโอกาสได้สื่อให้ถึงคนรุ่นเดียวกัน

งานนี้จึงมีความท้าทายกับเรามากเป็นพิเศษ เนื่องจากโดยปกติแล้วการทำงานศิลปะนี้จะใช้ทรัพยากรมากและสิ้นเปลือง ความท้าทายที่เป็นโจทย์ที่กรีนพีซคำนึงถึงคือ อุปกรณ์ที่ใช้จะต้องนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ไม่ใช่แค่ครั้งเดียวจบ เราต้องคิดว่าวัสดุต่างๆ จะใช้อะไรทดแทนได้บ้าง เช่น โครงจากเดิมเป็นท่อพลาสติกพีวีซี เราต้องหาวิธีใหม่เช่น เป็นไม้ หรือนั่งร้าน และถอดเพื่อไปประกอบที่อื่นได้ รวมถึงยังมีความท้าทายในการหาวิธีการติดโปรเจตเตอร์ในเรืออีกด้วย 

สิ่งที่อยากฝากถึง GEN Z วิกฤตสิ่งแวดล้อม และ Ocean Justice

อัยลีนและแองจี้ : ทุกวันนี้รู้สึกว่ายากที่จะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม เราเกิดมาก็ใช้พลาสติกแล้วจนเราคุ้นชินและลืมตระหนักไปแล้ว  คุยกับเพื่อนก็เป็นเรื่องที่หาทางแก้ไม่ได้  แค่เวลาเราไปเดินตลาด ก็เห็นว่าผลิตขยะมาก และสังเกตได้จากในถังขยะ เราตั้งคำถามว่าวันๆ นึงคนสร้างขยะไปแล้วกี่ชิ้น แต่ในขณะเดียวกัน เราก็อยากให้คิดถึงตอนนั่งวินมอไซต์เดือนเมษา เราจะอยู่อย่างไร แม้เราจะเกิดมากับความสะดวกสบาย เช่น พลาสติก แต่เราก็เกิดมาพร้อมวิกฤตของโลก ร้อนขึ้นทุกปีที่เราเติบโต และเป็นผลของการกระทำของเราทั้งหมด

Ocean justice หรือความเป็นธรรมทางมหาสมุทร เป็นคอนเซปท์ที่ใกล้ตัว แม้จะดูทะเลเป็นเรื่องไกลเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมประมงและเด็กนิเทศ แต่ถ้าเราใช้ชีวิตทุกวันและกินอาหารทะเล ก็ขอให้อย่างน้อยไม่ได้มีที่มาจากความเจ็บปวดของแรงงาน 

เราอยากให้คนหันมามองโลกมาขึ้น ว่าการกระทำในชีวิตประจำวันของเราได้ส่งผลกระทบอะไรให้กับคนอื่นหรือเปล่า


Ocean Justice เป็นหนึ่งในแคมเปญรณรงค์ระหว่างประเทศของกรีนพีซ ที่เรียกร้องให้เกิดการจัดการทรัพยากรทางทะเล ควบคู่ไปกับคำนึงถึงมิติด้านสังคม วัฒนธรรม และการมีส่วนร่วมของชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชายฝั่ง โดยการทำงานของเรือ Rainbow Warrior ในครั้งนี้มุ่งให้เกิดการหันมาส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน และการทำงานร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้เกิดการจัดการทรัพยากรทางทะเลของไทยที่ยั่งยืนและเป็นธรรม

หมายเหตุ: กลุ่ม Quality Lab by CDE Space ทั้ง 12 คน ประกอบด้วย

ภนิตา นราวิชัยกุล, ณิชากร กี, อนภิชฌา ฉิมงาม, เกณิกา จันทร์ทอง, นนทวัฒน์ น้อยศรี, จักรพงศ์ บางบ่อ, วสิษฐ์พล เลี้ยจรูญ, ศรัณย์ จงเพิ่มทรัพย์, กัญจน์ ตันติยะสกุล, จันทร์ภัสสร กุลนานันท์, ธันยบูรณ์ คุ้มอยู่, ภัทรพล จงกลรัตน์

ทุกคนสามารถชมผลงาน Mystery of Ocean ได้อีกครั้งในวันที่ 22-23 มิถุนายนนี้ บนเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ลงทะเบียนและดูรอบชมเรือ