ปี 2566 ที่ผ่านมา มีความท้าทายและมีบันทึกสถิติใหม่ว่าด้วยวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ทั้งอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีมานับจากช่วงก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อ 200 ปีก่อน ความสุดขั้วของสภาพอากาศที่ถี่ขึ้น เร่งเร้าขึ้น และรุนแรงขึ้นซึ่งบั่นทอนการพัฒนามนุษย์และก่อความเหลื่อมล้ำทางสังคมมากขึ้น 

ผลการเจรจาด้านสภาพภูมิอากาศโลก(COP28)ที่นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ ที่ผ่านมา อาจเป็นความหวังที่จะ “ถอยห่างจากเชื้อเพลิงฟอสซิล” [1] ในขณะที่หลายฝ่ายมองว่าความตกลงที่ดูไบแท้ที่จริงแล้วคือ “น้ำผึ้งอาบยาพิษ” [2]  สิ่งที่ตกลงกันคล้ายๆ กับจะช่วยจัดการกับความท้าทายหลัก 

On day 13 of COP 28 a protest takes place in Dubai

แต่มีสิ่งที่แอบแฝงซ่อนเร้นซึ่งบั่นทอนความมุ่งมั่นของปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศ

วิกฤตสภาพภูมิอากาศปี 2567 นี้มาถึงพร้อมกับโจทย์ใหญ่และเรื่องราวที่ต้องจับตาดังนี้

อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเพิ่มขึ้น ความปั่นป่วนทางสังคมมากขึ้น

ความเชื่อมโยงระหว่างอุณหภูมิอากาศที่ร้อนขึ้นและความปั่นป่วนทางสังคมยิ่งชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ความปั่นป่วนแต่ละครั้งมีสาเหตุเฉพาะ แต่อุณหภูมิที่พุ่งสูงขึ้น ราคาอาหารที่สูงขึ้น และการลดงบประมาณของรัฐบาลเป็นเงื่อนไขหลัก 3 ประการ ที่ขยายความปั่นป่วนนี้เป็นประวัติการณ์ในปี 2566 ผ่านมา

การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science โดย Marshall Burke จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และ Solomon Hsiang และ Edward Miguel จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ชี้ให้เห็นว่า อุณหภูมิในฤดูร้อนที่เพิ่มสูงขึ้นเพียง 1 ส่วนของส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน(standard deviation) ของค่าเฉลี่ยระยะยาวของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกทําให้ความขัดแย้งทางสังคมมีความถี่เพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 15 [3] 

ประชาชนหลายพันคนในรัฐ Alagoas ประเทศบราซิลต้องอพยพออกจากบ้านเรือนหลังจากเกิดฝนตกหนักจนน้ำท่วมฉับพลัน © Edvan Ferreira / Alagoas Agency

เราต้องจับตาดูว่าวิกฤตสภาพภูมิอากาศในปี 2567 จะสร้างความโกลาหลต่อสังคมโลกให้มากน้อยเพียงใด

คดีสภาพภูมิอากาศ(Climate Litigation) จะมุ่งไปที่การปลดระวางเชื้อเพลิงฟอสซิล

คาดกันว่าในปี 2567 จะมีคดีสภาพภูมิอากาศแบบใหม่เพื่อยกเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล จากการที่วิกฤตสภาพภูมิอากาศก่อความสูญเสียและเสียหาย(Loss and Damage) [4] เป็นหายนะที่ไม่อาจย้อนคืนได้ และฉันทามติทางวิทยาศาสตร์ตอกย้ำความเชื่อมโยงระหว่างการปล่อยเชื้อเพลิงฟอสซิลและวิกฤตสภาพภูมิอากาศ พร้อมกับการที่มีแรงผลักดันที่เพิ่มขึ้นเพื่อให้ยักษ์ใหญ่ฟอสซิลต้องมีภาระรับผิด

นั่นหมายถึงว่า คดีสภาพภูมิอากาศจะไม่เพียงแต่มุ่งไปที่ประเด็นความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยา แต่จะรวมถึงวิกฤตสุขภาพของมนุษย์ และความมั่นคงทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการขุดเจาะ แปรรูป และเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลอีกด้วย

คดีสภาพภูมิอากาศเป็นแนวทางหนึ่งเพื่อบรรลุความเป็นธรรมด้านสภาพอากาศมากขึ้น และเริ่มจากการปลดระวางเชื้อเพลิงฟอสซิล [5] อย่างรวดเร็วและเท่าเทียมกัน โดยกลุ่มประเทศที่ร่ำรวยซึ่งมีความรับผิดชอบทางประวัติศาสตร์ต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

Aftermath of Severe Rainfall in São Sebastião, Brazil. © Diego Baravelli / Greenpeace
เรากำลังเผชิญกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้ว

สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์เตือนเรามาในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาก็คือ พวกเรากำลังเผชิญกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้ว

อ่านบทความ

จับตาการฟอกเขียวที่แยบยลขึ้น

จากกระแสตื่นตัวต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศโลก กลุ่มผู้บริโภคจึงสนใจมากขึ้นในการสนับสนุนธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับแรงกดดันจากนักลงทุนทางการเงินที่มีส่วนผลักดันให้ธุรกิจมีจุดยืนที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ ขณะเดียวกัน กระแสรักษ์โลกมาพร้อมกับการฟอกเขียวโดยบรรษัท(Corporate Greenwashing)ที่แยบยลขึ้น

ในวันที่ 17 มกราคม 2567 รัฐสภายุโรปผ่านกฎหมายใหม่ที่มุ่งควบคุมการฟอกเขียวโดยบรรษัท และเพิ่มขีดความสามารถของผู้บริโภคในการเปลี่ยนผ่านที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม(The Directive on Empowering Consumers for the Green Transition) [6] กฎหมายนี้ห้ามการแอบอ้างที่เกินจริงเกี่ยวกับ “การเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” รวมถึง “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” แบบปลอมๆ

การประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฎิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทยครั้งที่ 2. © Greenpeace
นักกิจกรรมกรีนพีซ ประเทศไทยฉายโปรเจคเตอร์ “หยุดใช้ผืนป่าแลกคาร์บอน Real Zero Not Net Zero” ส่งสารถึงนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน และคณะรัฐบาลไทยในพิธีเปิดการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฎิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทยครั้งที่ 2 (2nd Thailand Climate Action Conference) กรีนพีซ ประเทศไทย เรียกร้องให้รัฐบาลไทยทบทวนกรอบท่าทีเจรจาในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 28 (COP28) โดยเห็นว่านโยบายสภาพภูมิอากาศของไทยยังคงขาดสมดุล มุ่งเน้นมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (mitigation) เป็นหลัก ให้ความสำคัญกับการรับมือปรับตัวจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ (adaptation) น้อยมาก และแทบไม่พูดถึงความสูญเสียและความเสียหาย(loss and damage) และเปิดช่องให้มีการฟอกเขียว (greenwashing) มากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการชดเชยคาร์บอนภาคป่าไม้ (forest carbon offset)
© Greenpeace

แม้ว่ากฎหมายดังกล่าวเจาะจงไปที่ภาคธุรกิจที่มีสถานะทางการตลาดในสหภาพยุโรป แต่ถือเป็นคําเตือนต่อธุรกิจทั่วโลกถึงความเสี่ยงและภาระรับผิดทางกฎหมายที่อาจเกิดขึ้นจากการเปิดโปงการฟอกเขียว (Greenwashing) โดยสาธารณะชน


อ้างอิง

[1] https://news.un.org/en/story/2023/12/1144742

[2] https://www.etcgroup.org/content/cop-28-sugar-coated-poison-pill-0

[3] ในช่วง 8 สัปดาห์นับจากเดือนมิถุนายน 2566 อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกกระโดดขึ้นเป็น 4-6 ส่วนของค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกที่บันทึกไว้ตั้งแต่ปี 2523 ถึง 2543 การคาดการณ์จากการคำนวณชี้ให้เห็นว่าอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกที่บันทึกในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคมอาจเพิ่มความเสี่ยงและความขัดแย้งทางสังคมที่รุนแรงมากขึ้น https://www.economist.com/finance-and-economics/2023/07/27/soaring-temperatures-and-food-prices-threaten-violent-unrest 

[4] https://blog.ucsusa.org/delta-merner/sciences-role-in-addressing-loss-and-damage-from-climate-change/

[5] https://www.ucsusa.org/ucs-fossil-fuel-phaseout 

[6] https://www.europarl.europa.eu/meetdocs/2014_2019/plmrep/COMMITTEES/IMCO/AG/2023/11-28/1289669EN.pdf