“ค่าไฟแพง” ประโยคที่มักได้ยินบ่อยๆเมื่อรัฐบาลปรับขึ้นค่าไฟแต่ละครั้ง ว่าแต่ทำไมค่าไฟจึงแพง และนอกจากแพงแล้วยังมีปัญหาอะไรไหม 

ในงานเสวนา “ปิด-เปิดสวิตช์ โครงสร้างค่าไฟให้แฟร์และโปร่งใส ประชาชนต้องทำอย่างไร” จึงชวนเหล่าผู้คร่ำหวอดในวงการพลังงานมาพูดคุยถึงประเด็นปัญหาเรื่องโครงสร้างและนโยบายทางพลังงานในประเทศไทยที่ส่งผลให้ค่าไฟแพงและไม่เป็นธรรม อุปสรรคและความท้าทายในการขับเคลื่อนประเด็นเรื่องพลังงานในประเทศไทย ทั้งในแง่ข้อมูลข่าวสารหรือการรณรงค์ในประเด็นต่างๆ ไปจนถึงทางออกของประชาชนว่าจะสามารถเรียกร้อง ผลักดันอะไรได้บ้าง จะต้องปิดหรือเปิดสวิตช์อะไร เพื่อจะทำให้ค่าไฟนั้นเป็นธรรมสำหรับทุกคน 

“ที่ผ่านมาเนี่ยประชาชนในฐานะที่เป็นผู้บริโภค ไม่เคยมีทางเลือก หรือเราไม่ค่อยคิดว่าเราจะตั้งคำถามกับมันได้หรือเปล่า เพราะว่าทุกคนตอนนี้ก็มีหน้าที่จ่ายค่าไฟอย่างเดียว” สฤณี อาชวานันทกุล หัวหน้าคณะวิจัย Fair Finance Thailand กล่าว

สฤณีอธิบายว่าปัญหาหลักๆของค่าไฟมี 3 ประเด็น ประเด็นแรก คือ การไร้ความรับผิดชอบ (accountability) จากการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าเกินจริงมาตลอด 20 กว่าปี 

“การพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าเกิดจากการพยากรณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้ในการวางแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าต่างๆ ก็เลยมีการลงทุนที่มากเกินจำเป็น เพราะฉะนั้น สุดท้ายก็กลับมาเป็นค่าไฟเพราะว่าเราก็คือคนที่ต้องจ่ายต้นทุนต่างๆที่เกิดขึ้น 

“คำถามสำคัญคือเราจะทำอย่างไรได้ ตอนนี้ประเด็นที่น่าจับตาก็คือ แผนพลังงานชาติฉบับใหม่ (Power Development Plan หรือ PDP) ที่จะเริ่มเปิดให้รับฟังความคิดเห็นวันที่ 5 เมษายน ก็เชิญชวนผู้บริโภคทุกท่านจับตาวันที่ 5 เมษายน ว่าเราจะไปมีส่วนร่วมอย่างไรได้บ้าง แผนพลังงานชาติฉบับใหม่จะมีการคาดการณ์ความต้องการใช้ไฟไว้อย่างไร บนสมมติฐานอะไร แล้วอย่าลืมว่าปีนี้เป็นปีหลังวิกฤตโควิด ซึ่งทำให้เศรษฐกิจไทยหดตัวอย่างรุนแรงถึง 6% ในปีเดียว เพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นโจทย์ที่ก็ต้องจับตาว่าแผนพลังงานฉบับใหม่ใช้ฐานคิดแบบไหน 

“นี่จึงเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดในความคิดของตัวเอง คือ เรื่องของการไม่มีใครต้องรับผิดชอบ เราก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรทั้งที่มันเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ค่าไฟเราแพงเกินจริงและไม่เป็นธรรมในช่วงหลาย 10 ปีที่ผ่านมา” สฤณีกล่าว

ประเด็นที่ 2 ที่ทำให้ค่าไฟแพงและไม่เป็นธรรมคือการที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม ในการวางแผนพลังงาน คือนอกจากว่าประชาชนจะหาตัวคนที่รับผิดชอบกับการพยากรณ์เกินจริงไม่ได้แล้ว เรายังขาดช่องทางเข้าไปมีส่วนร่วมกำหนดแผนพลังงานอีกด้วย

ประเด็นสุดท้ายคือ ประชาชนไม่มีทางเลือกในแผนพลังงาน

“แน่นอน ถ้าย้อนกลับไปสมัยที่ประเทศไทยเป็นยุคโชติช่วงชัชวาลเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว ทุกอย่างเป็นอุตสาหกรรมที่เพิ่งเริ่มต้น มันก็มีเหตุมีผลว่าทำไมจะสร้างโรงไฟฟ้า ก็อาจจะต้องดึงดูดนักลงทุนให้เขาอยากมาลงทุนก็เลยจะต้องมีการทำสัญญาระยะยาว ที่เรียกว่า Take or Pay ผูกพันไปล่วงหน้า 20 กว่าปี ตอนนั้นก็ไม่มีประเด็นเรื่องภาวะโลกร้อน เพราะฉะนั้นการใช้พลังงานเป็นที่เป็นพลังงานกระแสหลักหรือพลังงานฟอสซิลมันก็เป็นเรื่องปกติ ดังนั้นการที่เราใช้ระบบ Take or pay ก็อาจจะดูเป็นเรื่องปกติก็ได้นะคะ แต่ว่าคำถามคือสถานการณ์ทุกวันนี้มันไม่เหมือนเดิมแล้ว มันเปลี่ยนไปแล้ว มันควรจะมีทางเลือก และในความเป็นจริง ถ้าเราดูประเทศต่างๆมากมายทั่วโลก เขาก็มีทางเลือกแล้ว เขาก็คำนึงถึงทางเลือกอย่างจริงจังมากกว่าเรา”

สฤณียังเสริมอีกว่าในอดีต พลังงานหมุนเวียนถูกมองว่าไม่เสถียร ซึ่งอาจจะจริงในอดีต แต่วันนี้หลายเมืองทั่วโลกทำได้แล้ว เพื่อมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ จึงคิดว่าปัญหาของค่าไฟที่น่าตั้งคำถามที่สุดคือ การไม่มีใครต้องรับผิดชอบ ประชาชนไม่มีส่วนร่วมและไม่เห็นว่ามีทางเลือก

ด้านจริยา เสนพงศ์ หัวหน้างานรณรงค์เพื่อการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวถึงแผนพลังงานฉบับใหม่ที่กำลังจะเผยแพร่ในวันที่ 5 เมษายนนี้ว่า แผน PDP ตัวใหม่ที่เป็นตัวกำหนดว่าต่อไปนี้ประเทศไทยที่เราใช้ไฟฟ้ากัน มันควรจะมาจากเชื้อเพลิงไหนบ้าง

“เราอยากให้เป็น PDP ที่ไม่ใช่เป็น PDP ที่เป็นการแบ่งเค้ก แต่อยากให้เป็น PDP ที่เป็นขนมชั้น การมีส่วนร่วมคือสิ่งสำคัญ นั่นคือร่วมจากฐานการตัดสินใจร่วมกัน ความรับผิดชอบหลังจากการตัดสินใจก็ต้องเกิดขึ้น 

“แผน PDP ของประเทศไทยที่ผ่านมา ความสำคัญของแผนระยะยาวที่วางไว้ 20 ปี แต่ให้ดูแค่ 3-5 ปีแรกเท่านั้นพอ เราจะเห็นชัดเจนว่าแผนของ PDP ของประเทศไทยช่วง 3 ปีแรกหรือ 5 ปีแรก จะมุ่งไปที่การนำเชื้อเพลิงฟอสซิลเข้าสู่ระบบสายส่งก่อนเป็นลำดับแรกเสมอมา แล้วถ้าเราดูย้อนหลังไปก็คือช่วงของแผนPDPที่วางไว้ 20 ปี หรือ สัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนจะวางไว้ในช่วงหลังจาก 10ปี ของแผน PDP ที่มีระยะเวลาทั้งแผน20ปี

แต่พอเปลี่ยนรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานใหม่ ภายใน 4 ปีก็จะเปลี่ยนแผน PDP อีกครั้งหนึ่ง แล้วก็สุดท้ายก็จะให้ความสำคัญกับ 3 ปีแรก 5 ปีแรกเสมอมา พลังงานหมุนเวียนไม่มีทางจะเกิดขึ้น

“เราอยากเห็นมิติใหม่อย่างการนิยามคำว่าพลังงานหมุนเวียนของรัฐบาลชุดใหม่ว่า เขื่อนไม่ใช่พลังงานหมุนเวียน โรงไฟฟ้าขยะไม่ใช่พลังงานหมุนเวียน เพราะฉะนั้น เวลาวางสัดส่วนในเรื่องของการเกิดขึ้นของพลังงานหมุนเวียนในแผน PDPในช่วง 3 ปีแรก 5 ปีแรก ขอให้เป็นพลังงานหมุนเวียนจริงๆ”

เมื่อเรามองในมุมของการสื่อสารประเด็นพลังงานที่ต้องการให้คนเกิดการรับรู้ถึงความผิดปกติและไม่เป็นธรรมของการจัดการพลังงานของประเทศไทยตลอดหลายรัฐบาลที่ผ่านมา ณัฐพงศ์ เทียนดี กรรมการผู้จัดการบริษัท SpokeDark จำกัด หรือ SpokeDark TV ได้สะท้อนเรื่องพลังงานไทยในฐานะคนทำสื่อว่า “ตอนที่เราทำรายการเราคุยกับคนเรื่องนี้ เรื่องพลังงานแพง สิ่งที่ได้รับทันที คือ ความโกรธแค้น เพราะว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่คนเราเนี่ยนะครับ ต้องจะเรียกว่าอะไรดี จ่ายเงินกับสิ่งที่เราไม่สามารถมีส่วนร่วมได้มากพอ” 

ด้านกรรณิการ์ แพแก้ว สื่อพลเมืองภาคใต้เล่าว่าคนส่วนใหญ่โกรธไม่พอแต่คนใต้โกรธแล้วก็ถูกควบคุมเยอะมากจากการประท้วงต่อต้านโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าขยะซึ่งเกิดขึ้นมากในช่วงหลังปี 2559 เป็นต้นมา เนื่องจากรัฐบาลมีม. 44 ปลดล็อคผังเมือง ทำให้โรงฟ้าขยะสามารถขึ้นที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

“คนบางกลุ่มก็จะมองว่าก็เป็นชีวมวล ก็เป็นพลังงานหมุนเวียน ถ่านหินคุณก็ไม่เอา ชีวมวลคุณก็ไม่เอา คำว่า “พลังงานหมุนเวียน” ขยะเป็นพลังงานหมุนเวียนไหม การเอาขยะมาเป็นไฟฟ้าภาพมันสวยภาพมันหรู แต่คนที่ได้รับผลกระทบคือชาวบ้านในพื้นที่ที่โรงไฟฟ้าขยะไปตั้ง

“เวลาคนในชุมชน 3 จังหวัดชายแดนใต้ลุกขึ้นมาต่อสู้กลับโดนข้อหาวิพากษ์วิจารณ์รัฐ เรื่องไฟฟ้ามีคนที่ได้รับผลกระทบในหลายมิติ ทั้งมิติของการมีสิทธิมีเสียง เรื่องของสิทธิชุมชน สิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบ อยากให้หลายคนเข้าใจว่าทำไมภาคใต้มาหน้าทำเนียบรัฐบาลอีกแล้ว เพราะจริงๆ แล้วคนที่โกรธมากพอก็คือคนที่โรงไฟฟ้าเหล่านี้ไปอยู่ในชุมชน เขาจึงลุกขึ้นออกมา ถ้าเกิดว่าพวกเขาลุกขึ้นออกมา ก็ช่วยให้กำลังใจ เพราะจริงๆแล้วเขาจะได้รับผลกระทบหนักมากไม่ใช่แค่จ่ายค่าไฟแพงขึ้นอย่างเดียว

“อันนี้ก็จะเรียกร้องกันมาตลอดไม่ว่าจะเป็นสื่อสาธารณะไทยพีบีเอส หรือสื่ออื่นๆ ก็คือ อย่าทำแค่ข่าวเชิงปรากฏการณ์ ถ้าเป็นไปได้ พอเขาขึ้นมาทำเนียบคุณก็ทำข่าวแค่ทำเนียบแต่คุณไม่กลับไปดูว่าก่อนที่เขาจะมาทำเนียบเขาสู้อะไรกันบ้าง เขาเจออะไรกันบ้าง อย่างเช่นที่ปัตตานีมีโรงไฟฟ้าที่สร้างผลกระทบทั้งน้ำเสียและมลพิษอื่นคุณตามไปดูได้ไหมว่าทำไมกลุ่มนี้ที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องเรื่องนี้ จริงๆแล้วในพื้นที่ตอนนี้มันหนักหนาสาหัสแค่ไหน เพื่อที่จะทำให้คนในวงกว้างเข้าใจคนที่อยู่ในชุมชนที่ได้รับผลกระทบ” กรรณิการ์เล่า

กรรณิการ์กล่าวอีกว่า “คำว่าแฟร์หรือยุติธรรม” ไม่ใช่แค่เรื่องราคาหรือนโยบาย แต่คือเรื่องของคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่อยู่ภายใต้นโยบายพลังงานด้วย

การทำให้โครงสร้างค่าไฟให้แฟร์และโปร่งใสเป็นโจทย์ใหญ่ที่หลายคนบอกให้เริ่มที่ตัวเอง แต่ในความเป็นจริง ประเด็นพลังงานนี้อาจเริ่มแก้ที่ตัวเองไม่ได้ เนื่องจากมีเรื่องกฎหมาย และนโยบายระดับประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง โจทย์ต่อไปของประชาชนจึงจำเป็นต้องปลดล๊อคสู่ระดับนโยบายเพื่อให้ค่าไฟแฟร์ต่อทุกคนจริงๆ