ทะเลไทยกำลังเผชิญกับภัยคุกคามจากการแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลที่ดำเนินต่อเนื่องมายาวนาน ทั้งจากประมงทำลายล้าง ภัยคุกคามที่เกิดจากโครงการอุตสาหกรรมทั้งชายฝั่งและกลางทะเล  และรวมถึงปัญหาจากวิฤตสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี

ในปี 2567 นี้ เรือรณรงค์ของกรีนพีซอย่าง Rainbow Warrior เดินทางมาที่น่านน้ำไทยเพื่อทำงานรณรงค์และแล่นใบออกสำรวจทรัพยากร โดยทำงานร่วมกับชุมชนที่เชื่อมโยงกับระบบนิเวศทางทะเลในหลากหลายมิติ ทำให้เราได้พบเจอคนธรรมดาในชุมชนชายฝั่งหลายแห่งที่กำลังได้รับผลกระทบจากนโยบายและโครงการพัฒนาที่ชุมชนไม่ได้มีส่วนร่วม กำลังพยายามลุกขึ้นมาส่งเสียงเพื่อตัวเองในการปกป้องทรัพยากรและบ้านเกิดของตัวเอง เราจึงขอชวนไปทำความรู้จักและฟังเสียง Ocean Defenders หรือ นักปกป้องทะเล 4 คน ที่ต่างมีเป้าหมายเดียวกันในการรักษาบ้านเกิดของพวกเขา

สมโชค จุงจาตุรันต์ – เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ

สมโชค จุงจาตุรันต์ เจ้าของสวนทุเรียนใน อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่โครงการแลนบริดจ์จะพาดผ่าน และจะเป็นที่ตั้งโครงการนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ © Roengchai Kongmuang / Greenpeace

ครั้งแรกที่เราได้คุยกับ สมโชค จุงจาตุรันต์ หรือ พี่โชค เขาแนะนำตัวเองอย่างฉะฉานว่า “ผมเป็นคนพะโต๊ะโดยกําเนิด เกิดที่นี่และเรียนที่นี่แล้วก็เติบโตอยู่ที่นี่ ก็คงจะต้องตายที่นี่ แล้วก็จะต้องต่อสู้กับแลนด์บริดจ์อยู่ที่นี่ครับ”

สมโชค คือเจ้าของสวนทุเรียนในอำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่โครงการแลนบริดจ์จะพาดผ่าน และจะเป็นที่ตั้งโครงการนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แม้ว่าอำเภอพะโต๊ะจะไม่มีพื้นที่ติดทะเล แต่เป็นพื้นที่กลับเชื่อมโยงระบบนิเวศแม่น้ำ ป่า และทะเล เข้าไว้ด้วยกัน

หมอกในช่วงเช้าตรู่และภูมิประเทศมุมสูงของอำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร © Roengchai Kongmuang / Greenpeace

“พะโต๊ะเป็นดินแดนมหัศจรรย์ด้วยทําเลที่อยู่กึ่งกลางระหว่างอันดามันและอ่าวไทย  จึงเหมาะสมกับผลผลิตทางการเกษตรมูลค่าสูงอย่างทุเรียน อำเภอหลังสวนคือฝั่งอ่าวไทยซึ่งอยู่ห่างจากพื้นที่ตัวอําเภอพะโต๊ะประมาณ 40 กิโลเมตร และห่างจากอันดามันอยู่ประมาณ 25   เพราะฉะนั้นด้วยทําเลที่ตั้งเราอยู่กึ่งกลาง เวลาฝนจากทิศตะวันออกคือฝั่งอ่าวไทย ก็จะหอบเอาฝนฝั่งหลังสวนมาที่อําเภอพะโต๊ะ และขณะเดียวกัน ลมตะวันตกจากทะเลอันดามันจากฝั่งระนองก็เอาฝนมาตกที่อําเภอพะโต๊ะ นอกจากนั้นอําเภอพะโต๊ะมีลักษณะเป็นภูเขาและเป็นแอ่งกระทะ จึงเหมาะสมกับอาชีพเกษตร มีป่าที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็น ป่าปากซง ป่าปางหวาน ป่าพะโต๊ะ ป่าพระรักษ์ ซึ่งเป็นถิ่นกําเนิดของแม่น้ําหลังสวน และอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรป่าไม้ ดินดี น้ําสมบูรณ์ มีสัตว์ป่า และพันธุ์พืช”

สมโชค จุงจาตุรันต์ และหมุดโครงการแลนด์บริดจ์ ที่ อ.พะโต๊ะ จ.ระนอง © Roengchai Kongmuang / Greenpeace

พี่โชคเล่าต่อว่า เขาและคนพะโต๊ะได้ตั้ง​ “เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ” ขึ้นมาเพราะมองว่า โครงการแลนด์บริดจ์ของตั้งแต่สมัยรัฐบาล คสช. รัฐบาลประยุทธ จนมาถึงรัฐบาลปัจจุบัน มีการเปลี่ยนทิศทางโดยตลอด จนวันหนึ่งชุตัดสินใจที่จะเข้าไปศึกษาเอง โดยได้เปรียบเทียบกับรายงานของสภาพัฒน์ภายใต้การนําของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ชุมชนจึงได้มาจับกลุ่มคุยกัน เริ่มจากเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจนเปลี่ยนมาเป็นเครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ เพราะต้องการรักษาดินแดนตรงนี้ให้เป็นมรดกตกทอดของลูกหลานและให้เป็นสมบัติของคนทั้งชาติ

“ผมอยากจะยืนยันว่าป่าไม้สายน้ําหรือแม้กระทั่งทะเลทุกที่ทุกหนแห่งไม่มีส่วนไหนเป็นของรัฐบาล แต่เป็นของประชาชนคนไทยทั้งประเทศครับ”

พี่โชคทิ้งท้ายอย่างหนักแน่นว่า 

“ผมอยากจะให้กําหนดอนาคตตัวเองโดยให้มันสอดคล้องกับศักยภาพภายในพื้นที่ เราไม่ได้ขวางการพัฒนา สำหรับพะโต๊ะผมยืนยันเลยว่ามันเป็นดินแดนที่ตามคําขวัญว่า ‘ภูเขาเขียว เที่ยวล่องแพ แลหมอกปรก น้ําตกงาม ลือนามผลไม้’ 

สมโชค จุงจาตุรันต์ เจ้าของสวนทุเรียนใน อ.พะโต๊ะ จ. ชุมพร ที่บริเวณสวนทุเรียน © Roengchai Kongmuang / Greenpeace

“ผมยืนยันว่าพะโต๊ะเป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และเราอยู่กับธรรมชาติได้อย่างสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นดิน น้ํา อากาศ ที่อุดมสมบูรณ์ ทุกอย่างมันลงตัว เราถึงยืนยันว่าพะโต๊ะเหมาะสมกับพื้นที่ที่เป็นเกษตรมูลค่าสูง เราไม่จําเป็นต้องเอานิคมอุตสาหกรรมมาไว้ในพื้นที่อําเภอพะโต๊ะ และการพัฒนาใด ๆ ควรสอดคล้องกับศักยภาพภายในพื้นที่ครับ”

ไครียะห์ ระหมันยะ – ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ

เมื่อครั้งที่ชื่อของ “ ไครียะห์ ระหมันยะ” หรือ “ยะห์” ปรากฎตามหน้าสื่อระดับประเทศ เธอเพิ่งจะอายุครบ 18 ปี ยะห์คือลูกชาวประมงจากหมู่บ้านในอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ผู้เคลื่อนไหวให้รัฐบาลยกเลิกมติ ครม. ที่จะสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ เพราะไม่อยากเห็นบ้านเกิดริมทะเลที่อุดมสมบูรณ์ กลายเป็นนิคมอุตสาหกรรม

ไครียะห์ ระหมันยะ ลูกชาวประมงจากหมู่บ้านในอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เคลื่อนไหวให้รัฐบาลยกเลิกมติ ครม. ที่จะสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ © Greenpeace

“เราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี และอยากที่จะให้รุ่นหลานเหลนของเราเจอสภาพแวดล้อมที่ดีแบบเราด้วย นี่คือสิ่งยึดเหนี่ยวของเรา” ยะห์กล่าว

คนในชุมชนบ้านสวนกงส่วนมาก รวมถึงพ่อแม่ของยะห์ ทำอาชีพประมง ใครที่ไม่มีเรือก็ทำประมงได้ด้วยการวางอวนริมฝั่ง หรือส่องไฟฉายริมฝั่งตอนกลางคืนเพื่อแทงปลานำไปขาย ปกติยะห์จะช่วยพ่อแม่ลากเรือ แกะปูออกจากอวน และขายสัตว์น้ำที่จับได้ 

“ทะเลไม่ได้หล่อเลี้ยงคนในชุมชนอย่างเดียว แต่หล่อเลี้ยงคนทั้งประเทศ และทั้งภูมิภาค เพราะเรือประมง ขายสัตว์น้ำไปสู่ตลาด ร้านอาหาร ส่งเข้ากรุงเทพและจังหวัดอื่นๆ ถ้าส่งไปแพใหญ่ ๆ ประจำจังหวัดสงขลา เขาก็ส่งต่อไปที่ประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้” ยะห์เล่าให้ฟัง

Female Fishers in Chana. © Songwut Jullanan / Greenpeace
วิถีชีวิตชาวจะนะ ณ หาดสวนกง อ.จะนะ จ.สงขลา © Songwut Jullanan / Greenpeace

ในช่วงเวลา 4 ปีของการต่อสู้อย่างต่อเนื่องของ “เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น” ตั้งแต่การเดินขบวนและปักหลักหน้าทำเนียบรัฐบาล โดนสลายการชุมนุม ไปจนถึงการถูกดำเนินคดีเพราะออกมาใช้เสรีภาพในการแสดงออก ชุมชนได้ร่วมกันพูดถึงปัญหาความไม่ชอบธรรมในการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น และความกังวลว่านิคมฯ อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตชุมชน โดยเฉพาะต่อทะเลที่พวกเขาฝากชีวิตไว้มาเนิ่นนาน ยะห์และชาวบ้านอำเภอจะนะจึงเรียกร้องให้รัฐบาลชะลอโครงการ และจัดให้มีการศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment) หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า SEA อย่างรอบคอบเสียก่อน 

Global Oceans Treaty UN Projections in New York.
ไครียะห์ ระหมันยะ ลูกชาวประมงจากหมู่บ้านในอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เคลื่อนไหวให้รัฐบาลยกเลิกมติ ครม. ที่จะสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ © Greenpeace

ปัจจุบันชุมชนจะนะได้วาดฝันอนาคตของตัวเองอย่างเป็นรูปธรรมผ่านความร่วมมือภายในชุมชนที่จะเสนอนโยบายที่ชุมชนมีส่วนกำหนดอย่างแท้จริง นอกจากนั้นจากรายงานข้อมูลจากรายงาน “เสียงแห่งจะนะ” ยังพบว่าทะเลและชายฝั่งอำเภอจะนะมีสัตว์น้ำที่มีมูลค่าทั้งทางเศรษฐกิจ และสำคัญต่อระบบนิเวศหลายร้อยชนิด แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพและเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญสำหรับชาวประมงพื้นบ้าน และผู้มีอาชีพต่อเนื่อง รวมทั้งเป็นความมั่นคงทางอาหารให้กับทั้งในพื้นที่ ในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งยืนยันในสิ่งที่ชุมชนต่อสู้และพยายามส่งเสียงมาตลอดหลายปี

ฟังเสียงชุมชนที่อำเภอจะนะได้ที่นี่

มะทม สินสุวรรณ – ชาวประมงไทยพลัดถิ่น

ตำบลราชกรูด จังหวัดระนอง คืออีกพื้นที่ที่เป็นหมุดหมายสำคัญของโครงการแลนด์บริดจ์ ในครั้งนี้เราจึงได้ไปพูดคุยกับผู้คนในชุมชนชายฝั่งในบริเวณดังกล่าว พวกเขาสะท้อนความกังวลต่อผลกระทบต่อทรัพยากร ที่อยู่อาศัย และวิถีชีวิต เพราะบ้านของพวกเขามีแนวโน้มว่าจะกลายเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสากรรมขนาดใหญ่รวมถึงท่าเรือน้ำลึกที่บริเวณอ่าวอ่าง โดยเฉพาะเสียงสะท้อนในหมู่บ้านชาวประมงเล็ก ๆ ของชุมชนคนไทยพลัดถิ่นที่อาศัยและพึ่งพาทะเลมาเป็นระยะเวลายาวนาน แต่เสียงของพวกเขามักถูกละเลยจากภาครัฐอยู่เสมอ

ทม สินสุวรรณ ชาวประมงไทยพลัดถิ่น อาศัยอยู่ที่หมู่ 7 บ้านห้วยปลิง ต.ราชกรูด จ.ระนอง © Roengchai Kongmuang / Greenpeace

ทม สินสุวรรณ หรือที่เราเรียกเธอว่า มะทม เล่าว่าเธอได้เข้ามาอยู่ในหมู่ 7 บ้านห้วยปลิง เมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้วและได้สร้างครอบครัวอยู่ที่นี่ เธอเป็นคนไทยพลัดถิ่นตกหล่นการสำรวจ และย้ายเข้ามาอยู่ที่นี่ตั้งแต่ตอนที่ยังไม่มีบัตรประชาชน จึงได้เรียกร้องจนได้มีบัตรประชาชนเมื่ออายุได้ 40 ปี 

“ก่อนหน้าจะได้บัตร เราเดินเท้าไปที่ทำเนียบรัฐบาล ก็เลยเดินกันไป 5,000 กว่าคน ทำให้คนไทยพลัดถิ่นได้มีสิทธิจากบัตรประชาชนขึ้นมา แต่ก็ยังมีคนตกสำรวจอยู่ในหมู่ 7 อีกประมาณ 2-3 พันคน”

การทำประมงพื้นบ้านชาวที่หมู่บ้านห้วยปลิง ต.ราชกรูด จ.ระนอง © Roengchai Kongmuang / Greenpeace

มะทมเล่าความเห็นของเธอให้ฟัง เมื่อเราถามถึงความเห็นต่อโครงการขนาดใหญ่ รวมทั้งเล่าต่อว่าเธอมองเห็นอนาคตของลูกหลานและชุมชนที่นี่ว่า

“อยากส่งสัญญาณไปที่รัฐบาลว่าก่อนที่รัฐบาลจะมาทำโครงการพัฒนาอะไรก็ตาม ให้ช่วยรับรองสิทธิของชุมชนก่อน พี่น้องจะได้อยู่ดีกินดีและทำมาหากินได้ เพราะคนในชุมชนที่ไม่มีบัตรประชาชนไม่สามารถเดินทางออกไปหางานข้างนอกทำได้ ก็จะอยู่ได้แค่บริเวณอ่าวอ่าง ซึ่งเป็นบริเวณที่อุดมสมบูรณ์และเหมาะกับการทำประมงพื้นบ้าน”

การทำประมงพื้นบ้านชาวที่หมู่บ้านห้วยปลิง ต.ราชกรูด จ.ระนอง © Roengchai Kongmuang / Greenpeace

“ถึงแม้ว่าเราจะอายุมากแล้ว แต่เราก็อยากหวงแหนไว้ให้ลูกหลาน เพราะลูกหลานก็ไม่ได้เรียนสูง ถ้าจะไปทํางานในโครงการใหญ่โตก็ต้องจบปริญญาตรี ปริญญาโท แต่ลูกหลานเราอย่างดีจบมัธยมก็ต้องออกมาทํางานแล้ว เพราะไม่มีเงินจะส่ง”

ป่าโกงกาง บริเวณอ่าวอ่าง จ.ระนอง © Roengchai Kongmuang / Greenpeace

“อยากให้พื้นที่บ้านเราได้เป็นมรดกโลกค่ะ จะได้มีนักท่องเที่ยวได้เข้ามา ทำให้ชุมชนมีรายได้จากการท่องเที่ยว อยากให้ทรัพยากรและทะเลให้เป็นมรดกลูกเราได้อยู่หากินไปจนตายชั่วลูกชั่วหลานค่ะ เพราะเรามีทิวทัศน์สวยงามอุดมสมบูรณ์ มีป่าโกงกาง มี ปู หอย กุ้ง ปู ปลา ชุกชุม” 

สมโชค ทะเลลึก – ผู้นำชุมชนมอแกนแห่งเกาะพยาม

เกาะพยาม จ.ระนอง © Roengchai Kongmuang / Greenpeace

หลายคนอาจรู้จักเกาะพยามในฐานะเกาะท่องเที่ยวที่มีทะเลสวย น้ำใส เต็มไปด้วยธรรมชาติและทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ แต่บนมุมเล็ก ๆ ของเกาะยังแห่งนี้ยังมีชาวมอแกน ซึ่งคือกลุ่มชนพื้นเมืองชาติพันธุ์ที่มาปักหลักและตั้งถิ่นอาศัยอยู่ในหมู่บ้านเล็ก ๆ บนเกาะพยาม จ.ระนอง ตั้งแต่หลังเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี 2547 พวกเขาคือกลุ่มชนพื้นเมืองชาติพันธุ์ที่ไม่มีใครได้ยินเสียง ไม่ได้รับรองสิทธิขั้นพื้นฐาน และแน่นอนว่าจะเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่ถูกละเลยเสมอเมื่อจะเกิดโครงการพัฒนาอะไรก็ตาม ทั้งที่พวกเขาอาจจะเป็นกลุ่มคนที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง

สมโชค ทะเลลึก ผู้นำชุมชนของชาวมอแกน กลุ่มชนพื้นเมืองบนเกาะพยาม จ.ระนอง © Roengchai Kongmuang / Greenpeace

ที่หน้าทางเข้าหมู่บ้านมอแกน เราได้พบกับพี่อู่ หรือ สมโชค ทะเลลึก เขาคือผู้นำชุมชนของชาวมอแกนที่นี่ จากการพูดคุยกับพี่อู่ เขาเล่าว่าจำนวนชาวมอแกนทั้งชุมชนประมาณ 200 คน ชีวิตของชาวมอแกนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมาก คนส่วนมากที่นี่ไม่มีบัตรประชาชนจึงไม่ได้มีสิทธิขั้นพื้นฐานเหมือนคนอื่น ๆ และชาวมอแกนจำนวนมากก็ไม่กล้าออกมาเรียกร้องสิทธิอะไรมากนัก ได้แต่ใช้ชีวิตเป็นคนทะเลอยู่ในหมู่บ้านแห่งนี้

“ผมเกิดและเรียนหนังสือที่ระนอง หลังจากนั้นพอโตเป็นวัยรุ่นก็ย้ายมาอยู่ที่เกาะพยามหลังเหตุการณ์สึนามิและก็ได้มามีครอบครัวที่นี่ ก่อนหน้าที่จะได้บัตรประชาชน ผมก็เป็นเหมือนคนไม่มีหลัก ไม่มีแหล่ง ไม่มีสัญชาติ ไม่มีประเทศ แล้วทางภาครัฐเขาก็ไม่ได้ให้ความสําคัญอะไรมาก”

วิถีชีวิตชาวมอแกน กลุ่มชนพื้นเมืองบนเกาะพยาม จ.ระนอง © Roengchai Kongmuang / Greenpeace

“ทุกวันนี้คนที่ยังไม่มีบัตรประชาชนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านมอแกนก็ยังคงเรียกร้องอยู่ เราก็ช่วยดำเนินการในการไปยื่นหนังสือ ช่วยรวบรวมข้อมูลให้ ต้องหาพยานหลักฐานว่าเด็กคนนี้เกิดในประเทศไทยแล้วก็ยื่นเรื่องให้อําเภอ”

‘คนทะเล’ คือคำที่พี่อู่ใช้นิยามตนเองและชาวมอแกนบนเกาะพยาม เพราะวิถีชีวิตของชาวมอแกนที่มีความผูกพันกับทะเลอย่างลึกซึ้งในทุกมิติ โดยเฉพาะเรื่องการทำประมงที่เป็นแหล่งรายได้หลักของชุมชน

วิถีชีวิตชาวมอแกน กลุ่มชนพื้นเมืองบนเกาะพยาม จ.ระนอง © Roengchai Kongmuang / Greenpeace

“ถ้าย้อนไปประมาณ 15-20 ปีที่แล้ว เวลาทําประมงเปรียบเทียบกับปัจจุบันแตกต่างกันมาก เมื่อก่อนจะหาปลาได้เยอะกว่านี้มาก ซึ่งส่งผลกระทบโดยเฉพาะกับชาวมอแกนที่ต่อไปอาจจะต้องไปหาอาชีพบนฝั่ง ซึ่งหากแลนด์บริดจ์เกิดขึ้นก็จะทําให้ยากขึ้นไปอีก” พี่อู่กล่าว

พี่อู่เล่าสรุปว่า ส่วนมากคนมอแกนยังไม่เห็นภาพไม่ว่าจะเป็นเรื่องแลนด์บริดจ์หรือการสร้างท่าเรือน้ำลึกใกล้ ๆ เกาะพยาม เมื่อครั้งที่มีการจัดรับฟังความคิดเห็น ทางภาครัฐก็ไม่ได้เข้ามาถามคนในหมู่บ้าน ทางชุมชนยังไม่ได้รับข้อมูลเรื่องนี้มากนัก

Justice for Ocean บ้านเรา ให้เราดูแล

จากเสียงสะท้อนจากผู้คนในชุมชนที่เกี่ยวข้องกับทะเล เราพบว่ามีช่องว่างและความไม่เข้าใจมากมายที่เกิดขึ้นระหว่างชุมชนกับนโยบายภาครัฐที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของตนเองอย่างแท้จริง นอกจากนั้นชุมชนยังได้ส่งเสียงอย่างต่อเนื่องถึงความกังวลต่อโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่จะส่งผลกระทบโดยตรงแต่กลับไม่ได้รับการเหลียวแลเท่าที่ควร

ชายหาดที่ อ.ปะทิว จ.ชุมพร © Roengchai Kongmuang / Greenpeace

แม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยจะมีระบบการจัดการพื้นที่เขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเล แต่พื้นที่ส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเล พื้นที่สงวน ซึ่งถูกกำหนดอาณาเขต และดำเนินการโดยหน่วยงานเฉพาะของภาครัฐ ทำให้ชุมชนขาดการมีส่วนร่วม หรือมีส่วนร่วมน้อยในปกป้องและบริหารจัดการทรัพยากร หรือแม้กระทั้งการนำองค์ความรู้ท้องถิ่นเพื่อมาผสมผสานเพื่อใช้ในการกำหนดพื้นที่เขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเล

แคมเปญและการเดินทางของกรีนพีซที่ชื่อว่า “Rainbow Warrior Ship Tour 2024: Ocean Justice” ในครั้งนี้ จึงมีจุดประสงค์เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการอภิปรายถกเถียงอย่างกว้างถึงนโยบายสาธารณะด้านสิทธิของชุมชนในการมีส่วนร่วมในกำหนดเขตพื้นที่และบริหารจัดการทรัพยากร เพื่อปกป้องทรัพยากรสิ่งแวดล้อมแนวชายฝั่งทะเลไปพร้อมกับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน

ติดตามงานรณรงค์เพื่อทะเลและมหาสมุทรของเราได้ที่นี่

อ้างอิง

https://www.greenpeace.org/thailand/story/17906/ocean-sustainability-kaireeya-ramanya

https://www.greenpeace.org/thailand/story/23009/ocean-sustainability-kaireeyah-two-year-movement-for-chana