ปัญหาพลาสติกเป็นปัญหาระดับโลกที่ทำลายสิ่งแวดล้อมและมนุษย์ด้วยกันเอง ไม่เพียงแต่เศษพลาสติกจะเป็นภัยต่อธรรมชาติเท่านั้น แต่ไมโครพลาสติกได้เข้ามาในร่างกายมนุษย์และมาอยู่ในห่วงโซ่อาหารของเราแล้ว

สนธิสัญญาพลาสติกโลก (Global Plastic Treaty) คือมาตรการด้านมลพิษจากพลาสติกรวมทั้งสิ่งแวดล้อมทางทะเล ที่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศ โดยสนธิสัญญานี้คือความหวังในการยุติวิกฤตมลพิษพลาสติก ที่นำมาสู่วงเสวนา “สนธิสัญญาพลาสติกโลก สู่การยุติมลพิษพลาสติก สำคัญอย่างไรต่อสังคมไทย” ที่จัดขึ้นโดยองค์กรภาคประชาสังคม 3 องค์กร ได้แก่ มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice Foundation: EJF) กรีนพีซ ประเทศไทย (Greenpeace Thailand) และมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) ในวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา

สนธิสัญญาพลาสติกคืออะไร

ปุณญธร จึงสมาน นักวิจัยนโยบายพลาสติก Environmental Justice Foundation (EJF) เล่าถึงที่มาของสนธิสัญญาฉบับสำคัญนี้ “สนธิสัญญานี้เกิดจากการเจรจาระหว่างรัฐบาลเพื่อจัดตั้งมาตรการเพื่อแก้ปัญหามลพิษพลาสติกอย่างครอบคลุมและจัดการพลาสติกตลอดวงจรชีวิตให้เสร็จสิ้นภายในปี 2567”  ปัจจุบันได้มีร่างสนธิสัญญาฉบับศูนย์ฉบับปรุง (Revised Zero Draft) ที่ได้มาจากการประชุมครั้งที่ 3 ของคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาล (INC-3) โดยร่างศูนย์นี้จะเป็นเอกสารตั้งต้นในการประชุม INC-4 ที่แคนาดาในเดือนเมษายนนี้

คำว่า ‘วงจรชีวิตพลาสติก’ หมายถึงตั้งแต่การจุดเจาะน้ำมันหรือปลูกพืช การผลิตพลาสติกในโรงงานปิโตรเคมี การขนส่งสารเคมีพลาสติก การจำหน่ายและการใช้งาน ไปจนถึงการบริหารจัดการหลังการใช้งานเช่นการฝังกลบ เผา หรือรีไซเคิล

ปุณญธรได้กล่าวถึงมาตรการที่มีแนวโน้มจะปรากฎในร่างสนธิสัญญา ดังนี้

  • ลดการผลิตพลาสติกตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งการลดอาจจะทำเป็นรูปแบบสมัครใจคือ Nationally Determined Contributions (NDC) เหมือนข้อตกลงปารีส หรือเป็นข้อบังคับที่ผูกมัดและมีประสิทธิผลกว่า เช่น พิธีสารมอนเทรียล ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผลการเจรจา
  • การเลิกผลิต ลด หรือควบคุมพลาสติกบางประเภท เช่น พลาสติกใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งหรือไมโครพลาสติกที่เติมแบบจงใจ (เช่นในเครื่องสำอางค์)
  • การขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (EPR) ให้การจัดการพลาสติกตลอดวงจรชีวิต รวมไปถึงค่าความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมมีราคาย้อนกลับสู่ผู้ผลิต
  • การรีไซเคิลที่อาจต้องมีเป้าหมายเป็นเปอร์เซ็นต์ และต้องมีมาตรฐานทางสิ่งแวดล้อม
  • การกำหนดให้ใช้พลาสติกทางเลือกหรือพลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ
  • การตั้งเป้าหมายการใช้ซ้ำ ระบบการเติม และซ่อมแซม
  • การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม เพื่อให้ชุมชน ผู้ปฏิบัติงานคัดแยกขยะ แรงงานและคนทำงานตลอดวงจรชีวิตพลาสติกมีบทบาทและมีปากเสียงในการเจรจา

สนธิสัญญาพลาสติกโลก เพื่อ?

“รัฐมนตรีไม่สามารถจัดการปัญหามลพิษจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้เลย ไทยมีโรงงานปิโตรเคมีอันดับต้น ๆ ที่มาบตาพุด จ.ระยอง แต่คนระยองจะสำลักมลพิษตาย สถานการณ์ถูกจัดให้ดูอึมครึม ไม่ชัดเจน” เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศกล่าวถึงปัญหามลพิษจากโรงงานกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีผู้ผลิตพลาสติก 

โรงงานปิโตรเคมีเหล่านี้ไม่ได้ปล่อยสารมลพิษน้อยลง เพียงแต่ข่าวเรื่องสารปรอทในปลาถูกทำให้หายไป ผนวกกับหลุมฝังกลบขยะพันกว่าหลุมของส่วนราชการท้องถิ่นที่จัดการแบบไม่ถูกต้อง และโรงงานรีไซเคิลไม่ได้มาตรฐานที่เปิดเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับการ (ลักลอบ) นำเข้าขยะจากประเทศพัฒนาแล้ว

“โรงงานรีไซเคิลอันตรายมากๆ มีกระบวนการปล่อยมลพิษสู่ดินน้ำอากาศสูงมาก” เพ็ญโฉมกล่าว  “ถ้าอยากแก้ปัญหา PM2.5 ต้องมาจัดการโรงงานที่ก่อให้เกิด PM2.5 ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลไม่อยากพูดถึง มันคือการเผาขยะพลาสติก”

“มีสารเคมีในพลาสติก 13,000 ชนิด อาจจะมีหลายพันชนิดที่เมื่อถูกเผาและปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมและเป็นส่วนหนึ่งของสารพิษใน PM2.5 สารเคมีในบรรจุภัณฑ์หลายอย่างเป็นสารก่อมะเร็ง ทำลายระบบภูมิคุ้มกัน และส่งผลในระบบประสาทของเด็กแย่ลง” เพ็ญโฉมกล่าว

ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี  นักวิจัยเชี่ยวชาญ สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พูดถึงอีกสาเหตุที่ประเทศไทยต้องการสนธิสัญญาพลาสติกโลก “เพราะลองมาแล้ว ระบบสมัครใจมันไม่เวิร์ค”

โครงการ Global Commitment เคยถูกใช้ผลักดันการจัดการพลาสติกแบบสมัครใจระดับโลกมาก่อนแล้ว โดยพูดกับแบรนด์ ห้างค้าปลีกรายใหญ่ และรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ลดการใช้พลาสติกใหม่ เพิ่มการรีไซเคิล “แต่สุดท้ายแล้วทั่วโลกก็ยังผลิตพลาสติกเพิ่มขึ้นกว่าเดิม แบรนด์ใหญ่ๆ มีการลดใช้พลาสติก แต่มันก็ยังเป็นส่วนน้อยเท่านั้น” ดร. สุจิตราเล่า

ในเมืองไทย ประเด็นพลาสติกเป็นที่พูดถึงตั้งแต่ปี 2558 เริ่มมีแผนการปฏิบัติงาน “แต่เราไม่ได้แบนนะ เราเป็นการแบนแบบสมัครใจ คือการขอร้องให้ลดการใช้และลดการผลิต ซึ่งทางธุรกิจมันทำไม่ได้หรอก”

“สุดท้ายก็เลยต้องมาผลักดันสนธิสัญญานี้แหละค่ะ เพราะลองมาแล้ว แบบ voluntary (แบบสมัครใจ) ไม่เวิร์ค ทุกประเทศอาจจะต้องเตรียมการในประเทศเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ค่ะ”

ดร.สุจิตรามองว่า กฎหมายไทยปัจจุบันทิ้งภาระการจัดการขยะหลายประเภทไว้ให้ท้องถิ่น ไม่สนับสนุนการแยกเก็บขยะตามประเภท ดร.สุจิตรายังได้เสนอทางออกคือกลไกการจัดการพลาสติกที่ทั่วโลกใช้กัน เช่นการเก็บภาษีเตาเผา ระบบมัดจำคืนเงิน ระบบ Pay As You Throw หรือหลักการ EPR

EPR (Extended Polluter Responsibility) แบรนด์ต้องรับผิดชอบ

“หนึ่งในสิบสามข้อกำหนดหลักของสนธิสัญญาพลาสติกโลก คือเรื่องของ EPR นั่นหมายความว่าคณะกรรมการเห็นความจำเป็นที่เจ้าของแบรนด์จะเข้ามารับผิดชอบและปกป้องพื้นที่ต่างๆ” พิชามญชุ์ รักรอด หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีซ ประเทศไทย ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของสนธิสัญญาในเรื่องการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต

กรีนพีซ ประเทศไทยมีกิจกรรม Brand Audit การเก็บขยะในพื้นที่ธรรมชาติ ที่เก็บและบันทึกด้วยว่าเจอสินค้าประเภทไหน แบรนด์อะไร “แบรนด์ผู้ผลิตคือหนึ่งในตัวการสำคัญที่เราอยากให้เขาหันมารับผิดชอบผลิตภัณฑ์ของเขาเอง ตามหลักการ EPR หรือ การขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต” พิชามญชุ์เล่า

แล้วการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต ขยายไปอย่างไร

EPR พูดถึงผู้ผลิตหรือเจ้าของแบรนด์จะต้องมีความรับผิดชอบต่อการลดพลาสติกตลอดวงจรชีวิตพลาสติก ตั้งแต่ต้นทางการผลิต การออกแบบสินค้า หรือการจัดระบบเก็บกลับ โดยคิดว่าทำอย่างไรให้สินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ของแบรนด์ไม่ตกค้างในสิ่งแวดล้อม และจะต้องนำต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมไปคำนวนในราคาสินค้าด้วย ผู้ผลิตและผู้บริโภคจะได้รู้ราคาที่แท้จริงของสินค้าที่วางขายบนชั้นวางสินค้า

“กรีนพีซทั่วโลกมีการพูดเรื่อง EPR และทางออกที่ยั่งยืน คือ การมีระบงใช้ซ้ำและการเติม (refill) เราพูดมาหลายปี พอเราทำมาหลายปี เราเห็นภาพว่าถ้าเราทำงานแบบภาคสมัครใจต่อไป ปัญหามลพิษพลาสติกในปัจจุบันจะไม่ถูกแก้แน่ๆ” พิชามญชุ์ทิ้งท้าย

ร่างสนธิสัญญา จากฉบับ 0 สู่ฉบับ 1

ศลิษา ไตรพิพิธสิริวัฒน์ ผู้จัดการโครงการพลาสติก Environmental Justice Foundation (EJF) กล่าวถึงสนธิสัญญาพลาสติกโลกฉบับศูนย์ฉบับปรุง (Revised Zero Draft) ว่าเป็น “เหมือนเมนูอาหาร”

“ส่วนใหญ่มี 3 – 5 ทางเลือก ทางแรกชัดที่สุด มีเป้าหมายโลก มีกรอบเวลาชัดเจน มีภาคผนวกว่าลดอะไรบ้าง ทางที่สองจะครึ่งๆ กลางๆ เรามาลดพลาสติกกันได้ แต่ขอให้แต่ละประเทศไปคิดเป้าหมายกันเอง ทางเลือกสุดท้ายคือ ทำเหมือนเดิมเถอะ ทุกประเทศทำดีแล้ว”

“ความน่ากังวลคือ ผู้เจรจาแต่ละประเทศ มีหลายฝั่ง ทั้งที่อยากให้เข้มงวด อยู่ตรงกลาง หรืออยากให้เหมือนเดิม ไม่ต้องเปลี่ยนอะไร มองว่าการแก้ปัญหาพลาสติกแค่จัดการขยะก็พอแล้ว” คุณศลิษายังพูดถึงทิศทางการเจรจา “ในการประชุม INC-3 มีนักล็อบบี้จากฝั่งปิโตรเคมีกว่า 140 คน มากกว่าตัวแทนเจรจาจากหมู่เกาะขนาดเล็ก ซึ่งได้รับผลกระทบจากมลพิษพลาสติกที่มีแค่ 70 คน”

มูลนิธิ EJF ทำการศึกษาเรื่องการลดพลาสติกเพื่อนำความรู้ความจริงมาเป็นข้อเสนอแนะทางนโยบาย โดยศลิษาพูดถึง problematic but necessary plastic (พลาสติกที่เป็นปัญหาแต่ยังจำเป็นอยู่) เช่นอวนประมงที่ไม่สามารถหยุดใช้ได้และรีไซเคิลได้ยาก รวมถึงโครงการ Bottle Free Sea 

“เขาว่ามันยาก เราเลยลองร่วมกันกับกทม. ติดตั้งตู้เติมน้ำให้คนพกกระบอกน้ำมาเติมเองจำนวน 10 เครื่อง” ตู้ 10 ตู้นี้ลดขวดพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งไปแล้ว 300,000 ขวดภายใน 8 เดือน “มันก็เป็นหนึ่งในข้อพิสูจน์ เป็นการลงทุนที่ไปได้ยาวมาก ไม่เหนื่อย เราก็จะเอาข้อมูลที่เรามีให้ผู้นำไปเจรจา”

สิ่งที่ทุกคนอยากเห็นในสนธิสัญญาพลาสติกโลก

ดร.สุจิตรา: ลดส่วนที่ไม่จำเป็น เพิ่มบรรจุภัณฑ์ทางเลือก อย่าลืมว่าพลาสติกมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล โอกาสของสนธิสัญญาพลาสติกโลก คือมากระตุ้นให้รัฐบาลทำงานกับภาคประชาสังคม ดันเรื่องการลดการผลิต เรื่องที่ภาคธุรกิจไม่ค่อยพูดถึง 

พิชามญชุ์: สิ่งที่ต้องมี คือ กรอบเวลาที่ชัดเจน (time-bound) มีตัวเลขเปอร์เซ็นต์ของการดำเนินการอย่างชัดเจน และมีความแข็งขันในการจะลดอย่างเป็นรูปธรรม ช่วยให้ติดตามความก้าวหน้าได้ว่าปลายทางการยุติมลพิษพลาสติกจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่และตอนไหน รวมถึงการคำนึงถึงการเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นธรรม หรือ  Just Transition ซึ่งต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและภาคเอกชน

ศลิษา: อยากเห็นความทะเยอทะยานของผู้เจรจา โดยคำนึงว่า สิ่งแวดล้อมสำคัญเท่ากับเรื่องปากท้อง คนมองว่าต้องแก้เรื่องความยากจน การศึกษาก่อน จริงๆ แล้วมันเกี่ยวข้องกัน สนธิสัญญาพลาสติกโลก สำคัญมากที่ต้องมียาแรง งบประมาณ และการดำเนินงานที่ชัดเจน 

เพ็ญโฉม: สิ่งสำคัญคือจะมีกฎหมายมารองรับอนุสัญญาไหม ที่ผ่านมาแม้จะมีอนุสัญญาแล้ว อย่างเรื่องปรอท ไทยก็ให้การรับรอง ให้สัตยาบัน แต่กลับไม่มีกฎหมายลูกอะไรเลย หากมีกฎหมายแล้วกฎหมายดีไหม ดีแล้วบังคับใช้ได้ไหม ปัญหาอยู่ที่การบังคับใช้

“เราอยากเห็นหน้าตาสนธิสัญญาที่ดีที่สุด เป็นยาแรง แต่ภาคอุตสาหกรรมก็อยากเห็นยาอ่อนที่สุด เพราะฉะนั้น INC น่าจะเป็นการต่อสู้ที่เข้มข้นมากๆ โค้งสุดท้ายพฤศจิกายนปีนี้ เขาไม่ยอมแน่ๆ” เพ็ญโฉมทิ้งท้าย

ในวันที่ 23 – 29 เมษายน พ.ศ.2567 จะมีการเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกโลกในการประชุมผู้แทนประเทศ หรือการประชุม INC-4 ณ เมืองออตตาวา ประเทศแคนาดา และการเจรจารอบสุดท้าย INC-5 ในช่วงปลายปี ที่ต้องจับตามองความคืบหน้า หวังว่าร่างสนธิสัญญาฉบับแรกจะมุ่งไปยังการลดการผลิตพลาสติกอย่างแท้จริงและเป็นธรรม