จากนโยบายทวงคืนผืนป่าของยุครัฐบาลคสช.โครงการเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินทรายเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้างมาจนถึงโครงการผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมโดยอ้างนโยบายโมเดลเศรษฐกิจ BCG   ทำให้ตั้งแต่ปี 2557-2563 มีการแจ้งความดำเนินคดีกับชาวบ้านในพื้นที่คำป่าหลาย จังหวัดมุกดาหาร จำนวน 88 คดี โดยเฉพาะกรณีปัญหาการดำเนินการทวงคืนผืนป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดงหมูแปลงที่ 2 บริเวณ หมู่ 5 หมู่ 6 หมู่ 13 มีผู้เดือดร้อน จำนวน 94 ราย 104 แปลง เนื้อที่รวม 888 ไร่  

ท่ามกลางความอยุติธรรมในคราบ BCG ที่คำป่าหลายนี้ ผู้ชายรับหน้าที่ทำงานหาเลี้ยงครอบครัว ส่วนผู้หญิงรวมตัวกันเพื่อเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรมจากที่ดินที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษอย่างต่อเนื่อง

‘สมัย พันธโครตร’ คือนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงจากกลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลายที่สูญเสียที่ดินไปกว่า 21 ไร่ เธอเปิดเผยว่าเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามายึดพื้นที่พร้อมอาวุธติดตัว รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ตัดต้นยางพารา มันสำปะหลัง ผู้ใหญ่บ้านประกาศเสียงตามสายห้ามเข้าพื้นที่ หากถูกจับกุมจะไม่รับผิดชอบ

“เราสู้มาตั้งแต่ปี 2559 รัฐเข้ามาไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ ปลูกป่าทับที่เรา แต่ก่อน เราปลูกมันสำปะหลังเป็นรายได้หลัก ตอนนี้หันมาทำนา แต่ไม่พอกิน หลังจากถูกยึดพื้นที่ ก็ไปสู้ทุกที่ ปีหนึ่งไป 100 กว่าครั้ง” สมัยเล่า 

สมัยสู้มากว่า 8 ปี เดินทางไปร้องศูนย์ดำรงธรรมก็ไม่ได้รับการรับเรื่อง เธอเสียทั้งเวลาทำมาหากิน โอกาสดูแลครอบครัว สุขภาพจิต เสียต้นทุนรวม 30,000-33,000 บาทต่อปี รวม 8 ปีเท่ากับ 240,000-264,000 ต่อปี

โมเดลเศรษฐกิจ BCG และการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นข้ออ้าง นำไปสู่การแย่งยึดขูดรีดประชาขน

ขณะนี้ราษฎรชุมชนคำป่าหลายกำลังเผชิญกับการแย่งยึดที่ดินในรูปแบบใหม่ผ่านกลไกทางการตลาด โดยในปี พ.ศ.2565 ที่ผ่านมาที่รัฐบาลพยายามผลักดันโมเดลเศรษฐกิจ BCG หรือ Bio-Circular-Green Economy ให้เป็นวาระหลักของชาติ “เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศและความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม” ทำให้เกิดโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานกังหันลม โดยบริษัท 555 กรีน เอนเนอร์จี้ จำกัด ซึ่งกรมป่าไม้อนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ภายในพื้นที่ โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมดังกล่าวทับซ้อนกับที่ดินทำกินของชาวบ้าน

“เขาว่าทำโครงการกังหันลมเพื่อคาร์บอนเครดิต ไม่ต้องคาร์บอนอื่นหรอก ที่นี่มีป่าที่ต้นไม้อุมดมสมบูรณ์อยู่แล้ว

“ป่าไม้คือชีวิตของเรา เรามีน้ำซับกินได้ 2-3 หมู่บ้าน ไม่มีสารคลอรีน ไม่มีสารพิษ ที่นี่มีไข่มดแดง มีผักหวาน มีหน่อไม้ ดอกกระเจียว เรากินอาหารป่าตลอด ถ้าพวกเจ้ามาเอาของเราไป เราจะอยู่อย่างไร

“อบต.บอกว่าถ้าจะสร้างกังหังลมต้องไม่ให้ทับที่หมู่บ้าน ต้องทำประชาคมก่อน และหากชาวบ้านไม่อนุญาตต้องยกเลิก แต่สุดท้ายกรมป่าไม้ก็อนุมัติให้โครงการกังหันลมผ่านอยู่ดี เราออกมาต่อสู้ก็ห่างลูก ห่างผัว เราไปยื่นหนังสือให้จังหวัดมา 3 ครั้งแล้ว เราขอฝากรัฐบาลให้คิดดูดีๆ

ท่านอยู่ในเมืองกรุง มีบริษัทห้างร้านมากมายที่พ่อแม่มอบให้

เราอยู่ที่ต่างจังหวัด ไม่มีห้างร้าน พ่อแม่ให้มาแต่สวน นี่คือที่ดินทำกิน การแย่งยึดสิ่งนี้คือการตัดมือตัดตีนเราทุกทางไม่ให้ทำมาหากิน

“เราคิดในใจว่านี่คือดินของกู พ่อแม่กูให้มาตั้งแต่บรรพบุรุษ หากค้าขายมีเงินก็ยังขายได้ แต่ที่ดินมันหาไม่ได้อีกแล้ว ก็เลยสู้” สมัยกล่าว

เมื่อถามว่าจุดแข็งของนักสู้เพื่อนหญิงพลังหญิงแห่งคำป่าหลายคืออะไร เธอตอบว่าคือ “กำลังใจ”

“บางคนเสียที่ไปแค่ 2 งานก็ยังมาร่วมสู้กับเรา เครือข่ายหลายๆเครือข่ายก็ช่วยเหลือเราตลอด เราไม่ได้เดียวดาย รัฐบาลต้องรู้ว่าประชาชนเดือดร้อน ต้องคืนสิทธิของเรา เยียวยาครอบครัวที่ได้รับความเสียหาย

“ชุมชนอื่นที่โดนแย่งยึดที่ดินเหมือนเราขอให้ออกมาต่อสู้ ไม่งั้นรัฐบาลก็ไม่รู้ว่าเราเดือดร้อน ถ้าเราไม่ออกมาแสดงตัวตน ก็ไม่มีใครรู้ ออกมาสู้เด้อหล้า ให้ได้ที่ดินของเราคืน” สมัยทิ้งท้าย


นิทรรศการออนไลน์ BCG แย่งยึดอะไรที่คำป่าหลาย

กว่า 9 ปีที่ชุมชนคำป่าหลายปกป้องที่ดินทำกินและทรัพยากรธรรมชาติจากการถูกแย่งยึดโดยรัฐในยุค คสช. มาจนถึงโครงการผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมโดยอ้างนโยบายโมเดลเศรษฐกิจ BCG