ปัญหาหมอกควันพิษภาคเหนือตอนบนที่เกิดขึ้นมาซ้ำแล้วซ้ำอีกมายาวนานกว่า 10 ปี หลายวันที่ผ่านมาในสัปดาห์นี้ เราได้เห็นว่าเชียงใหม่ติดอันดับหนึ่งของเมืองที่มีมลพิษ PM 2.5 สูงสุดในโลกในช่วงเวลาหนึ่ง ติดต่อกันทั้งสัปดาห์ ตามเกณฑ์ดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ของ USEPA บนแอปพลิเคชัน AirVisual

Open Burning in Saraburi Province. © Jorge Lareau / Greenpeace

วิกฤตมลพิษทางอากาศที่ภาคเหนือนั้นดูจะเป็นปัญหาเรื้อรังและท้าทายแผนการจัดการที่เคยมีอยู่ของภาครัฐ และขณะนี้ผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษก็กำลังเพิ่มขึ้น  แต่ละปีก็ดูแล้วมีแต่จะทวีความรุนแรงขึ้น แล้วคนภาคเหนือจะต้องเสี่ยงชีวิตกับ PM2.5 ทุกต้นปีอย่างนี้ไปอีกนานเพียงใด

ภาพจากเว็บไซต์ Air Visual แสดงลำดับเมืองที่มีคุณภาพอากาศเลวร้ายที่สุดในโลก

ในช่วงวันที่ฝุ่นละอองขนาดเล็กหนาจนบดบังดอยสุเทพ หรือแม้แต่ดอยอินทนนท์ เราได้ชวนคนพื้นที่สองท่านมาร่วมออกความเห็นถึงสถานการณ์ปัญหา สาเหตุ และอะไรคือทางออกนอกเหนือจากการรอฟ้ารอฝน

“ปัญหาหมอกควัน พอฝนตกลงมาก็อาจจะหายไป เราก็จะลืมกันไป แต่ที่จริงแล้วมันมากกว่านั้น” คุณนิคม พุทธา ประธานกลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำแม่ปิงตอนบน กล่าว

คุณนิคม เป็นผู้ที่คอยเฝ้าระวังเฝ้าดูแลดอยหลวงเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับชุมชน เราอาจจะรู้จักกันว่าดอยหลวงเชียงดาวเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมในฤดูหนาว มีธรรมชาติที่สมบูรณ์ เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า แต่ในช่วงต้นปีของทุกปี เชียงดาวเองก็เผชิญกับไฟป่าที่เกิดจากการเผาของฝีมือมนุษย์เช่นกัน แม้จะมีการเฝ้าระวัง และทำงานร่วมกันกับเจ้าหน้าที่และชุมชน แต่อุปสรรคนั้นมีหลายอย่าง

“พื้นที่ป่าของเชียงใหม่ โดยเฉพาะพื้นที่ระดับความสูง 500 – 1,000 เมตร นั้นเป็นป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง ในช่วงแล้งจะเกิดไฟลุกลามได้รวดเร็ว ดับไม่ได้เพราะเป็นพื้นที่ลาดชัน รถยนต์ที่จะเข้าถึงได้ต้องเป็นโฟว์วีล มอเตอร์ไซค์แม้จะไปได้ แต่ก็ไปได้คนน้อย ขนอุปกรณ์ดับไฟป่าไปไม่ได้ เราไม่รู้แน่ชัดว่าใครเป็นคนเผาป่า แต่บริวเวณดอยนางมีการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ปลูกข้าวโพด เห็นร่องรอยการเผาชัดเจน สิ่งที่เราทำได้คือ แค่เฝ้าระวังทิศทางของไฟ ระงับเหตุดับไฟ และสามทำแนวกันไฟ” คุณนิคม อธิบาย

GISTNORTH ได้เผยภาพภาพถ่ายดาวเทียมจาก NASA ณ วันที่ 11 มีนาคม 2562 เวลาท้องถิ่นประมาณ 13.11 น. (06.11 UTC) ภาพจากการประมวลผลแบบใกล้เวลาจริง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ที่รุนแรงของหมอกควันพิษในภาคเหนือตอนบน ปกคลุมอย่างหนาแน่นในพื้นที่เกือบทั้ง 8 จังหวัด

คุณนิคมเล่าว่า ที่มาของการเผาในบริเวณเชียงดาวมาจาก 3 สาเหตุหลัก คือ ไร่ข้าวโพด กลุ่มคนเลี้ยงสัตว์ และการเก็บหาของป่า ซึ่งอาจะมีพื้นฐานจากความเชื่อว่าการเผาทำให้หญ้าระบัด (หญ้าเกิดใหม่) และมีใบไม้ผลิหลังไฟไหม้ เช่น ผักหวาน “เมื่อเกิดไฟ เราได้เห็นพลังของการร่วมมือของชุมชน อาสาสมัคร และเจ้าหน้าที่ป่าไม้อุทยาน” คุณนิคมกล่าว

วันที่เราพูดคุยกับคุณนิคมก็เป็นอีกวันที่คุณนิคมขึ้นป่าไปเดินตรวจตาจุดเผาและแนวกันไฟบนดอย แต่เมื่อกลับมาในบริเวณตีนดอย ก็กลับพบว่าไฟไหม้ใกล้บริเวณกับบ้านของตน ความรู้สึกในใจของคุณนิคมไม่ได้โกรธเกลียดคนเผา แต่มีเพียงคำถามว่า ป่าที่เราสูญเสียนั้นเราจะพื้นฟูได้อย่างไร

“นอกจากความเสียหายต่อผืนป่าแล้ว ยังส่งผลต่อระบบนิเวศ ความชื้น ผืนป่าต้นน้ำ หลังจากไฟไหม้ไปแล้ว หมอกควันก็กระทบต่อสุขภาพ และอาจจะลุกลามไปสู่ความขัดแย้งสังคม ระหว่างเจ้าหน้าที่กับชาวบ้าน และเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง” คุณนิคม เสริม “ช่วงสิบปีที่ผ่านมาเห็นชัดว่ารุนแรงขึ้นเพราะพื้นที่ป่าธรรมชาติมันหดหายไป ในป่าเหลือเป็นหย่อม กระจัดกระจาย เป็นผลจากการกระจายตัวของพืชเชิงเดี่ยวไปในพื้นที่ป่าต้นน้ำ เราอาจจะมีอาหารจากระบบอุตสาหกรรม แต่เราสูญเสียระบบนิเวศไป”

ดับไฟ ดับปัญหาหมอกควัน เป็นไปได้ไหม?

ปัญหาจำนวนมากที่ซุกใต้พรมหมอกควัน ดูเหมือนเราจะเพียงแค่หวังว่าฝนจะตก และป่าจะพื้นฟูกลับมาก สัตว์ที่เสียชีวิตไปก็จะมีการให้กำเนิดใหม่ทดแทน แต่เป็นเช่นนั้นจริงหรือ?

ศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ CMU CCDC: Climate Change Data Center ได้ให้ข้อมูลเตือนภัยกับประชาชน และขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายเพื่อปกป้องสุขภาพของเราในระยะยาวอยู่เสมอ และล่าสุดได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงหัวหน้าพรรคการเมือง ในประเด็นเรื่อง “นโยบายบริหารจัดการกับปัญหาหมอกควันและปัญหาคุณภาพอากาศของส่วนภูมิภาค เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

รศ.ดร.เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล หัวหน้าโครงการวิจัยการติดตามและประเมินภาวะหมอกควันเพื่อการบริหารจัดการ ภายใต้โครงการประเทศไทยไร้หมอกควัน : Haze Free Thailand เครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัยกลุ่มการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการจัดการภัยพิบัติ กล่าวถึงตัวอย่างการจัดการของจังหวัดเชียงรายที่สามารถทำให้จังหวัดตัวเองไม่มี Hotspot หรือจุดเผา ที่จังหวัดอื่นในประเทศน่านำเอาเป็นแบบอย่าง “การจะจัดการได้ควรดำเนินการอย่างผู้ว่าฯเชียงราย เอาปัญหาทุกอย่างมาคุยบนโต๊ะ ว่าต้นตอของปัญหาจังหวัดเราคืออะไร หาของป่า เผาป่า หรือข้าวโพด เมื่อเกิดจุดความร้อน ผู้ว่าฯ เชียงรายจะเรียกผู้ใหญ่บ้านมาปรึกษาหารือกัน หากผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดทำได้เหมือนเชียงราย โดยการควบคุมทำให้ไม่เกิดจุด Hotspot ในพื้นที่ ซึ่งเราจะบอกได้ว่าควันที่เกิดขึ้นมาจากสาเหตุใด”

ในช่วงที่ทิศทางของทุกอย่างกำลังพุ่งความสนใจไปกับการเมือง ปัญหาหมอกควันพิษเองก็ดูจะยิ่งสาหัส รศ.ดร.เศรษฐ์ กล่าวว่า “การแก้ปัญหานี้ต้องการความสนใจมาก ๆ จากรัฐบาล ภารกิจบางส่วนถูกดึงไปเตรียมตัวเลือกตั้ง ภารกิจดับไฟทำไม่ได้เต็มที่ ทุกฝ่ายต่างรอดูเพียงนโยบายใหม่จะเป็นอย่างไร การสั่งงานเป็นอัมพาต หัวเรือใหญ่ไม่สามารถประสานคนในพื้นที่ต่อไปทางผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้บริหารส่วนท้องถิ่นได้ ทำให้การสื่อสารไม่ชัด และจัดการลำบาก จึงทำให้เกิดการสื่อสารไม่ชัดเจนและไม่ต่อเนื่อง ส่งผลให้การจัดการเป็นไปได้ยากลำบาก ดังนั้นในแต่ละพื้นที่จึงต้องดูแลด้วยตัวเอง มีความเข้มแข็ง ป้องกันตนเอง”

คุณนิคม กล่าวเสริมถึงนโยบายระยะยาวที่จะแก้ไขปัญหาไว้ว่า “จะต้องมีการจำกัดพื้นที่ในการปลูกพืชเชิงเดี่ยวออกจากพื้นที่ป่าธรรมชาติ บริเวณพื้นที่สูงชันสุ่มเสี่ยงต่อไฟป่า ควรระบุไว้เลยว่าไม่ควรปลูกพืชเชิงเดี่ยว ถ้าจะทำการเกษตรในพื้นที่ป่าก็ต้องเป็นเกษตรกรรมเชิงนิเวศ เป็นพืชที่เอื้อต่อระบบนิเวศ ควบคุมไฟป่า อาศัยอยู่ร่วมกับป่าอย่างกลมกลืน  พื้นที่ป่า ป่ากันชนจะต้องมีการคิดค้นเรื่องพืชที่หยุดความชื้น หยุดยั้งไฟ เช่น ต้นกล้วย ที่มีความชื้น”

ความเหลื่อมล้ำเป็นอีกปัญหาหนึ่งใต้พรมที่ไม่มีใครอยากพลิกพรมออกมาคุย แต่ซ้ำร้ายที่การกำหนดพรบ.ป่าไม้ พรบ.อุทยานแห่งชาติ กลับทำให้ชุมชนที่ดูแลป่าขาดกำลังใจ และเป็นเรื่องผิดกฎหมายในการปกป้องป่า

“เมื่อพรบ.ประกาศว่าป่าเป็นพื้นที่อนุรักษ์ ห้ามเข้า ความรู้สึกเดิมก็หายไป สร้างความโกรธแค้น จากที่เคยมีการพึ่งพาอาศัยพา ปกป้องป่าด้วยใจ ความรู้สึกเป็นเจ้าของก็หายไป อาจมีการระบายด้วยการเผา หรือเห็นการเผาแล้วเพิกเฉย ควระจะแก้ด้วยการยืดหยุ่นให้ชาวบ้านอยู่ร่วมกันกับป่าได้ เป็นสมบัติร่วมกัน (Common property) ทำให้ชาวบ้านมีผืนป่าเป็นของตนเอง และดูแลรักษาร่วมกันกับเจ้าหน้าที่ ไม่ใช่การกีกกันชุมชน” คุณนิคมเผย “ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงภายในใจให้เกิดการเคารพป่า ไม่ใช่ว่าป่าเป็นสิ่งของของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ป่าเป็นทรัพย์สมบัติร่วมกัน ฟหมอกควันก็รุนแรง แต่การเร่งสุมไฟในใจ เป็นการยิ่งกระตุ้นความเกลียดชัง

ส่วนรศ.ดร.เศรษฐ์ มีมุมมองเพิ่มเติมว่า ความเหลื่อมล้ำนั้นยังเกิดจากการที่เราแบ่งแยกว่าเป็นปัญหาของคนจนกับคนในเมือง คนข้างบนกับคนข้างล่าง “เป็นมุมมองที่คิดว่า คนที่อาศัยอยู่พื้นที่สูงเป็นคนจนที่มองว่าคนในเมืองจะมีปัญหาอะไรก็ไม่ต้องแคร์ คนในเมืองก็ไม่ได้ให้ความช่วยเหลืออะไรคนข้างบน ถ้าภาครัฐไม่ทุ่มเทงบประมาณมาแก้ไขปัญหาภาคเหนือ อีกหน่อยจะเป็นปัญหาที่เรื้อรังยาวนานเหมือนปัญหาชายแดนภาคใต้ได้”

ปัจจุบันนี้การแจ้งเตือนค่ามลพิษทางอากาศ PM2.5 AQI ของกรมควบคุมมลพิษนั้นมีประมาณ 17 สถานีเท่านั้น โดยที่มีเพียง 4 สถานีที่เชียงใหม่ และมี 3 เครื่องอยู่ในอำเภอเมืองทั้งหมด ซึ่งแน่นอนว่าบริเวณที่ใกล้กับจุดเผานั้นไม่มีทางรับทราบคุณภาพอากาศที่ตนอาศัยอยู่ได้เลย อีกทั้งการรายงานค่าเฉลี่ยราย 24 ชั่วโมงก็ไม่สามารถเตือนภัยที่แท้จริงได้ ศูนย์ CCDC ได้ติดตั้งเครื่อง Dustboy ครบทุกอำเภอของเชียงใหม่และแม่ฮ่องสอนแล้ว อีกทั้งยังกระจายจุดตรวจวัดไปยังพะเยา น่าน เชียงราย ลำปาง ลำพูน  และกรุงเทพฯ เพื่อสื่อสารเรื่องความเสี่ยงจากหมอกควัน การรายงานข้อมูลให้กับโรงพยาบาล เพื่อสื่อสารแก่ชุมชน ซึ่งบางโรงพยาบาลในพื้นที่ภาคเหนือก็มีการเตือนภัยประชาชนต่อเนื่องเป็นการติดบอร์ดสีค่ามลพิษทางอากาศ หรือติดธง ขณะนี้ Dustboy กำลังมีแผนที่จะขยายการติดตั้งไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีการเผาอ้อยอย่างกว้างขวาง และมุ่งมั่นจะติดตั้งให้ได้ครอบคลุมทั้งประเทศ รวมถึงจะปฎิบัติการร่วมกับทางด่วน ทดสอบการพ่นหมอกน้ำขนาดเล็ก ความดันสูง ที่สามารถจับ PM2.5 ได้ อีกทั้งกำลังทดลองที่พระราม 4 และจะขยายไปอีก 5 จุดใต้ทางด่วนในกรุงเทพฯ

“ต่างประเทศบางทีเมืองเดียวมีสถานีมากกว่า 5,000 จุดด้วยซ้ำ ถ้ามีจุดเตือนแค่ในเมือง คนในเมืองก็รับรู้แล้ว และป้องกันตัว รอดแล้ว และคนสันทรายล่ะ พร้าวล่ะ จอมทองล่ะ ทุกคนน่าจะต้องมีสิทธิที่จะรู้ข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน ข้อจำกัดของรัฐมีเยอะ ตั้งแต่จำนวน ผู้รายงาน การรายงานข้อมูลต้องสอดคล้องกับระเบียบคือ 24 ชั่วโมง ข้อมูลต่าง ๆ มันเป็นราชการมาก ๆ อาจจะไม่ทันการณ์  และไม่สามารถแจ้งเตือนได้ทันท่วงที ถ้าคนในพื้นที่รับรู้ จะได้ป้องกันตนเอง” รศ.ดร.เศรษฐ์ กล่าว

ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่คุณนิคมเสนอว่า “ควรจะมีการแจ้งกับชุมชนเรื่องความเสี่ยงจากการเผาและหมอกควันพิษด้วยภาษาพูด และภาษาชนเผ่า ให้เขาตระหนักถึงอันตรายไฟป่า มีการเตรียมการอย่างน้อย 3-5 เดือน ก่อนฤดูไฟป่า ฤดูฝนจะทำยังไง ฤดูแล้งจะทำยังไง ต้องพัฒนายกระดับให้มากกว่าการออกคำสั่ง การคาดโทษ การขึ้นป้าย ควรจะสร้างความเข้าใจถึงผลเสียหาย ผลกระทบ สร้างแรงจูงใจในการอยู่กับป่า โดยที่เจ้าหน้าที่รัฐช่วยสนับสนุน”

ข้อมูลที่ศูนย์ CCDC พยายามเผยแพร่จะเป็นการบอกคุณภาพของอากาศที่เราหายใจ อีกทั้งยังบอกได้

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ภาคประชาชนกำลังขับเคลื่อนและปกป้องนั้นจะเป็นผลสำเร็จไม่ได้เลยหากขาดความเข้าใจและลงมือแก้ปัญหาในระดับนโยบายจากรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมการปลูกพืชเชิงนิเวศที่พึ่งพิงและเกื้อกูลความสมบูรณ์ของป่า และไม่ต้องการการเผา สร้างการเป็นเจ้าของร่วมกันของป่าและคน ถ้ายังไม่รู้เริ่มจากตรงไหน ขอให้ภาครัฐทำความเข้าใจเสียก่อน (แต่เร่งด่วนสักหน่อยนะ) มิเช่นนั้นว่าต้นตอสาเหตุของมลพิษทางอากาศนั้นมาจากอะไร การเผาในที่โล่ง การเกษตร รถยนต์ หรืออุตสาหกรรม เพื่อเราการแก้ไขปัญหาสามารถทำได้อย่างตรงจุด จะเป็นการยิ่งจุดไฟ สุมเชื้อเพลิง เพิ่มความไม่เข้าใจ ขัดขวาง และอาจะเป็นความเกลียดชังในสังคมได้

Air Pollution in Bangkok. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
ขออากาศดีคืนมา

กรีนพีซเสนอให้กรมควบคุมมลพิษยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศสำหรับประเทศไทยขึ้นใหม่

มีส่วนร่วม