‘ธนพล จูมคำมูล’ หรือ ‘เฟนเดอร์’ เป็นนักร้อง นักดนตรี นักแต่งเพลง ทำวงดนตรีร็อคชื่อ Solitude Is Bliss และเพิ่งออกอัลบั้ม am i moon ในฐานะศิลปินเดี่ยวแนวอินดี้โฟล์คนาม View From The Bus Tour แต่ในฤดูกาลของฝุ่นควัน เขาเป็นหนึ่งในผู้ประสบภัยเหมือนชาวเมืองทุกคน

“ผมเป็นคนใช้เสียง ใช้ร่างกายในการประกอบวิชาชีพนักดนตรี ช่วงที่มี PM2.5 สมองและความคิดของผมมันตื้อไปหมด ผมเป็นภูมิแพ้หนักมาก ไม่สามารถใช้เสียงได้อย่างไหลลื่นเหมือนเมื่อก่อน ผมเคยร้องเพลงแล้วรู้สึกดีเพราะช่องนาสิกโล่ง มันจะมีจุดที่เราไต่ไปสักโน้ตหนึ่ง ใช้พลังไปถึงจุดหนึ่ง แล้วสั่นสะเทือนจนรู้สึกปีติ มันเหมือนจุดสุดยอดชนิดหนึ่ง เราจะรู้สึกสงบและรู้สึกดีจังเลยที่เปล่งเสียงร้องมาถึงตรงนี้

“แต่พอช่วง PM2.5 ผมเป็นทั้งภูมิแพ้ ช่องนาสิกไม่โล่งเหมือนเมื่อก่อน ผมไม่ได้รู้สึกแบบนั้นอีกเลย มันไม่ควรจะเป็นแบบนั้นเลย ทั้งๆ ที่ผมเป็นคนเขียนเพลง เป็นคนร้องเพลง เพื่อจะได้รับรู้ถึงความรู้สึกเหล่านั้น แต่มันไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว” เฟนเดอร์เล่า

บ้านของดนตรีโฟล์คคือภูเขา ภูเขาเป็นที่พำนักของจิตใจ เฟนเดอร์กำลังจะมีงานแสดงดนตรีที่ ‘ยีโดะระ โฮมสเตย์’ หมู่บ้านที่ตั้งอยู่ลึกกลางหุบเขาดอยมูเส่คี ในอำเภอกัลยาณิวัฒนา ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ 165 กิโลเมตร งานนี้รับนักท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์เพียง 8 คนเท่านั้น สำหรับการแสดงครั้งนี้เฟนเดอร์เลือกนำองค์ประกอบของดนตรีโฟล์คมาแสดงบนภูเขา สร้างทั้งมูลค่าให้ชุมชนปกาเกอะญอและสร้างแนวป้องกันทางวัฒนธรรม

ก่อนหน้านี้เขาถูกเชิญไปร่วมกิจกรรม ‘สอนเขียนเพลง’ ร่วมกับศิลปินอย่าง ‘ธนชัย อุนชิน’ หรือ ป๊อด Modern Dog ‘ก้อง-เทพวิพัฒน์ ประชุมชนเจริญ’ จากวง H 3 F และ ‘คลีโพ-ณัฐวุฒิ ธุระวร’ แห่ง KLEE BHO หัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการสร้างการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ที่นำดนตรีเข้ามาสร้างมูลค่าให้ชุมชนที่ดอยมูเส่คี แต่อีกด้านหนึ่ง ดนตรีเป็นแนวป้องกันทางวัฒนธรรมและทรัพยากร ซึ่งอย่างหลังเป็นสิ่งที่ชาวบ้านปกปักรักษาแต่กลับถูกกีดกันไม่ให้ใช้ประโยชน์จากป่าสน

“ศูนย์กลางของอำเภอกัลยาณิวัฒนาคือบ้านจันทร์ ซึ่งมีป่าสนผืนที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” เฟนเดอร์เล่าถึงฉากหลังบนเวทีแสดงดนตรีของเขา “โดยพื้นฐานมันคือการเอาคนไปรีแล็กซ์ แต่พอคนได้รีแล็กซ์และได้รีทรีตด้านจิตใจเขาก็ยิ่งรู้สึกว่าพื้นที่แบบนี้มีมูลค่าและคุณค่ามากกว่าที่คิด

“ทะเลจะมีเสียงอีกแบบ ป่าก็มีเสียงอีกแบบครับ เสียงของป่าช่วยสะท้อนให้เห็นตัวเรา ผมใช้เวลา สองสัปดาห์ไปพักที่กระท่อมในอำเภอกัลยาณิวัฒนาตอนเขียนเพลงในอัลบั้ม am i moon เสียงของป่าขุดเอาตะกอนของเราให้กลับมาคลุ้งอีกครั้ง ผมเลือกใช้ดนตรีในการนำเอาตะกอนเหล่านั้นมาเรียบเรียงเป็นถ้อยคำเป็นบทเพลง” เฟนเดอร์เล่า

ในเพลงชื่อ เสาไฟ (Electric post) เขาเขียนถึงชายที่มีภาวะเจ็บป่วยทางจิตใจผู้เก็บตัวในห้อง ใช้ผ้าอุดหน้าต่างและประตูไม่ให้โลกภายนอกรั่วเข้ามา นำเศษผ้าอุดช่องว่างที่ลมเล็ดลอด สร้างกำแพงกั้นเสียงจากโลกภายนอก ช่างเป็นจินตภาพในเพลงโฟล์คที่ประหลาดล้ำ ก่อนที่เนื้อเพลงต่อจากนี้จะบอกว่า “แต่มีอยู่อย่างเดียวที่มีเรี่ยวมีแรง กระแสไฟจากหม้อแปลงส่งเข้ามา นกตัวหนึ่งส่งสายตา จ้องมองเข้ามา อยากพาฉันออกไป”

“เนื้อเพลงในเวอร์ชั่นแรกยังไม่มีนกครับ ผมเขียนเพลงนี้ไว้หลายปี แต่จบไม่ได้ ผมเติมนกตัวนี้เข้าไปในเนื้อเพลงตอนไปพักในกระท่อม 2 สัปดาห์นั้น นกตัวนี้คือตัวผมเองที่มองย้อนกลับไปในอดีตที่ขังตัวเองในห้อง ผมคิดว่าเพราะดอยหรือภูเขาเป็นกระจกให้คนที่กำลังสังเกตการณ์ตัวเองได้มองเห็นตัวเองได้ชัดเจนมากขึ้น มันช่วยให้เรามองเห็นตัวเราเองชัดขึ้น ธรรมชาติภายนอกดึงเอาเสียงที่อยู่ข้างในออกมาให้เราได้ยินชัดขึ้น จากที่เราอยู่ในเมืองมันจะมีเสียงของเมือง ซึ่งกดเราไว้เหมือนมลพิษในแอ่งกระทะ” 

นี่คือสายสัมพันธ์ระหว่างนักดนตรีกับภูเขาผ่านสิ่งที่เฟนเดอร์เรียกว่า ‘เสียง’ ของภูเขา แต่เสียงของภูเขาแต่ละลูกย่อมต่างออกไป ชวนตั้งคำถามว่าเสียงของ ‘อมก๋อย’ เป็นเสียงแบบไหน?

“ผมคงไม่สามารถจินตนาการถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นที่ ‘อมก๋อย’ ได้ โดยเฉพาะความรู้สึกของคนที่มีบ้านอยู่ที่นั่น ผมไม่สามารถเข้าใจความรู้สึกของคนอมก๋อยได้อย่างลึกซึ้ง แต่ผมคิดว่าการถูกรบกวนด้วยเหมืองถ่านหินจะทำให้รากฐานทางวัฒนธรรมของคนที่อยู่ตรงนั้นสั่นคลอน ซึ่งภูมิปัญญาในการรักษาป่า รักษาชีวิตของเผ่าพันธุ์  รักษาเรื่องเล่า ล้วนแต่จำเป็นต่อการทำให้ระบบนิเวศยั่งยืนต่อทั้งคนที่อยู่ในพื้นที่และคนในพื้นที่รอบข้าง” 

ในฐานะนักดนตรีโฟล์คผู้มีจินตภาพ Absurd เขาคงนำเศษผ้าไปอุดหน้าต่าง ประตู และช่องลมของอมก๋อย ไม่ให้โลกภายนอกกรูผ่านรูรั่วเข้ามา หากบ้านของดนตรีโฟล์คคือภูเขา ศิลปินย่อมเป็นกำแพงหรือแนวป้องกันบ้านให้ผู้คนและภูเขา ด้วยเสียงแตกพร่าของบทเพลง


#ฮักเจียงใหม่บ่เอาถ่านหิน

#HugChiangmaiNoCoal

โครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย

ย้อนหลังไปในปี 2530 มีบริษัทเอกชนเข้ามาขอซื้อที่ดินในหมู่ 12 บ้านกะเบอะดิน ต.อมก๋อย อ.อมก๋อย จากการบอกเล่า สมาชิกในชุมชนส่วนหนึ่งต้องขายที่ดินให้ไปอย่างไม่เต็มใจ เนื่องจากถูกข่มขู่และถูกยึดที่ดิน

อ่านเพิ่มเติม