ผึ้งตัวจิ๋วกับบทบาทการลดขยะพลาสติก

สามส่วนสี่ของพืชอาหารทั่วโลกอาศัยการผสมเกสรของแมลงจำพวก ผึ้ง ผีเสื้อ และสัตว์ตัวน้อยๆอีกหลายชนิด  นอกจากผึ้งจะเป็นแมลงที่มีบทบาทสำคัญในการผลิตอาหารแล้ว พวกมันยังมีบทบาทสำคัญในการช่วยลดขยะพลาสติกอีกด้วย

กลุ่มคนที่กำลังลดใช้พลาสติกอาจจะรู้จัก Beewax Wrap เป็นอย่างดี เพราะBeewax Wrap หรือไขผึ้งห่ออาหาร คือผลิตภัณฑ์ทดแทนการใช้พลาสติกห่ออาหารที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ไขผึ้งห่ออาหารสามารถใช้ซ้ำได้และมีอายุการใช้งานนานกว่า 1-2 ปี

Beewax Wrap คือนวัตกรรมและภูมิปัญญา

เป็นระยะเวลากว่า 3 ปีที่คุณอ็องตัวเน็ต แจ็คสัน หรือคุณแอนนี่ ทำไขผึ้งห่ออาหารด้วยตัวเองหลังจากย้ายมาอยู่ที่เชียงใหม่ เพราะอยากลดการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง เธอได้ไอเดียนี้จากการใช้ไขผึ้งห่ออาหารโดยคุณย่าของเธอตั้งแต่เธอยังเด็ก โดยเริ่มศึกษาการทำและเรียนรู้ด้วยตนเอง เธอทั้งทำเองใช้เอง ทำแล้วแจกเพื่อนๆ ไปจนกระทั่งทำเพื่อจำหน่ายในนามกลุ่ม SuperBee Wax Wraps

“สมัยก่อนที่ออสเตรเลียก็ใช้ผ้าแบบนี้ในการห่ออาหารค่ะ คล้ายๆประเทศไทยที่สมัยก่อนเราใช้ใบตองห่ออาหาร”

เพราะอยากให้คนได้ใช้ไขผึ้งห่ออาหารเยอะๆเพื่อลดขยะพลาสติก คุณแอนนี่จึงอยากแชร์วิธีการทำ Beewax Wrap สำหรับใครที่อยากลองทำ ก่อนอื่นเรามารู้จักอุปกรณ์ในการทำและวัตถุดิบกันก่อน

อุปกรณ์การทำ

1.ผ้าคอตตอน ถ้าเป็นใยธรรมชาติจะดีมากเพราะไขผึ้งจะเกาะใยโพลีเอสเตอร์ไม่ดีเท่าใยผ้าธรรมชาติ ตัดด้วยกรรไกรซิกแซกเพื่อไม่ให้ด้ายรุ่ย
2.ไขผึ้งธรรมชาติ ไม่มีสารพาราฟีน
3.ที่ขูดชีส (ถ้าไม่มีแบบสำเร็จรูปสามารถเอากระป๋องมาเจาะรูทำเองได้)
4.เตารีดผ้า
5.กรรไกร

วิธีทำ

1.เริ่มขูดไขผึ้ง ขูดลงที่จานพักไว้ก่อนโดยกะให้พอดีกับขนาดผ้าเพราะถ้าวางลงบนผ้าเยอะเกินไปไขผึ้งจะเลอะเทอะและทำความสะอาดยาก

2.ตั้งโต๊ะรีดผ้า นำกระดาษไขวางรองใต้ผ้าที่จะทำ wrap แล้วโรยไขผึ้งให้พอดีกับขนาดผ้า 

3.ใช้กระดาษไขวางทับอีกชั้น ใช้เตารีดไฟกลางเริ่มรีดเบาๆให้ไขผึ้งละลาย ความร้อนประมาณ 60 – 80องศา การใช้ความร้อนอย่าให้เกิน 80 องศาเพราะจะทำให้แอนไทแบคทีเรียในไขผึ้งหายไป และอย่าใช้เตารีดไอน้ำ เพราะความชื้นจะทำให้ผ้าขึ้นรา

4.รีดแค่ด้านเดียวเพราะไขผึ้งจะละลายซึมลงไปในเนื้อผ้าเอง 

5.เมื่อรีดเสร็จให้ลองเปิดกระดาษไขดูว่ามีส่วนผ้าที่ยังไม่โดนไขผึ้งไหม ถ้ามีค่อยๆเติมตรงส่วนนั้น ถ้าไขผึ้งละลายไม่เท่ากันก็ให้รีดให้เท่ากัน

6.เมื่อเสร็จแล้วรีบดึงผ้าออกจากกระดาษไข และให้เอาไปตากลม ผ้าจะแห้งไวมาก ประมาณ 30 วินาทีก็แห้งแล้ว 

*ระวังเรื่องการทำความสะอาดระหว่างทำ เพราะไขผึ้งเลอะเทอะจะทำความสะอาดยาก

วิธีการทำความสะอาดและเทคนิคการเก็บรักษา

คุณแอนนี่บอกว่าการทำความสะอาดง่ายมาก คือล้างเหมือนล้างจานเลยแต่ให้ใช้ฟองน้ำนิ่มๆ ล้างกับน้ำยาล้างจานก็ได้ เสร็จแล้วตากในที่ลมโกรก หรือเวลาที่เราไม่ได้ใช้ไขผึ้งห่ออาหารนานๆ ไขผึ้งห่ออาหารจะแข็ง ให้เราใช้มือขยุ้มผ้าเพื่อให้ความอุ่นในมือทำให้ผ้ายืดหยุ่นอีกครั้งซึ่งถ้าเราดูแลดีๆไขผึ้งห่ออาหารของเราจะมีอายุการใช้งานถึง 3 ปี

เมื่อได้ไขผึ้งห่ออาหารช่วยลดขยะพลาสติกแล้ว อย่าลืมมาร่วมกันอนุรักษ์แมลงตัวจิ๋วหนึ่งในผู้ผลิตแหล่งอาหารให้กับพวกเราด้วยนะ เพื่อรักษาอนาคตทางอาหารและพืชพันธุ์ให้อยู่กับเราไปนานๆ