ชาวพื้นเมืองปกาเกอะญอคือผู้ที่มีวิถีชีวิตอยู่กับป่า ทั้งพึ่งพิงและดูแลป่า ความหมายของการปกป้องดูแลป่าของปกาเกอะญอนั้นไม่ใช่เพียงแค่การดูแลถิ่นฐานที่ทำกิน แต่ยังเป็นการดูแลพื้นที่ทางจิตวิญญาณที่เป็นสายใยเกี่ยวโยงกับชาวปกาเกอะญอตั้งแต่เกิดจนหมดลมหายใจ

ไม่บ่อยนักที่เราจะเห็นผู้นำหญิง หรือ “แม่หลวง” ในชุมชนปกาเกอะญอ ในบทสัมภาษณ์นี้กรีนพีซจะพาไปสำรวจความคิดของ หน่อแอ่ริ ทุ่งเมืองทอง ถึงความเป็นหญิงและบทบาทผู้นำชนพื้นเมืองท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งวิกฤตโลกร้อนและนโยบายของประเทศและโลกที่ยังไม่ได้ยอมรับสิทธิของผู้หญิงและชนพื้นเมืองอย่างเท่าเทียม 

นักกิจกรรมสายสตรีนิเวศนิยม (Ecofeminist) วันทนา ศิวะ กล่าวถึงรูปแบบการยึดครองของภายใต้คำกล่าวอ้างว่าเป็น “การพัฒนา” และโลกาวิวัฒน์ว่าเป็นการยึดครองสิ่งที่ถูกมองเป็นอื่น “other” ซึ่งรวมถึงธรรมชาติ ผู้หญิง ชนพื้นเมือง และกลุ่มคนชายขอบอื่นๆ บนฐานคิดเชิงปิตาธิไตยและลัทธิล่าอาณานิคมที่มนุษยชาติสืบทอดมาอย่างยาวนาน และรูปแบบนี้คือการพัฒนาลง หรือ Maldevelopment แนวคิดสตรีนิเวศนิยมจึงเป็นแนวคิดหนึ่งที่น่าสนใจในการมองถึงความเคลื่อนไหวเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงโดยผสานรวมระหว่างสิ่งแวดล้อมกับเพศซึ่งเป็นสองสิ่งที่เชื่อมโยงกันอย่างชัดเจนว่าถูกกดทับจากระบบทุนนิยมปิตาธิปไตย ซึ่งการสำรวจความคิดของผู้นำหญิง หน่อแอ่ริ อาจเป็นอีกมุมหนึ่งถึงการก้าวไปสู่การขับเคลื่อนเชิงสตรีนิเวศนิยม ที่ทำงานทั้งการปกป้องสิ่งแวดล้อมของชนพื้นเมืองชาติพันธุ์ไปควบคู่กับการผลักดันความเท่าเทียมด้านสิทธิสตรีที่เกื้อหนุนกัน ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่นี่คือความแข็งแกร่งที่น่านับถือจากผู้หญิงคนหนึ่งที่พยายามก้าวข้ามทั้งกรอบวัฒนธรรมระดับชุมชน กรอบสังคมระดับชาติ และกรอบระดับการเมือง

หน่อแอ่ริ แม่หลวงหรือผู้นำหมู่บ้านชาวปกาเกอะญอ แห่งบ้านห้วยอีค่าง ตําบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ และยังเป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลและเกษตรกรปลูกพืชผสมผสานและเลี้ยงสัตว์ ปีนี้จะเป็นปีที่ 5 แล้วที่หน่อแอ่ริอยู่ในตำแหน่งแม่หลวง แต่ช่วงเวลาการขับเคลื่อนบทบาทผู้หญิงของเธอนั้นยาวนานมา 30 ปีแล้ว เธอเล่าว่าลักษณะและวิถีชีวิตของหมู่บ้านปกาเกอะญอที่ห้วยอีค่างมีเอกลักษณ์คือ เป็นหมู่บ้านที่อยู่กลางหุบเขาห้วยอีค่าง มีความเชื่อเรื่องคนกับป่าและสิ่งเหนือธรรมชาติ โดยมีการปกครองสองแบบด้วยกัน คือ  ฮีโข่ หรือผู้นำหมู่บ้านตามประเพณี มีหน้าที่ดูแลชุมชนและวัฒนธรรม อีกแบบคือการปกครองแบบการเลือกตั้ง เช่น พ่อหลวง แม่หลวง อบต. ที่รับคำสั่งจากทางการแล้วมาปฏิบัติในชุมชน 

ป่าผู้หญิงเก่อเนอมื่อ

ความผูกพันของชาวปกาเกอะญอกับป่านั้นเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่แรกเกิด โดยมีป่าความเชื่อของชาวปกาเกอะญอที่เป็นเอกลักษณ์คือ “ป่าเดปอ” หรือ “ป่าสะดือ” หากมีเด็กแรกเกิดคนในชุมชนจะนำสายสะดือไปใส่ในกระบอกไม้ไผ่และผูกติดกับต้นไม้เพื่อที่ให้คนคนนั้นดูแลต้นไม้ต้นนั้นไปตลอดชีวิต ซึ่งหน่อแอ่ริเรียกว่าเป็นองค์ความรู้ที่ไม่มีกฎหมาย แต่ถือธรรมเนียมปฏิบัติมานานหลายร้อยปี

แต่ป่าที่เป็นเอกลักษณ์ไม่มีในชุมชนอื่นคือ ป่าเก่อเนอมื่อ หรือป่าผู้หญิง ซึ่งหน่อแอ่ริกล่าวว่า “เป็นพื้นที่สำหรับผู้หญิงในชุมชนที่เกิดจากความพยายามเรียกร้องสิทธิและพื้นที่ให้กับผู้หญิงในชุมชน เนื่องจากผู้หญิงมีภาระหน้าที่เยอะมากจนกระทั่งไม่มีเวลาให้กับตนเอง ทั้งการดูแลบ้าน ดูแลครอบครัว เก็บฟืน ประกอบอาชีพต่างๆ จนลืมไปว่าผู้หญิงเอง ก็อยากจะเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลตัวเอง สามารถเข้าไปจัดการสิ่งแวดล้อมและดูแลตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บฟืน เก็บผลผลิตจากป่า และเก็บสีย้อมจากป่าได้สะดวกขึ้น ปัจจุบันนี้มีเฉพาะที่ห้วยอีค่างเท่านั้น แม้จะชื่อว่าป่าผู้หญิงแต่สามารถใช้ไปใช้ได้ทุกเพศทุกช่วงอายุ เพียงแต่เป็นพื้นที่ที่ห้ามตัดต้นไม้ใหญ่ และเป็นป่าเชิงสัญลักษณ์เพื่อเรียกร้องสิทธิผู้หญิงรวมถึงสร้างเศรษฐกิจให้กับผู้หญิง”

ในฐานะแม่หลวง ได้ร่วมกำหนดเจตจำนงหมู่บ้านไว้อย่างไร

สิ่งสำคัญในมุมมองของแม่หลวงและชุมชนบ้านห้วยอีค่าง คือ การอยู่กับป่า และการส่งต่อชุมชนให้กับเด็กและเยาวชน “จะทำอย่างไรให้พื้นที่เราเป็นพื้นที่ที่คนภายนอกหรือเด็กศึกษาได้มากที่สุด และเป็นพื้นที่ต้นแบบที่เด็กเยาวชนของหมู่บ้านกลับมาสู่ชุมชนได้อย่างมีความสุข มีพื้นที่ทำงาน สร้างรายได้ รวมถึงสร้างกิจกรรมต่างๆในป่า” นอกจากนี้ในชุมชนยังมีการทำข้อมูลในการดูแลจัดการทรัพยากร เช่น รายละเอียดพื้นที่ป่า พื้นที่ตรงไหนคือป่าเดปอ ตรงไหนพื้นที่ความเชื่อ มีการปักธงดูแลป่า 7 ชั้น เช่น ที่อยู่ ที่ทำกิน สวนผลไม้ พื้นที่ไร่หมุนเวียน พื้นที่ป่าใช้สอย พื้นที่ป่าความเชื่อ และป่าอนุรักษ์ โดยในการดูแลป่านั้นหน่อแอ่ริเผยว่า “มีการบริจาคเงินในแต่ละครอบครัวเพื่อดูแลป่า เช่น ไฟไหม้ในป่า เป็นเงินในการช่วยดับไฟ ซื้อน้ำ อาหาร บริหารจัดการตัวเอง โดยไม่ได้รอรัฐมาสนับสนุน”

เมื่อถามถึงไร่หมุนเวียน หน่อแอ่ริเล่าว่า “หมู่บ้านห้วยอีค่างเมื่อ 60 ปีที่แล้ว สามารถหมุนเวียนทำไร่ได้ตลอด แต่ราว 30 ปีที่แล้วไร่หมุนเวียนเริ่มลดลง เช่น มีนามากขึ้น มีการปลูกพืชผักผสมผสาน และถูกคุกคามจากนโยบายของรัฐที่มองว่าไร่หมุนเวียนเป็นการทำลายความมั่นคง มีนโยบายหลายครั้งที่ทำให้ไร่หมุนเวียนมีช่องว่าง เช่น นโยบายทวงคืนผืนป่า ฝุ่นควันไฟป่า การห้ามเผา ซึ่งกระทบกับวิถีชีวิตไร่หมุนเวียน จนกระทั่งลดน้อยลงและความมั่นคงทางอาหารลดลง จากที่แต่ก่อนไร่หมุนเวียนสามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ ได้อาหารจากไร่หมุนเวียน ไม่ต้องพึ่งพาภายนอก แต่ในปัจจุบันพึ่งพาภายนอกมากขึ้น เด็กเริ่มกินอาหารที่มีโภชนาการน้อย จากที่มีพรรณพืชกว่า 90-100 กว่าชนิด ทุกวันนี้เหลือมากสุดเพียง 50 ชนิด อีกหลายปีต่อจากนี้จะยิ่งได้รับผลกระทบมากขึ้น” หน่อแอ่ริกล่าว “แต่ก่อนเรามองว่าผืนป่าตรงนี้ที่พ่อแม่เราอยู่มากว่าร้อยปีเป็นของเรา ปัจจุบันกลับถูกทับด้วยป่าสงวน เราจึงมีอิสระในการใช้ป่าน้อยลง ตอนนี้หมุนป่า 7  ปีไม่ได้แล้ว เราต้องพึ่งพาอาหารจากข้างนอก 20-30%” นี่คือผลกระทบหนึ่งต่อความมั่นคงทางอาหารและวิถีชีวิตของกลุ่มที่ถูกมองว่าเป็นคนชายขอบ และยิ่งต้องพึ่งพาภายนอกมากขึ้น  

ทำไมหมู่บ้านถึงปฏิเสธข้าวโพดเลี้ยงสัตว์?

เมื่อเอ่ยถามถีงพืชเศรษฐกิจอย่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เป็นหนึ่งในนโยบายที่รัฐสนับสนุนแต่เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าและฝุ่นพิษชัดเจนว่าเพราะอะไรชุมชนบ้านห้วยอีค่างจึงปฏิเสธไม่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตลอดมาและเลือกที่จะหารายได้จากการทำเกษตรกรรมชนิดอื่น หน่อแอ่ริให้ความเห็นว่า 

“เคยทดลองปลูก แต่เพราะข้าวโพดเป็นพืชไร้ญาติเนื่องจากใช้สารเคมี พืชชนิดอื่นจึงขึ้นไม่ได้ ดูแล้วทำให้ทำให้เมล็ดพันธุ์ในไร่หมุนเวียนสูญเสียความหลากหลายไป  จึงมีความพยายามไม่ให้ปลูกและตั้งเป็นกฎระเบียบ เรามองว่าภูเขาที่ปลูกข้าวโพดกลายเป็นความร้อน อยู่ไม่ได้ ลมก็ลมร้อน จึงพยายามที่จะให้คนในชุมชนไปศึกษาดูงานพื้นที่ที่ปลูกข้าวโพด และดูอุณหภูมิที่นี่และที่บ้านเรา การที่ไม่ปลูกข้าวโพดดีที่สุดแล้ว ทำให้อากาศสดชื่น ผลกระทบที่ตามมากับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ก็คือสุขภาพที่ต้องอยู่กับสารเคมี และความมั่นคงทางอาหารหายไป เราถกเถียงและคุยกัน ทุกวันนี้ยังปฏิเสธอยู่”

ปัญหาโลกเดือดและคาร์บอนเครดิต

อีกกระแสหนึ่งที่หน่อแอ่ริบอกกับกรีนพีซว่าทางชุมชนกำลังจับตามองอยู่ เนื่องจากมีตัวแทนรัฐและบริษัทเริ่มติดต่อเข้ามาหลายครั้ง คือ การชดเชยคาร์บอนเครดิตของภาคบริษัทด้วยพื้นที่ป่า โดยข้อกังวลของหลายชุมชนและภาคประชาสังคมนั้น คือ การยึดแย่งพื้นที่ป่าและลิดรอนสิทธิชุมชนที่จะมาพร้อมกับการเปลี่ยนพื้นที่ป่าเป็นคาร์บอนเครดิต หน่อแอ่ริมองว่า

“ที่จริงการขายคาร์บอนเครดิตคนในชุมชนยังไม่รู้จักว่าใครเป็นคนซื้อและชุมชนได้ผลประโยชน์อย่างไร ได้ทุกคนไหม แต่ที่รู้คือไม่ยุติธรรมกับคนที่อยู่ในป่า เช่น ได้แค่ 20% เราไม่รู้ด้วยว่าเขาบริหารจัดการกันยังไง พอถามคนที่เป็นตัวแทนมาซื้อ เขาก็ตอบไม่ถูกเหมือนกันว่าขายยังไง ผลกระทบจากการขายคาร์บอนคืออะไรก็ยังไม่มีใครบอก ดังนั้นต้องให้ชาวบ้านรับรู้ข้อมูลข่าวสารรอบด้าน เพื่อให้ชาวบ้านรู้และตัดสินใจ  ห้วยอีค่างอยู่แบบนี้มีความสุข แต่เมื่อไหร่ที่มีคนพยายามมาแย่งชิงป่า เราจะไม่มีความสุข เหมือนเราโดนรังแก ถ้าขายคาร์บอนจริง เรายังไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับป่าความเชื่อของเรา และหากรัฐหรือเอกชนอ้างว่าอยากสนับสนุนการดูแลป่าจริง อยากขอให้มาสนับสนุนเลย ไม่ต้องมาซื้อขายเปลี่ยนแปลง”

ประเด็นเรื่องโลกเดือด หรือวิกฤตสภาพภูมิอากาศไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับหน่อแอ่ริ และสำหรับชาวปกาเกอะญอหมู่บ้านห้วยอีค่าง เพราะภูมิปัญญาของชนพื้นเมืองที่มีสายสัมพันธ์กับธรรมชาติอย่างลึกซึ้งทำให้สามารถสังเกตการณ์ได้อย่างใกล้ชิด “พ่อแม่บอกว่าเปลี่ยนแปลงมานานแล้ว เพียงแต่ปัจจุบันเห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจนขึ้น เราใช้องค์ความรู้ เช่น ฝนจะมาช้ามาเร็ว มีลางบอก โดยสังเกตจากต้นไม้ ดอกไม้ ผลไม้ สัตว์เลี้ยงที่บ้าน ปีไหนถ้ามะม่วงและต้นรักใหญ่ออกดอกเยอะจะเกิดพายุ การเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมหลายอย่างทำให้ผลไม้ออกไม่ตรงตามฤดูกาลบ้าง เราใช้องค์ความรู้พ่อแม่และเก็บข้อมูลวิจัยกับองค์กรต่างๆ โดยใช้องค์ความรู้ของชนเผ่าพื้นเมืองทั้งในและหลายประเทศทั่วโลกมาเป็นทางออก” 

นอกจากนี้หน่อแอ่ริยังเสนอว่า ทางออกที่เป็นรูปธรรมคือการทำงานร่วมกับท้องถิ่นและการกระจายอำนาจให้ชุมชนมีอำนาจในการดูแลจัดการและตัดสินใจ “ ถ้าเราจะใช้องค์ความรู้ของรัฐอย่างเดียวไม่ใช่ทางออก จะต้องบูรณาการกับความรู้ท้องถิ่นให้เขาปรับตัวได้ การให้อำนาจในพื้นที่ในการดูแลจัดการ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ใด สิ่งเหล่านี้จะพัฒนาดีกว่า เพราะเขารู้ว่าที่ไหนคือพื้นที่ไฟไหม้ พื้นที่ไหนมีความชื้น คนที่อยู่มาสี่ห้าร้อยปีเขารู้ดีมาก คนนั่งในออฟฟิศเขาไม่รู้หรอกถ้าดูแต่จากภาพในดาวเทียม เราจะต้องเอาชาวบ้านเป็นศูนย์กลางในการดูแล ไม่ใช่เฉพาะนโยบายที่เด็ดขาด ที่จะทำให้องค์ความรู้ชุมชนไม่น่าเชื่อถือและสูญหาย และทำให้ปัญหาที่มีอยู่รุนแรงขึ้น เช่น ฝุ่นจากไฟป่า ต้องให้อำนาจในการบริหารจัดการโดยชุมชนในการตัดสินใจ เขาคิดว่าพวกเราเผา ต้องเปลี่ยนความคิดนี้และคืนอำนาจตัดสินใจให้กับชุมชน” หน่อแอ่ริกล่าว

แรงบันดาลใจจากความไม่ยุติธรรม สู่การเป็นผู้นำหญิง

ความเป็นตัวตนของหน่อแอ่ริที่ผลักดันหมู่บ้านไปสู่แนวคิดและแนวทางปฏิบัติที่ดีสำหรับคนในหมู่บ้านและสิ่งแวดล้อมนั้นเกิดขึ้นจากแรงบันดาลใจที่เกิดจากการไม่ยอมทนต่อความยุติธรรมและการถูกคุกคามตั้งแต่วัยเด็ก

“ตั้งแต่เราเป็นเด็กเราสงสัยว่า ทำไมผู้หญิงไม่มีสิทธิตัดสินใจแม้กระทั่งกินข้าว เช่น วัฒนธรรมการเอามื้อการเกี่ยวข้าว เวลากินข้าวเที่ยงผู้ชายจะกินก่อน ผู้หญิงกินสุดท้าย บ่อยครั้งก็เหลือแค่เพียงน้ำให้กินก็ต้องกิน เรารู้สึกไม่ยุติธรรม และสานลึกในใจว่าทำไมเป็นแบบนี้” หน่อแอ่ริเล่า 

“โตขึ้นมาหน่อยราวอายุ 13-14 ปี เพื่อนถูกลวนลาม เราทนไม่ได้เพราะเป็นเรื่องใหญ่ ผู้หญิงไม่มีพื้นที่ในการพูดคุยสิ่งเหล่านี้ เนื้อตัวร่างกายของผู้หญิงเราไม่กล้าพูดเลยแม้แต่คำว่านม เราทนไม่ได้แล้วว่าผู้ชายทำกับผู้หญิงแบบนี้ เราจึงขอพื้นที่ประชุมประชาคม เพราะเราไม่พอใจที่ผู้ชายในชุมชนทำกับผู้หญิงแบบนี้ เรากลัวว่ากลับบ้านไปที่บ้านจะว่ายังไง แต่อีกใจก็อยากจะสู้เพราะคิดว่าไม่ยุติธรรรมกับผู้หญิง 

ในตอนนั้นผู้ชายที่เป็นผู้นำเปิดกว้างแม้ว่าเราจะเป็นเด็กอายุน้อย  ในวันนั้นกลุ่มผู้ชายท้าว่า ถ้ากล้าจริงก็ชี้จุดเกิดเหตุและคนกระทำ ไม่งั้นแปลว่าผู้หญิงโกหก เราจึงไปขอร้องให้เพื่อนมาให้ข้อมูล สามีของเขาจึงบอกให้ภรรยาไปชี้แจงว่าเกิดอะไรขึ้น เราดีใจมากที่เราชนะในคืนนั้น บอกได้ว่าคุณลวนลามเขาจริง มีเศษสร้อยหล่นอยู่ เป็นคืนแรกที่เรารู้สึกว่าได้รับอิสรภาพ เราไม่ขออะไรเลย ไม่ขอวัวไม่ขอควาย แต่ขอพื้นที่ให้กับผู้หญิงให้เรามีปากมีเสียง ผู้นำชุมชนจึงให้ และเราขออีกเรื่องคือ การกินข้าวต้องได้กินพร้อมกัน ไม่ใช่ผู้หญิงกินทีหลัง จึงเกิดการเปลี่ยนแปลง

“โตขึ้นมาจึงรู้สึกว่าผู้หญิงก็เป็นผู้นำได้ เราจึงเล่นการเมืองทั้งท้องถิ่นและชุมชนและลงสมัครเลือกตั้ง

ตอนแรกผู้หญิงเองก็ไม่เลือกผู้หญิง เพราะถูกโครงสร้างชายเป็นใหญ่กดทับความคิดว่าผู้หญิงไม่สามารถเป็นใหญ่หรือเป็นผู้นำได้ แต่พี่ไม่ท้อ ลงสมัครรอบสองทั้งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและส.อบต.(สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล)  คิดว่าสิบปีมานี้ที่พัฒนาศักยภาพ สมควรแล้วที่ผู้หญิงจะลุกขึ้นมาจัดการตนเอง และตัดสินใจด้วยตัวเอง ทุกคนลุกจึงขึ้นมาและมีพลังมากกว่าเรา 

“การต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมของเราได้ฝ่ากฎเกณฑ์ตั้งแต่ครอบครัว ชุมชน กฎจารีตวัฒนธรรม และสังคมไทย เป็นการต่อสู้มา 30 ปี วัฒนธรรมชนพื้นเมืองมีหลายอย่างที่ดีงาม แต่วัฒนธรรมไม่เป็นธรรมเราจะต้องจัดการยังไงให้เป็นธรรม” หน่อแอ่ริเล่า

อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างไรในประเทศไทยและในระดับโลก เกี่ยวกับเรื่องชนพื้นเมือง คน-ป่า โลกร้อน และบทบาทของผู้หญิง

“อยากเห็นว่าในโลกหรือในประเทศไทยยอมรับในตัวตนของชนพื้นเมือง นิยามของเราคือ มีอัตลักษณ์ วัฒนธรรม ภาษา แต่ในนิยามของไทย ชนเผ่าพื้นเมืองคือคนที่ถูกยึดครองหรือเปล่า แต่ถ้าเรายอมรับและเคารพในความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมจะทำให้เราอยู่ในประเทศอย่างมีความสุขและภาคภูมิใจ แต่ถ้ายังมองว่าเป็นกลุ่มเปราะบาง ทำลายความมั่นคงของชาติ ต้องถูกพัฒนา การถูกลิดรอนสิทธิจะไม่จบสิ้น การที่เราได้รับสิทธิในการดำรงชีวิตอย่างมั่นคงและมีความสุขจะทำให้ความเป็นมนุษย์ของชนเผ่าพื้นเมืองดีขึ้น และได้รับความยอมรับที่กว้างขึ้น

ส่วนบทบาทความเป็นหญิง อยากเห็นสังคมโลกและชุมชน มีสัดส่วนบทบาทของผู้หญิงในทุกที่ อย่างน้อยร้อยละ 40-50 ขอเป็นสัดส่วนที่เท่ากัน เราจะต้องเอื้อโอกาสให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมและมีอำนาจในการตัดสินใจ ทั้งในระดับครอบครัวและการเมือง อย่าลืมว่าผู้หญิงมีหน้าที่เยอะ ทั้งแม่ เมีย พี่สาว น้องสาว ไทยจะต้องเข้าใจจุดนี้ หลายคน เช่นสื่อ ออกมาพูดเหมือนกับผู้หญิงอ่อนแอ อันนี้ไม่ใช่ ถ้าจะให้สมดุล ต้องหนุนเสริมกัน ไม่ใช่บอกว่าทำไม่ได้เพราะเป็นผู้หญิง นี่คือสิ่งที่เราอยากเห็นการยอมรับในบทบาทของผู้หญิง

ทุกคนถ้าได้รับโอกาสจะสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมโลกได้ ผู้หญิงมีพลังในการพัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายด้านไหนก็ตาม เราจะต้องเข้าใจบริบทพื้นที่ ต้องเคารพการตัดสินใจระดับล่างขึ้นบน เพื่อให้เขาดำรงวิถีชีวิตได้อย่างปกติสุข ถ้าบนลงล่างเช่นในปัจจุบันก็เป็นไปได้ยากที่ประเทศไทยจะพัฒนา ทุกวันนี้ไทยเป็นแค่ประเทศกำลังพัฒนาเพราะนโยบายจากบนลงล่าง 

การตัดสินใจต้องยอมรับการตัดสินใจของคนข้างล่างหรือชุมชน” นี่คือการกลั่นกรองจากความคิดและความเป็นตัวตนผู้หญิงแกร่งของหน่อแอ่ริ ที่ฝากแนวคิดความเท่าเทียมทางเพศ ชาติพันธุ์และชุมชนไว้ให้กับผู้ที่มีอำนาจในการกำหนดการบริหารจัดการที่จะต้องนำไปสู่การเคารพสิทธิและความเท่าเทียม เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริงของสิ่งแวดล้อมและชุมชน