ปัจจุบันนี้เรากำลังอยู่ในยุค SDGs ซึ่งก็คือ เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) เป็นเป้าหมายที่น่าจับตามองว่าทิศทางการขับเคลื่อนของภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมจะเป็นไปอย่างไร หลังจากที่รัฐบาลของไทยได้ไปลงนามรับเป้าหมายนี้ร่วมกับสมาชิกองค์การสหประชาชาติประเทศอื่นอีก 192 ประเทศ เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนารอบ 15 ปี (พ.ศ. 2559-2573) จุดมุ่งหมายของเป้าหมายนี้นั้นคือเพื่อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม เพื่อโลกที่น่าอยู่ของเรา โดยหลักแล้วอาจจะฟังดูเป็นเป้าหมายอันสูงส่ง ไม่ว่าจะเป็นการขจัดความยากจน ต่อกรกับความไม่ยุติธรรมความไม่เท่าเทียมในสังคม หยุดโลกร้อน สังคมสงบสุข พูดง่าย ๆ ก็คือการกอบกู้โลกดี ๆ นี่เอง ภาระหน้าที่เยี่ยงซูเปอร์แมนเช่นนี้คนธรรมดาอย่างเราจะทำได้หรือ?

ถ้าเราบอกว่าทำได้ล่ะ คุณจะเชื่อไหม?

ไม่ต้องเชื่อเราก็ได้ เชื่อองค์การสหประชาชาติดีกว่า  ทุกการเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะระดับเล็ก หรือระดับโลกต่างเริ่มต้นที่คนตัวเล็ก ๆ อย่างไร ดังนั้นทุกครั้งที่เราลงมือทำอะไรจะเป็นการสร้างการเปลี่ยนแปลง และขยายผลกระทบไปในวงกว้างได้ องค์การสหประชาชาติเชื่อว่าแม้แต่คนที่ขี้เกียจที่สุดก็สามารถช่วยโลกได้เช่นกัน และได้แนะนำวิธีน่ารัก ๆ สำหรับคนขึ้เกียจ  3 ระดับ ลองมาดูกันสิว่าคู่มือ The Lazy Person’s Guide to Saving the World ขององค์การสหประชาชาติ มีอะไรบ้าง

ขี้เกียจระดับ 1: ตัวเป็นขนบนโซฟา

  • ประหยัดไฟ ปิดไฟ ถอดปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้าเมื่อไม่ได้ใช้ รวมถึงคอมพิวเตอร์ด้วยนะ
  • จ่ายเงินทางออนไลน์ก็ดีนะ สะดวกและไม่ต้องใช้กระดาษ
  • ปรินท์ให้น้อยที่สุด มีสมุดโน้ตใกล้ตัว หรือจดลงมือถือ จะได้ไม่ต้องเปลืองกระดาษ
  • ทำมากกว่ากดไลค์ “ชอบกดไลค์ ใช่กดแชร์” เป็นประโยคที่เราทำได้จริง หากคุณเจอโพสต์ไหนในโซเชียลมีเดียที่เป็นข่าวเรื่องความรุนแรง ความไม่เท่าเทียม เรื่องการทำลายสิ่งแวดล้อม คุณสามารถแชร์ให้คนในวงกว้างได้รับรู้ได้
  • ถ้าจะให้ดีกว่านั้น สามารถร่วมเปล่งเสียงสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยการบอกกับภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นระดับเขต จังหวัด หรือประเทศ หรืออีกวิธีหนึ่งที่สามารถทำได้คือร่วมลงชื่อเรียกร้องทางออนไลน์
  • หาข้อมูลทางออนไลน์ก่อนช็อปปิ้งว่าบริษัทไหนมีการดำเนินการและผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน เป็นธรรมทั้งต่อแรงงานและสิ่งแวดล้อม
  • หากเจอคนในโซเชียลเน็ทเวิร์กที่รังแกผู้อื่น หยาบคาย ขมขู่ สามารถกดรีพอร์ตคนนั้นได้  ป้องกันการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นกับเหยื่อของสังคมออนไลน์

ขี้เกียจระดับ 2:  กบดานในบ้าน

  • ปล่อยให้ผมแห้งเอง ตากเสื้อผ้าให้แห้งเอง โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์อย่างไดร์เป่าผม หรือเครื่องปั่นผ้า และเวลาซักผ้าทุกครั้งให้ใส่เสื้อผ้าในเครื่องจนเต็ม
  • อาบน้ำโดยใช้ฝักบัว เนื่องจากอ่างน้ำใช้ปริมาณน้ำมากกว่าฝักบัวหลายแกลลอน
  • กินเนื้อสัตว์น้อยลง เพราะใช้ทรัพยากรในการเลี้ยงสัตว์มากกว่าพืชผัก อีกทั้งยังมีส่วนในการก่อวิกฤตโลกร้อนและทำลายป่าอีกด้วย
  • เอาอาหารที่กินไม่หมดเข้าช่องแช่แข็ง ซึ่งจะทำให้ไม่เน่าเสีย ประหยัดทั้งอาหารและเงิน
  • ทำปุ๋ยใช้เองจากเศษอาหาร เพราะนอกจากเศษอาหารจะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว การทำปุ๋ยยังช่วยให้เรานำธาตุอาหารที่มีอยู่มาหมุนเวียนใช้ได้
  • นำเอากระดาษ พลาสติก แก้ว และอลูมีเนียนมาใช้ใหม่ หรือรีไซเคิล ช่วยลดภาระผืนดินจากการฝังกลบ
  • ซื้อสินค้าที่ใช้แพคเกจห่อน้อยที่สุด ทั้งพลาสติก และกระดาษ
  • เปลี่ยนเครื่องใช้ไฟฟ้า และหลอดไฟเป็นแบบประหยัดไฟ
  • ถ้าทำได้ คุณสามารถติดโซลาร์เซลล์ที่บ้านได้ ซึ่งจะเป็นการลดค่าไฟได้ด้วย
  • ใช้ผ้าอ้อมที่เป็นผ้า แทนผ้าอ้อมสำเร็จรูป หรือเลือกใช้แบรนด์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด
  • ใช้ไม้ขีดแทนไฟแซ็ค ซึ่งใช้ทั้งน้ำมันและพลาสติก

ขี้เกียจระดับ 3:  คนดีประจำตำบล

  • ซื้อสินค้าในท้องถิ่น เป็นการส่งเสริมธุรกิจในพื้นที่ของเรา สนับสนุนการสร้างงานสร้างรายได้ และยังไม่ต้องเสียค่าขนส่งไกล ๆ
  • วางแผนดี ๆ ก่อนซื้ออาหาร จะได้ไม่ซื้ออาหารเกินความจำเป็นและกินไม่หมด แม้ว่าราคาขายเมื่อซื้อเยอะจะถูกกว่า แต่หากคำนวนดี ๆ เมื่ออาหารที่ซื้อมานั้นต้องทิ้งไปเพราะเน่าเสีย กินไม่หมด จะเป็นราคาที่แพงกว่า
  • ซื้อผลไม้ที่หน้าตาไม่สวย มีผักผลไม้จำนวนมากที่ถูกทิ้งไปเพราะขนาด รูปร่าง และสีไม่ตรงตาม “สเป็ก แต่จริง ๆ แล้วผักผลไม้พวกนี้ไม่ได้เสียอะไร ไม่เช่นนั้นแล้วก็จะถูกทิ้งเปล่าไป
  • ทุกครั้งที่ไปซูเปอร์มาร์เก็ต ลองเช็คว่าอาหารทะเลบรรจุกระป๋องนั้นมาจากไหน ใช้เครื่องมือแบบทำลายล้างท้องทะเลจับมาหรือเปล่า (เช็คได้ที่นี่) ถ้าไปทานร้านอาหาร ลองเลือกร้านที่รู้ที่มา หรือเป็นร้านที่จับมาอย่างยั่งยืน (ดูตัวอย่างร้านอาหารได้ที่นี่)
  • ใช้จักรยาน เดิน ใช้รถสาธารณะ หรือใช้รถคันเดียวกันเมื่อเดินทางหลายคน
  • พกกระติกน้ำติดตัว และใช้เมื่อซื้อเครื่องดื่มหรือกาแฟ เป็นการช่วยลดขยะ และบางร้านอาจจะได้ลดราคา
  • พกถุงไปเองเมื่อซื้อของ ปฏิเสธการรับถุงพลาสติก
  • ใช้กระดาษทิชชูน้อยลง ใช้เท่าที่พอเหมาะ
  • ซื้อสินค้ามือสองบ้าง ของใหม่อาจจะไม่ได้ดีที่สุดเสมอไป เก่าก็เก๋าได้

  • นำของที่มีอยู่มาซ่อม หรือใช้ซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า หนังสือ สิ่งของ เฟอร์นิเจอร์ และอุปกรณ์อื่นๆ หรือนำไปบริจาค
  • ฉีดวัคซีนที่จำเป็น ปกป้องทั้งตัวคุณเองและครอบครัว รวมถึงชุมชน
  • เลือกผู้นำที่เหมาะสม ทั้งในระดับพื้นที่ของคุณไปจนถึงระดับประเทศ

เป็นคำแนะนำที่น่ารักจากองค์การสหประชาชาติ และยังสามารถนำไปใช้ได้จริงไม่ยากเย็นอะไร ไม่ต้องถึงมือซูเปอร์แมน แค่คนขี้เกียจอย่างพวกเราก็กู้โลกได้ ไม่ได้โม้!

ข้อมูลอ้างอิงจาก คู่มือ The Lazy Person’s Guide to Saving the World ขององค์การสหประชาชาติ

รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์

About the author

รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์
นักเขียน นักสิ่งแวดล้อม ผู้เชื่อในพลังการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกของทุกคนจากการเลือกกิน เลือกซื้อ เลือกใช้ และการลงมือทำ เพื่อสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด

Comments

Leave your reply