หลังจากรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ได้แถลงนโยบายด้านการประมงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11-12 กันยายน 2566 เพื่อพลิกฟื้นอุตสาหกรรมประมงไทยให้เป็นรายได้สำคัญของประเทศด้วยการแก้ไขและปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมายเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน โดยรัฐบาลเศรษฐาได้จัดตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการประมงทะเล และผลักดันความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) ไทย – สหภาพยุโรป

เครือข่ายภาคประชาสังคมนำโดยเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group) มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (Human Rights and Development Foundation: HRDF) Environmental Justice Foundation (EJF) และ Solidarity Center จึงได้จัดเสวนาหัวข้อ “ทิศทางประมงไทยในบริบทการค้าระหว่างเทศ” เพื่อทบทวนนโยบายประมงที่ผ่านมาและแสดงความคิดเห็นไปถึงรัฐบาลเศรษฐาถึงกฎหมายประมงฉบับใหม่ที่กำลังมีการพิจารณาแก้ไขกันอยู่

ในปี 2558 สหภาพยุโรปออกใบเหลืองเพื่อเตือนไทยว่ายังไม่มีมาตรการที่เพียงพอในการป้องกันและขจัดปัญหาการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม หรือที่เรียกว่ามาตรฐาน IUU (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing: IUU) จนเกิดการละเมิดสิทธิแรงงาน การใช้แรงงานเด็ก และการทำประมงแบบทำลายล้าง หากไทยไม่แก้ไขปัญหา สหภาพยุโรปอาจห้ามนำเข้าสินค้าประมงจากไทย รัฐบาลประยุทธ์ที่มีอำนาจในขณะนั้นจึงมีมาตรการแก้ไขโดยการออก พ.ร.ก.ประมง พ.ศ. 2558 และการใช้กฎหมายมาตรา 44 จัดระเบียบการทำประมงอย่างเคร่งครัด จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์จากสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยว่าการแก้ไขดังกล่าวทำให้ไทยเสียผลประโยชน์

ทว่าข้อมูลเชิงสถิติจาก EJF เผยให้เห็นว่า ผลจากการแก้ไขกฎหมายประมงทำให้ปริมาณการจับสัตว์น้ำต่อหน่วยการลงแรงประมง (Catch per unit of effort: CPUE) ในทะเลอันดามันเพิ่มสูงขึ้นจาก 11 กก./ชม. เป็น 20 กก./ชม. ส่วนอ่าวไทยเพิ่มจาก 33 กก./ชม. เป็น 45 กก./ชม. ระหว่างปี 2560 และ 2563 เนื่องจากทะเลมีการฟื้นฟู การทำประมงตามมาตรฐาน IUU ไม่ได้ทำให้ไทยเสียประโยชน์ แต่ค่อย ๆ เพิ่มผลประโยชน์ให้ชาวประมงมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป

สิทธิแรงงานประมงที่อาจ ‘หายไป’ จากกฎหมายประมงฉบับใหม่

ประเด็นสิทธิแรงงานโดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติที่เป็นแรงงานหลักในอุตสาหกรรมประมง เป็นเรื่องที่เครือข่ายภาคประชาสังคมให้ความสนใจ เพราะในร่าง พ.ร.บ. การประมงฉบับใหม่มีแนวโน้มลดทอนสิทธิของแรงงานเหล่านี้ เช่น การยกเลิกการจ่ายเงินเดือนให้แรงงานประมงผ่านบัญชีธนาคาร ซึ่งเป็นมาตรการในการตรวจสอบการจ่ายค่าแรงที่มีหลักฐานชัดเจน รวมถึงการยกเลิกการควบคุมการขนถ่ายสัตว์น้ำที่จับได้ทางทะเล และการขยายเวลาในการออกเรือประมงซึ่งปัจจุบันกำหนดให้ครั้งละไม่เกิน 30 วัน

ชาวประมงพื้นบ้านในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กำลังทำประมงยั่งยืนเพื่อปกป้องระบบนิเวศ
© Biel Calderon / Greenpeace

นอกจากนี้ มีความพยายามปรับอายุให้เด็กต่ำกว่า 18 ปี ทำงานบนเรือประมงได้ ภาคประชาสังคมจึงกังวลว่าอาจมีการใช้แรงงานเด็กและการค้ามนุษย์ในกิจการประมงอีก โดยในกฎหมายปัจจุบันได้ระบุชัดเจนว่าไม่อนุญาตให้จ้างงานแรงงานที่อายุของแรงงานต่ำกว่า 18 ปี แต่กฎหมายใหม่พยายามแก้ไขให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี สามารถทำงานในกิจการประมงในลักษณะของการฝึกงานได้ ทั้งนี้ มงคล เจริญสุขคณา นายกสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ระบุว่า “เราควรคำนึงถึงบริบทและวัฒนธรรมชาวประมงไทย ลูกหลานชาวประมงหลายคนก็ฝึกเป็นไต๋เรือตั้งแต่อายุ 14-15 ปี ซึ่งข้อบังคับระหว่างประเทศอาจไม่สอดคล้องกับบริบทของไทย” พร้อมยืนยันว่าข้อกำหนดอายุที่ต่ำกว่า 18 ปี จะต้องเป็นลูกหลานชาวประมงเท่านั้นเพื่อให้มีการสืบต่ออาชีพ

การจัดตั้งสหภาพแรงงานและเสรีภาพในการรวมกลุ่มของแรงงานข้ามชาติก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่เครือข่ายแรงงานกังวล เนื่องจากแรงงานข้ามชาติยังเข้าไม่ถึงสิทธิประกันสังคมและไม่สามารถจัดตั้งสหภาพได้ ทั้งนี้ นายกสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยมองว่า การจัดตั้งสหภาพเป็นนโยบายระดับประเทศ สมาคมประมงไม่สามารถตั้งสหภาพเองได้ แต่ได้เสนอให้นำแรงงานมานั่งพูดคุยกรณีที่มีข้อร้องเรียน นอกจากนี้  ดร. ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทยเปิดเผยว่า ตนเชื่อว่าไทยมีมาตรการปกป้องแรงงานข้ามชาติดีพอสมควร แม้ไม่มีสหภาพแต่สามารถจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการ พร้อมเสนอให้ภาคประชาสังคมช่วยเหลือโดยการให้คำแนะนำแก่แรงงาน

ประมงพื้นบ้านและสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากร

ความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากร เช่น ระบบโควตาที่ใช้ในการจับสัตว์น้ำที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างประมงพาณิชย์กับประมงพื้นบ้าน ความล่าช้าในการจดทะเบียนเรือประมงพื้นบ้าน และการกำหนดให้ประมงพื้นบ้านทำประมงได้ไม่เกิน 3 ไมล์ทะเลจากแนวชายฝั่ง จนทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับประมงพาณิชย์ และโอกาสในการประกอบอาชีพที่ไม่เป็นธรรม เป็นประเด็นที่ ปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ยกขึ้นมาพูดคุย


ชุมชนคั่นกระได หนึ่งในชุมชนที่มีความเข้มแข็งด้านการอนุรักษ์ท้องทะเล มีข้อตกลงร่วมกันในชุมชน ให้ชาวประมงในพื้นที่ใช้เครื่องมือจับสัตว์น้ำแบบไม่ทำลายล้าง และวางบ้านปลาเป็นพื้นที่เขตอนุรักษ์เพื่อสร้างแหล่งที่อยู่อาศัยให้กับสัตว์น้ำวัยอ่อน © จันทร์กลาง กันทอง / Greenpeace

“ประมงพื้นบ้านไม่ใช่ประมงอนาถา ไม่ใช่ประมงยากจน แต่เราจนเพราะการบริหารจัดการทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม” ปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย กล่าว

ข้อเรียกร้องของประมงพื้นบ้านต่อที่ประชุม คือ การเรียกร้องให้พิจารณาทะเลเป็นพื้นที่สาธารณะที่ต้องใช้กฎกติกาที่เป็นธรรมเท่าเทียม มีกฎหมายที่เปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของแรงงานประมง 

นอกจากนี้ สมาคมสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านยังเรียกร้องให้คำนึงถึงความมั่นคงทางอาหาร เพราะอาหารทะเลคือแหล่งโปรตีนที่สำคัญ และเรียกร้องให้ชาวประมงไม่ทำประมงแบบทำลายล้างเพื่อส่งต่อทรัพยากรเหล่านี้ให้แก่คนรุ่นหลัง

ทำไมประมงไทยต้องปฏิบัติตามมาตรฐานระหว่างประเทศ

ดร. จารุประภา รักพงษ์ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า การค้าขายระหว่างประเทศ สุดท้ายแล้วไทยต้องตามใจลูกค้า ซึ่งลูกค้ารายใหญ่ของไทยขณะนี้คือยุโรป ไทยจึงต้องทำตามมาตรฐาน IUU แม้ว่าไทยจะเปลี่ยนไปแข่งขันด้านราคาและปริมาณ แต่สุดท้ายก็มีคู่แข่งที่แซงหน้าไทยไปแล้วอยู่ดี เช่น เวียดนาม การประมงไทยจึงควรตั้งคำถามว่าทำไมเราไม่ไปแข่งขันเรื่องสัตยาบันที่รัฐไทยรับรองไว้แล้วและเน้นขายความยั่งยืนของประมงและทะเล

แม้การแก้ปัญหาประมงในรัฐบาลประยุทธ์อาจลืมมิติของประมงพื้นบ้าน เนื่องจากในขณะนั้นไทยต้องรีบแก้กฎหมายให้เสร็จโดยเร็วเพื่อให้กระทบอุตสาหกรรมประมงน้อยที่สุด ดร. จารุประภายอมรับว่าสิ่งนี้เป็นปัญหาของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบนิติสัมพันธ์ สิ่งที่รัฐบาลเศรษฐาสามารถทำได้คือการช่วยเหลือประมงพื้นบ้านเพื่อไม่ให้ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เช่น การติด  VMS (Vessel Monitoring System) ให้เรือประมงพื้นบ้าน เพื่อให้ประมงพื้นบ้านมีการรายงานความแม่นยำตามมาตรฐาน IUU และสามารถค้าขายกับยุโรปได้

ความมั่นคงทางอาหาร ข้อกังวลที่เห็นตรงกันในยุคภาวะโลกเดือด

อย่างไรก็ดี ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าการประมงควรมุ่งสู่แนวทางการประมงยั่งยืนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลอีกแล้ว โดยเฉพาะการไม่จับสัตว์น้ำวัยอ่อนและไม่ทำลายปะการัง เนื่องจากทะเลและมหาสมุทรเป็นที่ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทยได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยสนับสนุนเรื่องประมงยั่งยืนและการพัฒนาศักยภาพชาวประมงพื้นบ้าน เพราะประมงเป็นอาชีพที่ได้สามารถปกป้องทะเลและมหาสมุทรได้โดยตรง

“ถ้าทรัพยากรทะเลในอ่าวไทยดีขึ้น ทั้งประมงพาณิชย์และประมงพื้นบ้านจะได้เข้าถึงทรัพยากรอย่างเป็นธรรม” นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทยกล่าว


ชุมชนคั่นกระได หนึ่งในชุมชนที่มีความเข้มแข็งด้านการอนุรักษ์ท้องทะเล มีข้อตกลงร่วมกันในชุมชน ให้ชาวประมงในพื้นที่ใช้เครื่องมือจับสัตว์น้ำแบบไม่ทำลายล้าง และวางบ้านปลาเป็นพื้นที่เขตอนุรักษ์เพื่อสร้างแหล่งที่อยู่อาศัยให้กับสัตว์น้ำวัยอ่อน © จันทร์กลาง กันทอง / Greenpeace

“ในอีก 20 ข้างหน้า ทะเลอาจถูกแทนที่ด้วยขยะพลาสติก และอาหารทะเลอาจหมดไป การบริหารจัดการประมงจึงเป็นเรื่องของคนทั้งโลก และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายควรร่วมกันแก้ปัญหาเพื่อให้มีการบริหารจัดการประมงที่โปร่งใสและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ดร. จารุประภา กล่าวทิ้งท้าย