สืบเนื่องจากการที่กกพ. ประกาศจ่อขึ้นค่าไฟบิลเดือน ม.ค.-เม.ย. 67  ตั้งแต่ 4.68-5.95 บาทต่อหน่วย จากสถานการณ์แก๊ส LNG ในตลาดโลกที่สูงขึ้น รวมถึงการแบกภาระหนี้จากความผิดพลาดของการจัดการพลังงานมายาวนาน

จริง ๆ แล้วปัญหาของระบบพลังงานไทยอาจไม่ใช่ค่าไฟแพงเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงค่าไฟไม่แฟร์ด้วย

วันนี้เราจะมาเปิดสาเหตุที่ค่าไฟแพงและไม่แฟร์ต่อคนไทยกันทีละข้อ

ค่าไฟแพง
Electricity meters on electric poles in rural Thailand, where on July 1, 2022, electricity rates are rising.

1. สัญญาซื้อขายไฟฟ้าเป็นสัญญาที่ไม่มีการเปิดเผยสู่สาธารณะ 

เนื่องจากสัญญาซื้อขายเป็น ‘ความลับ’ของภาครัฐและผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน แม้สัญญาพลังงานจะผูกพันและสร้างภาระให้กับประชาชนระยะยาวก็ตาม ประชาชนจะทราบข่าวการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนต่อเมื่อมีการลงนามซื้อขายในสัญญาไปแล้ว โดยเมื่อมีการเปิดเผยข้อมูล ผู้ลงทุนในสัญญาซื้อขาย (Power Purchase Agreemen: PPA) จะเห็นได้ว่าเป็นแหล่งทุนแหล่งเดิม นายทุนคนเดิมๆ ซึ่งสัญญาซื้อขายลักษณะนี้ค่อนข้างเป็นลักษณะผูกขาด กลุ่มทุนพลังงานมีอำนาจเหนือตลาด สร้างภาระให้กับผู้บริโภค และบั่นทอนประชาธิปไตยทางพลังงาน

กลุ่มขับเคลื่อนค่าไฟที่เป็นธรรมได้ส่งเรื่องเพื่อขอให้ภาครัฐเปิดเผยรายละเอียดสัญญา ซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchasing Agreement -PPA) แต่ก็ได้รับเพียงคำปฏิเสธเป็นคำตอบ

2. Take or pay คือตัวต้นเรื่อง! มีโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้เดินเครื่อง ไม่ได้ผลิตไฟฟ้า แต่คนไทยต้องจ่ายเงินส่วนนี้อยู่ดี 

สัญญาซื้อขายไฟระหว่างรัฐกับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนเป็นสัญญาบังคับซื้อที่เรียกว่า ‘สัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่มีค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้า (Availability Payment)’ ภายใต้เงื่อนไขแบบ “Take or pay – ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย” สัญญาชนิดนี้มีการประกันกำไรให้ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนที่ลงทุนสร้างโรงไฟฟ้า แม้ว่าราคาเชื้อเพลิงจะผันผวน หรือแม้ไม่มีความต้องการใช้ไฟฟ้า พวกเขาก็จะได้เงินตามเดิม! ทำให้ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ฟันกำไรมหาศาล

3. การคำนวณการไฟฟ้าสำรองที่เกินความจำเป็น ทำให้มีการผลิตไฟฟ้าล้นระบบ

ค่าสำรองไฟฟ้าที่ล้นเกินความจำเป็น เกิดจากจากคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะใช้ไฟฟ้ากี่เมกะวัตต์ แล้วจะสำรองไฟฟ้าในระบบกี่เมกะวัตต์ ปกติแล้วจะมีการสำรองไฟฟ้ามากกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak Demand) ที่ร้อยละ 15 แต่รู้ไหมว่าตามข้อมูลเดือนเมษายน 2564 ประเทศไทย สำรองไฟฟ้าในระบบราวร้อยละ 55 ! และล้นในระบบต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2544 ซึ่งการสำรองไฟฟ้าที่ล้นเกินแต่ไม่ได้ใช้ (เพราะเกินความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด Peak Demand ไปมาก) ก็จะถูกเรียกเก็บมาในบิลค่าไฟฟ้าที่เราต้องจ่ายด้วย 

4. หนี้ซ้ำหนี้ซ้อน หนี้เก่ายังไม่หาย หนี้ใหม่มาอีก

ประชาชนเป็นหนี้เก่าจากการจัดการพลังงานที่ไม่เป็นธรรมไม่พอ รัฐยังสร้างหนี้ใหม่ ทำสัญญารับซื้อไฟฟ้าฉบับใหม่ (New PPA) ในการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งไฟฟ้าจากเขื่อนลุ่มน้ำโขง โรงไฟฟ้าก๊าซฟอสซิลและการนำเข้า LNG 

นี่คือราคาที่ถูกบวกรวมเข้าไปในบิลค่าไฟฟ้าของประชาชนด้วย คำว่า “หนี้กฟผ.” แต่ในความจริงแล้ว มันคือ “หนี้ของประชาชน” เพราะท้ายที่สุด ผู้จ่ายคือเราทุกคนในทุกรอบบิลนั่นเอง

5. คนจ่ายค่าไฟไม่แฟร์คือประชาชนทุกคน แต่กำไรมหาศาลตกสู่กลุ่มทุนฟอสซิล

รู้หรือไม่จริงๆแล้วกฟผ. ผลิตไฟฟ้าเองเพียงร้อยละ 30 ของประเทศ และซื้อไฟฟ้ามาจากโรงไฟฟ้าเอกชนที่ผลิตไฟจากเชื้อเพลิงฟอสซิลอีกราวร้อยละ 70 แต่กลับไม่เปิดให้มีการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็นลำดับแรก ทั้งๆที่มีศักยภาพมากกว่า 43,000 เมกะวัตต์ 

ต้องทำอย่างไรค่าไฟถึงจะแฟร์และถูกลงในระยะยาว?

กรีนพีซ ประเทศไทยผลักดันนโยบาย “Net-Metering” หรือการเปิดเสรีโซลาร์ อนุญาตผู้ติดโซลาร์ขายไฟให้รัฐด้วยระบบหักลบกลบหน่วย โดยที่ไฟฟ้าที่ผลิตได้ส่วนเกินสามารถนำมาใช้หักลบกลบหน่วยได้ในรอบบิลถัดไป และมีมูลค่าเท่ากับราคาขายปลีก นโยบายนี้จะสนับสนุนให้เกิดประชาธิปไตยทางพลังงาน การผลิตไฟฟ้าไม่ถูกผูกขาดอยู่กับกลุ่มทุนฟอสซิลอย่างที่เป็นมา เอื้อให้ค่าไฟถูกลงในระยะยาว ทำให้ค่าไฟแฟร์กับประชาชนทุกคนจริง ๆ

รู้จักระบบ Net Metering ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=3HQiv2HXm8k&t=5s

ร่วมผลักดันนโยบาย Net Metering ไปกับกรีนพีซ ประเทศไทย ที่ https://act.seasia.greenpeace.org/th/solar-netmetering