วิกฤตฝุ่นพิษข้ามพรมแดนที่ภาคเหนือตอนบนต้องเผชิญนั้นเป็นปัญหาที่เรื้อรังมาราว 20 ปี และยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น ปัญหาฝุ่นพิษของภาคเหนือนั้นไม่สามารถสิ้นสุดลงได้เพียงคำตอบของคำถามว่า “ใครเป็นคนเผา” เนื่องจากเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นจากนโยบายของรัฐแบบ “บนลงล่าง” (Top-down) ที่ยิ่งซ้ำเติมสิทธิพื้นฐานที่ขาดหายไปของประชาชน แต่กลับเอื้อผลประโยชน์กลุ่มบริษัทอุตสาหกรรม เช่น การเติบโตของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ที่เชื่อมโยงกับการขยายพื้นที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศเพื่อนบ้านและก่อฝุ่นพิษข้ามพรมแดนมากถึงร้อยละ 41 ของจุดความร้อนทั้งหมดในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง หรือมีสัดส่วนมากกว่าจุดความร้อนจากพื้นที่ป่าและแปลงเกษตรอื่นทั้งหมด

อย่างไรก็ตามปัญหาไฟป่าที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดนั้นได้สร้างข้อถกเถียงและข้อกล่าวหาว่า ชาวบ้าน คนบนดอย คนหาของป่าล่าสัตว์นี่แหละคือผู้ร้ายตัวการมือเผา แม้แต่ทางรัฐบาลเองก็ยังเสนอให้เปลี่ยนชื่อ “เห็ดเผาะ” เป็น “เห็ด PM2.5” ซึ่งข้อเท็จจริงนั้นหากเห็ดเผาะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ชาวบ้านเก็บขายได้สูงเช่นนั้น ทำไมการส่งออกติดอันดับหนึ่งของเอเชียจึงเป็นผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ ไม่ใช่เห็ดเผาะ 

สิ่งที่กรีนพีซอยากชวนทุกคนตั้งข้อสังเกตคือ เรามักไม่ได้ยินเสียงจากคนตัวเล็กที่อธิบายถึงปัญหาไฟป่า แต่มักเป็นเสียงจากผู้ที่มีอำนาจ เช่น ภาครัฐ นักวิชาการ หรือนักข่าว เราจึงอาสายื่นไมค์ถามถึงคนท่ีอาศัยอยู่กับป่าจริงๆ ว่าเกิดอะไรขึ้น และจริงไหมที่ชาวบ้าน ชนพื้นเมืองชาติพันธุ์บนดอย คือตัวการสำคัญที่เผาป่า และนี่คือเสียงอันแผ่วเบาจากบทสนทนาสั้นๆกับ พฤ โอโดเชา เกษตรชนพื้นเมืองปกาเกอญอ ผู้อาศัยอยู่ที่อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ 

จริงไหมที่ชาวบ้านคือคนที่ทำให้ภูเขาทั้งลูกลุกเป็นไฟ ?

ได้คุยกับชาวบ้านที่อยู่เขตป่าผลัดใบ ปกติภูเขาที่ใช้ไฟจะมีเห็ดเผาะขึ้น หลายปีมานี้ชาวบ้านพบว่าเห็ดจะไม่ขึ้น ชาวบ้านคิดว่าเนื่องจากมีการใช้ไฟช้ากว่ากำหนดตามฤดูกาล แม้ชนพื้นเมืองจะเห็นด้วยกับการใช้ไฟบ้าง แต่เราไม่ยอมให้เขตพื้นที่ของเราเกิดไฟ มีการใช้ในแปลงเกษตรจริง แต่ไม่ใช่ป่า การเกิดไฟขึ้นแต่ละครั้งในเมื่อไม่มีเจ้าภาพให้โทษ ก็จึงโทษคนหาของป่า แต่การโทษว่าหาของป่าไม่สามารถแก้ปัญหาได้ และพาหลอกคนทั้งประเทศ โดยที่คนที่มีสิทธิออกมาพูดก็ไม่ใช่ชุมชน ชนพื้นเมือง หรือคนตัวเล็กๆ ตามความเชื่อของกะเหรี่ยงนั้น ไฟกะเหรี่ยงคือไฟที่มีเจ้าของ เวลาเผาจึงต้องมีคนเฝ้า เพราะถ้าไหม้ไปเรื่อยๆจะเป็นบาปกรรม 

พื้นที่ที่มีชุมชนดูแลป่า เช่น บ้านแม่ลานคำ บ้านป่าคา สะเมิงใต้ บ้านแม่โต๋ บ้านหนองคริซู บ้านแม่ขะปู ต.บ่อแก้ว ทางแม่วิน แม่วาง บ้านห้วยอีค่าง ห้วยข้าวลีบ บ้านโป่งสะหมิต บ้านทุ่งหลวง บ้านหนองเต่า ไม่เกิดไฟไหม้ในป่า หรือมีชาวบ้านคอยช่วยดับ แต่ในขณะที่พื้นที่ที่เกิดไฟในเชียงใหม่นั้น คือพื้นที่ในการดูแลของรัฐ เช่น พื้นที่ของกรมอุทยานป่าสงวนที่ห้ามคนเข้า และมีเจ้าหน้าที่คอยนั่งเฝ้า เราก็สงสัยว่าในเมื่อเกิดไฟในพื้นที่ของกรมอุทยาน และเอาไม่อยู่ ทำไมถึงไม่โทษอุทยานที่ดูแล แต่มาโทษชาวบ้าน การป้ายสีชาวบ้านทำให้ไม่สามารถล้วงลึกไปว่าทำไมถึงเกิดไฟอยู่ ทั้งที่เป็นพื้นที่การดูแลของรัฐ 

หากเกิดในพื้นที่ชาวบ้านและเกิดไฟ โทษชาวบ้านก็น่าฟังอยู่ แต่เมื่อบริเวณนั้นมีการดูแลโดยเจ้าหน้าที่รัฐอยู่แล้ว ชาวบ้านก็เกิดความสงสัยว่าเจ้าหน้าที่ที่ดูแลและระงับไฟอย่างไรถึงยังเกิดไฟ เมื่อเกิดความไม่เข้าใจ มีไฟไหม้ซ้ำซ้อนหลายปีที่เจ้าหน้าที่รัฐดูแลไม่ได้ และรัฐกล่าวหาเรา ชาวบ้านก็หมดศรัทธา เมื่อไฟเป็นเรื่องที่อธิบายยากจึงเป็นช่องให้ชาวบ้านถูกโจมดี 

การจัดการไฟของรัฐและเสียงของชาวบ้าน?

การจัดการทรัพยากรของรัฐไม่ได้ฟังชาวบ้านมานานแล้ว จึงทำให้เกิดปรากฎการณ์แบบนี้ และเป็นช่องว่างระหว่างรัฐและชุมชน อันเกิดจากทัศนคติ รากฐานทางความรู้ และอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างรัฐและชุมชน 

ความคิดว่าในการจัดการไฟระหว่างรัฐและชุมชนต่างกัน โดยที่รัฐต้องการควบคุมและห้ามใช้ไฟ ขณะที่คนท้องถิ่นไม่ได้มองว่าไฟเลวร้าย และชาวบ้านจำเป็นจะต้องเลือกควันไฟดีกว่ารอให้เกิดทั้งควันและเปลวไฟที่โหมรุนแรงและทำให้พื้นที่ป่าเกิดไฟจนควบคุมไม่ได้ รัฐหรือเจ้าหน้าที่ไม่ชำนาญในพื้นที่ ไม่ได้ออกแบบการดูแลในพื้นที่ เอาเพียงแค่หลักวิชามาให้ชาวบ้านทำตาม และทำให้ควบคุมไฟไม่ได้ มุมมองต่างทำให้เกิดการจัดการที่ต่าง จึงมีการกล่าวโทษ และการหาคนผิด มีกรณีที่เราเคยเจอว่ามีเจ้าหน้าที่มาเผาเพื่อจัดการเชื้อเพลิงให้หมด ไฟดับสนิทจริงไหมไฟลุกไหม้อีกก็ต้องหาโทษชาวบ้าน

แนวคิดจากประสบการณ์และความรู้จากการใช้ไฟของชุมชนยังรวมถึงการป้องกันเพลิงด้วยการใช้ไฟ เช่น ชาวบ้านเห็นไฟมาจากภูเขาเป็นเขตที่เจ้าหน้าที่ดูแลอยู่ เลยต้องจุดไฟเพื่อกันไฟเพื่อป้องกันไม่ให้ลามมายังไร่สวนและบ้านเรือน อาจมีสื่อหรือใครเห็นแล้วเข้าใจผิดคิดว่าชาวบ้านเผา แต่ที่จริงแล้วคือเพื่อกันไฟจากไฟป่าไม่ให้ไหม้มาเข้าบ้านเรา ชาวบ้านมีแนวทางการจัดการเชื้อเพลิงด้วยประสบการณ์และภูมิปัญญา ซึ่งมาจากความเชี่ยวชาญในการดูแลป่าและแหล่งอาหารของชุมชน แต่กลับถูกห้ามไม่ให้ใช้ไฟตามที่เคยทำ กลับต้องทำตามแผนของรัฐ แล้วเกิดไฟป่าอยู่ดี 

สิทธิและเสียงที่ขาดหายไปของชุมชนในป่า?

รัฐใช้อำนาจอะไร จู่ๆ ก็มาบอกว่าป่าเป็นของอุทยานหรือป่าสงวน และการจัดการของชาวบ้านผิด  ระบบรัฐไม่ยอมรับและเปิดพื้นที่ให้คนเล็กคนน้อยมาแลกเปลี่ยนเรื่องการใช้ไฟ ซึ่งเป็นการซ้ำเติมความซับซ้อนของปัญหา และซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ ซึ่งการไม่เปิดของรัฐเนี่ยเกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว และเกิดหน่วยงานต่าง ๆ ที่มาจัดการไฟและขัดแย้งกับท้องถิ่นหลายปี แม้จะให้ท้องถิ่นช่วยรับผิดชอบ แต่ยังต้องทำตามคำสั่งส่วนกลาง นำมาสู่การที่ชาวบ้านไม่มีพื้นที่แสดงความคิดเห็นว่าชาวบ้านจะต้องตัดสินใจเลือกจัดการไฟอย่างไร โดยการเลือกการไฟใช้ที่เบาที่สุดและดีที่สุดอย่างไร เพราะรัฐมองว่ามันผิด รัฐทำให้กลไกการใช้ไฟของชาวบ้านเพี้ยนไป จึงเกิดไฟไหม้รุนแรงจนเอาไม่อยู่  สู่การไม่ให้ชาวบ้านเข้าป่า การโทษคนหาของป่าหาเห็ดมาหลายปีมากแล้วก็ยังไม่จบสิ้น ในขณะที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นเหตุที่ทำให้เราต้องขยายพื้นที่และมีการใช้ไฟ แต่ว่าในแปลงข้าวโพดของชุมชนที่เลี้ยงวัวควายจะช่วยกินซังข้าวโพด ลดการใช้ไฟ 

นี่คือเสียงส่วนหนึ่งจากคนที่อาศัยอยู่กับป่าที่เรามักไม่ได้ยิน แต่มักได้ยินเพียงเสียงกล่าวโทษว่าพวกเขาคือตัวการเผาป่า แม้ว่าชาวบ้านและชุมชนจะไม่มีอำนาจทั้งสิทธิและเสียงใดที่จะเรียกร้องให้ใครรับฟัง แต่ผู้ที่อำนาจทั้งด้านการเงินและอิทธิพลคืออุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และตัวรัฐเอง ที่จะต้องนำระบบตรวจสอบย้อนกลับตลอดช่วงโซ่การผลิตมาใช้เพื่อพิสูจน์ตัวเองว่าไม่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับการทำลายป่าและก่อฝุ่นพิษข้ามพรมแดน และจะต้องเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณะเข้าถึงได้ เพราะภาระรับผิดฝุ่นพิษข้ามแดนนี้ยิ่งใหญ่เกินกว่าที่คนตัวเล็กๆบนดอยจะต้องรับผิดชอบจากการเป็นแพะแต่เพียงผู้เดียว