การคาดการณ์ที่ผิดพลาดมาโดยตลอดในช่วง 15 ปี ที่ผ่านมา พลังงานหมุนเวียนขยายตัวอย่างรวดเร็วเหนือความคาดหมายของใครหลายๆคน รวมถึงกลุ่มที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญอย่างบริษัทบีพี (BP) และทบวงพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) (ดูที่ figure 4) โดยสถิติชี้ว่า

 

  • ในช่วงระหว่างปี 2551-2559 ที่สหรัฐอเมริกา มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมเพิ่มขึ้นถึงสี่เท่าตัว ในขณะที่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการใช้สอยเองก็เพิ่มขึ้นถึง 40 เท่า
  • ในปี 2559 เพียงปีเดียว จีนได้ติดตั้งแผงโซลาร์มากถึง 34 กิกะวัตต์
  • เกือบสองในสามของกำลังผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นมาในปี 2559 มาจากพลังงานหมุนเวียน อีกทั้งส่วนแบ่งจากพลังงานหมุนเวียนของการผลิตไฟฟ้าทั่วโลกยังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆเหนือความคาดหมาย

ศักยภาพที่ยิ่งใหญ่

งานวิจัยที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆต่างชี้ว่าการใช้พลังงานหมุนเวียนนั้นเป็นไปได้ 100% และยังมีศักยภาพในการเพิ่มปริมาณการกักเก็บไฟฟ้าอีกมากมาย งานวิจัยชิ้นหนึ่งจากมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ดได้คำนวณไว้ว่า “การสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลมในพื้นที่ที่สามารถทำได้นั้นอาจช่วยเพิ่มปริมาณการผลิตไฟฟ้าให้กับโลกได้มากขึ้นถึง 3-5 เท่า และพลังงานแสงอาทิตย์อาจมากถึง 15-20 เท่า” โดยจะสามารถดึงศักยภาพที่เป็นไปได้ของพลังงานแสงอาทิตย์ ลม คลื่น และความร้อนใต้พิภพออกมาได้อีกมหาศาล แต่อย่างไรก็ดี ยังต้องมีการเปลี่ยนแปลงความคิดความเชื่อและระบบโครงสร้างการผลิตพลังงาน ซึ่งต้องอาศัยความมุ่งมั่นทางการเมืองเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านนี้เกิดขึ้นได้จริง

โดยคาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าจะขยายตัวถึงร้อยละ 48 ในช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2555 ถึงปี 2583 ซึ่งส่วนมากจะมาจากกลุ่มประเทศที่ไม่ได้อยู่ในองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ โออีซีดี (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) และพื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่ที่จะสามารถดึงศักยภาพของพลังงานหมุนเวียนออกมาได้มากที่สุด เช่นในพื้นที่เกือบทั้งหมดของแถบแอฟริกาและละตินอเมริกา ซึ่งเป็นสองพื้นที่ที่มีแสงแดดส่องมากที่สุดในโลกแต่กลับมีการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์เพียงแค่ไม่ถึง 10 วัตต์ต่อหัวประชากร ในขณะที่ที่ออสเตรเลียมีการติดตั้งมากถึง 100-200 วัตต์ต่อหัวประชากร

จีนได้บรรลุเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ภายในปี 2563 และยังคงขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ



ในปี 2560 ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานหมุนเวียนในจีนมีมากพอที่จะตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าในอินโดนีเซียทั้งประเทศได้ (249 เทระวัตต์ต่อชั่วโมง) โดยการใช้พลังงานหมุนเวียนในจีนนั้นยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องถึงราวร้อยละ 40 ต่อปี และในปี 2563 คาดว่าจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าในอินโดนีเซียได้มากถึงสองเท่าตัว

ผลกระทบจากการปล่อยมลพิษ

การใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้นนั้นได้ช่วยลดปริมาณการปล่อยมลพิษได้บ้างแล้ว โดยในช่วงสามปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกได้เติบโตขึ้นเรื่อยๆควบคู่ไปกับการปล่อยมลพิษในอัตราคงที่ ทั้งนี้เป็นเพราะมีการหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนซึ่งผลิตไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า รวมถึงการล้มเลิกการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน (ดูที่ figure 4)

กุญแจสำคัญ: ประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้าและการจัดการอุปทาน

การคาดการณ์ว่าจะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆทำให้เกิดการมองข้ามศักยภาพของประสิทธิภาพในการใช้ไฟฟ้าและการจัดการอุปทาน ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้ต่างก็เป็นส่วนประกอบสำคัญในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ตัวอย่างเช่นการที่ทบวงพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ประเมินไว้ว่าร้อยละ 70 ของการใช้ไฟฟ้าทั่วโลกนั้นเป็นไปอย่างไร้ประสิทธิภาพ อาทิ การสร้างอาคารที่ไม่มีมาตรฐานการจัดการไฟฟ้า โดยสถิติจากประเทศจีนชี้ว่าการที่เศรษฐกิจจะเติบโตขึ้นอย่างมหาศาลโดยแทบไม่ส่งผลกระทบกับปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าเลยนั้นมีความเป็นไปได้ (ซึ่งค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศหรือ GDP ของจีนนั้นเพิ่มขึ้นมาร้อยละ 6.9 ในปี 2558 ขณะที่ความต้องการใช้พลังงานนั้นเพิ่มขึ้นเพียงแค่ร้อยละ 0.9 เท่านั้น) เนื่องจากมีการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น (ความเข้มข้นทางไฟฟ้า)
ในรายงาน Greenpeace Energy [R]evolution ชี้ว่าประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้าจะช่วยลดความต้องการใช้ไฟฟ้าทั่วโลกลงได้มากถึงครึ่งหนึ่งภายในปี 2593 และการจัดการอุปทานยังมีศักยภาพที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงความต้องการใช้ไฟฟ้าได้ เพื่อให้จุดสูงสุดของอุปทานโดยรวมลดลง ซึ่งจะนำไปสู่ค่าใช้จ่ายที่ลดลงอีกด้วย

ประเด็นสำคัญ: เกือบสองในสามของความจุการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นมาในปี 2559 มาจากพลังงานหมุนเวียน อีกทั้งการใช้พลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มมากขึ้นรวมถึงประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้าจะยังช่วยลดปริมาณการปล่อยมลพิษได้อีกด้วย