ป่าในความหมายของรัฐคืออะไร ส่วนหนึ่งของคำถามที่ไม่ได้รับคำตอบ

จากกรณีของความเดือดร้อนของชุมชนกว่า 50 ครัวเรือน จากพื้นที่คำป่าหลาย จังหวัดมุกดาหาร ที่ขึ้นทะเบียนหมู่บ้านอย่างถูกต้องตั้งแต่พ.ศ.2384 แต่กลับมีการประกาศพื้นที่อุทยานมาทับ และเข้มข้นขึ้นในช่วงกว่า 9 ปีที่ผ่าน โดยรัฐแย่งยึดถิ่นฐานที่ทำกินมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่นโยบายทวงคืนผืนป่าของคสช. เมื่อปี 2557 ต่อเนื่องด้วยโครงการเหมือนแร่หินอุตสาหกรรมเพื่อการก่อสร้าง และล่าสุดคือโครงการผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมของเอกชนภายใต้วาระแห่งชาติโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) หรือโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ที่อ้างว่าเป็นทางออกสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจและช่วยเยียวยาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ แต่นโยบายและกลไกเหล่านี้ในมุมมองของชุมชนผู้ได้รับผลกระทบนั้นเป็นเพียงเครื่องมือที่สร้างความชอบธรรมให้กับรัฐและบริษัทอุตสาหกรรม ที่ยิ่งตอกย้ำความเหลื่อมล้ำภายในประเทศ

ส่วนหนึ่งของงานนิทรรศการ BCG แย่งยึดอะไรที่คำป่าหลาย: นโยบายฟอกเขียวในนามความยั่งยืน หรือการแย่งยึดแผ่นดินราษฎร คือเวทีเสวนาที่ชวนตัวแทนจากพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล พรรคการเมืองฝ่ายค้าน ตัวแทนชุมชนผู้ได้รับผลกระทบ และนักวิชาการ มาร่วมกันถกในประเด็นโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่มาพร้อมกับกลไกตลาดคาร์บอน (Carbon Market) ที่เอื้อให้บริษัทอุตสาหกรรมซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากป่าไม้ได้ แต่ข้อกังวลของชุมชนผู้ได้รับผลกระทบและภาคประชาสังคมคือ การลิดรอนสิทธิมนุษยชนอันเกิดมาจากการแย่งยึดที่ดิน 

อาจารย์กิติมา ขุนทอง นักวิจัยโครงการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร กล่าวว่า “องค์ความคิดที่มองว่าทรัพยากรป่าไม้เป็นของรัฐทำให้รัฐออกกฎหมาย พรบ.ต่าง ๆ เพื่อครอบครองป่าไม้ และทำให้การสูญเสียป่าไม้เป็นวิกฤตเร่งด่วน เพียง 23 วัน หลังจากคสช. ยึดอำนาจ ก็ออกนโยบายทวงคืนผืนป่า ซึ่งเป็นการแย่งยึดอำนาจและสร้างวาทะกรรมความชอบธรรมให้กับรัฐ ทั้งที่แท้ที่จริงแล้วผืนป่าที่ถูกทำลายไปของประเทศไทยเกิดขึ้นจากการทำลายป่าของกลุ่มนายทุนและเอื้อผลประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรม ขณะที่เบียดประชาชนออกจากฐานทรัพยากร มองไม่เห็นความจริงว่ามีประชาชนอาศัยอยู่ก่อนแล้ว”

คน-ป่า  ต้องอยู่แยกกัน?

“อยู่ ๆ ตื่นมาก็มาไถสวนเราทิ้ง เจ้าหน้าที่มีอาวุธติดตัว โดนไถพืชสวนทิ้ง แล้วปลูกป่าทับ แล้วก็ดำเนินคดีพวกเรา” ตัวแทนราษฎรกลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลายกล่าวถึงเหตุการณ์ในวันที่เจ้าหน้าที่รัฐมาบุกแย่งยึดผืนป่าของชุมชน ซึ่งท้ายที่สุดแล้วเมื่อสูญเสียบ้าน สูญเสียวิถีชีวิตการประกอบอาชีพ นำไปสู่ภาวะหนี้สิน ไม่ต่างอะไรกับการเปรียบเปรยของอาจารย์กิติมา ขุนทอง ที่มองว่า “การสูญเสียที่ดินเหมือนกับการสูญเสียชีวิต”

นโยบายทวงคืนผืนป่า หรือการแย่งยึดที่ดินจากประชาชน คือการสร้างบาดแผลทางอารมณ์ให้กับชุมชนผ่านการกระทำเชิงอำนาจของรัฐ เช่น การรื้อถอนทำลายพืชผล การยึดพื้นที่ด้วยการปักเสาหรือปลูกป่าทับ การรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง รวมไปถึงการข่มขู่ และดำเนินคดีกุมขัง ทั้งหมดนี้เป็นผลกระทบโดยตรงต่อชุมชนที่พึ่งพิงป่า อันเป็นผลมาจากการบังคับใช้นโยบายแบบรวมศูนย์ของรัฐโดยไม่มีการศึกษาผลกระทบ มาตรการรองรับ และการเยียวยาชดเชย

คุณสมัย พันธโครตร ตัวแทนราษฎรกลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย กล่าวว่า “รัฐบาลตัดแขนตัดขาของพวกเราไม่ให้ทำมาหากินได้ เราสู้มาเรื่อย ๆ 9 ปี จนกระทั่งมีโครงการกังหันลมเข้ามาอีก มีคาร์บอนเครดิตมาอีก ที่ชุมชนเป็นแหล่งต้นน้ำ เป็นน้ำที่สะอาดใส สามารถดื่มกินได้ทั้งหมู่บ้าน ป่าที่นี่เป็นชีวิตของเราทุกคน ถ้าเอาป่าไปเราจะอยู่อย่างไร ขอฝากบอกรัฐบาลหน่อยว่ามาเบิ่งหน่อยว่าชาวบ้านไม่เอา” 

ความเป็นกลางทางคาร์บอน ≄ ความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ

อดีตนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังเข้าร่วม COP26 ได้ประกาศเป้าหมายว่าไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 รวมถึงให้สัญญา (NDCs) กับสหประชาชาติว่าจะลดก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 40 ภายในปี 2040  และที่สำคัญคือ ตั้งเป้าที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ครอบคลุม 55% ของพื้นที่ทั้งหมดภายในปี 2037 อย่างไรก็ตามกรณีการแย่งยึดที่ดินที่เกิดขึ้นกับชุมชนคำป่าหลายนั้นได้สะท้อนว่า การชดเชยคาร์บอนและการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดจะต้องเป็นธรรมอย่างแท้จริงด้วย ไม่ได้เกิดขึ้นจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน  

คำถามว่าด้วย ความหมายของป่าในมุมมองของรัฐคืออะไรจึงถูกถามขึ้นในวงเสวนานี้ เนื่องจากรัฐได้ตีความว่าผืนป่าของชุมชนคำป่าหลายคือป่าเสื่อมโทรม แต่มุมมองของชุมชนและนักวิชาการด้านป่าไม้และสิ่งแวดล้อมกลับเห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศพลาญหิน (ลานหิน)  แหล่งต้นน้ำและกักเก็บน้ำอันเป็นเอกลักษณ์ที่อุดมสมบูรณ์ ส่วนผืนป่าบริเวณคำป่าหลายนั้นก็มีความหนาแน่นประมาณ 208  ต้นต่อไร่ และพบพรรณไม้มากถึง 56 ชนิด การตีความของรัฐว่าเป็น “ป่าเสื่อมโทรม” นั้นเป็นการเปิดทางอนุญาตให้เอกชนเข้าไปใช้พื้นที่ป่าได้ ขณะที่ขับไล่แย่งยึดที่ดินของชุมชนกลายเป็นพื้นที่ผลิตไฟฟ้าจากกังหันลม 

คุณร่มฉัตร วชิรรัตนากรกุล เจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชนด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าวในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการเปลี่ยนผ่านพลังงานตามเป้าหมายของรัฐว่า “การแก้ไขปัญหาโลกร้อนอย่างไม่ถูกต้องจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเสียเอง ดั้งนั้นเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อลดผลกระทบตั้งแต่ต้นทาง และกำกับดูแลภาคธุรกิจที่อยู่ภายใต้อำนาจของตัวเอง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากขึ้น” 

คุณร่มฉัตร วชิรรัตนากรกุล ยังเสริมมุมมองว่า หากปราศจากการคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนแล้ว มาตรการลดโลกร้อนอาจกลายเป็นว่าก่อปัญหามากขึ้น เช่น การทำเหมืองสำหรับแบตเตอรีรถยนต์ EV รวมถึงภาคการแลกเปลี่ยนซื้อขายคาร์บอนและการทำตลาดคาร์บอนมาร์เก็ต เนื่องจากพื้นที่ป่าดั้งเดิมเป็นพื้นที่ของชนพื้นเมือง นำไปสู่การแย่งยึดพื้นที่ และการฟอกเขียวของภาคธุรกิจ เนื่องจากแทนที่จะเป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจ แต่ใช้คาร์บอนเครดิตเพื่อดำเนินธุรกิจในรูปแบบเดิมต่อไป

“คาร์บอนเครดิตหรือการชดเชยคาร์บอนเป็นเกมของคนที่ทำให้เกิดโลกร้อนที่ไม่อยากจะเปลี่ยน และไม่อยากเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงในการจ่ายค่าเสียหาย” ดร.สุรินทร์ อ้นพรหม นักวิชาการอิสระด้านวนศาสตร์ชุมชน กล่าว โดยคาดคะเนว่า กลไกในการแย่งยึดที่ดินของชาวบ้าน เช่น ต้องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวร้อยละ 55%  ต้องปลูกป่าเพิ่ม 33 ล้านไร่ นั้นส่วนหนึ่งพื้นที่ดังกล่าวจะคำนวณนจากพื้นที่ป่าที่นโยบายคทช.(คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ) แย่งยึดมา “กลไกการตลาดที่ให้ราคากับนิเวศ ประเมินป่า แม่น้ำ และดิน เป็นกลไกที่ทำลายสิ่งแวดล้อม เราจะใช้แนวคิดนี้เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือ”

นโยบายพรรคเพื่อไทย: ประเทศไทยสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

คุณชลธิส สุรัสวดี ตัวแทนพรรคเพื่อไทย และอดีตอธิบดีกรมป่าไม้ หนึ่งในผู้ร่วมเสวนาได้รับฟังความทุกข์ร้อนของชุมชนคำป่าหลาย และรับคำว่า “สามารถยกเลิกโครงการได้ หากผู้นำท้องถิ่นและผู้ว่าราชการจังหวัดรับรองว่าการอนุญาตนี้ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของชุมชน ถ้าคุยกันไม่รู้เรื่องสามารถติดต่อผมได้” อย่างไรก็ตาม คุณชลธิส สุรัสวดี ระบุว่า การขออนุญาตทำกังหันลมในปี 2566 เอกสารชี้ว่าได้รับการยินยอมจากชุมชน

“แนวความคิดของพรรคเพื่อไทยคือ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวแบบปัจเจก เพิ่มพื้นที่ในแนวตั้งมากกว่าแนวนอน การทวงคืนผืนป่าแบบคสช. จะไม่เกิดขึ้น 100%” คุณชลธิส สุรัสวดี กล่าว

อีกหนึ่งตัวแทนพรรคการเมือง คุณศนิวาร บัวบาน สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล เสริมว่า

“ในหลายกรณี รัฐไปคุยกับผู้นำชุมชนโดยที่ชาวบ้านไม่ได้รับทราบ และแนวคิด BCG ผู้ที่นำไปปรับใช้ไม่ได้สอดคล้องกับความเป็นจริง ที่ระบุไว้ว่าเสริมสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนและมีธรรมภิบาล เท่าเทียมและเป็นธรรม นอกจากนี้การซื้อคาร์บอนเครดิตยังถูกกว่าการทำพลังงานหมุนเวียน  ข้อกังขาคือ พื้นที่ที่ได้มามีความถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่ ป่าไม้ดูดซับได้จริงหรือไม่ ถาวรหรือไม่ เช่น กรณีการเกิดไฟป่าจะยิ่งปล่อยคาร์บอน ต้องมีการตรวจสอบย้อนกลับว่าดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้อย่างแท้จริง”

ในเวทีนี้ ตัวแทนพรรคก้าวไกลได้เสนอโมเดลทางเลือก Just Low Carbon Economy Transition หรือการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสังคมคาร์บอนต่ำที่เป็นธรรม “เป้าหมาย คือ ชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ลดความเสี่ยงภัยพิบัติ ฟื้นฟู้ป่าต้นน้ำ และใช้ทรัพยากรณ์อย่างยั่งยืน ต้องแก้ปัญหากรรมสิทธิในที่ดินก่อน เช่น โฉนดชุมชน การจ่ายค่าตอบแทนทางระบบนิเวศให้กับชุมชน” โดยคุณศนิวาร บัวบานระบุว่าจะต้องทำควบคู่ไปกับ พรบ. ฝุ่นพิษและหมอกควันข้ามแดน ที่จะส่งเสริมกับพรบ.ชนพื้นเมืองที่ให้สิทธิประชาชนร่วมกันดูแลและรักษาป่า

“ในร่างพรบ.โลกร้อนที่ก้าวไกลเสนอได้บรรจุสิทธิมนุษชน และกำหนดเพดานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอุตสาหกรรม ถ้าผู้ประกอบการใดไม่สามารถลดได้ สามารถซื้อเครดิตได้แต่จะต้องไม่เกินจำนวนที่กำหนดไว้” นี่คือข้อเสนอของทางพรรคฝ่ายค้าน อันเป็นความท้าทายที่เราต้องจับตามองกันต่อไปเช่นกัน

การปลูกป่าเพื่อคาร์บอนเครดิตคือการหลอกลวงประชาชน?

คุณเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์  เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ แสดงมุมมองต่อการแย่งยึดผืนป่าของรัฐ ว่านโยบายป่าไม้ยุคคสช. กระทำกับประชาชนเป็นนับพันจุด ถ้าใช้เลขของความเสียหายต่อคำป่าหลายไปคำนวณทั่วประเทศ จะพบว่าการทวงคืนผืนป่าเป็นการสร้างความยากจนซ้ำเติมให้กับคนทั้งประเทศ และตั้งคำถามถึงการคำนวณระบบนิเวศที่เน้นการปลูกป่าเชิงเดี่ยวและการคำนวณเนื้อไม้ แต่ไม่ได้มองว่าระบบนิเวศมีความสำคัญมากกว่าการปลูกป่าเชิงเดี่ยว เพราะเหตุใดถึงไม่คำนวณน้ำซับที่คำป่าหลาย ว่านี้ระบบนิเวศนี้สามารถดูดซับได้ดีกว่าป่าเชิงเดี่ยวขนาดไหน 

“ความสำคัญลำดับแรกของรัฐคือ จำเป็นต้องให้ได้พื้นที่ป่ามากขึ้น แต่ความเป็นจริงย้อนแย้ง เอาพื้นที่ป่าไปให้บริษัท สร้างเรื่องกดดัน รังแก ขับไล่ประชาชน พอสู้ไม่ได้ก็เอาพลังงานลมมาลง แต่ทัศนคติของรัฐเป็นแบบนี้มาตลอด มักเอาชีวิตที่อยู่ดีมีสุขของชุมชนไปแลกกับโครงการ โดยที่ไม่ได้มีแนวทางที่จะลดพลังงานฟอสซิล ถ่านหิน และก๊าซ โดยประชาชนทั้งประเทศที่ต้องแบกรับค่าเอฟทีจากการจัดสรรพลังงานที่เหลือใช้” คุณเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ กล่าว “จุดปะทะของรัฐและชุมชนเกิดจากการบริหารแบบรัฐรวมศูนย์ การปลูกป่าเพื่อคาร์บอนเครดิต คือการคำนวณเฉพาะเนื้อไม้ ไม่ได้คำนวนระบบนิเวศ อันนี้คือความบกพร่องที่สำคัญมาก นโยบายของรัฐการปลูกป่าเพื่อค้าคาร์บอนนั้นล้าสมัยมาก มีการทำสัญญาทำคาร์บอนเครดิตในป่าไม้ที่มีอยู่เดิมเต็มไปหมด แต่เอาตัวเลขพวกนี้มาหักลบคาร์บอนเครดิต และอ้างว่าช่วยดูซับคาร์บอนเพิ่มขึ้น อันนี้เป็นเรื่องโกหก  คำถามง่าย ๆ ว่า มีป่าปลูกแปลงไหนบ้างที่อยู่ถึง100 ปี ที่จะสามารถดูดซับก๊าซได้ ถ้าอีก 5-10 ปีป่าถูกตัดแปลว่าคุณหลอกลวงประชาชน”

คุณเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ยังย้ำอย่างชัดเจนถึงข้อกังวลของโครงการคาร์บอนเครดิตที่เชื่อมโยงกับการฟอกเขียวของบริษัทว่า “ถ้านโยบายยังเป็นอยู่แบบนี้ ยังเป็นนโยบายที่ฟอกเขียวอย่างชัดเจน และเป็นใบอนุญาตในการปล่อยคาร์บอน โดยที่ผู้ผลิตไม่ต้องลดการปล่อยคาร์บอนของตัวเอง เช่น SCG  ที่ผลิตกระดาษบอกว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแต่ใช้ก๊าซจากพม่า บริษัทมิตรผลที่มีอีกขาหนึ่งคือบ้านปูที่เป็นผู้ค้าถ่านหินระดับโลก ดังนั้นรัฐจะต้องมีนโยบายที่เน้นการลดก๊าซเรือนกระจกที่แหล่งของตัวเองมากกว่านี้ ไม่เช่นนั้นแล้วผลกระทบจะรุนแรงขึ้นอย่างแน่นอน”

ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศในทุกวันนี้เกิดขึ้นจากความเหลื่อมล้ำของกลุ่มผู้มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมือง ที่สามารถขยายธุรกิจอุตสาหกรรมได้อย่างอิสระ และสามารถโน้มน้าวนโยบายทางการเมืองให้เอื้อกับการขยายธุรกิจของตนได้ อีกนัยหนึ่งคือ มีกลุ่มคนเพียง 1% บนโลก ที่ก่อมลพิษก๊าซเรือนกระจกมากกว่าคนจน 66% ดังนั้นการแก้ปัญหาวิกฤตโลกร้อนควรเริ่มต้นบนฐานคิดที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำไม่ใช่นำ “พลังงานสะอาด” มาเป็นเครื่องมือในการแย่งยึดทรัพยากรชุมชน อธิปไตยทางพลังงานนั้นควรที่จะมาจากการกระจายอำนาจการผลิตพลังงานหมุนเวียนให้กับประชาชน ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนผ่านจากพลังงานสกปรกสู่พลังงานสะอาดที่ยั่งยืนและเป็นธรรมอย่างแท้จริง

“รัฐทำผิดซ้ำ ๆ แต่ไม่เคยเอาผิดต่อใครเลย ขอให้ยุติการคุกคามผู้หญิงและนักปกป้องสิทธิชุมชนทุกคน คืนสิทธิและยกเลิกคดีให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินของตนเอง รวมถึงคืนเอกสารสิทธิของประชาชนที่รัฐยึดไว้ รัฐต้องยอมรับว่ากลไกคาร์บอนเครดิตจะนำไปสู่การแย่งยึดที่ดินของประชาชน และฝากภาระไว้กับธรรมชาติและราษฎร” นี่คือคำกล่าวที่ คุณสมัย พันธโครตร กลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย ฝากทิ้งไว้ให้กับรัฐ ด้วยความหวังที่จะเห็นการคืนสิทธิของประชาชนกลับมา เพราะความหมายของป่าที่รัฐไม่มีคำตอบสำหรับชุมชนที่ถูกแย่งยึดป่าไปแล้วนั้น ป่าคือชีวิตของพวกเขา

อ่าน BCG ฟอกเขียวอะไรที่คำป่าหลาย ได้ที่ https://www.greenpeace.org/thailand/climate-bcg-kampalai-exhibition/

อ่าน ป่าคาร์บอน: รัฐได้ป่า เอกชนได้คาร์บอนเครดิต ใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง?