1.ซีเซียมหายล้อมคอก ทำความรู้จักซีเซียม-137 คืออะไร? อันตรายแค่ไหน?

กรณีวัสดุกัมมันตรังสี “ซีเซียม-137” สูญหายจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนของบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 5 เอ จำกัด ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 304 อ. ศรีมหาโพธิ จ. ปราจีนบุรี เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 และต่อมา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมประเมินว่า วัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ดังกล่าวถูกหลอมไปหมดแล้ว หลังตรวจพบระดับรังสีซีเซียม-137 ในฝุ่นเหล็ก (หรือมักเรียกกันว่าฝุ่นแดง)

ซีเซียม
© สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ

ซีเซียม-137 เป็นสารกัมมันตรังสีอันตรายประเภทที่ 3 ตามการจำแนกของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency) มีลักษณะทางกายภาพมีลักษณะเป็นของแข็ง คล้ายผงเกลือ สามารถฟุ้งกระจายได้เมื่อแตกออกจากแคปซูลที่ห่อหุ้มไว และมีครึ่งชีวิต 30 ปี

หมายความว่า อีก 30 ปีนับจากนี้ ซีเซียม-137 จะเหลือจากการสลาย ร้อยละ 50 จนเหลือ 50 กรัม และอีก 60 ปีนับจากนี้ กัมมันตรังสีจะเหลือจากการสลาย ร้อยละ 25 จนเหลือ 25 กรัม ดังนั้นซีเซียม-137 ต้องใช้เวลาอีกนับร้อยปีจึงจะสลายเหลือศูนย์หรือจนสูญเสียสภาพ และระหว่างช่วงเวลาการสลายผลกระทบจากการปนเปื้อนอาจจะเกิดขึ้นต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

ในช่วงต้นปี 2566 ที่ผ่านมาเกิดคำถามมากมายเกี่ยวกับซีเซียม – 137 ที่หายไป และจากการแถลงข่าว มีการพบซีเซียมจำนวนมากในถุงบิ๊กแบ๊คที่บรรจุฝุ่นจากระบบกรองโรงงานรีไซเคิลโลหะ ซึ่งหากซีเซียม-137 นี้หลุดรอดออกมาจากระบบของโรงงาน ก็อาจจะมีการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมและห่วงโซ่อาหารได้

© สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ

2.ไขคำตอบ ทำไมฤดูร้อนของไทยอากาศร้อนจนแทบอยู่ไม่ได้ ?

ช่วงฤดูร้อนของไทย อุณหภูมิสูงสุดในแต่ละวันอาจทะลุไปมากกว่า 40 °C ช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมของทุกปี เราสามารถสัมผัสกับอากาศร้อนที่อาจสูงถึง 40°C ในปี 2559 ประเทศไทยต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 65 ปี

จากการศึกษาเกี่ยวกับคลื่นความร้อนของไทยในปี 2561 แม้แต่คลื่นความร้อนที่มีกำลังน้อยถึงปานกลางก็สามารถสร้างความเสียหายได้ นอกจากความเครียดจากความร้อนโดยเฉพาะกลุ่มคนเปราะบางที่เข้าไม่ถึงเครื่องปรับอากาศ ยังเพิ่มอุบัติการณ์ของโรคหัวใจ โรคปอดบวม และโรคติดเชื้ออื่นๆ

ปัจจุบัน อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีของประเทศไทยอยู่ที่ 26 องศาเซลเซียส การศึกษาในปี 2563 คาดการณ์ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีของประเทศไทยจะเท่ากับของทะเลทรายซาฮาราภายในปี 2613 โดยสูงมากกว่า 29 องศาเซลเซียส คลื่นความร้อนที่เบาที่สุดในช่วงปี 2613 จะเทียบได้กับคลื่นความร้อนที่รุนแรงที่สุด ณ ปัจจุบัน และทำให้ประเทศไทยร้อนเกินกว่าที่จะอาศัยอยู่ได้ตลอดทั้งปี

การลงมือแก้ไขวิกฤตสภาพภูมิอากาศของไทยถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่รัฐบาลจะต้องเร่งลงมือแก้ไขอย่างจริงจังโดยมุ่งตรงไปที่ต้นเหตุและไม่ใช้การฟอกเขียว

3.รายงาน IQAir เผย ปี 2565 ทั้งปีมีอากาศดีแค่ 3 เดือน และมีนา-เมษา PM2.5 สาหัสที่สุด ปี 2566 จะซ้ำรอยหรือหนักกว่าเดิม?

คุณภาพอากาศของไทยแย่ติดอันดับ 5 จากทั้งหมด 9 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอยู่อันดับที่ 57 จาก 131 ประเทศ และทุกภูมิภาคทั่วโลก

กรีนพีซ ประเทศไทย ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคประชาชนผลักดันกระบวนการทางกฎหมายให้หน่วยงานรัฐเร่งรัดการแก้ไขปัญหา PM2.5 โดยเมื่อ 11 พฤษภาคม 2565 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้เห็นชอบการปรับค่ามาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศโดยทั่วไป จากค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ที่ค่ามาตรฐานเดิมไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ยรายปีที่ค่ามาตรฐานเดิม 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ปรับเป็นค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงที่ 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2566 และค่าเฉลี่ยรายปีเป็น 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 24 มิถุนายน 2565

รายงานของ IQAir ปี 2565 เดือนมีนาคมคือเดือนที่ค่าฝุ่น PM2.5 ในไทยพุ่งสูงมากที่สุดในรอบปี รองลงมาคือเดือนเมษายน จังหวัดที่มีความเข้มข้นฝุ่น PM2.5 เฉลี่ยต่อปี มากที่สุดของไทย คือ สระบุรี รองลงมาคือ หนองคาย น่าน ลำปาง และขอนแก่น ตามลำดับ และยังนับเป็นช่วงที่ประชาชนในภาคเหนือของไทยมีความเสี่ยงต่อผลกระทบด้านสุขภาพจากมลพิษทางอากาศรุนแรง

เราจะพบว่ามีบางจังหวัดติดอันดับจังหวัดที่มีค่าความเข้มข้นPM2.5สูง แต่จังหวัดใกล้เคียงกลับไม่ปรากฎค่าที่สูงตาม เช่นในภาคอีสานที่ขอนแก่นติดอันดับจังหวัดที่มีค่าฝุ่น PM2.5 สูงมาหลายปี แต่จังหวัดใกล้เคียงกลับไม่ปรากฎสถิติติดอันดับที่สูงตามไปด้วย นั่นเพราะยังมีอีกหลายจังหวัดที่ยังไม่มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษหรือแม้แต่เครื่องวัดแบบเซ็นเซอร์ โดยเฉพาะจังหวัดในภาคอีสาน เช่น ศรีสะเกษ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ฯลฯ

กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่มีค่าความเข้มข้นฝุ่น PM2.5 เฉลี่ยรายปี สูงเป็นอันดับที่ 5 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นอันดับที่ 52 ของโลก มีค่าความเข้มข้น PM2.5 เฉลี่ย 18 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

การประท้วงเรื่องมลพิษทางอากาศในกรุงเทพมหานคร. © Wason Wanichakorn / Greenpeace
ประชาชนเข้าร่วมในกิจกรรม “พอกันที ขออากาศดีคืนมา” กรีนพีซ ประเทศไทย ร่วมกับ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม, มูลนิธิบูรณะนิเวศ, มูลนิธิชีววิถี(BIOTHAI), มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, Friend Zone, เมล์เดย์, Climate Strike Thailand และภาคประชาชน ร่วมยื่นแถลงการณ์ “พอกันที ขออากาศดีคืนมา” ถึงนายประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลลงมือจัดการกับปัญหาวิกฤตฝุ่น PM2.5 อย่างจริงจังและเร่งด่วน
© Wason Wanichakorn / Greenpeace

เพราะอากาศสะอาดคือสิทธิของเราทุกคน ร่วมผลักดันกฎหมาย #ThaiPRTR กฎหมายที่ส่งเสริมสิทธิที่จะได้รู้ (Right To Know) ของประชาชน ซึ่งนับเป็นสิทธิอันเป็นรากฐานสำคัญของการแก้ปัญหา PM 2.5 ทั่วโลก ได้ที่นี่ https://thaiprtr.com/

ร่วมผลักดันกฎหมาย #ThaiPRTR

เพราะอากาศสะอาดคือสิทธิของเราทุกคน กฎหมาย #ThaiPRTR ส่งเสริมสิทธิที่จะได้รู้ (Right To Know) ของประชาชน ซึ่งนับเป็นสิทธิอันเป็นรากฐานสำคัญของการแก้ปัญหา PM 2.5 ทั่วโลก

ร่วมลงชื่อ

4.คุณรู้จักผึ้งมากแค่ไหน? นี่คือเรื่องเล็ก ๆ ที่น่ารัก แต่สำคัญและยิ่งใหญ่เกี่ยวกับผึ้ง

คุณรู้หรือไม่ว่าผึ้งก็อยู่ในสังคมประชาธิปไตยเช่นกัน ในความเป็นจริงแล้วในขณะที่นางพญาผึ้งมีภารกิจในการวางไข่ การตัดสินใจเกี่ยวกับรังนั้นจะทำผ่านการสนทนาระหว่างผึ้งทุกตัวผ่านการเต้นรำ! ผึ้งสามารถเต้นรำได้หลากหลาย ทั้งเต้นรำเป็นวงกลม เต้นรำแบบรูปเคียว และเต้นรำแบบโยกเยก เมื่อเฝ้าดูการเต้นรำนี้ ผึ้งจะรับรู้ได้ว่าผึ้งตัวอื่นพบแหล่งน้ำหวานที่ไหน และที่ใดที่พวกเขาจะสามารถสร้างรังใหม่ได้

ผึ้งงานมีหน้าที่แตกต่างกันไปตามอายุ เด็กแรกเกิดมีหน้าที่ดูแลเด็ก ในขณะที่เด็กวัย 1 สัปดาห์มีหน้าที่สร้างรังใหม่และแจกจ่ายอาหาร เมื่ออายุมากขึ้น พวกผึ้งจะต้องเริ่มปกป้องบ้านของพวกเขา ผึ้งจะออกไปหาเกสรดอกไม้เมื่ออายุเกิน 3 สัปดาห์ สาเหตุที่ผึ้งงานมีบทบาทที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงอายุ เนื่องจากขนาดของสมองและความสามารถในการจดจำ

Bees in Decline in Slovakia. © Tomas Halasz / Greenpeace
ภาพการเลี้ยงผึ้งและผู้เลี้ยงผึ้งในสโลวาเกีย © Tomas Halasz / Greenpeace

จำนวนผึ้งผู้พิทักษ์ระบบนิเวศของเรากำลังลดลง โดยเมื่อต้นปี 2565 ประชากรผึ้งเกาหลีทั้งหมดสูญเสียไป 7.8 พันล้านตัวหรือราว 16% และคาดว่าจะสูญเสียมากขึ้นในปีนี้ โดยมีสาเหตุมาจากปัญหาสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เช่น วิกฤตสภาพภูมิอากาศ ปรสิต การลดลงของพืชน้ำผึ้ง และการใช้ยาฆ่าแมลง ดังนั้น จึงต้องเกิดการมีส่วนร่วมและความพยายามของรัฐบาลอย่างเร่งด่วนในการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนนี้ เพื่อยังคงรักษาปริมาณของผึ้งเพื่อที่โลกของเราจะยังคงมีอาหารที่เพียงพอ

Bees on Blossoms in Germany. © Axel Kirchhof / Greenpeace
ภาพผึ้งกำลังเก็บน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ © Axel Kirchhof / Greenpeace

5.คนไทยแบกค่าไฟหลังหัก! เพราะต้องจ่ายค่าไฟที่ไม่ได้ใช้

ค่าเอฟทีหรือค่าไฟฟ้าผันแปรในประเทศไทยได้พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 30 ปีในปีนี้ ส่งผลให้ค่าไฟพุ่งสูงแตะ 4.77 บาทต่อหน่วยในเดือนเมษายน 2566 และสาเหตุที่ทำให้เราต้องจ่ายค่าไฟแพงขนาดนี้จะมาจากค่า Ft ที่พุ่งสูงขึ้นแล้ว ยังมี ‘ค่าความพร้อมจ่าย’ ซึ่งนับเป็นต้นทุนสูงสุดอันดับ 2 ยิ่งอนุมัติโครงการโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ เรายิ่งต้องจ่ายค่าความพร้อมจ่ายเพิ่มขึ้นเท่านั้น

เรามีไฟฟ้าล้นในระบบมากกว่า 10,000 เมกะวัตต์ แต่รัฐยังเดินหน้าอนุมัติรับซื้อพลังงานไม่เคยหยุดหย่อน คำถามคือเราทำเพื่อความมั่นคงทางพลังงานของประชาชนหรือเพื่อความมั่นคงทางกำไรของกลุ่มทุนพลังงาน ? “ค่าความพร้อมจ่าย” ยังคงเป็นลักษณะสัญญาที่รัฐบาลทุกสมัยไม่เคยคิดที่จะเปลี่ยนแปลงให้เกิดความเป็นธรรม

ในเมื่อนโยบายทางพลังงานยังคงเอื้อกลุ่มพลังงานฟอสซิลทั้งจากก๊าซธรรมชาติ ถ่านหินและการซื้อไฟฟ้าและนำเข้าแอลเอ็นจี (LNG) จากต่างประเทศกันอีกยาว ทางเดียวที่เราจะทยอยปลดแอกจากการจ่ายค่าไฟเอื้อกลุ่มทุนพลังงาน นั่นคือการผลักดันดันให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หยุดเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องของประชาชนเพื่อให้นำมาตรการหักลบกลบหน่วยไฟฟ้า Net metering มาใช้ 

มาตรการนี้จะทำให้หลังคาบ้านของเราทุกคนสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เอง เมื่อเราสามารถติดโซลาร์เซลล์ผลิตพลังงานบนหลังคาบ้าน ก็จะลดภาระค่าไฟและเหลือขายเข้าระบบสร้างรายได้และร่วมผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแทนการพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากฟอสซิลที่สร้างภาระทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ต้องประกาศใช้ระบบ Net Metering

ร่วมเรียกร้องให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ออกมาตรการ net metering รับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟจากบ้านเรือนของประชาชนทั่วไป

มีส่วนร่วม