แม้จะมีคำกล่าวว่า “ฤดูฝุ่นกลับมาอีกครั้ง” แต่แท้จริงแล้วประเทศไทยมีฝุ่นตลอดปี ต้นเหตุที่มักถูกละเลยคือ ‘ฝุ่นภาคอุตสาหกรรม’ ที่ปล่อยทั้งปี ทุกวัน ตลอดเวลา เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ที่ยังขาดการแก้ปัญหา ในงานเสวนาเรื่อง “PM2.5 ในฝุ่นอุตสาหกรรมกับต้นเหตุที่ถูกมองข้าม” จัดโดยมูลนิธิบูรณะนิเวศ ร่วมกับกรีนพีซ ประเทศไทย หนึ่งในกิจกรรมภายใต้งานประชุมระดับชาติ เรื่อง มลพิษทางอากาศ PM2.5 ครั้งที่ 1 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ จึงได้หยิบยกประเด็นฝุ่น PM2.5 ในอุตสาหกรรมกับต้นเหตุที่ถูกมองข้ามมาเป็นประเด็นหลักในการพูดคุย

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศชี้ว่าแท้จริงแล้ว ฝุ่น PM2.5 เป็นเพียงแค่ส่วนเดียวของมลพิษอากาศเท่านั้น ในอากาศยังมีสารมลพิษอีกหลายตัว เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ตะกั่ว ฯ

“ในเชิงการวางแผนของไทยเรามีแผนต่าง ๆ มากมาย และยังมีแผนย่อยอีก แต่เราเคยทบทวนความสำเร็จหรือไหม การทบทวนแผนเหล่านี้มีคำถามมาก และมีความคลุมเครือเยอะ เช่น ยุทธศาสตร์แก้ปัญหาฝุ่น 20 ปี ฝุ่นภาคอุตสาหกรรมจะหายไปเรื่อย ๆ น่าสังเกตว่าน่าจะมีเหตุผลว่าทำไมถึงหายไป” เพ็ญโฉมกล่าว

“ฝุ่นควันข้ามพรมแดนเกิดขึ้นเป็นฤดู แต่ฝุ่นภาคอุตสาหกรรมเกิดขึ้น 365 วัน”

เพ็ญโฉมตั้งข้อสังเกตถึงภาคอุตสาหกรรมและนโยบายการแก้ปัญหาฝุ่นจากต้นตอแหล่งสำคัญแหล่งนี้ว่า ในไทยมีจำนวนโรงงานที่ก่อมลพิษอากาศรวม 66,300 โรง กรุงเทพมหานครมีโรงงานอุตสาหกรรมกว่า 5,000 โรง ฉะนั้นการบอกว่าฝุ่นกรุงเทพฯ มาจากภาคอุตสาหกรรมเพียงแค่ 4% จึงไม่น่าจะเป็นไปได้

การจะคุมฝุ่นจากภาคอุตสาหกรรมได้ องค์กรสหประชาชาติ กล่าวว่าทุกประเทศต้องมีกฎหมายปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register หรือ PRTR) ที่กำหนดให้มีการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ

ด้านฐิติกร บุญทองใหม่ ผู้จัดการแผนงานมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวถึงแนวโน้มฝุ่นย้อนหลัง ว่าทั่วประเทศไทยมีค่ามาตรฐานฝุ่นสูงเกินค่ามาตรฐานตลอด โดยจังหวัดสระบุรีมีค่ามาตรฐานฝุ่น PM10 สูงสุด ในปี 2559  การสูดฝุ่น PM2.5 ระยะยาวอาจทำให้คนตายกว่าปีละ 50,000 คนต่อปี ค่าใช้จ่ายโดยรวมของการเสียชีวิตส่วนเกินนี้คิดเป็นเกือบ 15% ของ GDP ไทยในปี 2559 (2,100 ล้านล้านบาท) 

“น่าสงสัยว่าทำไมค่ามาตรฐานฝุ่นไทยสูงกว่าทั่วโลก ไม่แน่ใจว่าปอดคนไทยแข็งแรงกว่าหรอ” ฐิติกรตั้งคำถาม

นอกจากฝุ่น PM2.5 ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่แก้ไม่จบแล้ว ฐิติกรยังศึกษาสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน (Persistent Organic Pollutants -POPs) ที่พื้นที่จังหวัดสมุทรสาครและปราจีนบุรี โดยจังหวัดสมุทรสาครมีแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศทั้งจากการคมนาคม การเผาในที่โล่ง และโรงงานอุตสาหกรรม

สมุทรสาครมีโรงงานกว่า 6,000 โรง เยอะเป็นอันดับที่ 3 ของภาคกลาง ฝุ่นจากภาคอุตสาหกรรมนับเป็น 99% ของฝุ่นทั้งจังหวัด สถิติการร้องเรียนด้านมลพิษอากาศไปยังกรมควบคุมมลพิษก็สูง มลพิษอากาศคือ 50% ของสถิติการร้องเรียนทั้งหมด

จังหวัดปราจีนบุรีมีบริบทคล้ายสมุทรสาครคือมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่หลายแห่ง 50% ของเรื่องร้องเรียนทางสิ่งแวดล้อมคือเรื่องมลพิษอากาศเช่นกัน สมุทรสาครมีสารพิษตกค้างยาวนาน (POPs) กับโลหะหนักสูงกว่าจังหวัดอื่นอย่างเห็นได้ชัด ฐิติกรพบว่าสาร POPs ที่สมุทรสาครสูงกว่าพื้นที่อุตสาหกรรมของญี่ปุ่นถึง 5 เท่า 

ขณะที่สมพร เพ็งค่ำ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาระบบการประเมินผลกระทบโดยชุมชนเล่าถึงระบบการเฝ้าระวังมลพิษอากาศโดยชุมชนอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน กรณีมลพิษข้ามแดนจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน หงสา สปป. ลาวว่าที่หงสามีโรงไฟฟ้าถ่านหิน 1,800 เมกะวัตต์ แม้ว่าจะมีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment-EIA) แต่พอพูดถึงฝุ่นพิษข้ามพรมแดน กลับไม่ได้มีการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนทำให้ฝั่งไทยไม่มีระบบเฝ้าระวัง 

“เราไม่มีข้อมูล เราไม่รู้เลยว่าสถานการณ์ตอนนั้นจะส่งผลกระทบอะไรบ้าง เราจะปกป้องตัวเองได้อย่างไร

ชาวบ้านห้วยโก๋น จังหวัดน่านมองเห็นฝุ่นควันลอยขึ้นมาจากฝั่งลาว ชาวบ้านเป็นชาติพันธุ์ลั๊วะ ต้องการรู้ว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินปล่อยมลพิษอะไรบ้าง และพวกเขาจะเฝ้าระวังตนเองได้อย่างไรบ้าง” สมพรกล่าว 

สมพรทำการวิจัยเพื่อสร้างระบบ co creation ขึ้นมาว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินอายุสัญญา 25 ปีนี้ปล่อยมลพิษอะไรบ้าง มลพิษมีโอกาสข้ามมาถึงฝั่งไทยหรือไม่ เราจะเฝ้าระวังได้อย่างไรบ้าง นักวิทยาศาสตร์ใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ดูอำเภอเฉลิมพระเกียรติ พบว่ามี 8 หมู่บ้านที่มีความเสี่ยงต่อมลพิษ 3 ตัวที่นคือแก๊ซกรดซัลฟูริก ฝุ่น PM2.5 และปรอทสะสมในระบบนิเวศและเส้นผม

ทีมสร้างนักวิทยาศาตร์ภาคพลเมือง นักสืบสายลม สายน้ำ ตรวจปรอทสะสม เก็บน้ำ น้ำฝน เฝ้าระวังสุขภาพ สังเกตว่าธรรมชาติเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง และบันทึกในระบบฐานข้อมูลใน C-SITE ของ สำนักข่าว Thaipbs เพื่อให้ผู้ก่อมลพิษชดเชยเยียวยาค่าเสียหายที่เกิดขึ้น

ด้าน รศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ อาจารย์สาขาวิศวกรรมสิ่งแวลล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวถึงการวิจัยการปลดปล่อยปรอทจากโรงไฟฟ้าถ่านหินไทยและการคาดการณ์ผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่นจากการตกสะสมของมลพิษจากเหมืองถ่านหินอมก๋อยว่า EIA เมืองถ่านหินอมก๋อยอาจจะไม่ได้ตอบโจทย์ทั้งหมดเนื่องจากการเผาไหม้ตนเองของถ่านหิน (spontaneous combustion) ไม่ถูกรวมอยู่ใน EIA ที่รัฐใช้

เมื่อทำแผนที่ความเสี่ยงหากเหมืองถ่านหินอมก๋อยเกิดขึ้นกลับพบว่าฝุ่น PM2.5 ที่จะเกิดจากเหมืองจะมีโลหะหนักประกอบด้วย 

“ปรอทซึ่งเป็นมลพิษข้ามโลก หรือ ‘true global pollutant’ เจ้าของบ้านหรือประชาชนคนไทยจะได้รับผลกระทบมาก

“ในอนาคตฝุ่นจากการเผาชีวมวลอาจมีโลหะหลักปนเปื้อนได้มากกว่าที่คุณคิด เพราะการปลดปล่อยมลพิษทางอากาศจากภาคอุตสาหกรรมส่งผลให้เกิดนการปนเปื้อนของสารโลหะหนักสู่อากาศ น้ำ ดิน และสุดท้ายก็ถูกเก็บสะสมในพืช ทำให้ในอนาคตการเผาไหม้ของพืชก็จะมีการปะปนของสารโลหะหนักถูกปลดปล่อยออกมามากขึ้นๆ” ธนพลทิ้งท้าย

มลพิษอากาศคือเรื่องเร่งด่วนจำเป็นต้องได้รับการแก้ปัญหา รัฐจึงไม่ควรมองข้ามฝุ่นจากภาคอุตสาหกรรม โจทย์ที่สำคัญจึงเป็นประชาชนจะเข้าถึงข้อมูลมลพิษได้อย่างไร เราจะทำแผนที่ความเสี่ยงจากผลกระทบภาคอุตสาหกรรมได้หรือไม่ เราจะรับมือโดยใช้หลักวิชาการได้อย่างไรและชุมชนจะปกป้องตัวได้อย่างไร นี่คือคำถามที่รัฐต้องเก็บไปทำการบ้านต่อไป

สนับสนุน #OpenDataมลพิษ >> https://act.gp/ThaiPRTR

#RightToCleanAir #ThaiPRTR