ในโอกาสที่เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ เรือธงในการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมของกรีนพีซ กลับมาเยี่ยมเยียนไทยอีกครั้งพร้อมงานรณรงค์ด้านสิทธิและความเป็นธรรมของชุมชนชายฝั่งและมหาสมุทร กรีนพีซจัดกิจกรรมเปิดโครงการที่มิวเซียมสยามในวันที่ 1-2 มิถุนายน 2567 โดยนำเรื่องราวประวัติศาสตร์การปกป้องสิ่งแวดล้อมของเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ผ่านนิทรรศการที่ยกใต้ผืนมหาสมุทรเข้ามาจำลองที่มิวเซียมสยามในรูปแบบอิมเมอร์สซีฟ (Immersive Exhibition) และร่วมพูดคุยกับกัปตันเรือ ลูกเรือ ของเรนโบว์ วอร์ริเออร์

และเพื่อเฉลิมฉลองเดือนแห่งความหลากหลาย (Pride Month) เราจึงชวนกลุ่มคนที่ทำงานในประเด็นความหลากหลายในมิติต่างๆไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายทางชีวภาพ เพศ วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม มาร่วมพูดคุยกันในวงเสวนา Diversity is Nature โดยมี อาจารย์ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ไครียะห์ ระหมันยะ ลูกสาวแห่งท้องทะเลจะนะ เยาวชนและนักกิจกรรมจากเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น จ.สงขลา และวิภาวดี แอมสูงเนิน นักรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ ประเทศไทย

ความหลากหลายทำให้สังคมขับเคลื่อนไปได้

สิ่งแวดล้อมของเราขับเคลื่อนได้ด้วยระบบนิเวศ อาจารย์ศักดิ์อนันต์เล่าว่า ปัจจุบันเรารู้จักระบบนิเวศน้อยมาก เช่น ยังมีสิ่งมีชีวิตในทะเลและมหาสมุทรที่พวกเรายังไม่รู้จักอีกมากมายแต่ระบบนิเวศตามธรรมชาตินั้นไม่ได้มีแค่ต้นไม้ใหญ่อย่างเดียว แต่ยังมีต้นไม้ต้นเล็กต้นน้อย มีพืชพรรณที่ต่างมีหน้าที่ที่จะทำให้ระบบนิเวศของโลกดำเนินต่อไปได้

ในด้านความหลากหลายของวัฒนธรรม ยะห์ ไครียะห์ ยกตัวอย่างพื้นที่บ้านเกิดของเธอซึ่งก็คือ อ.จะนะ จ.สงขลา ไว้ว่าหากพูดถึงความหลากหลายที่จะนะ เราจะนึกถึงความหลากหลายของสังคมวัฒนธรรมที่แม้จะต่างกันแต่สามารถอยู่ร่วมกันได้ เธอเล่าว่าเมื่อยังเด็กก็มักจะเดินปวนเปี้ยนไปตามชายหาด ดูผู้ใหญ่ทำงานและพูดคุยกัน ซึ่งเด็กคนอื่น ๆ ก็ทำแบบนี้เหมือนกับเธอและการเดินสำรวจนั่นแหละคือการเรียนรู้วัฒนธรรมของเพื่อนบ้านในชุมชน ดังนั้น แม้มาจากต่างวัฒนธรรม ต่างศาสนา แต่พวกเราก็เรียนรู้วัฒนธรรมซึ่งกันและกัน มีชายหาดเป็นจุดเชื่อมโยงของกันและกัน

ในด้านการขับเคลื่อนของสังคม วิภาวดี แอมสูงเนิน ให้ความเห็นว่า เธอเชื่อว่าสังคมจะวิวัฒน์ไปได้เร็วขึ้น พัฒนามากขึ้น ๆ เมื่อสังคมมีความหลากหลายทางสังคม ชีวภาพ สิ่งแวดล้อม

บทบาทของผู้หญิงในการทำงานรณรงค์ปกป้องสิทธิชุมชนชายฝั่ง

วิภาวดี เล่าจากประสบการณ์ของเธอว่าอย่างกรีนพีซ ประเทศไทย ก็มีพนักงานผู้หญิงทำงานเยอะมาก แต่เวลาทำงานจริงพวกเธอไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้เลย หรือแม้กระทั่งเวลาที่เธอทำงานกับชุมชนเธอก็จะพบผู้หญิงที่มีบทบาทในชุมชนชาวประมงพื้นบ้านเยอะมาก เพราะแม้ว่าผู้ชายมีหน้าที่ไปออกเรือก็จริง แต่ก็มีผู้หญิงที่ไปออกเรือเช่นกัน หรือแม้กระทั่งเมื่อถึงเวลาขนปลาที่จับได้ขึ้นฝั่ง กลุ่มผู้หญิงก็จะมีบทบาทหน้าที่ในการคัดแยกปลาทะเล และสัตว์ทะเลที่เป็นอาหารเพื่อนำไปขายต่อ หรือแยกเป็นอาหารในครัวเรือน 

นอกจากนี้ยังมีหน้าที่สำคัญเช่นการทำอาหารเป็นแรงให้กับกลุ่มคนที่ต้องไปออกเรือ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่เคยถูกพูดถึงในแวดวงประมงพื้นบ้าน จึงกลายเป็นคำถามว่าผู้หญิงที่อยู่ในอาชีพนี้ยังขาดสวัสดิการต่าง ๆ ทั้งที่พวกเธอเป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนอาชีพนี้

ส่วน ไครียะห์ ก็ยกตัวอย่างที่เห็นภาพชัด เธอพูดถึงการเดินทางขึ้นมาเรียกร้องสิทธิชุมชนชายฝั่งของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น โดยทุกครั้งชุมชนจะรวมกลุ่มกันเดินทางมาถึงหน้าทำเนียบรัฐบาลในกรุงเทพฯ มีกลุ่มคนหลากหลายแต่กลุ่มที่ขาดไม่ได้คือแม่ ๆ กลุ่มผู้หญิง เพราะถ้ามีแม่ ๆ มาด้วย ชุมชนก็จะมีอาหารกิน มีแรงไปเรียกร้องสิทธิกันต่อ พวกเธอถือเป็นแรงสนับสนุนสำคัญเพราะพวกเธอรู้วิธีการถนอมอาหาร ดูแลอาหารทะเลให้สดใหม่แม้ว่าจะเดินทางจาก อ.จะนะมาถึงกรุงเทพฯ ก็ตาม นอกจากนี้เหล่าแม่ ๆ ยังมีภูมิปัญญาและความรู้เรื่องทรัพยากรมากมายที่นำไปประกอบรายงานได้ด้วย จากกรณีนี้เราก็จะเห็นว่าผู้หญิงจะนะมีส่วนสำคัญมากในการทำงานรณรงค์ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม

ด้าน อาจารย์ศักดิ์อนันต์ กล่าวเสริมในมุมมองของกลุ่มนักวิจัยทางทะเลว่า สำหรับงานด้านการวิจัยเกี่ยวกับชุมชนชายฝั่งของทะเลในไทยเองก็เช่นกัน เราเห็นว่ากลุ่มผู้หญิงมีบทบาทการปกป้องทะเลเยอะมากไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนักศึกษาวิจัย ผู้ที่ทำงานด้านวิจัย หรือกระทั่งกลุ่มชุมชนชายฝั่งเองที่มีกลุ่มผู้หญิงออกมาปกป้องพื้นที่ชายฝั่งเช่น พื้นที่เกาะเต่า เป็นต้น 

ในชุมชนแต่ละแห่งต่างมีเอกลักษณ์ มีอัตลักษณ์และความหลากหลายที่ทำให้พื้นที่นั้นยังคงมีชีวิตชีวา เรียกได้ว่าเป็นการสร้างสังคมสำหรับเราทุกคน (Inclusive Society) แต่ที่ผ่านมานโยบายของรัฐพร้อมโอบรับความหลากหลายชองชุมชนมากแค่ไหน?

นโยบายสนับสนุนชุมชนมากน้อยแค่ไหน

นโยบายจากภาครัฐที่ชุมชนจะนะหรือชุมชนชายฝั่งอื่น ๆ เจอคือรัฐยื่นโครงการมาให้โดยที่ไม่ได้ถามชุมชน เป็นการกำหนดนโยบายแบบ top-down (นโยบายบนลงล่าง) หรือไม่ก็เป็นการลงความเห็นให้กับโครงการโดยใครก็ไม่รู้ในห้องประชุม ไม่ใช่คนที่อยู่ในพื้นที่ที่พวกเขาจะได้รับผลกระทบโดยตรง ทางออกหนึ่งที่ภาคสังคม นักวิชาการที่เกี่ยวข้องและภาคประชาชนเห็นพ้องต้องกันนั่นก็คือ รัฐควรปรับเปลี่ยนในเชิงโครงสร้าง เริ่มตั้งแต่การกำหนดนโยบาย เมื่อรัฐอยากพัฒนาพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งก็ตามก็ควรจะเริ่มจากการมองเห็นว่าพื้นที่นั้นมีชุมชนอยู่และมองเห็นศักยภาพของพวกเขา อีกทั้งยังจะต้องมาร่วมออกแบบการใช้ทรัพยากรและพัฒนาพื้นที่ที่ฟังเสียงของคนในพื้นที่

ทั้งนี้ ทั้งอาจารย์ศักดิ์อนันต์และวิภาวดี เห็นพ้องว่าการร่วมออกแบบระหว่างรัฐกับชุมชนนั้นไม่ใช่การพูดคุยกันในเชิงเศรษฐกิจระดับกระพี้ไม้ เช่น จะนำปลาที่จับได้ไปแปรรูปเป็นอะไรได้บ้าง จะมีรายได้เท่าไร มีการเติบโตทางเศรษฐกิจเท่าไร แต่จะต้องพูดคุยวางแผนถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรเหล่านั้นร่วมกันกับชุมชนด้วย โดยรวมคือรัฐต้องโอบรับความหลากหลายและอัตลักษณ์ของชุมชนในพื้นที่นั้น ๆ เปิดพื้นที่สนับสนุนให้ผู้คน ชุมชนมีส่วนร่วมในการเก็บข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อนำไปเป็นพื้นฐานในงานอนุรักษ์และการตัดสินใจออกแบบนโยบายพัฒนา ถือเป็นการเคารพเสียงของชุมชนและยังคงเอกลักษณ์ ความเป็นอยู่และวิถีชีวิตของชุมชนที่แต่ละพื้นที่ทั่วประเทศต่างก็มีความหลากหลายในตัวเอง

ไครียะห์กล่าวว่า “มติ ครม.ทิ้งทวนของคณะรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนการเลือกตั้งใหม่ หนึ่งในนั้นคือมติการสร้างโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ แม้จะมีมติลงมาแล้วแต่กลับไม่มีการทำประชาพิจารณ์ซึ่งเท่าที่ทราบไม่เคยมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น ชาวบ้านตื่นตกใจกันมาก หลังจากเดินทางไปสอบถามเจ้าหน้าที่ที่ศาลากลาง จ.สงขลาเกี่ยวกับมติ ครม. นี้แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบ จึงเป็นสาเหตุที่ชุมชนจะต้องเดินทางมาที่กรุงเทพฯ เพื่อถามรัฐบาลที่ทำเนียบรัฐบาล”

นี่คือปัญหาสำคัญและเป็นคำถามจากทั้งชุมชน นักวิชาการ และนักรณรงค์ว่า แล้วเสียงของประชาชนอยู่ตรงไหน? ทั้ง ๆ ที่พวกเขาเป็นคนในพื้นที่ซึ่งควรมีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่เป็นหลัก ยิ่งไปกว่านั้น เรายังคาดหวังว่าในยุคคณะรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน จะมีแนวทางนโยบายที่โอบรับความหลากหลายของชุมชนให้มากกว่าคณะรัฐบาลชุดที่ผ่าน ๆ มาด้วยการให้ชุมชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ของตัวเอง