การจัดเสวนาในหัวข้อ “Climate Finance & Thailand Taxonomy; Opportunity and Challenge” Seminar วันที่ 1 กันยายน 2566 ณ ห้อง Ballroom ชั้น 1 โรงแรม แกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ นับเป็นการพูดคุยเรื่อง Taxonomy  ในหลายมิติครั้งแรกๆ ของประเทศไทย โดยมีตัวแทนจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ได้แก่ จารุกาญจน์ ราษฎร์ศิริ ผู้อำนวยการและผู้ประสานงานกลุ่มทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน และการขนส่ง – องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ)ประเทศไทย, กรรณิการ์ ศรีธัญญลักษณา Director และ บุญรอด เยาวพฤกษ์ Managing Partner จากบริษัท The Creagy จำกัด, ธนิดา ลอเสรีวานิช ผู้วิเคราะห์อาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย, นที สิทธิประศาสน์ ผู้แทนจากกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมประเทศไทย, สฤณี อาชวานันทกุล หัวหน้าคณะวิจัย แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand), และ Kuba Gogolewski, ผู้เชี่ยวชาญทางการเงินและ Lead Campaigner จากแคมเปญ ‘Money for Change’ กรีนพีซ สหภาพยุโรป

วิสัยทัศน์ต่อกลไกทางการเงินและการจัดกลุ่มกิจกรรมสีเขียวของไทย

จารุกาญจน์กล่าวว่า “อย่างที่ทุกท่านทราบอยู่แล้วว่าอีก 27 ปีต่อจากนี้ จะเป็นเวลาที่สำคัญมากสำหรับประเทศไทยและสำหรับโลกของเราที่จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญต่อไปในอนาคต โลกและประชากรจะเป็นไปในทิศทางไหน? ในขณะที่เรามีทั้งเป้าหมายบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 รวมถึงเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2065 ซึ่งประเทศไทยได้ให้สัญญาไว้ในการประชุม COP26”

จารุกาญจน์กล่าวว่าการเปลี่ยนผ่านต้องอาศัยกลไกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนจากภาครัฐในเชิงนโยบาย หรือภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในการขับเคลื่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าหมายใน 3 ทศวรรษข้างหน้า แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าปราศจากการเปลี่ยนผ่านทั้งในภาคพลังงาน, ภาคยานพานะ, และภาคอุตสาหกรรม ซึ่งต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะกลไกการเงินที่จะเป็นแรงจูงใจให้ภาคเอกชนสามารถเปลี่ยนผ่านได้

Climate Finance “สิ่งนี้จะไม่บรรลุเป้าหมาย ถ้าไม่มีเงิน”

กรรณิการ์กล่าวถึงที่มาของการศึกษาเรื่อง ‘Climate Finance for Carbon Neutrality in Thailand’ หลังได้รับโจทย์ว่าหากประเทศไทยต้องการไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050  และไปสู่เป้าหมาย Net Zero Emissions ภายในปี 2065 ประเทศไทยจะต้องทำอะไรบ้าง ซึ่งผลการศึกษาแบ่งออกเป็นสองส่วน

“เราศึกษาเรื่องกลไกทางการเงินและเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลก แล้วมาดูว่าเราถ้าต้องนำกลไกเหล่านี้มาใช้กับประเทศของเราเพื่อบรรลุเป้าหมาย เราจะใช้กลไกเหล่านี้ยังไงบ้าง จึงเป็นที่มาของการเสวนาวันนี้”

“ตอนนี้ประชาคมโลกตกลงกันแล้วว่าถ้าไม่อยากให้เราต้องเผชิญกับหายนะของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราต้องร่วมมือเพื่อทำให้บรรลุเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ในปี ค.ศ. 2050 และไม่ให้อุณหภูมิของโลกสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส แต่สิ่งนี้จะไม่บรรลุเป้าหมายถ้าไม่มีเงิน เพราะฉะนั้น Climate Finance (การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) เลยกลายเป็นเครื่องมือหลักที่จะขับเคลื่อนให้เราไปสู่จุดมุ่งหมาย”

“ปัจจุบันโลกมีเงินสนับสนุน Climate Finance ประมาณ 600,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมาจากทั้งการเงินภาครัฐ (Public Finance) และการเงินภาคเอกชน (Private Finance) แต่หากจะทะลุเป้าหมายในปี ค.ศ. 2050 จะต้องการเงินประมาณ 6,000,000 ล้านเหรียญ” กรรณิการ์กล่าวถึงภาพรวมในระดับโลก

ไทยต้อง ‘ลดคาร์บอน-เพิ่มเงิน Climate Finance’ เท่าไหร่?  หากต้องการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน

“สำหรับประเทศไทย จากผลการศึกษาประมาณการว่าถ้าเราจะบรรลุเป้าหมายตามขั้นตอน เราต้องลดการใช้คาร์บอนและเพิ่มเงินลงทุนใน Climate Finance เท่าไหร่ ถ้าดูจากเป้าหมายที่เราตั้งไว้ว่าจะลดให้ได้ 30% ในปี 2030 กับ 40% ในปี 2030 ซึ่งเป็นเป้าหมายระยะสั้น ประมาณการเบื้องต้นได้ว่าถ้ากรณีไม่มีเงื่อนไขแทรก เราจะต้องลดคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ 290 ล้านตัน ซึ่งนำไปสู่การลงทุนใน Climate Finance  5,000,000 ล้านบาท แบ่งเป็นภาคพลังงานประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท และภาคยานพาหนะประมาณ 4.3 ล้านล้านบาท แต่ถ้าเราจะลดถึง 40% แปลว่าเราจะต้องลดคาร์บอนไดออกไซด์ 342 ล้านตัน และเงินลงทุนจะเพิ่มเป็น 8,000,000 ล้านบาท โดยมาจากภาคพลังงานประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท และภาคยานพาหนะประมาณ 6.1 ล้านล้านบาท”

กรรณิการ์กล่าวต่อว่า จากผลการศึกษา แผนของภาคพลังงานที่จะนำไปสู่เป้าหมายควรแบ่งเป็นสามช่วงด้วยกัน ช่วงแรกคือปัจจุบัน – ค.ศ. 2030 ซึ่งควรให้ความสำคัญกับแผนลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคของพลังงานลง 30% จากปี 2019 โดยนำเทคโนโลยีและพลังงานหมุนเวียน เช่นพลังงานโซลาร์และพลังงานลมมาใช้ และต้องไม่สร้างโรงไฟฟ้าที่ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงแห่งใหม่, ในภาคยานพาหนะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการเดินทางไปใช้รถสาธารณะมากขึ้น ส่งเสริมให้ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ และเพิ่มปริมาณของยานพาหนะไฟฟ้า, ในภาพอุตสาหกรรมคือการใช้พลังงานชีวภาพมากขึ้น ฯลฯ ซึ่งในช่วงแรกนี้มีการประมาณการว่า หากทำได้จะลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 74 ล้านตัน

“เป้าหมายช่วงที่ 2 ขยับไปเป็นช่วงกลางในปี ค.ศ. 2030-2037 ที่ตั้งเป้าหมายว่าเราจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 50% หรือ 66 ล้านตัน เทคโนโลยีที่จะเข้ามามีบทบาทในภาคการผลิตไฟฟ้าจะเป็นการเก็บกักกระแสไฟฟ้าด้วยแบตเตอรีและในช่วงนี้ไม่ควรมีโรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดขึ้นใหม่, ในส่วนภาคยานพาหนะจะเน้นเรื่องของ EV เป็นหลัก รวมถึงปรับปรุงคุณภาพของเชื้อเพลิงให้มากขึ้น, ส่วนในฝั่งของอุตสาหกรรมเน้นเรื่องการเปลี่ยนผ่านจากการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่การผลิตและการใช้พลังงานไฟฟ้า (Electrification) และถ้ายังใช้เชื้อเพลิงอยู่จะเน้นไปที่เชื้อเพลิงชีวภาพเป็นหลัก”

“ในช่วงสุดท้ายที่จะไปถึงเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคของพลังงานให้ได้ 78% จะเน้นให้ความสำคัญกับพลังงานหมุนเวียนเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือมีไฮโดรเจนเข้ามาในระบบแล้ว ในส่วนของยานพาหนะจะเน้นเรื่องของ EV และการขนส่งทางราง (Rail Freight Transport) มาใช้ในการขนส่งสินค้าเป็นหลัก ถัดมาในส่วนของอุตสาหกรรมตอนนั้นไม่ควรมีโรงไฟฟ้าถ่านหินอีกแล้ว แต่อาจมีก๊าซไฮโดรเจนเข้ามาใช้ ในช่วงสุดท้ายนี้เราจะลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้อีก 65 ล้านตัน”

กรรณิการ์กล่าวว่าในภาพรวม Climate Finance ที่จะมาสนับสนุนให้เกิดความเป็นกลางทางคาร์บอนในประเทศไทยจะเกิดจากการเงินภาครัฐไม่มากนักแต่ยังต้องการเพราะเป็นจุดตั้งต้น ส่วนใหญ่จะเกิดจากการเงินภาคเอกชน และวันนี้เครื่องมือที่จะทำให้การเงินภาคเอกชนสามารถมาช่วยตอบโจทย์ได้คงหนีไม่พ้น ‘Thailand Taxonomy’

อย่าปล่อยให้ Taxonomy กลายเป็นเครื่องมือฟอกเขียว

Kuba จากกรีนพีซกล่าวว่า Taxonomy เป็นเหมือนระบบการให้เรตติงว่าธุรกิจไหนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ธุรกิจไหนเป็นสีเขียว หรือธุรกิจไหนไม่ใช่ ก่อนลงทุนไปกับอุตสาหกรรมหรือธุรกิจบางประเภทที่ติดป้ายว่าเป็นสีเขียว เราควรเข้าใจก่อนลงทุนว่าธุรกิจไหนให้ความสำคัญกับความยั่งยืน 

“Taxonomy มีจุดประสงค์ทางสิ่งแวดล้อม 6 ข้อ แต่ข้อแรกคือการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ ทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรทางทะเล ตอนกรีนพีซเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างระบบ Taxonomy ให้สหภาพยุโรป เราคิดว่าการหารือเริ่มคุยกันในเรื่องต่างๆ อย่างเช่น ก๊าซหรือพลังงานนิวเคลียร์ควรจะอยู่ในพลังงานยั่งยืนไหม เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งกรีนพีซต่อต้านการเอาก๊าซหรือพลังงานนิวเคลียร์เข้าไปอยู่ในพลังงานยั่งยืน รวมถึงการลงทุนที่เกี่ยวกับพลังงานในสองด้านนี้ด้วย และมีการตั้ง ‘Technical Screening Criteria’ หรือเกณฑ์ในการตัดสินว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบไหนที่มีผลต่อการลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อที่จะดูว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบไหนที่ไม่ได้ทำลายหรือส่งผลที่เลวร้ายเป้าหมายทางสภาพแวดล้อม”

Kuba กล่าวต่อว่าหากลองพิจารณาโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ที่อยู่ทั่วโลก สิ่งที่ปล่อยออกมาจากโรงงานทำให้ไม่สามารถกล่าวได้ว่ายั่งยืนอย่างเพียงพอ  การบอกว่าก๊าซและนิวเคลียร์เป็นพลังงานสีเขียวนั้น ไม่มีหลักฐานสนับสนุนทางวิทยาศาสตร์  กระนั้นในทางการเมือง, ก๊าซและนิวเคลียร์ถูกดึงเข้ามาให้มีบทบาทและมีผู้สนับสนุน ซึ่งกรีนพีซพยายามดึงพลังงานสองด้านในนี้ออกไปจากร่าง EU Taxonomy ให้ได้

“เราต้องหยุดการฟอกเขียว การฟอกเขียวควรมีการจำกัด ว่าอะไรคือสีเขียวจริงและไม่จริง”

การลงทุนมหาศาลในอุตสาหกรรมสีเขียวเป็นทั้งความท้าทายและโอกาส

บุญรอดกล่าวเสริมประเด็นของ Kuba ว่าโลกของเราต้องการไปสู่เป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ซึ่งคีย์เวิร์ดคือ ‘การลงทุนมหาศาล’ โลกต้องลงทุนในอุตสาหกรรมสีเขียวมากขึ้น ฉะนั้นจึงต้องมีการให้ความหมายว่าอะไรสีเขียว อะไรไม่ใช่สีเขียว ที่ยุโรปจึงเริ่มจากการทำ ‘EU Taxonomy’ เพื่อกำหนดว่าการลงทุนใดบ้างที่จะทำให้ประเทศในยุโรปเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ในขณะเดียวกัน และจัดทำสิ่งสำคัญ นั่นคือการจัดประเภทว่าธุรกิจใดเป็น Green, Amber, หรือ Red

“กลับมาที่บ้านเราบ้าง เป็นความท้าทายและโอกาสของไทย จากตัวเลขที่คุณกรรณิการ์กล่าวไว้ว่าถ้าประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน  ในปี ค.ศ. 2030 เราจะต้องมีเงินลงทุนประมาณ 8,000,000 ล้านบาท และถ้าจะบรรลุเป้าหมายปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์เราต้องการเงินมากขึ้นอีกสามเท่า คำถามคือเงินลงทุนเหล่านั้นจะมาลงในภาคส่วนไหนที่จะก่อให้เกิดความเท่าเทียม ก่อให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุน อย่างที่ไม่เร็วไปหรือช้าไป ?”

“จากภาพนี้ จะทำยังไงให้ประเทศไทยยิงปืนนัดเดียวได้นกสามตัว นัดที่หนึ่งคือเราบรรลุเป้าหมายทางสิ่งแวดล้อม,  นัดที่สอง เศรษฐกิจของไทยสามารถก้าวข้ามผ่านกับดักรายได้ปานกลาง เราจะหาเศรษฐกิจใหม่อะไรที่จะมาปลดล็อครายได้ต่อหัว สร้างงานประเภทใหม่ๆ ที่ไม่เคยได้ยินในสายงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ, และนัดที่สามคือทำยังไงให้ตัวเงินที่ไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ มันแฟร์และเข้าถึงทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะใหญ่ กลาง หรือเล็ก” บุญรอดกล่าว

ผู้ประกอบการไทยเสี่ยงต่อการถูกทิ้งไว้ข้างหลังหากปรับตัวไม่ทัน

ด้านนทีกล่าวว่าสิ่งที่น่ากังวลคือการปรับตัวของผู้ประกอบการไทยที่อาจถูกทิ้งไว้ข้างหลัง หากไม่เริ่มปรับตัวหรือทำความเข้าใจ Climate Economy หรือ Taxonomy ตั้งแต่วันนี้ “อย่าลืมว่าตลาดส่งออกของไทยไม่ได้มี EU ตลาดเดียว และที่สำคัญการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเขาตั้งเป้าหมายที่จะได้มาตรฐานนี้ไว้ ถ้าสินค้าของเราไม่ตรงตามมาตรฐานเขาก็ไม่ซื้อ และเป้าหมายของเขาไม่ใช่เป้าหมายที่จะให้เกิดในปี ค.ศ. 2050 แบบที่รัฐบาลตั้ง บริษัทโตโยต้าตั้งเป้าว่าเขาจะต้องได้มาตรฐานความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2035 ลองคิดว่าห่วงโซ่อุปทานก่อนไปถึงโตโยต้ามีธุรกิจอีกมากเท่าไหร่ ยาวไปถึง SME รายย่อยซึ่งเป็นบริษัทไทยทั้งนั้นเลย และผู้ประกอบการน้อยมากที่จะรู้เรื่องนี้ นี่คือสิ่งที่น่าเป็นห่วง”

นทีกล่าวว่าหากบริษัทใหญ่ๆ ต้องการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน บริษัทเล็กที่เป็นห่วงโซ่อุปทานต้องบรรลุก่อน นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายเรื่อง RE100 ที่บริษัทใหญ่ๆ หลายแห่งต้องการไปอยู่ในกลุ่มบรรษัทที่ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 100% ซึ่งบริษัทในประเทศไทยซึ่งเป็นห่วงโซ่อุปทานไม่มีทางทำได้ เนื่องจากในสายส่งไฟฟ้าทั้งหมดมีฟอสซิลอยู่ถึง 70%

“ถ้าถามว่าเราจะออกแบบการลงทุนอย่างไร? ประเด็นแรกผมเน้นที่การเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชน (Public-Private Partnerships) ซึ่งสำคัญมาก ผมยกตัวอย่างกระทรวงพลังงาน เวลากระทรวงฯ พูดว่าจะเปิดเสรีซื้อขายพลังงานสะอาด มันฟังดูดีมาก แต่ไปจบตอนสุดท้ายบอกว่าติดปัญหาตรงต้องลงทุนเยอะมาก เพราะต้องเปลี่ยนสายส่งซึ่งสายส่งเป็นของรัฐหมด เลยทำไม่ได้ ตรงนี้ผมอยากชี้ประเด็นว่าที่จริงกระทรวงพลังงานไม่ต้องห่วง ภาคเอกชนพร้อมเข้ามาช่วยลงทุน แค่คุณออกแบบการลงทุนออกมาให้ดีๆ ภาคเอกชนเอาด้วยหมดเลย คุณปรับนโยบายคุณให้ชัดแล้วกัน คุณต้องชี้เป้าว่ารัฐจะเดินทางนี้ เอกชนจะเดินด้วยกันไหม”

“อีกตัวอย่างหนึ่ง ถ้าพูดถึงเรื่องเงิน Climate Change ที่ไปลงสำนักงบประมาณ ผมไปคุยมาหลายเวที ทุกหน่วยงานบอกว่ามีโครงการเกี่ยวกับ Climate Change ทำมากบ้างน้อยบ้าง แต่พอไปถึงสำนักงบประมาณที่ต้องพิจารณางบประมาณประจำปี กลับถูกตัดหมดเลย เพราะไม่ใช่ภารกิจหลักของหน่วยงานรัฐหน่วยงานนั้นๆ เห็นไหมว่าทุกคนอยากช่วยให้เกิด แต่ระบบการบริหารราชการแผ่นดินเป็นกระทรวง ทบวง กรม มันแยกส่วนกัน เพราะฉะนั้นการบริหารงบประมาณควรเปลี่ยนเป็นตั้งต้นจากประเด็น (Issue-based) ตั้งเป็นประเด็นเลยว่างบก้อนนี้จะใช้กับ Climate Change และงบเกี่ยวกับ Climate Change จะต้องถูกกระจายไปให้ทุกกระทรวง ทบวง กรม เพื่อจะให้ขับเคลื่อนไปได้”

นทีกล่าวต่อว่านอกจากนี้ประเทศไทยต้องกล้าลงทุนในเรื่องการวิจัยและพัฒนา (R&D) ส่วนภาคเอกชนต้องกระตุ้นให้รัฐบาลเห็นว่าภาคเอกชนมีความพร้อม

“ถ้าจำได้ใน COP26 จะมีการทะเลาะกันเรื่องต้องปลดระวางฟอสซิล (Phase Out Fossil) ในขณะที่อีกฝั่งบอกว่าค่อยๆ ลดการใช้ลง (Phase Down Fossil) เรื่องนี้ไทยต้องคิด อาเซียนต้องคิดว่าโครงสร้างพื้นฐานของเราที่ลงทุนไปแล้วไม่รู้กี่บาท อยู่ๆ จะยกเลิกเลยมันไม่ใช่ แต่ต้องมีช่วงเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างอย่างเป็นธรรม (Just Energy Transition) ต้องค่อยๆ เปลี่ยนผ่านอย่างมีระบบและชัดเจน” 

ไม่ใช่แค่ปกป้องโลกแต่ Climate Finance คือโอกาสทองนำไทยหลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง

ขณะที่สฤณีกล่าวว่าเราสามารถทำให้โอกาสนี้เป็นการยิงปืนนัดเดียวให้ได้นกสามตัว คือ 1) ได้บรรลุเป้าหมายการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์  2) เศรษฐกิจเติบโต 3) ลดความเหลื่อมล้ำ ทั้งหมดสามารถเป็นไปได้ เพราะคิดว่าประเทศไทยมีศักยภาพ เพียงแต่อาจไม่เคยคิดเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง และตนยังไม่เห็นพรรคการเมืองพูดเรื่องนี้ เพราะที่ผ่านมาพรรคต่างๆ จะแยกนโยบายด้านเศรษฐกิจกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ไม่เอามารวมกัน

“คิดว่ามีหลายประเด็นที่เราน่าจะลองสำรวจดูว่าอาจนำไปสู่การได้นกสามตัว ประเด็นแรก เวลาเราพูดถึง Climate Finance เป้าหมายจริงๆ คือการลดผลกระทบ (Mitigation) และการปรับตัว (Adaptation) ส่วนตัวคิดว่าเราพูดเรื่องการปรับตัวน้อยไปหน่อย เราเป็นประเทศเปราะบางต่อผลกระทบจาก Climate Change ติดสิบอันดับแรก แน่นอนว่าเรามีปัญหาความเหลื่อมล้ำด้วย คนที่ต้องเจอผลกระทบเดือดร้อนที่สุดจาก Climate Change เลยคือคนไม่มีที่ไป ผู้ยากไร้ หรือผู้มีรายได้น้อย 

“ถ้าเราลองวางกรอบ Climate Finance  ใหม่แทนที่จะแยกส่วน เช่นหลายคนอาจมองว่าถึงธนาคารจะปล่อยสินเชื่อสีเขียว แต่ก็ยังปล่อยสินเชื่อฟอสซิลไปด้วย แถมรัฐยังช่วยอุดหนุนพอร์ทฟอสซิลไปเรื่อยๆ มันก็แก้ปัญหาไม่ได้อยู่ดี เราอาจต้องเปลี่ยนมาคิดเรื่องนี้ในมุมการเปลี่ยนผ่านทางการเงิน (Transition Finance) เช่นทำให้สินเชื่อที่ธนาคารปล่อยสู่โครงการที่ลูกค้าเคยทำธุรกิจฟอสซิล หรือธุรกิจสีน้ำตาลต่างๆ แล้วเปลี่ยนเป็นสีเขียว ได้รับแรงจูงใจจากรัฐเพิ่มเติม เป็นต้น”

สฤณีกล่าวว่าการเปลี่ยนผ่านเรื่องการเงินเพื่อสภาพภูมิอากาศสามารถทำได้อย่างเอื้อต่อการปรับตัวด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Adaptation) ได้

“ถ้าเราตั้งคำถามว่าจะได้อะไรจากการทำเรื่อง Climate Finance ถ้าดูแค่ Climate Mitigation อาจยังไม่ชัดเจน อาจจะเห็นแค่เงินลงทุน ยังมองไม่เห็นรายได้ แต่ถ้ามองในมุมของ Climate Adaptation และเชื่อมกับเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม มีหลักคิดและวิธีปฏิบัติที่ชัดมากในเรื่องต้นทุนการป้องกัน (Prevention Costs) เป็นวิธีการมองว่าสมมติเราไม่ทำอะไรเลย แล้วปล่อยให้สถานการณ์แย่ลง เราจะมีตัวเลขที่ชัดเจนว่าผลกระทบจะก่อความเสียหายเท่าไหร่ สมมติความเสียหายตีออกมา 100,000 ล้าน ถ้าเราจะหลีกเลี่ยงความเสียหายด้วยการลงทุน ต่อให้ลงทุน 80,000 ล้าน มันก็คุ้ม”

“ประเด็นต่อมาคือกลไกระหว่างประเทศ เราจะเห็นว่าประเทศกำลังพัฒนากำลังเรียกร้องมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว คุณปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาก่อน คุณก็ต้องช่วยเรา เพราะการเปลี่ยนผ่านนั้นมีต้นทุน พูดง่ายๆ ว่าต้องเอาเงินมาช่วย ซึ่งเริ่มมีผลเป็นรูปธรรมอย่างเช่น ‘กองทุนชดเชยความเสียหาย’ (Loss and Damage Fund) ซึ่งคุยกันมาสักพักแล้ว น่าเสียดายที่ประเทศไทยติดอันดับหนึ่งในสิบประเทศเปราะบางจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ยังไม่ได้ร่วมวงคุยกับเขา”

“ประเด็นสุดท้าย ถ้าเรามองว่าโจทย์เรื่อง Climate Finance ไม่ได้มุ่งผลตอบแทนเรื่องการเงินเป็นหลัก เรามองผลลัพธ์ทางสังคม ทางสิ่งแวดล้อม แปลว่าเราต้องให้ความสำคัญต่อกลไกการตรวจสอบมากกว่าการตรวจสอบของการเงินกระแสหลัก เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรที่จะสร้างระบบนิเวศของผู้มาช่วยภาคการเงินประเมินว่าโครงการนี้มันน่าจะเขียวจริงๆ แล้วมีกระบวนการติดตามต่อไป ซึ่งต้องอาศัยการรวมพลังกันของหน่วยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง”

จากนั้นธนิดากล่าวว่าการมี Taxonomy เข้ามา จะเป็นเหมือน ‘ดิกชันนารี’ ให้ความหมายให้ทุกคนพูดคำว่า ‘เขียว’ ในมุมมองเดียวกัน ซึ่งสำหรับไทยจะมุ่งไปทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก่อน ฉะนั้นภาคพลังงานและยานพาหนะจึงเป็นผู้เล่นหลัก และตนหวังว่าธนาคารหรือสถาบันการเงินจะนำ Taxonomy มาเป็นจุดเริ่มต้น เป็นตัวยึดโยงแรกที่นำไปประเมินสถานะ ทำให้ธนาคารรู้ว่าตัวเองอยู่ในจุดไหน สามารถทำแผนเพื่อจัดการกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น เพื่อการปรับตัวของตัวธนาคารและทำให้ลูกค้าร่วมปรับตัวไปด้วยกัน

“นอกจากการเป็นดิกชันนารีสีเขียว เราต้องการให้ Taxonomy เป็นเอกสารที่มีชีวิต (Living Document) เพราะในอนาคตจะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้น เทคโนโลยีที่วันนี้เราคิดว่าเขียว ในอนาคตอาจจะไม่เขียวแล้ว เพราะฉะนั้น Taxonomy จะมีการทบทวนเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขและตัวชี้วัดได้ตลอดเวลา”

“นอกจากการเป็นดิกชันนารีสีเขียว เราต้องการให้ Taxonomy เป็นเอกสารที่มีชีวิต (Living Document) เพราะในอนาคตจะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้น เทคโนโลยีที่วันนี้เราคิดว่าเขียว ในอนาคตอาจจะไม่เขียวแล้ว เพราะฉะนั้น Taxonomy จะมีการทบทวนเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขและตัวชี้วัดได้ตลอดเวลา”

อ่านรายงาน ‘แนวทางการจัดกลุ่มกิจกรรมเศรษฐกิจเขียวตามนิยามเดียวกัน (Thailand Taxonomy) เพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ยุติธรรม (Just Energy Transition)’ ได้ที่นี่

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานรณรงค์ด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานของกรีนพีซ ประเทศไทย