ปี 2566 ที่ผ่านมาถือเป็นปีที่ทั่วโลกพูดถึงประเด็นการขับเคลื่อนเรื่อง ความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ มากขึ้น โดยมีจำนวนคดีการฟ้องร้องเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวเกิดเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเราจะมาวิเคราะห์กันว่าเป็นเพราะอะไร

ภาพป้ายรณรงค์ในงาน Global climate strike 2562 – there is no planet B © Markus Spiske

เราได้เห็นกลุ่มเยาวชนกว่าร้อยประเทศซึ่งเป็นกลุ่มประเทศกำลังพัฒนามารวมตัวกันที่เลบานอนเพื่อวางกลยุทธ์ในการรณรงค์และเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจในการประชุม COP28 รวมทั้งการประชุมด้านสภาพภูมิอากาศอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้คำนึงถึงความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ หลังจากการประชุมด้านสภาพภูมิอากาศในกลุ่มประเทศแอฟริกัน ก็มีกลุ่มเยาวชนจากหลายพื้นที่ที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องและทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เพื่อส่งเสียงถึงความสำคัญของวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่กำลังเป็นภัยคุกคามต่อมนุษย์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

เรื่องราวต่อไปนี้คือสถานการณ์ด้านความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศที่เราสรุปจากปี 2566 ทั้งความคืบหน้าหลัก ๆ ชัยชนะในการรณรงค์ รวมทั้งความสูญเสียและอุปสรรคที่เกิดขึ้นระหว่างการต่อสู้ในประเด็นดังกล่าว

กลุ่มหญิงสูงวัยชาวสวิตเซอร์แลนด์กับคดีด้านสิทธิมนุษยชนในศาลยุโรป

กลุ่มหญิงสูงวัยสวิตเซอร์แลนด์เพื่อการปกป้องสภาพภูมิอากาศ (The Swiss Senior Women for Climate Protection) (เป็นที่รู้จักในชื่อ KlimaSeniorinnen) ได้ยื่นฟ้องร้องคดีด้านความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศต่อศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป (the European Court of Human Rights (ECtHR)) ถือเป็นคดีด้านสภาพภูมิอากาศคดีแรกที่เคยเกิดขึ้น โดยต้องการให้ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งมีหน้าที่ปกป้องความเสี่ยงจากประชาชนต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและต้องมีความทะเยอทะยานที่จะปกป้องสุขภาพของประชาชนมากกว่านี้ โดยการพิพากษาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2567 นี้จะส่งผลกระทบต่อนโยบายสภาพภูมิอากาศแห่งชาติและคดีต่อ ๆ ไปที่จะเกิดขึ้นในภูมิภาคยุโรป

ตัวแทนจากกลุ่ม เอลิธซาเบท สเติร์น แสดงความเห็นต่อคดีนี้ว่า “การฟ้องร้องรัฐบาลของตัวเองไม่ง่ายเหมือนการนั่งพูดคุยกันและการฟ้องร้องครั้งนี้ต้องเกิดขึ้นโดยคนที่จะสามารถพิสูจน์ได้ว่าได้รับผลกระทบจริง เรายังคงต้องต่อสู้กันในชั้นศาลและอาจต้องใช้เวลานานพอสมควร”

ความเห็นแนะนำของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ

องค์การสหประชาชาติดำเนินการตัดสินครั้งประวัติศาสตร์ นำโดยรัฐบาลวานูอาตูที่เรียกร้องให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice : ICJ) ยกประเด็นความเห็นของที่ปรึกษาเกี่ยวกับหน้าที่ของแต่ละประเทศในการปกป้องสิทธิของประชาชนจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และผลทางกฎหมายระหว่างประเทศในกรณีที่มีประเทศใดประเทศหนึ่งฝ่าฝืนหน้าที่เหล่านี้ ในวันที่ 29 มีนาคม 2566 มีมติรับรองจาก 132 ประเทศที่เป็นสมาชิกสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ United Nations General Assembly (UNGA) เกี่ยวกับหน้าที่ของแต่ละประเทศในการปกป้องสิทธิของประชาชนจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ UNGA รับมติจากศาลยุติธรรมระหว่างประเทศโดยสมัครใจ สิ่งที่เกิดขึ้นนี้บ่งบอกถึงความร่วมมือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของแต่ละประเทศเพื่อยกประเด็นด้านความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศขึ้นสู่ศาลยุติธรรมระดับโลกเพื่อตอกย้ำว่าแต่ละประเทศมีหน้าที่ที่จะต้องปกป้องสิทธิของประชาชนในตอนนี้และในอนาคตจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งต้องมีบทลงโทษหากประเทศละเมิดหน้าที่ทางกฎหมายเหล่านี้

ประชาชนชาวดัตช์ดำเนินการด้านกฎหมายต่อรัฐเนเธอร์แลนด์

ประชาชนชาวดัตช์และผู้ที่อาศัยอยู่บนเกาะโบเนเรอในทะเลแคริบเบียน โดยการทำงานร่วมกับกรีนพีซ เนเธอร์แลนด์ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาประชาชนได้ยื่นฟ้องรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ด้วยข้อกล่าวหาที่รัฐล้มเหลวต่อการปกป้องหมู่เกาะในทะเลแคริบเบียนเนื่องจากผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ เดิมเกาะโบเนเรอเคยเป็นดินแดนของชาวดัตช์ และเพิ่งกลายเป็นเขตเทศบาลพิเศษของดัตช์เมื่อปี 2553 จากคำกล่าวของโจทก์ทั้ง 7 คนระบุว่ารัฐละเลยที่จะปกป้องผู้ที่อาศัยอยู่บนเกาะโบเนเรอจากผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

โดยพวกเขาต้องการให้รัฐเนเธอร์แลนด์ไปให้ถึงเป้าหมายความรับผิดชอบด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามที่เคยให้คำมั่นสัญญาไว้และจะต้องปกป้องประชาชนบนเกาะโบเนเรอจากผลกระทบด้านวิกฤตสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ยังจะต้องตระหนักถึงรากของปัญหา เช่น การล่าอาณานิคม เป็นต้น

ภาพที่กรีนพีซ เนเธอร์แลนด์และประชาชนที่อาศัยอยู่บนเกาะโบเนเรอยื่นฟ้องรัฐบาลเนเธอร์แลนด์เพื่อต้องการให้รัฐปกป้องเกาะและประชาชนจากผลกระทบวิกฤตสภาพภูมิอากาศ © Marten van Dijl / Greenpeace

#EniKnew และเสียงเรียกร้องให้กลุ่มบริษัทต้องมีความรับผิดชอบ

“ENI Knew” เป็นชื่อรายงานของกรีนพีซ อิตาลี และ ReCommon โดยเปิดเผยข้อมูลของบริษัทน้ำมันและก๊าซยักษ์ใหญ่ของอิตาลีซึ่งเป็นที่รู้จักตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลผลกระทบเชิงลบและความเสียหายจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่เกิดขึ้นกับโลกและสภาพภูมิอากาศ รายงานดังกล่าวถูกใช้ในการอ้างอิงโดยชาวอิตาลีผู้ฟ้องร้อง 12 คน กรีนพีซ อิตาลี และ ReCommon เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 โดยฟ้องร้องบริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อรับผิดชอบต่อความเสียหายที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน

โจทก์ร้องต่อศาลกรุงโรมให้ประกาศว่าบริษัท ENI ต้องมีภาระรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นและกระทบต่อสิทธิมนุษยชนตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันและต้องรับผิดชอบต่อไปในอนาคต เช่น สิทธิด้านสุขภาพ ความปลอดภัย และทรัพย์สิน รวมทั้งต้องวางแผนดำเนินการชดเชยและตั้งรับไม่ให้เกิดอันตรายและความสูญเสียจากผลกระทบวิกฤตสภาพภูมิอากาศอีก

กิจกรรมรณรงค์ประเด็นความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศในเขตแปซิฟิกโดยเรือรณรงค์ของกรีนพีซ

ระหว่างเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2566 เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ของกรีนพีซแล่นออกจากวานูอาตู มายังตูวาลูและฟิจิ ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานที่ที่เราจะรณรงค์ในประเด็นความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคแปซิฟิก ระหว่างการรณรงค์นี้ นักรณรงค์ของกรีนพีซ เอเชียแปซิฟิกมีโอกาสได้พูดคุยกับรัฐบาลและผู้คนท้องถิ่นเพื่อสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมทั้งเรียนรู้และเข้าใจวิธีที่จะสนับสนุนข้อเรียกร้องด้านสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคแปซิฟิกร่วมกัน นอกจากนี้ยังมีการเฉลิมฉลองผ่านการแสดงด้านวัฒนธรรมให้กับความเห็นจากศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยนและผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศอีกด้วย

ภาพนักเต้นรำในชุดการแสดงท้องถิ่นร่วมถ่ายรูปหน้าเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ หลังจากที่เรือมาถึงเมือง Funafuti ใน Tuvalu ที่นี่ต้องเผชิญกับภัยคุกคามร้ายแรงที่เกิดจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศและอาจทำให้อนาคตของเมืองได้รับความเสียหาย ระหว่างการรณรงค์นี้ นักรณรงค์ของกรีนพีซ เอเชียแปซิฟิกมีโอกาสได้พูดคุยกับรัฐบาลและผู้คนท้องถิ่นเพื่อสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมทั้งเรียนรู้และเข้าใจวิธีที่จะสนับสนุนข้อเรียกร้องด้านสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคแปซิฟิกร่วมกัน © Greenpeace / Sam Pedro

การเรียกร้องความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศในรัฐธรรมนูญของประชาชนเกาหลีใต้

เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2566 ประชาชนเกาหลีใต้ 167 คนและกรีนพีซ เอเชียตะวันออก ที่ตั้งอยู่ในเกาหลีใต้ เข้ายื่นรายชื่อที่ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อเรียกร้องให้พิจารณาถึงบัญญัติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 159(2) เกี่ยวกับตลาดทุน เนื่องจากยังขาดเงื่อนไขด้านสภาพภูมิอากาศในภาคธุรกิจ โดยโจทก์ยื่นฟ้องระบุว่ายังขาดการบังคับให้เปิดเผยข้อมูลผลกระทบด้านสภาพภูมิอากาศ เป็นผลให้กลุ่มบริษัทสามารถเลือกที่จะนำเสนอหรือไม่นำเสนอประเด็นอะไรในรายงานความยั่งยืนของตัวเอง ซึ่งอาจนำไปสู่การฟอกเขียว อย่างไรก็ตามในเดือนพฤศจิกายน 2566 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยปฏิเสธคำร้อง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเหตุการณ์นี้ถือเป็นการเปิดหน้าใหม่ของการรณรงค์ผ่านการรวมตัวของคนในด้านกฎหมาย

ความเห็นแนะนำจากองค์กรยุติข้อพิพาทเกี่ยวกับกฎหมายทะเล

กรีนพีซ สากล เข้าร่วมการร่วมฟังความคิดเห็นขององค์กรยุติข้อพิพาทเกี่ยวกับกฎหมายทะเล (ITLOS) ในฮัมบวร์ก ประเทศเยอรมนี เป็นเวลา 3 สัปดาห์ เมื่อเดือนกันยายน 2566 โดยองค์กรได้รับคำร้องจากกลุ่มประเทศพันธมิตรในภูมิภาคแปซิฟิกให้แนะนำเกี่ยวกับหน้าที่ของรัฐในการปกป้องระบบนิเวศทางทะเลจากมลพิษก๊าซเรือนกระจก โดยการเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะมีศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ 3 แห่ง และองค์กรยุติข้อพิพาทเกี่ยวกับกฎหมายทางทะเลกำลังพัฒนาความเห็นแนะนำเกี่ยวกับบทบาทความรับผิดชอบของรัฐต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งองค์กรยุติข้อพิพาทเกี่ยวกับกฎหมายทางทะเลจะเป็นองค์กรแรกที่จะต้องส่งผลการรับฟังความคิดเห็น กรีนพีซ และองค์กร Center for International Environmental Law (CIEL) จึงส่งแถลงการณ์ ร่วมกับพันธมิตรเครือข่ายที่เข้าร่วม โดยในแถลงการณ์มีข้อเรียกร้องให้รัฐแต่ละรัฐต้องยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

การฟ้องร้องศาลของ เยาวชนชาวโปรตุเกส 6 คน ต่อโปรตุเกสและรัฐอีก 31 รัฐ

เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566 กรณีการฟ้องร้องของเยาวชนชาวโปรตุเกส 6 คนต่อโปรตุเกสและรัฐอีก 31 รัฐ กลายเป็นคดีดังไปทั่วโลกโดยได้รับการขนานนามว่ากรณี the Duarte Agostinho and Others vs. Portugal and 31 Other States และกลายเป็นช่วงเวลาสำคัญต่อการรับฟังความคิดเห็นต่อหน้าคณะลูกขุนทั้ง 17 คน ในศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป (the European Court of Human Rights (ECtHR)) ที่เมือง สตราสบูร์ก (Strasbourg) ประเทศฝรั่งเศส โดยเยาวชนชาวโปรตุเกสทั้ง 6 คนนี้ยื่นฟ้องร้องประเทศในยุโรป 32 ประเทศ ต่อศาลของยุโรป เพื่อให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายในแต่ละประเทศเพิ่มความพยายามลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเพิ่มสูงเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส

กิจกรรมเดินรณรงค์เพื่อสภาพภูมิอากาศ

ในปีที่ผ่านมาเป็นปีครบรอบ 10 ปีหลังหายนะจากไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนที่พัดเข้าถล่มฟิลิปปินส์ นักรณรงค์ด้านสภาพภูมิอากาศแกนนำทั้ง 12 คนร่วมกับเครือข่ายจากองค์กรหลากหลายทั้งด้านสภาพภูมิอากาศและด้านสิทธิมนุษยชน ร่วมจัดกิจกรรมแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกันด้วยการเดินรณรงค์ให้คนตระหนักถึงผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศตั้งแต่กรงมะนิลาไปถึงเมืองทาโคลบัน กิจกรรมครั้งนี้มีชื่อว่า Climate Justice Walk 2023: A People’s Journey for Climate Justice

การเดินเท้าเพื่อรณรงค์ในกิจกรรมดังกล่าวมีระยะทางกว่า 1,000 กิโลเมตร โดยจะเดินเท้าร่วมไปกับการปั่นจักรยานซึ่งสิ้นสุดในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งเป็นวันก่อนถึงวันครบรอบ 10 ปีหายนะไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน โดยกลุ่มนักรณรงค์จะเดินมาพบกับกลุ่มชุมชนผู้ได้รับผลกระทบและร่วมกันเดินข้ามสะพาน San Juanico ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเมืองทาโคลบัน ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนการฟ้องร้องในประเด็นความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก รวมทั้งการคุ้มครองสิทธิในถิ่นที่อยู่โดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ยังเป็นการเรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกจะต้องมีความทะเยอทะยานต่อการทบทวนสถานการณ์และการดำเนินงานระดับโลก (Global Stocktake) จะต้องมีทรัพยากรที่เพียงพอเพื่อกองทุนชดเชยค่าความสูญเสียและเสียหาย (Lost and Damage Fund) ที่เกิดขึ้นจากการประชุม UNFCC และจะต้องยกระดับในการรักษาสภาพภูมิอากาศไม่ให้เสียหายไปมากกว่านี้

ภาพการเดินรณรงค์ Climate justice Walk ซึ่งเดินทางจากกรุงมะนิลาไปยังเมืองทาโคลบันในฟิลิปปินส์เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ครบรอบ 10 หายนะไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน © Roy Lagarde / Greenpeace

การฟ้องร้องของ กรีนพีซ นอร์ดิก และเยาวชน Natur og Ungdom ต่อรัฐนอร์เวย์

กรีนพีซ นอร์ดิกและ Natur og Ungdom (Young Friends of the Earth Norway) ยื่นฟ้องรัฐบาลนอร์เวย์อีกครั้งเมื่อช่วงวันที่ 28 พฤจิกายน – 6 ธันวาคม 2566 โดยคดีการฟ้องร้องด้านสภาพภูมิอากาศในนอร์เวย์ถือเป็นเรื่องใหม่แต่ก็เป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนให้การรณรงค์เพื่อให้รัฐและกลุ่มธุรกิจมีความรับผิดต่อการทำลายสภาพภูมิอากาศและระบบนิเวศ เมื่อไม่นานมานี้เกิดเสียงคัดค้านจากองค์กรต่าง ๆ เกี่ยวกับการอนุมัติการสำรวจแหล่งน้ำมัน 3 แห่ง โดยมองว่าเป็นการอนุมัติที่ละเมิดต่อรัฐธรรมนูญของนอร์เวย์และพันธสัญญาด้านสิทธิมนุษยชน รวมทั้งอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก โจทก์ยื่นฟ้องต้องการให้หยุดการอนุญาตสำรวจและพัฒนาแหล่งน้ำมันเหล่านี้ทันที

ภาพวันแรกของการไต่สวนที่ศาลแขวงออสโล โดยตัวแทนจากกรีนพีซ นอร์ดิก และNatur og Ungdom (Young Friends of the Earth Norway) เผชิญหน้ากับตัวแทนจากรัฐบาลนอร์เวย์บนชั้นศาล เกี่ยวกับคดีด้านสภาพภูมิอากาศ © Marthe Haarstad / Greenpeace

ชัยชนะหลังการดำเนินคดีด้านสภาพภูมิอากาศในเบลเยียม

หลังจากใช้เวลาในกระบวนการกว่า 9 ปี ในที่สุดคดีด้านสภาพภูมิอากาศของเบลเยียมก็ได้รับการตัดสินและได้รับชัยชนะ หลังจากชัยชนะในเชิงสัญญะเมื่อปี 2564 เมื่อศาลตัดสินว่ารัฐบาลเบลเยียมละเลยต่อหน้าที่โดยมิได้ให้ความสำคัญที่จะกำกับดูแลและป้องกันผลกระทบอันเลวร้ายที่เกิดจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ล่าสุดศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามเดิม และยังตัดสินให้รัฐบาลของเบลเยียมจะต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างน้อย 55% ภายในปี 2573 โดยเทียบกับปริมาณการปล่อยก๊าซเมื่อปี 2533

รางวัล UN Human Rights

ในเดือนธันวาคม องค์กรภาคประชาคมระดับโลก กลุ่มชนพื้นเมือง กลุ่มขับเคลื่อนงานรณรงค์ด้านสังคม กลุ่มชุมชนท้องถิ่นเพื่อความตระหนักถึงสิทธิมนุษยชน สุขภาวะที่ดีและสิ่งแวดล้อม (The Global Coalition of Civil Society, Indigenous Peoples, Social Movements, and Local Communities for the Universal Recognition of the Human Right to a Clean, Healthy, and Sustainable Environment) ได้รับรางวัล 2023 UN Human Rights Prize ที่กรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยกรีนพีซเป็นหนึ่งในสมาชิกขององค์กรภาคประชาสังคมระดับโลก สนับสนุนกลุ่มชนพื้นเมือง ภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนงานรณรงค์ด้านสังคมและชุมชนท้องถิ่น

พวกเราเรียกร้องให้รัฐบาลแต่ละประเทศต้องมีภาระรับผิดเพื่อให้ประชาชนทั่วโลกมั่นใจว่าเราจะได้อาศัยอยู่ในโลกที่มีสภาพภูมิอากาศที่ปลอดภัย มีสิ่งแวดล้อมที่ปราศจากการปนเปื้อนของมลพิษ มีอากาศที่สะอาด และสามารถเข้าถึงน้ำสะอาดรวมถึงสุขอนามัยที่เพียงพอ มีความสามารถผลิตอาหารได้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน มีการฟื้นฟูระบบนิเวศทั้งในตอนนี้และในอนาคต

ทิศทางการขับเคลื่อนความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศจะเป็นอย่างไรต่อไป?

ในปี 2567 นี้จะเป็นโอกาสที่ทำให้ผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศมากที่สุดได้เรียกร้องและบอกกับโลกถึงเรื่องราวที่พวกเขาต้องเผชิญผ่านพลังของระบบกฎหมาย อีกทั้งยังเป็นโอกาสของคนทั่วโลกที่จะกดดันให้รัฐบาลและบริษัทในประเทศของตัวเองต้องแก้ไขวิกฤตสภาพภูมิอากาศและปกป้องสิทธิมนุษยชนของประชาชนทั้งในปัจจุบันและอนาคต นี่คือโอกาสที่เราจะร่วมกันสร้างพลังเพื่อต่อสู้กับอุตสาหกรรมผู้ก่อมลพิษที่ทำให้วิกฤตสภาพภูมิอากาศเลวร้ายลง

เราต้องการความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ NOW!


บทความนี้แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ อ่านบทความต้นฉบับ