‘ภัทรานิษฐ์ ศรีจันทร์ดร’ หรือ ‘น้ำตาล’ เปิดร้านอาหาร เบเกอรี กาแฟ และขายของชำ ภายในร้าน ‘The Goodcery’ ชื่อ Goodcery มาจาก Grocery ที่แปลว่าร้านขายของชำ หรือ ‘โชห่วย’ ในภาษาจีน เมื่อนำคำมาละเล่นกับด้านตรงข้ามของ ‘ห่วย’ นั่นคือ ‘ดี’ หรือ Good ชื่อ The Goodcery จึงเป็นชื่อที่แทนความคิดในการทำร้านแห่งนี้ ทั้งหมดนี้ไม่ใช่วิสัยทัศน์ของนักธุรกิจ แต่น้ำตาลยกเครดิตทั้งหมดให้ความเป็นนักเรียนประวัติศาสตร์ของตัวเอง

“ประวัติศาสตร์ทำให้สนใจเรื่องเหล่านี้ค่ะ เราทนไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิด เราจึงต้องต่อสู้ แต่เราจะสู้อย่างไร เราเป็นนักธุรกิจ มองเห็นโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม ทุนผูกขาดสร้างข้อจำกัดทำให้ผลผลิตของท้องถิ่นไม่สามารถเติบโตหรือเดินทางไปได้ไกลกว่านี้ทั้งที่มีศักยภาพ เรามองเห็นโครงสร้างแบบรัฐราชการรวมศูนย์ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ไม่เอื้อประโยชน์ต่อชีวิตของผู้คนในท้องถิ่นต่างๆ

“สิ่งสำคัญกว่านั้นคือ ‘อากาศ’ ที่เราหายใจเข้าไปทุกวัน นี่คือสิ่งที่ทุกคนไม่ควรเจอ สภาพอากาศที่เลวร้ายในฤดูฝุ่นควันหลายสิบปีที่ผ่านมา สิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นเหล่านี้ทำให้เราพยายามหาคำตอบ ว่ามีวิธีไหนจะสะท้อนเรื่องเหล่านี้กลับไป” น้ำตาลเล่า

การเป็นนักเรียนประวัติศาสตร์ทำให้น้ำตาลค้นพบตำแหน่งแห่งที่ของตนเองและเพื่อนร่วมสังคมใน โครงเรื่องหลักของรัฐไทย สิ่งนี้นักประวัติศาสตร์เรียกว่าโครงเรื่องหลักหรือ Narrative การโต้กลับอย่างหนึ่งของนักประวัติศาสตร์คือการสร้าง Narrative ขึ้นมาอีกชุด เพื่อต่อกรกับ Narrative หลัก แต่เธอเป็นอดีตนักศึกษาประวัติศาสตร์ผู้ทำธุรกิจอาหาร  เธอจะทำอะไรกับ Narrative ได้บ้าง?

“สิ่งที่เรากำลังเผชิญทั้งหมดสุดท้ายแล้วมันคือเรื่องเดียวกันทั้งนั้นเลยค่ะ โครงสร้างทางสังคมที่เหลื่อมล้ำส่งผลให้การเมืองเป็นอย่างนี้ ส่งผลให้เศรษฐกิจเป็นแบบนี้ ทำให้วัฒนธรรมของคนในแต่ละท้องถิ่นต้องอยู่กันแบบตามมีตามเกิด ไม่มีประชาชนในโครงเรื่องหลักของรัฐไทย ในโครงเรื่องหลักของเศรษฐกิจไทยไม่มีประชาชนอยู่ในนั้นเลยนอกจากชนชั้นนำ”

The Goodcery จึงกลายเป็นคำตอบของน้ำตาล เธอเลือกวัตถุดิบชั้นดีทั่วภูมิภาคเข้ามาวางจำหน่ายในร้านเพื่อสะท้อนถึงความรุ่มรวยหลากหลายของแต่ละภูมิภาค สื่อสารลักษณะเฉพาะของตน ตั้งแต่ภูมิศาสตร์ ผู้คน และวัฒนธรรม ทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กในท้องถิ่นมีที่อยู่ที่ยืนใน Narrative ของโครงสร้างเศรษฐกิจไทย

ถ้าเป็นการนิพนธ์ประวัติศาสตร์ น้ำตาลกำลังเขียนเรื่องราวของผู้ผลิตรายเล็กในท้องถิ่นต่างๆ ลงใน Narrative ของ The Goodcery ด้วยความหวังว่าผู้คนที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานจะได้รับผลประโยชน์ร่วมกันอย่างเท่าเทียม เปลี่ยนแปลงระบบการผลิตอาหารและการบริโภค

ต้นปีที่ผ่านมา เป็นอีกปีอันเลวร้ายของเชียงใหม่เมื่อค่าฝุ่นPM2.5ในอากาศสูงติดต่อกันหลายเดือน และเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทั้งเมืองตกอยู่ในนิยามของ ‘ภัยพิบัติ’ 

“เราแสดงออกอย่างชัดเจนว่าอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เป็นส่วนหนึ่งของแหล่งกำเนิดมลพิษ แต่ร้านเราขายอาหาร เราใช้คอนเซ็ปต์ Slow Meat เราจึงเลือกวัตถุดิบจากฟาร์มปศุสัตว์ ประมง เกษตรกรที่มีแนวคิดเดียวกับเรา”

คนเชียงใหม่สามารถจินตนาการและเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับปัญหา PM2.5 ได้ไม่ยาก สำหรับโครงการเหมืองถ่านหินที่อำเภออมก๋อย ซึ่งเป็นแหล่งผลิตอาหารให้กับชาวเชียงใหม่ รวมถึงอีกหลายจังหวัด นอกจากการทำไร่หมุนเวียน มะเขือเทศและฟักทองเป็นพืชเศรษฐกิจของชาวกะเหรี่ยงโปว์ในหมู่บ้านกะเบอะดิน หัวใจของการปลูกพืชผักเหล่านี้ก็คือ ‘น้ำสะอาด’ การเกษตรกรรมที่นี่จำเป็นต้องพึ่งพาน้ำเพื่อปลูกพืชผลเป็นหลัก

“ทุกเรื่องที่เกิดในพื้นที่ไหนก็ตามจะย้อนกลับมาหาเราเสมอ ตัวอย่างเรื่องฝุ่นควันในพม่าที่เดินทางมาหาเราก็น่าจะบอกถึงสายโซ่ของเหตุการณ์ได้เป็นอย่างดี” น้ำตาล กล่าว 

ถ้าให้เลือก เธอเลือกอาหาร ไม่ใช่ถ่านหิน

#ฮักเจียงใหม่บ่เอาถ่านหิน

#HugChiangmaiNoCoal

โครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย

ย้อนหลังไปในปี 2530 มีบริษัทเอกชนเข้ามาขอซื้อที่ดินในหมู่ 12 บ้านกะเบอะดิน ต.อมก๋อย อ.อมก๋อย จากการบอกเล่า สมาชิกในชุมชนส่วนหนึ่งต้องขายที่ดินให้ไปอย่างไม่เต็มใจ เนื่องจากถูกข่มขู่และถูกยึดที่ดิน

อ่านเพิ่มเติม

เรื่องและภาพ: วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์