“เป้าหมายสูงสุดของชีวิตมนุษย์คือการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขกับธรรมชาติ” – เซโน่ ~ 450 ปีก่อนคริสตกาล (จากหนังสือ Lives and Opinions of Eminent Philosophers, ไดโอจีเนส แลร์ทีอุส) 

การที่มนุษย์เริ่มตระหนักถึงความเกี่ยวพันอันแสนละเอียดอ่อนระหว่างมนุษย์เรากับธรรมชาติที่เราอาศัยอยู่นี้เกิดขึ้นท่ามกลางกลุ่มเหล่านักล่าสัตว์และนักสะสมเมื่อพวกเขาได้เห็นเปลวเพลิงและเครื่องมือล่าสัตว์กำลังทำลายสิ่งแวดล้อมรอบตัว โดยนักมานุษยวิทยาได้ค้นพบหลักฐานการสูญพันธุ์ของพืชและสัตว์จากการกระทำของมนุษย์มาตั้งแต่ 50,000 ปีก่อนคริสตกาล แม้ว่าในขณะนั้นจะมี โฮโม เซเปียน สายพันธุ์ของมนุษย์เราอยู่แค่เพียงราว 20,000 คนบนโลก เหล่าบรรพบุรุษมนุษย์เราในอดีตเหล่านี้จะจัดการกับปัญหาดังกล่าวอย่างไร พวกเราคงทำได้เพียงแค่คาดเดาเท่านั้น แต่ดูเหมือนว่าการอพยพย้ายที่อยู่ไปเรื่อยๆมักจะเป็นทางแก้ปัญหาที่ทำกันเรื่อยมา

Jasper National Park in Canada, 2017

อุทยานแห่งชาติแจสเปอร์ (Jasper National Park) ประเทศแคนาดา ปี 2560 Jasper National Park in Canada, 2017

การตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมเริ่มขึ้นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมนุษย์อย่างน้อย 5,000 ปีมาแล้ว นักบวชผู้ศึกษาคัมภีร์พระเวทต่างกล่าวสรรเสริญผืนป่าในบทสวดของพวกเขา และนักบวชลัทธิเต๋าต่างเรียกร้องให้มนุษย์ใช้ชีวิตอย่างสอดคล้องกับแบบแผนของธรรมชาติ รวมถึงพระพุทธเจ้าเองก็สอนให้มนุษย์มีความเมตตาต่อสัตว์โลกทุกชนิด

ในมหากาพย์กิลกาเมชแห่งยุคเมโสโปเตเมีย พวกเรายังได้เห็นความหวาดหวั่นต่อภัยจากการทำลายล้างผืนป่าและภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำ เมื่อกิลกาเมชโค่นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ลง พระผู้เป็นเจ้าได้สาปชาวซูเมอร์ให้ประสบกับภัยแล้ง และเทพีอิชทาร์ (พระแม่ธรณี) จึงส่งกระทิงจากสรวงสวรรค์ลงมาเพื่อลงโทษกิลกาเมช

ในตำนานเทพปกรณัมกรีกโบราณ เมื่อนายพรานหนุ่มโอไรออนกล่าวคำสัตย์สาบานจะล่าสัตว์ทั้งหมดบนโลกให้สิ้น เทพีไกอาได้กล่าวค้านและเนรมิตแมงป่องยักษ์ขึ้นเพื่อฆ่าโอไรออน และเมื่อแมงป่องไม่สามารถเอาชนะเขาได้ อาร์ทิมิส เทพีแห่งป่าและจ้าวแห่งสัตว์ทั้งหลาย จึงใช้ศรธนูยิงโอไรออนจนสิ้นใจ

ส่วนทางด้านอเมริกาเหนือ เลตาคอตส์-เลซ่า หัวหน้าเผ่าอินเดียนแดงอินทรีพาวนี กล่าวแก่นาตาลี เคอร์ทิส นักมานุษยวิทยา ว่า “ทิราว่า ท่านผู้อยู่เบื้องบน มิได้สื่อสารกับมนุษย์เราโดยตรง… มนุษย์ควรสำนึกรู้ได้ว่าท่านนั้นสื่อสารกับเราผ่านทางสัตว์ต่างๆ จากพวกสัตว์ทั้งหลายและจากดวงดาว ดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์”

เรื่องราวทั้งหลายของมนุษย์ในอดีตนี้ ต่างสอดแทรกคำสอนเกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ของผืนป่า ความสำคัญของการยับยั้งควบคุมอำนาจในมือมนุษย์ และพันธะหน้าที่ของเราที่ต้องปกปักษ์รักษาธรรมชาตินี้ไว้

การรับมือกับปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคเริ่มต้น

เมื่อห้าพันปีก่อน เมืองโมเฮนโจ – ดาโร (Mohenjo – Daro) หนึ่งในศูนย์กลางแห่งอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ (เมืองโบราณในปากีสถานปัจจุบัน) ได้เริ่มตระหนักถึงผลกระทบจากมลภาวะในสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์และเริ่มมีการจัดการขยะและการสุขภิบาลขึ้น ส่วนในกรีซที่ซึ่งภาวะป่าไม้ถูกทำลายทำให้เกิดการกร่อนของหน้าดิน นักปราชญ์เพลโตได้กล่าวไว้อย่างสลดใจว่า “พื้นที่อันแสนอุดมสมบูรณ์และชุ่มฉ่ำต่างล่มสลายจากไป เหลือไว้เพียงดินแดนแห่งโครงกระดูกไร้วิญญาณ” ทางชุมชนต่างๆในจีน อินเดีย และเปรูเองก็รับรู้ถึงผลกระทบจากการกร่อนของหน้าดินและพยายามป้องกันโดยการปลูกป่าบนเนินที่ลาดเขา การปลูกพืชหมุนเวียน และการหมุนเวียนใช้ประโยชน์จากธาตุและสารอาหาร (nutrient recycling)

ฮิปโปเครติสและกาเลน นายแพทย์ชาวกรีก ได้เริ่มสังเกตถึงปัญหาสุขภาพอันเป็นผลมาจากความเสื่อมโทรมสิ่งแวดล้อมอย่างกรดปนเปื้อนในเหมืองทองแดง โดยในบันทึกชื่อ De aëre, aquis et locis (อากาศ น้ำ และสถานที่: Air, Waters, and Places) ของฮิปโปเครติส นับเป็นงานเขียนเกี่ยวกับการเอาชีวิตรอดของชาวยุโรปในยุคแรกเริ่มชิ้นแรกที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์และนิเวศวิทยาเลยทีเดียว

นอกจากนี้ ความก้าวหน้าทางการเกษตรไม่เพียงแต่ทำให้จำนวนประชากรมนุษย์เพิ่มสูงขึ้น แต่ยังทำให้เกิดการกร่อนของหน้าดินและการชุกชุมของแมลงซึ่งนำไปสู่ภาวะทุพภิกขภัยร้ายแรงในช่วงระหว่างคริสต์ศักราชที่ 200 ถึง 1200 (ราว พ.ศ. 750 – 1750)

ในปี ค.ศ 1306 (พ.ศ 1579) กษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 1 แห่งราชวงศ์อังกฤษได้สั่งให้ลดการเผาไหม้ถ่านหินลงเนื่องจากปัญหาหมอกควันในอากาศ และในคริสต์ศตวรรษที่ 17 จอห์น อีฟลิน นักธรรมชาติวิทยาและเกษตรกรนายหนึ่งยังได้เขียนบันทึกไว้ว่ากรุงลอนดอนไม่ต่างอะไรกับ “ชานเมืองนรก” เหตุการณ์ต่างๆเหล่านี้ทำให้เกิดความนิยม “พลังงานหมุนเวียน” ขึ้นครั้งแรกในยุโรป โดยทางรัฐบาลได้เริ่มมีมาตรการอุดหนุนพลังงานน้ำและลม

ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ปีเตอร์ เบอร์เกิล (Pieter Bruegel the Elder) ศิลปินชาวดัตช์ได้รังสรรค์ภาพเขียนสีทะท้อนเหตุการณ์สิ่งปฏิกูลและมลพิษอื่นๆไหลลงสู่แม่น้ำ และฮิวโก้ โกรชุส (Hugo Grotius) นักกฎหมายชาวดัตช์ยังได้เขียนหนังสือเรื่อง The Free Sea ขึ้น โดยกล่าวว่ามลภาวะในสิ่งแวดล้อมและสงครามกำลังคุกคามกฎแห่งธรรมชาติ
Netherlandish Proverbs (1559) - Pieter Bruegel the Elder

ผลงานชื่อ Netherlandish Proverbs ปี พ.ศ. 2102 โดย ปีเตอร์ เบอร์เกิล หากสังเกตให้ดีในบริเวณพื้นตรงกลางถึงเยื้องไปทางด้านขวาของภาพ จะพบว่ามีชายท่าทางดูมีฐานะคนหนึ่งกำลังโปรยเงินลงไปในกองขยะ

สิทธิทางสิ่งแวดล้อม

อาจกล่าวได้ว่านักรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมคนแรกคือ บิชนอย ฮินดูส์ (Bishnoi Hindus) แห่งเคจาร์ลี (Khejarli) ผู้ซึ่งถูกสังหารโดยมหาราชาแห่งเมืองจ๊อดปูร์ (Jodhpur) ในปี พ.ศ. 2263 ในข้อหาพยายามปกป้องผืนป่าจนเขาไม่สามารถสร้างพระราชวังตามที่ต้องการได้

จนในคริสต์ศตวรรษที่ 18 จึงได้เริ่มเห็นแสงแรกแห่งของสิทธิทางสิ่งแวดล้อมยุคใหม่ หลังจากที่เกิดโรคไข้เหลืองระบาดรุนแรงในฟิลาเดเฟีย เบนจามิน แฟรงค์ลิน ได้ยื่นคำร้องให้มีการจัดการขยะและยุบโรงงานฟอกหนังเพื่อลดมลพิษในอากาศในฐานะที่อากาศบริสุทธิ์เป็น “สิทธิ” ของสาธารณชน (แม้ว่าจะเป็นการเรียกร้องบนแผ่นดินที่ยึดครองมาจากชนเผ่าพื้นเมืองก็ตาม) ต่อมา จอร์จ แคทลิน ศิลปินชาวอเมริกันยังได้ร้องขอให้ดินแดนแห่งชนพื้นเมืองผืนนี้ได้รับการปกป้องตาม “สิทธิแห่งธรรมชาติ”

ในขณะเดียวกันที่อังกฤษ เจเรมี่ เบนธู ได้เขียน “หลักการของจริยธรรมและนิติบัญญัติเบื้องต้น” (An Introduction to Principles of Morals and Legislation) ซึ่งมีเนื้อหาเพื่อเรียกร้องให้ปกป้องสิทธิของสัตว์ (animal rights) และโธมัส มาลธัส ยังได้เขียนบทความอันโด่งดังไปทั่วเพื่อกล่าวเตือนว่าจำนวนประชากรมนุษย์ที่มากเกินไปจะนำไปสู่ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม โดยความรู้เกี่ยวกับภาวะโลกร้อนนั้นเริ่มขึ้นเมื่อ 200 ปีมาแล้วในตอนที่ ฌ็อง บาติสต์ โฌแซ็ฟ ฟูรีเย (Jean Baptiste Joseph Fourier) ได้คำนวณไว้ว่าชั้นบรรยากาศโลกกำลังกักเก็บความร้อนไว้ไม่ต่างกับเรือนกระจก

Hikers on a tour in the Spessart Mountain, 2017

มนุษย์กับธรรมชาติ บนภูเขา Spessart ปี 2560   Man and nature in the Spessart Mountains, 2017

ต่อมาในปี พ.ศ. 2378 ราฟ วาลโด เอเมอร์สัน (Ralph Waldo Emerson) ได้เขียนหนังสือ Nature ขึ้นเพื่อกระตุ้นให้มนุษย์เราสำนึกรู้คุณค่าของธรรมชาติเพื่อรักษาไว้ซึ่งสิ่งแวดล้อม และเรียกร้องให้หยุดการลุกลามพื้นที่ป่าของมนุษย์ นอกจากนี้ วิลเลียม บาร์แทรม นักพฤกษศาสตร์ชาวอเมริกัน และ เจมส์ อูดูบอง นักปักษีวิทยา ยังอุทิศตนให้กับการดูแลพื้นที่คุ้มครองสัตว์ป่า อีกทั้งเฮนรี่ เดวิด เธอโร ยังได้ประพันธ์ความเรียงเกี่ยวกับระบบนิเวศที่มีอิทธิพลต่อคนรุ่นหลังอย่างมากชื่อ Walden ซึ่งนับเป็นแรงบันดาลใจของนักรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมหลายต่อหลายรุ่นทีเดียว

อีกไม่กี่ทศวรรษถัดมา จอร์จ เพอร์คินส์ แมร์ช ได้เขียน “มนุษย์กับธรรมชาติ” Man and Nature ขึ้นเพื่อประณามการก่อ “สงคราม” อย่างไร้สำนึกของมวลมนุษยชาติต่อผืนป่า และกล่าวเตือนถึงการที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งยังยืนกรานว่า “โลกของเราไม่อาจรอได้อีกต่อไปแล้ว” อันเป็นประโยคที่เรายังคงได้ยินกันอยู่ในทุกวันนี้

ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่เมืองเยนา ประเทศเยอรมณี แอร์นสท์ แฮคเคล (Ernst Haeckel) นักสัตววิทยาได้เขียน “Generelle Morphologie der Organismen” ขึ้น โดยเขาได้อภิปรายถึงความสัมพันธ์ระหว่างสายพันธุ์ต่างๆและบัญญัติศัพท์คำว่า ‘ökologie’ (มาจากคำว่า oikos ซึ่งมีความหมายว่า บ้าน ในภาษากรีก) ซึ่งก็คือวิทยาศาสตร์แขนงที่รู้จักกันในชื่อ “ecology” (นิเวศวิทยา) ในปัจจุบัน

ในปี พ.ศ. 2435 จอห์น มูอีร์ (John Muir) ได้ก่อตั้งกลุ่ม The Sierra Club ขึ้นในสหรัฐอเมริกาเพื่อคุ้มครองสัตว์ป่าและพื้นที่ป่าภายในประเทศ โดยในอีก 70 ปีต่อมา หนึ่งในภาคส่วนของกลุ่ม The Sierra Club อันตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของแคนาดาได้แยกตัวออกมาเพื่อให้สามารถเคลื่อนไหวได้มากขึ้น และกลุ่มนี้เองที่นับเป็นจุดเริ่มต้นของกรีนพีซ

การต่อสู้ทางสิ่งแวดล้อม

“แนวคิดที่ว่าดินแดนคงอยู่เพื่อชุมชน คือแนวคิดพื้นฐานของนิเวศวิทยา” อัลโด ลีโอโพลด์ ได้เขียนไว้ใน A Sand County Almanac “แต่แนวคิดที่ว่าดินแดนนั้นคงอยู่เพื่อถูกรักและเคารพคือสิ่งที่เพิ่มเติมออกมาจากเรื่องของจริยธรรม … ซึ่งมันจะถูกต้องก็ต่อเมื่อมันสามารถคงไว้ซึ่งบูรณภาพ เสถียรภาพ และความงามแห่งชุมชนชีวภาพได้ มิฉะนั้นแล้วก็จะถือว่าผิด”

 Auwagi Sekapiya, of the Ubei Clan; Kosuo tribe in Papua New Guinea, 2003

Auwagi Sekapiya ชนพื้นเมืองเจ้าของดินแดนแห่งเผ่าพันธุ์ Ubei เผ่าย่อย Kosuo ในปาปัวนิวกินี ปี 2546

ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20  อลิซ แฮมิลตัน นักเคมีผู้หนึ่งได้จัดโครงการต่อต้านพิษสารตะกั่วจากน้ำมันเบนซินปนเปื้อนสารตะกั่ว โดยยื่นฟ้องบริษัท เจเนรัลมอเตอร์ (General Motors) ข้อหาเจตนาฆ่า ทางบริษัทได้สู้คดีกลับแฮมิลตัน และต้องใช้เวลาถึง 50 ปีกว่ารัฐบาลจะสั่งห้ามมิให้มีการใช้น้ำมันเบนซินผสมสารตะกั่ว ในขณะเดียวกัน ปัญหาหมอกควันพิษจากภาคอุตสาหกรรมก็เข้าปกคลุมเมืองใหญหลายแห่ง ในปี พ.ศ. 2495 เหตุหมอกพิษในกรุงลอนดอนที่เลื่องลือไปทั่วได้คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 4,000 ราย โดยในอีก 4 ปีต่อมา สภาอังกฤษจึงได้ผ่านร่างกฏหมายควบคุมมลพิษในอากาศเป็นครั้งแรก

นิเวศวิทยาได้เติบโดขึ้นอย่างเต็มขั้นและกลายมาเป็นการเคลื่อนไหวระดับโลกควบคู่ไปกับการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ โดย อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ผู้รู้สึกผิดมหันต์จากผลงานระเบิดนิวเคลียร์ของตนได้ร่างประกาศต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ในปี 2498 พร้อมด้วย เบอร์แทรนด์ รุซเซล นักปรัชญาชาวอังกฤษ และร่วมลงนามโดยผู้ได้รับรางวัลโนเบลถึงสิบคน จดหมายร่างนี้นำมาซึ่งการก่อตั้งกลุ่มรณรงค์เพื่อลดอาวุธนิวเคลียร์ (Campaign for Nuclear Disarmament: CND) ในอังกฤษ ซึ่งนับเป็นการต่อต้านอำนาจรัฐรูปแบบใหม่โดยสันติ และในปี 2501 กลุ่มสมาชิกสมาคมเพื่อการต่อสู้โดยสันติได้ออกแล่นเรือสองลำชื่อ Golden Rule และ Phoenix เพื่อขวางพื้นที่บริเวณทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ของอเมริกา ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจของกรีนพีซในอีกสิบปีถัดมา

ต่อมา ราเชล คาร์สัน ยังได้สร้างความเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมอีกครั้งจากงานเขียน “ฤดูใบไม้ผลิอันเงียบงัน” (Silent Spring) ในปี 2505 โดยได้บรรยายถึงผลกระทบจากการใช้ยาฆ่าแมลงที่มีต่อความหลากหลายทางชีวภาพ “นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์” เธอเขียน “ที่มนุษย์ทุกคนบนโลกต้องเสี่ยงกับการได้รับสารเคมีอันตราย” และก่อนที่เธอจะเสียชีวิตลง เธอได้กล่าวถึงจริยธรรมเชิงนิเวศวิทยาที่กำลังได้รับความสนใจมากขึ้นผ่านทางบทความในนิตยสารฉบับหนึ่งไว้ว่า “มันจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งที่เราจะต้องหันมามองโลกใบนี้อย่างพินิจพิจารณาถึงความงามแห่งธรรมชาติ เพื่อที่เราจะได้ตระหนักถึงความน่าพิศวงของมันและตระหนักถึงความต่ำต้อยของมนุษย์เรา”

อาร์เน่ แนส (Arne Næss) นักปรัชญาชาวนอร์เวย์ ได้อ้างอิงหนังสือ “ฤดูใบไม้ผลิอันเงียบงัน” (Silent Spring) นี้ว่าเป็นกุญแจแห่งแรงบันดาลใจดอกสำคัญของแนวคิดนิเวศวิทยาเชิงลึก (Deep Ecology) ของเขา อันเป็นแนวคิดที่ว่าด้วยความตระหนักทางนิเวศวิทยาซึ่งก้าวข้ามหลักเหตุและผลของระบบชีวภาพไปสู่ประสบการณ์ตรงของปัจเจกบุคคลในเชิงลึก ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งซึ่งผสมผสานเป็นหนึ่งเดียวกันกับธรรมชาติ
ส่วนในงานเขียนเรื่อง “วิทยาศาสตร์ทำลายล้าง” (The Subversive Science) พอล เชพเพิร์ด ผู้เขียน ได้บรรยายนิเวศวิทยาไว้ว่าเป็น “ความจริงตั้งต้น” (primordial axiom) ซึ่งถูกเปิดเผยไว้ในวัฒนธรรมโบราณอันจะช่วยนำชี้นำโครงสร้างทางสังคมของมนุษย์ได้ นิเวศวิทยาคือ “ผู้ทำลายล้าง” สำหรับเชพเพิร์ด เพราะมันได้เข้ามาทำลายลัทธิผู้อยู่เหนือกฎของมนุษย์ (human exceptionalism) และแทนที่ด้วยการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน
The ecology symbol

สัญลักษน์ระบบนิเวศ “ecology” ออกแบบโดย รอน คอบบ์ นักวาดการ์ตูน The ecology symbol designed by comic artist Ron Cobb

ในประเทศอินเดีย ชาวบ้านในชุมชนโกเปชวา (Gopeshwar) ที่รัฐอุตตราขัณฑ์ ผู้ได้รับแรงบันดาลใจจากคานธีและบิชนอย ฮินดูส์ (Bishnoi Hindus) แห่งยุคคริสต์ศตวรรษที่ 18 ได้ร่วมกันปกป้องป่าไม้เพื่อต่อต้านการตัดไม้เชิงพาณิชย์ โดยใช้วิธีล้อมรอบและโอบกอดต้นไม้ ความเคลื่อนไหวครั้งนี้กระจายไปทั่วอินเดียตอนเหนือและรู้จักกันในชื่อ “ขบวนการโอบกอด” (Chipko Movement) นับเป็นผู้โอบกอดต้นไม้กลุ่มแรก

ต่อมาในปี 2511 คลิฟท์ ฮัมฟรีย์ นักเขียนชาวอเมริกัน ได้ก่อตั้ง “ขบวนการต่อสู้เพื่อนิเวศ” (Ecology Action) ขึ้น โดยเริ่มจากเหตุการณ์ผาดโผนครั้งหนึ่งที่ฮัมฟรีย์และผู้คนอีก 60 คนที่เขารวบรวมมาในเมืองเบิร์กลีย์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ได้ใช้รถ Dodge Rambler แห่งปี 2501 ของเขาเข้าปะทะพุ่งชนบนถนนในเมืองและประกาศกร้าวว่า “สิ่งนี้กำลังทำร้ายโลกของเรา” โดยอาจคาดเดาได้เลยว่าจากนั้นฮัมฟรีย์ได้กล่าวกับ บ็อบ อันเตอร์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกรีนพีซว่า “นี่เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น”

หนึ่งปีต่อมา ด้วยแรงบันดาลใจจากงานเขียนของคาร์สัน เชพเพิร์ด และแนส และจากการเคลื่อนไหวของขบวนการโอบกอดและขบวนการต่อสู้เพื่อนิเวศ กลุ่มนักกิจกรรมชาวแคนาดาและอเมริกันกลุ่มหนึ่งจึงเริ่มออกเดินทางสู่การเรียกร้องสันติภาพกับสิ่งแวดล้อม อันนับเป็นจุดเริ่มต้นของกรีนพีซ
เบน เมทคาล์ฟ ผู้ร่วมก่อตั้งกรีนพีซ ได้ติดตั้งป้ายประกาศขนาดใหญ่ 12 แห่งทั่วทั้งเมืองแวนคูเวอร์ โดยบนป้ายเขียนไว้ว่า

ระบบนิเวศ

จงศึกษาความหมายของมันให้ดี

คุณคือส่วนหนึ่งของมัน

หากมองจากปัจจุบันแล้วอาจจะดูแปลกอยู่บ้าง แต่ย้อนไปในปี 2512 คนจำนวนมากยังไม่รู้ความหมายของคำๆนี้ คำว่า “ระบบนิเวศ” ยังไม่ได้เป็นคำที่ใช้กันโดยทั่วไป แต่จากนั้นไม่นานคำนี้ก็เริ่มเป็นที่รู้จักกันดีในที่สุด

Crew of the Greenpeace, the original voyage to protest nuclear testing in Amchitka, 1971

กรีนพีซ เดินทางโดยเรือเพื่อต่อต้านการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ในแอมชิตกา (Amchitka) ปี 2514 พร้อมด้วยสัญลักษณ์ระบบนิเวศประดับบนเรือ

ในปี 2520 ภายหลังจากที่โครงการต่อต้านระเบิดนิวเคลียร์สองโครงการและและการเผชิญหน้ากับกลุ่มนักล่าวาฬจากโซเวียตและกลุ่มนักล่าแมวน้ำจากนอร์เวย์ กรีนพีซตัดสินใจซื้อเรืออวนเก่าในกรุงลอนดอนและตั้งชื่อใหม่ให้เรือลำนี้ว่า เรนโบว์ วอร์ริเออร์ (Rainbow Warrior) ตามตำนานพื้นเมืองของแคนาดา จากเรื่องเล่าของครี (The Cree story) นี้ ซึ่งเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับกลุ่มนักรบสายรุ้ง โดย วิลเลียม วิลโลยา และวินสัน บราวน์ ที่เล่าถึงคราวที่ผืนดิน สายน้ำ และอากาศ ต่างปนเปื้อนไปด้วยพิษ และผู้คนจากทั่วทุกสารทิศมารวมพลังกันเพื่อกอบกู้โลกเอาไว้

เกือบครึ่งศตวรรษผ่านไปหลังจากการก่อตั้งกรีนพีซ การเคลื่อนไหวเชิงนิเวศในระดับโลกได้กระจายตัวไปสู่ทั่วทุกมุมโลก โดยมีกลุ่มนักรณรงค์หลายพันกลุ่มตื่นตัวลุกขึ้นมาเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม แต่ในขณะเดียวกัน ปัญหาที่เราต้องเผชิญก็กำลังทวีความรุนแรงและยากที่จะรับมือขึ้นเรื่อยๆ อีกครึ่งศตวรรษต่อจากนี้เราคงได้รู้กันว่ามนุษย์เราจะสามารถจัดการแก้ไขกับปัญหาต่างๆนี้ได้สำเร็จหรือไม่

บทความแปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ สามารถอ่านต้นฉบับได้ที่นี่
————————–

Resources and Links:

Environmental History Timeline: Radford University

Ramachandra Guha: Environmentalism: A Global History, 2000

The European Society for Environmental History: ESEH.org
Environmental History, Oxford Journals
Donald Worster: Nature’s Economy: A History of Ecological Ideas, 1977

J. D. Hughes: Ecology in Ancient Civilizations (U. New Mexico Press, 1975): Oxford Academic

Society for Environmental Journalists: sej.org

Letakots-Lesa (Eagle Chief) and Natalie Curtis on Pawnee songs: Entersection

William Willoya and Vinson Brown: Warriors of the Rainbow
Alice Hamilton, MD: Exploring The Dangerous Trades, 1943
Aldo Leopold: Sand County Almanac, 1949
Rachel Carson: Silent Spring, 1962
Barry Commoner: The Closing Circle, 1971
Paul Shepard: The Tender Carnivore and the Sacred Game, 1973
Gregory Bateson: Mind and Nature, 1978
Roderick Nash: The Rights of Nature, 1989
Deep Ecology for the 21st Century: A good survey of ecology writers, Arne Naess, Chellis Glendinning, Gary Snyder, Paul Shepard, and others

Comments

Leave your reply