ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา กระแสการขายคาร์บอนเครดิตกลายมาเป็นประเด็นที่มีการกล่าวถึงและถกเถียงกันมากที่สุดประเด็นหนึ่งในสังคมไทย ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการผลักดันและเร่งรุกนโยบายปลูกป่าเพิ่มพื้นที่สีเขียวของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา กอรปกับการขานรับนโยบายของภาคเอกชนที่สนใจเข้าร่วมการปลูกและฟื้นฟูป่าเพื่อชดเชยคาร์บอนเป็นไปอย่างคึกคัก และนั่นอาจเป็นเหตุผลที่โครงการคาร์บอนเครดิตป่าไม้ได้รับการกล่าวถึงและครองพื้นที่สื่ออย่างแพร่หลายในระยะเวลาที่ผ่านมา

ในยุครัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย นโยบายคาร์บอนเครดิตยังคงได้รับการสานต่อและผลักดันอย่างจริงจัง จากถ้อยแถลงของนายเศรษฐา ทวีสิน ในงานประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ครั้งที่ 2 หรืองาน TCAC2 เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2566 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีใจความสำคัญว่า “รัฐบาลมุ่งมั่นปกป้องป่าไม้และเพิ่มแหล่งกักเก็บคาร์บอน โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวทุกประเภทให้ครอบคลุมร้อยละ 55 ของพื้นที่ทั้งหมดภายในปี ค.ศ. 2037 ซึ่งจะช่วยเพิ่มการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 120 ล้านตันต่อปี”

คำแถลงดังกล่าวของนายกรัฐมนตรีส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันต้องการจะเดินหน้าปลูกต้นไม้ขยาย “พื้นที่สีเขียว” ให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อชดเชยคาร์บอนเครดิตให้ได้ตามคำมั่นสัญญาต่อสหประชาชาติในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 40 ภายในปี 2583 และบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 รวมถึงเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2608 

สิ่งที่ประชาชนต้องตั้งคำถามก็คือ การปลูกฟื้นฟูป่าและการเพิ่มพื้นที่สีเขียวคือกุญแจไขไปสู่ทางออกของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้จริงๆ หรือ? บทความนี้จะพาออกสำรวจร่องรอย ที่มาที่ไปของแนวคิดการปลูกฟื้นฟูป่าเพื่อชดเชยคาร์บอนเครดิตทั้งในระดับสากลและของประเทศไทย  นำเสนอให้เห็นความคืบหน้าของการปลูกฟื้นฟูป่าเพื่อชดเชยคาร์บอนของกลุ่มทุนอุตสาหกรรมที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบันนี้ พร้อมทั้งการนำเสนอข้อสังเกตในประเด็นความไม่ชอบธรรม และผลกระทบของโครงการป่าคาร์บอนต่อชุมชนท้องถิ่นซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูงที่จะถูกแย่งยึดที่ดินทำกินเพื่อนำไปปลูกฟื้นฟูป่าและกลายเป็นป่าคาร์บอนในที่สุด 

ป่าคาร์บอน คืออะไร?

ป่าคาร์บอนเป็นคำที่ค่อนข้างใหม่ ยังไม่มีการนิยามหรือให้ความหมายที่ชัดเจน ผู้สนับสนุนแนวคิดคาร์บอนเครดิตและการปลูกฟื้นฟูป่าเพื่อชดเชยคาร์บอนมักใช้วิธีการอธิบายโดยอ้างถึงกระบวนการสังเคราะห์แสงของต้นไม้และพืชสีเขียว นั่นคือ ต้นไม้จะดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากบรรยากาศเพื่อใช้ในกระบวนการสังเคราะห์แสงซึ่งกระบวนการสังเคราะห์แสงของต้นไม้จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนหมุนเวียนของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซออกซิเจน และทำให้เกิดการกักเก็บคาร์บอนไว้ในเนื้อไม้ ดังคำอธิบายของนักวิชาการป่าไม้ที่ว่า 

ป่าไม้มีบทบาทสำคัญในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยกระบวนการสังเคราะห์แสงของใบ (photosynthesis) เพื่อสร้างอินทรียสารซึ่งมีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบ นำมาสะสมไว้ในส่วนต่างๆของต้นไม้ หรือที่เรียกว่า มวลชีวภาพ ( biomass) ทั้งมวลชีวภาพที่อยู่เหนือพื้นดิน ได้แก่ ลำต้น กิ่ง และใบ และมวลชีว ภาพที่อยู่ใต้ดิน คือ ราก ในขณะเดียวกัน ต้นไม้ ก็มีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศโดยกระบวนการหายใจของส่วนต่างๆ ได้แก่ ลำต้น กิ่ง ใบ และ ราก เรียกว่า autotrophic respiration ดังนั้น ปริมาณคาร์บอนสุทธิจากกระบวนการแลกเปลี่ยนก๊าซของต้นไม้จึงเป็นปริมาณคาร์บอนที่สะสมอยู่ในมวลชีวภาพของต้นไม้ ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนของป่าไม้ชนิดต่างๆ (สาพิศ, 2550)

จากความเข้าใจดังกล่าว กลุ่มผู้สนับสนุนแนวคิดการปลูกฟื้นฟูป่าเพื่อชดเชยคาร์บอนจึงสมาทานต่อแนวคิดและวาทกรรม “ป่าคือแหล่งกักเก็บคาร์บอน” หรือ forests as a carbon sink พวกเขาต้องการกระตุ้นให้สังคมสนใจและเห็นความสำคัญของป่าในฐานะทุนธรรมชาติเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน และต้องการกระตุ้นให้เกิดแรงจูงใจในการลงทุนปลูกและฟื้นฟูป่าเพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นแหล่งดูดซับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาโลกร้อน นอกจากนี้ กลุ่มที่สนับสนุนแนวคิดนี้ยังพยายามนำเสนอผลกระทบของการตัดไม้ทำลายป่า โดยชี้ให้เห็นว่าป่าอาจกลายเป็นแหล่งปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศหากไม่มีการจัดการและอนุรักษ์ที่เหมาะสม จากแนวคิดดังกล่าวทำให้กลุ่มผู้สนับสนุนเชื่ออย่างสนิทใจว่าการปลูกฟื้นฟู และการอนุรักษ์ป่าคือกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

Fossil Fuel Phase Out Protest at COP 28 in Dubai. © Marie Jacquemin / Greenpeace
ภาพการรณรงค์ให้โลกยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และผู้ก่อมลพิษต้องจ่าย ในการประชุม COP28 © Marie Jacquemin / Greenpeace

หากมองย้อนถึงที่มาที่ไปของแนวคิดการปลูกฟื้นฟูป่าชดเชยคาร์บอนหรือ “ป่าคาร์บอน” พบว่า แนวคิดการปลูกป่าชดเชยคาร์บอนถูกเผยแพร่ครั้งแรกในการประชุมรัฐภาคีสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเมื่อปี พ.ศ. 2537 ที่ประชุมได้บรรลุกรอบตกลงร่วมที่เรียกว่า “พิธีสารเกียวโต” (Kyoto Protocol) ภายใต้พิธีสารนี้ได้กำหนดให้มีกลไกการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตเพื่อช่วยเหลือให้ประเทศอุตสาหกรรมบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หนึ่งในกลไกที่ถูกพัฒนาและมีผลบังคับใช้ก็คือ กลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM) ซึ่งเปิดโอกาสให้ประเทศกำลังพัฒนานำคาร์บอนเครดิตที่ลดได้และได้รับการรับรองไปขายให้กับกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมที่ต้องมีพันธกิจในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกตามอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติ ทั้งนี้ ภายใต้โครงการ CDM ก็มีโครงการย่อยอีกหลากหลายประเภทซึ่งรวมถึงโครงการปลูกและฟื้นฟูป่าเพื่อชดเชยคาร์บอน และนั่นก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นการซื้อขายคาร์บอนเครดิตป่าไม้

ประเทศไทยในฐานะประเทศภาคีของสหประชาชาติที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เข้าร่วมกับโครงการ CDM ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา แต่ดูเหมือนว่าการดำเนินโครงการปลูกป่าเพื่อขายและชดเชยคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยไม่ค่อยประสบผลสำเร็จและก้าวหน้ามากนัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะระเบียบและเงื่อนไขของโครงการCDM ค่อนข้างซับซ้อน อีกทั้งค่าใช้จ่ายสำหรับขึ้นทะเบียนโครงการและรับรองคาร์บอนเครดิตค่อนข้างสูง ทำให้หลายๆ หน่วยงานที่เคยขึ้นทะเบียนไว้ตัดสินใจไม่ต่ออายุโครงการ อย่างไรก็ตาม แม้โครงการ CDM ไม่ค่อยก้าวหน้ามากนัก แต่รัฐบาลไทยได้ปรับใช้แนวคิดการซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตของสหประชาชาติมาพัฒนาเป็นระบบตลาดและการซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจของประเทศไทยในเวลาต่อมา

ป่าคาร์บอน ใครปลูก เครดิตเป็นของใคร

การประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฎิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทยครั้งที่ 2. © Greenpeace
นักกิจกรรมกรีนพีซ ประเทศไทยกางป้ายผ้า “ผืนป่า ≠ คาร์บอนเครดิต หยุดฟอกเขียว” และฉายโปรเจคเตอร์ “หยุดใช้ผืนป่าแลกคาร์บอน Real Zero Not Net Zero” ส่งสารถึงนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน และคณะรัฐบาลไทยในพิธีเปิดการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฎิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทยครั้งที่ 2 (2nd Thailand Climate Action Conference) กรีนพีซประเทศไทยเรียกร้อง ให้รัฐบาลไทยทบทวนกรอบท่าทีเจรจาในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 28 (COP28) โดยเห็นว่านโยบายสภาพภูมิอากาศของไทยยังคงขาดสมดุล มุ่งเน้นมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (mitigation) เป็นหลัก ให้ความสำคัญกับการรับมือปรับตัวจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ (adaptation) น้อยมาก และแทบไม่พูดถึงความสูญเสียและความเสียหาย(loss and damage) และเปิดช่องให้มีการฟอกเขียว (greenwashing) มากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการชดเชยคาร์บอนภาคป่าไม้ (forest carbon offset) การนำผืนป่ามาชดเชยคาร์บอนไม่ใช่ทางออกจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ แต่คือแนวทางที่เปิดโอกาสให้บรรษัทอุตสาหกรรมและกลุ่มประเทศที่ร่ำรวยแสวงหาผลกำไรโดยการแย่งยึดที่ดินและทรัพยากรป่าไม้ที่ดูแลโดยชุมชนท้องถิ่น ขณะเดียวกัน ก็หลีกเลี่ยงภาระรับผิดต่อความสูญเสียและความเสียหายจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่กลุ่มอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลก่อขึ้น
© Greenpeace

จากนโยบายและเป้าหมายของรัฐบาลเศรษฐาที่ต้องการให้ป่าช่วยดูดกลับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณ 120 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า รัฐบาลจึงเร่งผลักดันโครงการปลูกฟื้นฟูป่าเพื่อชดเชยคาร์บอนโดยสนับสนุนให้ภาคธุรกิจเอกชนและกลุ่มทุนอุตสาหกรรมเข้าร่วมโครงการปลูกฟื้นฟูป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว รัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายว่าภายในปี 2580 ประเทศไทยต้องรักษาพื้นที่ป่าเดิม และต้องปลูกป่าเพิ่มอีกประมาณ 30 ล้านไร่ เพื่อจะมีพื้นที่สีเขียวทั่วไประเทศ ร้อยละ 55 ของพื้นที่ทั้งหมด และนับตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา รัฐบาลได้เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนและกลุ่มทุนอุตสาหกรรมเข้าไปลงทุนโครงการปลูกฟื้นฟูป่าเพื่อชดเชยคาร์บอน โดยภาครัฐคอยให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในด้านระเบียบและกฎเกณฑ์ต่างๆ เป็นอย่างดี ทั้งนี้ พื้นที่ที่ภาคเอกชนเข้าไปปลูกฟื้นฟูป่าเพื่อชดเชยคาร์บอนเครดิตนั้นมีทั้งพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าชุมชน รวมถึงพื้นที่ชายฝั่งและป่าชายเลน

จากการศึกษาของกรีนพีซ (ประเทศไทย) พบว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครืออีก 7 บริษัทตั้งเป้าหมายในระยะ 10 ปี ที่จะปลูกป่าชดเชยคาร์บอนถึง 2 ล้านไร่ ในช่วงปี 2565 – 2566 ทางบริษัท ปตท. ได้ปลูกป่าไปแล้วเกือบ 1 แสนไร่ ปลูกในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ประมาณ 9 หมื่นไร่ และในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ  ประมาณ 1 หมื่นไร่ โดยทางบริษัทเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณการปลูกป่าเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง 10 ปี (ปลูก 1 ปี ดูแลรักษา 9 ปี) หลังจากการปลูกเรียบร้อยแล้วทางบริษัทจะนำโครงการปลูกป่าไปขึ้นทะเบียน TVER กับทางองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกเพื่อขอรับรองคาร์บอนเครดิต

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เผยแพร่ข้อมูลการปลูกป่าในพื้นที่อนุรักษ์ พบว่า ในปีงบประมาณ 2565 – 2566 ทางกรมฯ ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอกหรือองค์กรเอกชนในการปลูกฟื้นฟูสภาพป่าเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต รวมทั้งสิ้น 6 หน่วยงาน เช่น บริษัทผลิตภัณฑ์และวัสดุก่อสร้างจำกัด (ซีแพค) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตเลียม จำกัด (มหาชน) เป็นต้น และได้ปลูกป่าไปแล้วเกือบ 90,000 ไร่ ในขณะที่ข้อมูลของกรมป่าไม้แสดงให้เห็นว่าในช่วงปี 2565-2566 ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ มีภาคเอกชนเข้าร่วมโครงการปลูกฟื้นฟูป่าเพื่อชดเชยคาร์บอนถึง 12 บริษัท และปลูกป่าไปแล้วเกือบ 3 แสนไร่

สิ่งที่เอื้อให้ภาคเอกชนสามารถเข้าไปปลูกฟื้นฟูป่าในพื้นที่ป่าของรัฐเพื่อชดเชยคาร์บอนเครดิตก็คือ การจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกับภาคธุรกิจเอกชน รวมถึงการออกระเบียบเกี่ยวกับการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตของหน่วยงานที่ดูแลบริหารพื้นที่ป่าไม้ทั้ง 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทั้งนี้ สาระสำคัญของระเบียบการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตก็คือ ประการแรก การเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนและกลุ่มทุนขนาดใหญ่สามารถเข้าไปดำเนินโครงการปลูกป่าในพื้นที่ของรัฐเพื่อชดเชยคาร์บอนเครดิต และประการที่สอง การระบุวิธีการและสัดส่วนการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างผู้พัฒนาโครงการ (ภาคเอกชนที่ร่วมโครงการปลูกป่า) กับเจ้าของโครงการ (หน่วยงานป่าไม้รับผิดชอบพื้นที่ป่า) ในสัดส่วนประมาณ 90 ต่อ 10 นั่นคือ เอกชนที่พัฒนาโครงการจะได้คาร์บอนเครดิตประมาณ ร้อยละ 90 ส่วนอีกร้อยละ 10 เป็นของหน่วยงานภาครัฐ

Peatland Forest Canopy in Central Kalimantan. © Ulet  Ifansasti / Greenpeace
© Ulet Ifansasti / Greenpeace

สามารถกล่าวได้ว่า ระเบียบว่าด้วยการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนอุตสาหกรรมสามารถจัดหาคาร์บอนเครดิตมาชดเชยปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากกระบวนการผลิตสินค้าและบริการของตนเองได้ ในแง่นี้ ป่าคาร์บอนจึงเปรียบเสมือนใบอนุญาตให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อเนื่องได้ตราบเท่าที่ยังสามารถจัดหาคาร์บอนเครดิตจากโครงการปลูกฟื้นฟูป่ามาชดเชย นั่นเท่ากับว่าภาคอุตสาหกรรมได้รับใบอนุญาตให้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ “license to pollute”จากกิจกรรมปลูกต้นไม้และฟื้นฟูป่าแทนที่จะมุ่งไปที่การจัดหาแหล่งเชื้อเพลิงสะอาดมาทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโลกร้อน

ป่าคาร์บอน ช่วยโลกร้อน หรือช่วยใคร?

ภาครัฐมักอ้างว่า การปลูกป่าชดเชยคาร์บอนนั้นช่วยให้ “รัฐได้ป่า เอกชนได้คาร์บอนเครดิต” จากมุมมองและวิธีคิดดังกล่าวภาครัฐจึงจัดหาพื้นที่ “ป่าเสื่อมโทรม” ซึ่งอาจจะเป็นการตีความว่าเสื่อมโทรมจากมุมมองของรัฐ แล้วให้ภาคอุตสาหกรรมที่สนใจมาเข้าร่วมโครงการปลูกป่า สิ่งที่ต้องคำถามก็คือ ทำไมหน่วยงานของรัฐที่ดูแลรักษาป่าซึ่งก็ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายปีเพื่อปลูกฟื้นฟูและบำรุงรักษาป่าอยู่แล้วต้องนำพื้นที่ดังกล่าวไปให้ภาคเอกชนเพื่อเคลมผลประโยชน์คาร์บอนเครดิตเพื่อเป็นการตอบแทนในการลงทุนปลูกป่า

นอกจากนี้ วิธีการปลูกป่าส่วนใหญ่ใช้วิธีการปลูกเสริมป่าหรือการปลูกฟื้นฟูป่าซึ่งมีแนวทางปฏิบัติก็คือ จะปลูกกล้าไม้เสริมเข้าไปในพื้นที่ประมาณ 20 ต้นต่อไร่ หรือบางพื้นที่อาจปลูก 200 ต้นต่อไร่ ขึ้นอยู่สภาพดั้งเดิมของพื้นที่โครงการ อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการสามารถนำพื้นที่โครงการทั้งหมดไปขึ้นทะเบียนกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือ อบก. เพื่อเข้าสู่กระบวนการรับรองคาร์บอนเครดิตต่อไป นั่นหมายความว่าภาคเอกชนที่ปลูกป่าไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงจากอัตราการรอดตายของกล้าไม้ที่ปลูก เนื่องจากมีต้นไม้อยู่ในพื้นที่โครงการอยู่ก่อนแล้ว

อาจกล่าวได้ว่า แนวคิดการปลูกและฟื้นฟูป่าเพื่อชดเชยคาร์บอนสะท้อนมุมมองที่คับแคบของรัฐต่อระบบนิเวศธรรมชาติ รัฐมองว่าป่า (อย่างน้อยในระยะ 10 ปี) คือทางออกหลักในการแก้ปัญหาโลกร้อน รัฐต้องการจะปลูกป่าในพื้นที่มหาศาลเพื่อนำไปชดเชยคาร์บอนที่ปล่อยจากภาคอุตสาหกรรมพลังงาน ความผิดพลาดของมุมมองดังกล่าวก็คือ การลดทอนหรือทำให้ป่าหรือระบบนิเวศธรรมชาติกลายมาเป็นเพียง “เทคโนโลยีสีเขียว” เพื่อทำหน้าที่กักเก็บและดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อนำไปชดเชยก๊าซเรือนกระจก 120 ล้านตัน ซึ่งเป็นเป้าหมายที่รัฐบาลไทยได้ให้คำมั่นไว้ในเวทีการประชุมรัฐภาคีของสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

Protest at "Thailand Climate Action Conference" in Bangkok. © Greenpeace
นักกิจกรรมกรีนพีซ ประเทศไทยกางป้ายผ้า “ผืนป่า ≠ คาร์บอนเครดิต หยุดฟอกเขียว” และฉายโปรเจคเตอร์ “หยุดใช้ผืนป่าแลกคาร์บอน Real Zero Not Net Zero” ส่งสารถึงนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน และคณะรัฐบาลไทยในพิธีเปิดการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฎิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทยครั้งที่ 2 (2nd Thailand Climate Action Conference) © Greenpeace

ใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง?

มีข้อคิดเห็นทางกฎหมายเกี่ยวกับการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตที่มองว่า กรมป่าไม้มีภารกิจในการดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้ รวมทั้งทรัพย์ และทรัพย์สินที่อยู่ในพื้นที่ป่าในความรับผิดชอบแทนรัฐ ตลอดจนมีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับการจัดการให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินป่าไม้ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ๒๕๕๑ กรมป่าไม้จึงย่อมมีอำนาจเอาคาร์บอนเครดิต ที่เกิดในพื้นที่ป่าไม้ได้ รวมทั้งมีอำนาจทำข้อตกลงการแบ่งปันผลประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตที่ได้จาก โครงการ Thailand Voluntary Emission Reduction Program (โครงการ T – VER) ให้แก่เอกชนและหน่วยงาน ของรัฐที่ได้รับอนุมติให้เข้าร่วมกิจกรรมกับกรมป่าไม้ได้

ผู้เขียนมองว่า ข้อคิดเห็นดังกล่าวข้างต้นละเลยหรือมองข้ามประวัติศาสตร์ป่าไม้ และความซับซ้อนเกี่ยวกับสิทธิและกรรมสิทธิ์ในที่ดินและทรัพยากรซึ่งเป็นปัญหาที่มีความขัดแย้งมาอย่างยาวนานในสังคมไทย พื้นที่ที่ถูกนิยามว่าป่าบางพื้นที่มีชุมชนอยู่มาก่อนการประกาศเขตป่าของรัฐ ชุมชนมีการจัดการและใช้ประโยชน์ร่วมกันมาหลายชั่วอายุคน การมองเพียงว่าป่าเป็นของรัฐเป็นมุมมองที่คับแคบไม่สะท้อนประวัติศาสตร์การจัดการป่าของไทย และมุมมองดังกล่าวเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ชุมชนท้องถิ่นถูกเบียดขับออกจากระบบการบริหารจัดการพื้นที่ป่า ชุมชนไม่ได้รับประโยชน์จากการแบ่งปันคาร์บอน บางกรณีอาจถูกแย่งยึดที่ดินทำกินเพื่อนำไปให้ภาคเอกชนปลูกป่าชดเชยคาร์บอน แน่นอนว่าเป็นการซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในการจัดสรรทรัพยากรในสังคมนี้ 

ภาพมุมสูงแสดงถึงวิถีชีวิตของชาวคำป่าหลายที่พึงพาอาศัยป่าเพื่อให้วัวได้กินหญ้า ตำบลคำป่าหลาย อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร © Roengchai Kongmuang / Greenpeace

แนวคิดการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตสร้างความชอบธรรมให้กลุ่มทุนอุตสาหกรรมเข้าไปแย่งยึดที่ดินและป่าส่วนร่วมของประชาชนมาอยู่ในมือของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ การปลูกป่าชดเชยคาร์บอนของภาคเอกชนเป็นการแย่งยึดทุนทางธรรมชาติและขยายอาณาเขตของทุนเข้าไปในพื้นธรรมชาติ พื้นที่โครงการปลูกป่าส่วนใหญ่คือป่าธรรมชาติที่กำลังฟื้นตัวตามธรรมชาติ บางแห่งอาจเป็นพื้นที่ที่ชุมชนร่วมกันดูแล รักษา และฟื้นฟูมานานกว่าทศวรรษ ประเด็นที่ต้องจับตาและตั้งคำถามก็คือ ปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ภาคเอกชนเคลมมาชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้นมาจากต้นไม้ที่ปลูกหรือจากป่าที่มีอยู่ดั้งเดิม

นอกจากนี้ มุมมองเรื่องป่าคาร์บอนยังไปลดทอนคุณค่าของระบบนิเวศป่าไม้ที่หลากหลาย เพิกเฉยหรือพยายามไม่กล่าวถึงคุณค่านิเวศบริการของป่าไม้ไม่ว่าจะเป็นด้านการเป็นแหล่งผลิตและแหล่งกำเนิดน้ำ อาหารจากป่า ไม้ใช้สอย เป็นต้น อีกทั้งคุณค่าด้านการเป็นแหล่งควบคุมการไหลเวียนของอากาศ ธาตุอาหาร รวมไปถึงคุณค่าของป่าทางด้านวัฒนธรรมและนันทนาการ การท่องเที่ยว การศึกษา ซึ่งมีคุณค่าและมูลค่ามากมายมหาศาล เป็นคุณค่าที่ระบบนิเวศป่าไม้ที่มีต่อการมีชีวิตรอดของระบบนิเวศและมนุษยชาติ การมองว่าป่าคือแหล่งกักเก็บคาร์บอนอาจส่งผลกระทบต่อรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างคนกับระบบนิเวศป่าไม้ในระยะยาว

รัฐได้ป่า เอกชนได้คาร์บอนเครดิต กลายมาเป็นวาทกรรมเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กลุ่มทุนอุตสาหกรรมเข้าไปแย่งยึดที่ดินเพื่อปลูกป่าชดเชยคาร์บอน การอนุญาตให้มีป่าคาร์บอนก็ไม่ต่างอะไรจากการออกใบอนุญาตให้ทุนอุตสาหกรรมปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่งผลให้อุณหภูมิโลกยังคงจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โลกของเรายังคงต้องร้อนต่อไป


เอกสารประกอบการเรียบเรียง

กานต์ธณัฐ กวินพลอาสา. 2566. การกักเก็บคาร์บอนในมวลชีวภาพของต้นไม้ในพื้นที่หน่วยจัดการต้นน้ำห้วยสะแตง จังหวัดน่าน. วิทยานิพนธ์ระดับบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยแม่โจ้.

สาพิศ ดิลกสัมพันธ์. 2550. การกักเก็บคาร์บอนของป่าไม้กับภาวะโลกร้อน. วารสารอนุรักษ์ดินและน้ำ 22 (3): 40-49.

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. 2566. ความเห็นทางกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่น่าสนใจ การแบ่งปันผลประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต. กฤษฎีกาสาร 18 (4): 2.

เกี่ยวกับผู้เขียน

“สุรินทร์ อ้นพรม จบปริญญาเอกสาขาภูมิศาสตร์มนุษย์ เคยเป็นอาจารย์ที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปัจจุบันเป็นนักวิจัยอิสระ สนใจประเด็นนิเวศวิทยาการเมืองสิ่งแวดล้อม การพัฒนา และปัญหาความเหลื่อมล้ำ ขณะนี้กำลังทำวิจัยเรื่อง การชดเชยและการค้าคาร์บอนภาคป่าไม้กับการฟอกเขียวของทุนอุตสาหกรรม”