“คงจะต้องหยุดสร้างโรงไฟฟ้าฟอสซิล-ลงทุนพลังงานสะอาด” 

นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน กล่าวในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)

คำว่า โรงไฟฟ้าฟอสซิล คือโรงไฟฟ้าถ่านหินและก๊าซฟอสซิลที่กุมอำนาจในการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยมายาวนาน และพลังงานสะอาดในความหมายของรัฐบาลไม่ใช่พลังงานหมุนเวียนที่มาจากแสงอาทิตย์ ลม พืชเกษตร ก๊าซชีวภาพ แต่คือเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง

และโครงการเขื่อนเหล่านี้ยังมาจากกลุ่มทุนอุตสาหกรรมฟอสซิลเดิมเป็นผู้ลงทุนโครงการเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงที่มีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ทั้งโครงการเขื่อนปากแบง เขื่อนปากลาย และเขื่อนหลวงพระบางตามลำดับ ดังนั้นนิยามคำว่าพลังงานสะอาดของนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานกพช.จึงไม่ใช่การลงทุนพลังงานหมุนเวียนอย่างที่เราคาดหวัง

รัฐบาลส่งสัญญาณท้าทายอำนาจกลุ่มทุนก๊าซฟอสซิล = ?

การกล่าวถึงโรงไฟฟ้าฟอสซิลของนายกรัฐมนตรี มีนัยยะสำคัญที่จะต้องพิจารณาคือ กลุ่มทุนก๊าซฟอสซิลที่ครองสัดส่วนสูงสุดในการผลิตไฟฟ้าตลอดมาคือใคร เส้นทางการลงทุนของกลุ่มทุนก๊าซฟอสซิล และภาระความไม่เป็นธรรมทางพลังงาน

ก๊าซฟอสซิลของประเทศไทยมีแหล่งที่มาสำคัญอยู่2แห่ง นั่นคือ การขุดเจาะในอ่าวไทยราวร้อยละ 68 และร้อยละ 32 มาจากการนำเข้าจากต่างประเทศที่เรียกว่า ก๊าซเหลวแอลเอ็นจี LNG Liquefied Natural Gas  ในปี 2565 ที่ผ่านมาภายใต้สัดส่วนดังกล่าวก๊าซฟอสซิลจะถูกจัดสรรไปใช้ในการผลิตไฟฟ้าราวร้อยละ 59 การผลิตปิโตรเคมีคอลของพลาสติกร้อยละ 19 การผลิตของภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 19 และอีกร้อยละ 3 สำหรับยานยนต์ Natural Gas for Vehicles ตามลำดับ ทั้งนี้ก๊าซฟอสซิลที่ได้มาจากการขุดเจาะในอ่าวไทยซึ่งมีราคาถูกกว่าการนำเข้าLNG จากต่างประเทศจะถูกขายป้อนให้กับอุตสาหกรรมการผลิตปิโตรเคมีคอลของพลาสติกเป็นลำดับแรก

จากข้อมูลสถิติของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงานเปิดเผยว่า ปี 2565 ประเทศไทยมีการนำเข้า LNG อยู่ที่ 942 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน (MMSCFD: million standard cubic feet per day) หรือเทียบเท่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นราว 7 เท่าเมื่อปี 2555  และการนำเข้าดังกล่าวจะนำไปป้อนโรงไฟฟ้าก๊าซฟอสซิลเป็นหลักทั้งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน 

แม้ว่าในปี 2565 การผลิตไฟฟ้าของเราจะล้นในระบบต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2544  และปัจจุบันกำลังสำรองไฟฟ้าอยู่ที่กว่าร้อยละ 50 และกำลังผลิตไฟฟ้ายังล้นทะลุเกินกว่า 10,000 เมกะวัตต์ก็ตาม แต่การนำเข้า LNG เพื่ออ้างมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าก็ยังคงเกิดขึ้นตลอดประชาชนก็จะต้องเป็นผู้จ่ายภาระการนำเข้า LNG ที่ใช้กับโรงไฟฟ้าก๊าซเข้าระบบแม้จะไม่มีการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าก็ตาม

เพราะราคานำเข้า LNG ที่นำมาใช้กับโรงไฟฟ้าก๊าซจะถูกคำนวณรวมอยู่ในค่าไฟฟ้าของประชาชนภายใต้สัญญาที่มีค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้า (Availability Payment)’ หรือ ภายใต้เงื่อนไขแบบ “Take or pay “ ที่แม้โรงไฟฟ้าเหล่านั้นจะไม่ได้ผลิตไฟฟ้าเข้าระบบก็ตาม 

อย่างเช่น ในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2564 มีโรงไฟฟ้าฟอสซิลก๊าซอย่างน้อย 8 แห่งที่แทบไม่ได้ดำเนินการผลิตไฟฟ้าเลย ได้แก่ 

1. บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด หรือ GPSC 

2. บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด หรือ RATCH 

3. บริษัท โกลว์ ไอพีพี จำกัด หรือ GLOW IPP

4. บริษัท กัลฟ์ เพาเวอร์ จำกัด หรือ GULF-GPG 

5. บริษัท ราชบุรีเพาเวอร์ จำกัด หรือ RPCL 

6. บริษัท กัลฟ์ เจพี หนองแซง จำกัด หรือ GULF JP NS 

7. บริษัท กัลฟ์ เจพี อุทัย จำกัด หรือ GULF JP UT และ

8. บริษัท กัลฟ์ เอสอาร์ซี จำกัด หรือ Gulf SRC 

จากการแบกภาระค่าไฟฟ้าของประชาชนภายใต้สัญญาแบบ “ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย” ของโรงไฟฟ้าก๊าซฟอสซิลที่แทบไม่ได้ผลิต และมีการกล่าวอ้างว่าเพื่อความมั่นคงทางพลังงาน จึงเกิดคำถามที่ตามมาคือ

กลุ่มทุนก๊าซฟอสซิลยังเดินหน้านำเข้า LNG มาผลิตไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงทางพลังงานของใคร?

ข้อมูลกรมธุรกิจพลังงานระบุชัดเจนว่า ประเทศไทยนำเข้า LNG ตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน และนำเข้าถัวเฉลี่ยจากทั้งหมด 28 ประเทศ และจากรายงานในปี 2564 ระบุว่าในช่วงปี 2560-2564 ประเทศไทยนำเข้าจากประเทศกาตาร์มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง มูลค่าราว 170,732 ล้านบาท ตามมาด้วยออสเตรเลียราว 63,508 ล้านบาท และ มาเลเซีย 56,688 ล้านบาท ซึ่งการนำเข้า LNGเพื่อผลิตไฟฟ้านั้นเงินเหล่านี้จะถูกนำมาคิดอยู่ในบิลค่าไฟฟ้าของเรานั่นเอง

และในปี 2565 จากรายงานของ Financing a Fossil Future: Tracing the Money Pipeline of Fossil Gas in SEA ชี้ให้เห็นชัดว่า กลุ่มทุนก๊าซฟอสซิลของไทยติดท้อปของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยังคงจะเดินหน้านำเข้า LNG และลงทุนอุตสาหกรรมก๊าซทั้งโรงไฟฟ้าและท่าเรือ LNG ในระยะยาว (ตามภาพด้านล่าง) หากเรามองที่ศักยภาพของโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซฟอสซิลจะพบว่า ไทยมีโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซอีกราว 13,520 เมกะวัตต์ ติดอันดับ 3 ของการขยายโครงการโรงไฟฟ้าฟอสซิลก๊าซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองจากเวียดนามและฟิลิปปินส์ ในขณะเดียวกันไทยมีท่าเรือศูนย์กลางการนำเข้า LNG ที่เป็นโครงการที่ใหญ่ที่สุดอยู่ที่ท่าเรือนำเข้า LNG มาบตาพุดภายใต้การลงทุนของบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัดและบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งบริษัททั้งสองแห่งนี้ถือเป็นกลุ่มทุนฟอสซิลก๊าซที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆของภูมิภาคแห่งนี้  ในขณะที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย   (กฟผ.) และบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ติดอันดับ 1 และ2 ที่มีการลงทุนโรงไฟฟ้าฟอสซิลก๊าซที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

จากภาพด้านล่างชี้ให้เห็นว่า บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัดและบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ติดอันดับ 1 และ 2 จากการจัดอันดับตามศักยภาพการลงทุนท่าเรือนำเข้า LNG ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ล้านตัน) 

กัลฟ์ได้ลงทุนก่อสร้างแล้ว 7.5 ล้านตัน และมีโครงการลงทุนท่าเรือนำเข้า LNG อีกราว 11.24 ล้านตัน ในขณะที่ปตท.มีโครงการลงทุนท่าเรือนำเข้า LNG อีกราว 14.56 ล้านตัน

ภาพจากรายงาน Financing a Fossil Future – Tracing the Money Pipeline of Fossil Gas in Southeast Asia

นอกจากนี้ประเทศไทยยังติดอันดับ 1 จากการจัดอันดับการลงทุนท่าเรือนำเข้าLNG ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ล้านตัน) ซึ่งได้มีการก่อสร้างเรียบร้อยแล้วจำนวน 7.5 ล้านตันและกำลังดำเนินโครงการท่าเรือ LNG อีก 32.8 ล้านตัน  ตามมาด้วยฟิลิปปินส์และเวียดนาม

ภาพจากรายงาน Financing a Fossil Future – Tracing the Money Pipeline of Fossil Gas in Southeast Asia

และที่ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงปี 2563-2565 สถาบันการเงินของประเทศไทยติดอันดับต้นของการให้เงินทุนสนับสนุนอุตสาหกรรมฟอสซิลก๊าซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารยูโอบี รวมกันมูลค่ากว่า 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราวกว่า 5 แสนล้านบาท 

ภาพจากรายงาน Financing a Fossil Future – Tracing the Money Pipeline of Fossil Gas in Southeast Asia

ยิ่งนำเข้า LNG ยิ่งเดินหน้าอนุมัติโรงไฟฟ้าก๊าซฟอสซิล ค่าไฟฟ้าก็จะยิ่งพุ่ง?

ค่าไฟฟ้าของเราจะไม่มีวันหวนกลับ และค่าไฟต้องแฟร์ยังคงห่างไกลความจริงอีกมาก หากรัฐบาลยังไม่สามารถแก้ปัญหาการผูกขาดโครงสร้างไฟฟ้าของกลุ่มทุนก๊าซฟอสซิลได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยังคงปล่อยให้มีการนำเข้าLNG มาใช้ในการผลิตไฟฟ้า การอนุมัติโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซแห่งใหม่และการเดินหน้าโครงการท่าเรือนำเข้าLNG ที่จะขยายเพิ่มในเขตพื้นที่อุตสาหกรรมมาบตาพุด อีกทั้งความพยายามที่จะเดินหน้าโครงการดังกล่าวในพื้นที่จังหวัดสงขลาและสุราษฎร์ธานี เป็นต้น การนำเข้าLNG ที่เกินความจำเป็นเหล่านี้คือกำไรระยะยาวของกลุ่มทุนกีาซฟอสซิล แต่มันคือภาระค่าไฟฟ้าของเราตลอดชีพนั่นเอง

สถานะจนถึงปัจจุบัน จากข้อมูลที่ปรากฎตามข่าวเราเป็นหนี้ค่าไฟฟ้าอยู่ที่หนี้ 95,777 ล้านบาท1.1 แสนล้านบาท โดยรัฐบาลยังไม่มีการแจกแจงรายละเอียดภาระหนี้ดังกล่าวว่าเกิดการสะสมมาจากการบริหารจัดการพลังงานที่ผิดพลาดของรัฐบาลที่ผ่านๆมาอย่างไร ภาระหนี้หลักหมื่นล้านหรือแสนล้านเหล่านี้แท้จริงแล้วไม่ใช่หนี้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แต่สิ่งเหล่านี้คือหนี้ของเราที่จะต้องจ่ายให้กับการบริหารพลังงานที่สะสมความผิดพลาดมายาวนาน ไม่ใช่หนี้กฟผ. แต่มันคือหนี้ที่ประชาชนต้องแบกรับ

นอกจากหนี้เดิมแล้วที่กล่าวข้างต้นแล้ว การลงนามสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ ทั้งจากโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซฟอสซิลที่กำลังจ่อเข้าระบบ และการเดินหน้าเขื่อนลุ่มน้ำโขงจะก่อให้เกิดภาระหนี้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของประเทศจะพบว่า กลุ่มทุนฟอสซิลคือผู้กุมผลประโยชน์สูงสุดจากสัดส่วนการพึ่งพาฟอสซิล ทั้งก๊าซและถ่านหินมากกว่าร้อยละ 70 ดังนั้นการจ่ายค่าไฟฟ้าของเราจะไปทำกำไรให้กับกลุ่มทุนฟอสซิลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และก่อความไม่เป็นธรรมทางพลังงานระยะยาว

ความกล้าของนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานบอร์ดพลังงานแห่งชาติคือคำตอบว่า ประชาธิปไตยทางพลังงานและการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานที่เป็นธรรมจะเกิดขึ้นในรัฐบาลชุดนี้หรือไม่

ข้อแรก คือ กล้าประกาศปลดระวางถ่านหิน ประเทศไทยสามารถเลิกใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าและเลิกนำเข้าไฟฟ้าที่ผลิตจากถ่านหินได้อย่างเร็วที่สุด ภายในปี 2570 หรืออย่างช้าที่สุดภายในปี 2580 ซึ่งลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ 129 และ 239 ล้านตันตามลำดับ

ข้อสอง คือ กล้าหยุดลงนามสัญญารับซื้อไฟฟ้า (PPA) จากโครงการขนาดใหญ่แห่งใหม่ทุกโครงการ ทั้งโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ โรงไฟฟ้าพลังนํ้าขนาดใหญ่จากประเทศเพื่อนบ้านและโรงไฟฟ้าถ่านหิน จนกว่าไฟฟ้าสำรองจะลดลงสู่มาตรฐาน

และข้อสุดท้ายคือ กล้าประกาศนโยบาย Net-metering หรือ ระบบหักลบหน่วยไฟฟ้า และราคาขายต้องใกล้เคียงหรือเท่ากับราคาที่การไฟฟ้าขายไฟ เพื่อกระตุ้นให้ภาคครัวเรือนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (solar rooftop) ใช้เองและขายในส่วนที่เหลือเข้าสู่ระบบสายส่ง การกระจายศูนย์พลังงานดังกล่าวจะทำให้เกิดการปลดแอคจากฟอสซิลและสร้างประชาธิปไตยทางพลังงานหากนายกรัฐมนตรีต้องการที่จะหยุดโรงไฟฟ้าฟอสซิลจริง