2,472,492 ราย คือจำนวนผู้ป่วยสะสมโรคจากมลพิษทางอากาศในช่วงระหว่างมกราคม-เมษายน 2566 ที่ผ่านมา และผู้ที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากการรับสัมผัสฝุ่นพิษในระดับที่เป็นอันตรายจำนวนมากนั้นอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของไทย เช่น จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน น่าเศร้าที่วิกฤตฝุ่นภาคเหนือที่เกิดขึ้นเรื้อรังมาราว 20 ปีนั้น ไม่เคยได้รับการแก้ปัญหาจากภาครัฐอย่างจริงใจและจริงจัง แต่กลับเพิกเฉยปล่อยให้สุขภาพของประชาชนเป็นวิบากกรรมและภาระที่ประชาชนต้องทนทุกข์ในช่วงสี่เดือนของทุกปี

© Visarut Sankham / Greenpeace

หนึ่งในความหวังที่ปลายอุโมงค์อันแสนริบหรี่เกิดขึ้นเมื่อเครือข่ายประชาชนภาคเหนือฟ้องนายกฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเหตุไม่ใช้อำนาจทางกฎหมายแก้วิกฤตฝุ่น PM2.5 เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2566 กรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ไม่ได้ใช้มาตรการทางกฎหมาย กลไกทางสิทธิมนุษยชน นโยบาย และแผนที่มีอยู่ เพื่อแก้ไขสถานการณ์วิกฤตฝุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

แม้ล่าสุดศาลปกครองปฏิเสธข้อเรียกร้องทางคดีต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และคณะกรรมการกำกับตลาดทุนในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ซึ่งล้มเหลวในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนจากการปฏิบัตการตรวจสอบข้อมูลตลอดห่วงโซ่อุปทานอันเกี่ยวเนื่องกับแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ซึ่งส่งผลกระทบข้ามพรมแดนมายังประเทศไทย แต่ยังมีประเด็นสำคัญที่ต้องจับตามอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนที่ศาลปกครองจะตัดสินคดีความ กรีนพีซอยากชวนมาพูดคุยถึงประเด็นนี้อีกครั้ง กับสองตัวแทนทีมทนายประชาชนชาวเหนือ—กรกนก วัฒนภูมิ และ วัชลาวลี คำบุญเรือง

ประชาชนภาคเหนือ vs. รัฐ ที่มาของการฟ้องร้องต่อวิกฤตฝุ่นภาคเหนือ

(ซ้าย) วัชลาวลี คำบุญเรือง ตัวแทนทีมทนายประชาชนชาวเหนือ © Visarut Sankham / Greenpeace

วัชลาวลี: ตั้งแต่ช่วงปี 2540 เป็นต้นมา ที่สัมผัสได้ในช่วงมัธยมปลายคือ หมอกเชียงใหม่ในหน้าหนาวไม่ใช่หมอก เพราะเกิดในตอนกลางวัน แค่ในระยะ 100 เมตรก็มีทัศนวิสัยแย่ มองอะไรไม่เห็น กระทั่งปี 2562 ปัญหารุนแรงขึ้น ท้องฟ้าเป็นสีส้ม มีฝุ่นควันรุนแรง รัฐบอกว่ามีสาเหตุมาจากการเผาป่า หรือกำจัดเศษวัสดุการเกษตรในพื้นที่นาข้าวหรือไร่ข้าวโพด เราจึงเข้าใจมาตลอดว่าฝุ่นเกิดจากปัญหาการเผา เพราะตอนนั้นไม่มีใครสามารถอธิบายต้นตอฝุ่นได้ชัดเจน พอมาทำงานจึงได้รู้ว่าเกิดมาจากปัญหาโครงสร้างของรัฐ และไม่มีการจัดการแก้ไขที่มีประสิทธิภาพ

หลานเพิ่งเกิดเมื่อปีที่แล้ว ในช่วงที่ต้องเจอฝุ่นควันหนักๆ เครื่องฟอกอากาศขาดตลาด มีเครื่องเดียวสำหรับใช้ทั้งบ้าน อีกทั้งสิทธิในการรักษาพยาบาลก็ไม่รองรับ ไม่สามารถตรวจหรือบำบัดปอดเด็ก

หลังจากนั้นได้ติดตามอ่านคดีที่มีการฟ้องเรื่องมลพิษทางอากาศในเชียงใหม่ หลังจากที่มีคดีพิพากษา (คดีหมายแเลขดำ ส.1/2566) ครั้งล่าสุด คิดว่าศาลไม่ควรตัดสินหรือวางมาตรฐานฝุ่นขณะที่ยังไม่มีฝุ่นเกิดขึ้น ซึ่งในช่วงนั้นเป็นเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ จึงตัดสินใจมาทำงานและฟ้องคดีฝุ่น 

กรกนก: จากการที่เป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบ และติดตามปัญหาการลงทุนไทยในต่างแดน รวมถึงการบังคับใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plan on Business and Human Rights: NAP) รวมถึงเป็นสมาชิกกลุ่ม ETOs Watch ซึ่งเราตามเรื่องผละกระทบจากการลงทุนของนักลงทุนไทยในประเทศเพื่อนบ้านและส่งผลต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งกรณีผลกระทบข้ามพรมแดน 

ส่วนตัวย้ายมาอยู่เชียงใหม่ 7 ปีที่แล้ว สังเกตว่าจะมีฤดูกาลที่เราไม่เห็นดอยสุเทพ เพื่อนคนจีนบอกว่าเป็นปัญหามลพิษทางอากาศ เราได้เห้นกับตาตัวเองตอนเขาเผาไร่ข้าวโพด เหมือนไฟไหม้ทั้งภูเขา ก็เลยรู้ว่าเป็นปัญหา และส่งผลกระทบต่อร่างกายแน่นอน ในขณะนั้นเครื่องวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษมีเพียงไม่กี่จุด ไม่ตรวจวัด PM2.5 และไม่ได้แจ้งผลเรียลไทม์ ประชาชนต้องติดตามผลจากเครื่อง DustBoy ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เราทำได้แค่ป้องกันตัวเอง แต่ตอนนั้นหน้ากากในไทยก็แพงมาก จนกระทั่งเกิดวิกฤตโควิด 

วัชลาวลี: พูดถึงหน้ากาก เราก็ใส่มีแค่หน้ากากอนามัยธรรมดาใส่ ไม่สามารถป้องกันอะไรได้

กรกนก : ช่วงปี 2563 ประชาชนเพิ่งตระหนักว่าต้องใส่หน้ากากที่ถูกต้อง ตอนนั้นไปอบรมที่เกาหลี รัฐบาลมีแจกหน้ากากในช่วงฝุ่น และมีแจ้งเตือนภัยมาที่มือถือ รวมถึงขอให้คนช่วยกันใช้ขนส่งสาธารณะ

ทั้งกรกนกและวัชลาวลีเล่าว่า จุดผลักดันให้เริ่มฟ้องร้องในครั้งนี้คือ เป็นความอัดอั้นใจที่รัฐไม่ทำอะไรเลย แม้ในครั้งที่ศาลอ่านคำพิพากษาล่าสุดปี 2564 ที่ตัดสินในรัฐประกาศพื้นที่ภาคเหนือเป็นเขตควบคุมมลพิษ แต่รัฐกลับบอกว่าไม่รู้จะประกาศเป็นเขตควบคุมอย่างไร หรือคิดเกณฑ์อย่างไร ไม่มีมาตรการเยียวยาวหรือแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ทั้งสองรู้สึกโกรธกับกระบวนการยุติธรรมและรัฐบาลที่เพิกเฉยปัญหา 

“เพราะเราไม่ใช่คนที่อยู่ในกทม.หรือ ถึงไม่ได้ทำอะไรนอกจากบอกว่าห้ามเผา

เราไม่ใช่ประชาชนที่ต้องได้รับการปกป้องดูแลจากภาครัฐหรือ” กรกนกและวัชลาวลีกล่าว

ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงชวนคุยเครือข่ายมาช่วยกันว่าเราฟ้องกันไหม และให้คำฟ้องแตกต่าง เพราะปัญหามีสาเหตุจากทั้งในประเทศและข้ามพรมแดนมา และศึกษาดูว่ามีกฎหมายใดที่เกี่ยวข้อง ครั้งนี้ทำให้ทำให้เราฟอร์มคดี PM2.5 ที่ต่างจากคดีอื่น โดยเน้นที่ให้นายกรัฐมนตรีผู้มีอำนาจสั่งการ ตามมาตรา 9 พรบ.ส่งเสริมรักษาคุณภาพสิ่แวดล้อม และตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” พ.ศ.​2562

เมื่อค่าฝุ่นเกิน 100 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ติดต่อกันเกิน 3 วัน  นายกฯมีอำนาจในการสั่งการแก้ไขปัญหา และสั่งให้เอกชนหยุดกิจการและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง แต่นายกฯไม่ได้ปฏิบัติการ อีกทั้ง เมื่อค่าฝุ่นสูงเข้าช่วงวิกฤตเช่นนี้ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ต้องถือเป็นกรณีเร่งด่วนพิเศษ และพิจารณากลั่นกรองแนวทางให้นายกฯ เป็นการเร่งด่วน แต่ก็ยังไม่มีการแก้ไขสถานการณ์ที่ทันกับสถานการณ์ฝุ่นพิษภาคเหนือ

ทำไมถึงฟ้อง ก.ล.ต.และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน

กรกนก: เรามองจากมุมธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน จึงต้องฟ้องหน่วยงานรัฐ ผู้ซึ่งควรจะมีมาตรการอะไรบางอย่างในการเปิดเผยข้อมูลตรงนี้ออกมา เป็นการบังคับโดยตรงกับตลาดหุ้นและนักลงทุน มองว่ากลไกบังคับนี้จะสามารถกระตุ้นภาคเอกชนได้เร็ว นอกจากนี้กลต.และคณะกรรมการกำกับตลาดทุนมีหน้าที่ตรวจสอบให้ แบบรายงาน 56-1 One Report ของบริษัทจดทะเบียน ต้องเปิดเผยการดำเนินกิจการภายใต้การขับเคลื่อนธุรกิจด้านความยั่งยืน เนื่องจากปัญหาฝุ่นภาคเหนือเป็นปัญหาจากฝุ่นข้ามแดนที่เกี่ยวโยงกับการลงทุนของบริษัทไทย จึงต้องมีการตรวจสอบด้านห่วงโซ่อุปทาน แต่เท่าที่ดูก็ไม่มีการรายงานประเด็นนี้เข้ามา 

© Visarut Sankham / Greenpeace

ถ้ามองตามหลักการที่สหประชาชาติรับรองขึ้นเพื่อป้องกันผลกระทบ ด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน หรือ UNGP ที่กำหนดหน้าที่ของภาครัฐในการคุ้มครองสิทธิของประชาชนจากการถูกละเมิดโดยธุรกิจ กำหนดให้ภาคธุรกิจต้องเคารพสิทธิมนุษยชน และรัฐและภาคธุรกิจต้องเยียวยาประชาชน เรามองว่าเป็นกลไกที่ครอบคลุมทั้งหมด และเป็นเทรนด์ของโลกที่ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องคำนึงสิทธิมนุษยชนมากขึ้น เราจึงอยากให้กลไกลทางกฎหมายเข้มแข็งขึ้น เป็นหลักเกณฑ์ทั่วไปทางกฎหมาย ไม่ใช่แค่บริษัทใดบริษัทหนึ่ง ให้ประชาชนและผู้ซื้อหุ้นได้เข้าถึงข้อมูล 

วัชลาวลี: ข้อดีคือผู้บริโภคจะได้รับรู้ด้วย

กรกนก: เพราะผลิตภัณฑ์ก็ไม่ใช่การขายแค่ในประเทศเรา ดังนั้นพลังผู้บริโภคจึงไม่ได้อยู่แค่ภายในประเทศ

วัชลาวลี: นี่จึงเป็นเป็นความท้าทายให้กับทางศาล ว่าศาลจะมองเห็นความเชื่อมโยงไหมว่ามีธุรกิจประเภทหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

บทบาทหน้าที่ของกลต.และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน มีอำนาจกำกับดูแลบริษัทในตลาดหลักทรัพย์เป็นอย่างไร 

กรกนก: กลต. มีอำนาจหน้าที่ตามพรบ หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ มาตรา14 ในการวางนโยบาย ส่งเสริม พัฒนา และกำกับดูแลเรื่องหลักทรัพย์ ธุรกิจหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์ โดยกลต. มีอำนาจออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือข้อกำหนดตามพรบ.นี้ และออกกฎหมายระเบียบปฏิบัติเป็นกฎหมายลูก เพื่อบังคับให้บริษัทจดทะเบียนทำหน้าที่ตามกฎหมาย และมีบทลงโทษกฎหมาย แต่ตอนนี้ยังขาดแค่เกณฑ์ กลต.สามารถออกกฎเกณฑ์นี้ก่อนได้เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน และความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทาน 

คณะกรรมการกำกับตลาดทุนมีอำนาจหน้าที่ตามพรบ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ มาตรา16/6 รวมถึงการออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือข้อกำหนดเรื่องการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ฯ และปฏิบัติการอื่นใดตามที่ได้รับมอบหมายจากกลต.เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์พรบ.นี้

โดยการทำรายงาน 56-1 one report ของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์นั้นเป็นไปตามเงื่อนไขประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ55/2563 เรื่องหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการรายงานการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ (ฉบับที่20) โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 16/6 ประกอบ มาตรา 56 ซึ่งเป็นการกำหนดให้บริษัทจดทะเบียนออกรายงานประจำปีฉบับเดียว โดยในเนื้อหามีการยกระดับการเปิดเผยข้อมูล ESG ที่กำหนดความรับผิดชอบของบริษัทต่อสิ่งแวดล้อม บริษัทอุตสาหกรรมต่าง ๆ มักพูดว่ามีนโยบายความยั่งยืนอย่างไรบ้าง และปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างไรบ้าง แต่ไม่ได้ชี้แจงความเสี่ยงของบริษัท โดยเฉพาะเรื่องฝุ่น ช่องทาง One Report จึงเป็นช่องทางหนึ่งที่มีอำนาจบังคับให้ต้องรายงานผลกระทบจากฝุ่น 

ในแบบรายงาน มีหัวข้อ 3. การขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืน

3.1 นโยบายและเป้าหมายการจัดการด้านความยั่งยืน

3.2 การจัดการผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจ

3.3 การจัดการด้านความยั่งยืนในมิติสิ่งแวดล้อม

3.4 การจัดการด้านความยั่งยืนในมิติสังคม (รวมถึงการเคารพสิทธิมนุษยชนตลอดห่วงโซ่คุณค่า)

ดังนั้นบริษัทจดทะเบียนต้องเปิดเผยข้อมูลการดำเนินกิจการว่ามีนโยบายด้านนี้อย่างไร มีปัญหา ผลกระทบอย่างไร จัดการแก้ปัญหาอย่างไร เพื่อบุคคลทั่วไปและสถาบันจะสามารถเข้าถึงข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาซื้อหลักทรัพย์

หัวข้อการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืนเป็นประเด็นคาบเกี่ยวของหลักเกณฑ์ ESG ที่คำนึงถึงความรับผิดชอบของบริษัทต่อสิ่งแวดล้อม  (Environment, Social, Governance: ESG) เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) และ ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (BHR) เพราะเมื่อมีนโยบาย ESG และเคารพหลัก SDGs ภาคธุรกิจจะต้องเคารพสิทธิมนุษยชนตามหลักการสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน หรือ UNGPs

บทบาทของบริษัทและการทำธุรกิจยั่งยืน รวมถึงการเคารพสิทธมนุษยชนในห่วงโซ่อุปทานควรเป็นอย่างไร 

© Visarut Sankham / Greenpeace

กรกนก: บริษัทสามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ UNGP ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก และการประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence) และตลอดห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งทำให้แน่ใจว่าบังคับใช้ได้จริง ไม่มีการฟ้องปิดปากคนที่ออกมาเรียกร้องสิทธิ หรือคดีความ SLAPPs (Strategic Lawsuit Against Public Participation) ซึ่งบริษัทสามารถออกมาเป็นกฎเกณฑ์ หรือตั้งกลไกรับข้อร้องเรียน (Operational Grievance Mechanism: OGM) ของบริษัทขึ้นและปฏิบัติตาม ควบคู่ไปกับการปฏิบัติตามกฎหมายระดับประเทศ จะดีมากถ้ามีกฎหมายระดับประเทศบังคับภาคเอกชนให้ทำHRDDเพื่อคุ้มครองสิทธิ”

นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่ภูมิภาคอื่นมีกฎหมายระดับภูมิภาคด้านสิ่งแวดล้อม แต่ภูมิภาคเราไม่มี ซึ่งจะรับรองสิทธิในการเข้าถึงข้อมูล Access to information ถ้าไม่มีกฎหมายนี้ ประชาชนจะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ ก็จะไม่มีข้อมูลรอบด้าน (meaningful participation) และไม่สามารถส่งเสริมให้มีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย (meaaningful participation) ส่งผลให้เราไม่เข้าถึงการเยียวยา ไม่มีข้อมูลไปต่อสู้อย่างเป็นธรรม รวมถึงกระบวนการศาลที่ล่าช้าก็ทำให้เป็นปัญหา เพราะความยุติธรรมมาไม่ถึงสักที

หนึ่งในข้อเสนอเหล่านี้อยู่ในการฟ้องร้อง โดยเสนอทางออกให้ทำแผนปฏิบัติการและแก้ไขตามเกณฑ์ที่กล่าวมา

กฎหมายของไทยยังขาดมาตรการทางกฎหมายใดที่จะสามารถแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ และมีกฎหมายใดไหมที่สามารถเอาผิดบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการก่อมลพิษของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในห่วงโซ่การผลิตได้บ้าง

วัชลาวลี: กฎหมายไทยต้องมีรัฐธรรมนูญที่รับรองสิทธิสิ่งแวดล้อมที่ดี ที่เปิดให้ชุมชนมีสิทธิในการจัดการสิ่งแวดล้อม และสามารถทำได้จริงตามกฎหมาย 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 เรื่องละเมิด ที่ต้องพิสูจน์ความผิดบริษัทว่าประมาทนั้น ภาระการพิสูจน์ทำได้จริงยากมาก และการจ่ายค่าปรับด้วยการเป็นค่าซื้อเมสหรือค่าไฟสำหรับเครื่องฟอกอากาศ ก็ไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการ 

ขณะนี้คณะกรรมการควบคุมมลพิษไม่มีอำนาจในการตรวจตราตรวจสอบ ไม่มีเกณฑ์ PRTR ที่จะตรวจสอบเอกชน ไม่มีกฎหมายอากาศสะอาด ไม่มีกฎหมายกำกับมลพิษข้ามพรมแดน แม้จะมีความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามพรมแดนก็ตาม ตอนนี้ไทยแค่เสือกระดาษยังเป็นไม่ได้เลย 

กรกนก: เราไม่ต้องการกล่าวโทษเกษตรกร แต่มองถึงข้อผิดพลาดในนโยบายและกฎหมายที่เอื้อให้การปลูก แต่ไม่มีวิธีการจัดการเศษวัสดุจากการทำเกษตร ถึงบริษัทจะประกาศว่าไม่รับซื้อ แต่จุดฮอทสปอตก็เต็มไปหมด 

กฎหมายด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยไม่เอื้อ แต่ในยุโรปมีความตื่นตัวมาก มีหลักการ ให้คนเข้าถึงการเยียวยา 

มีกฎหมายเช่นนี้ไหมในประเทศอื่น ถ้ามีช่วยยกตัวอย่างการใช้กฎหมายเพื่อแก้ปัญหาฝุ่น 

กรกนก: ถ้าเรื่องฝุ่นโดยตรงมีแค่สิงคโปร์ คือTransboundary Haze Pollution Act 2014ที่ลงโทษคนหรือบริษัทสิงคโปร์ที่ไปลงทุนประเทศอื่น และก่อให้เกิดฝุ่นข้ามพรมแดนกลับมายังสิงคโปร์ ขณะที่ในมุมกฎหมายรูปแบบอื่นจะมีกรณีที่ประชาชนฟ้องศาลประเทศบริษัทแม่ตั้งอยู่ เป็นกฎหมายเชิงป้องกันการละเมิดของภาคธุรกิจ คือ

กฎหมาย Supply chain due diligence act ของเยอรมัน กฎหมาย Duty of Vigilance ของฝรั่งเศส และหลักกฎหมาย Duty of Care ประเทศอังกฤษ ซึ่งสะท้อนว่ากฎหมายมีความสำคัญแค่ไหนในการปกป้องสิทธิมนุษยชน สุขภาพ และสิ่งแวดล้อมของคนในประเทศ

กฎหมายสำคัญแค่ไหนในการปกป้องสิทธิมนุษยชน สุขภาพ และสิ่งแวดล้อมของคนในประเทศ

กรกนก: ถ้ามีกฎหมายก็คือมีคนมีสิทธิ และมีคนมีหน้าที่ทำตามกฎหมาย แต่ปัญหาของประเทศเราอยู่ที่การบังคับใช้ ถึงกฎหมายเขียนไว้ดีแค่ไหนก็ไม่มีผล 

วัชลาวลี: กฎหมายจะต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของคนในประเทศ การทำอะไรของบริษที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน จะต้องมีรัฐจะต้องมากำกับดูแลจริงจัง 

กฎหมายเป็นเครื่องมือในการกำกับควบคุมพฤติกรรมคนในสังคม สามารถเขียนให้เป็นคุณและโทษได้ เราจะต้องตามให้ทันกับสภาพแวดล้อมและประเด็นปัญหาที่เปลี่ยนไป ต้องคำนึงถึงสิทธิสิ่งแวดล้อมที่ดีของคนรุ่นปัจจุบันและอนาคต รัฐต้องปกป้องและรักษาชีวิตมนุษย์ที่เป็นทรัพยาการสำคัญที่สุดในประเทศ

(ขวาสุด) กรกนก วัฒนภูมิ ตัวแทนทีมทนายประชาชนชาวเหนือ © Visarut Sankham / Greenpeace

แต่รัฐไม่เข้าใจ หรือเข้าใจในรูปแบบการรวมศูนย์ ขณะนี้รัฐเป็นคนออกโยบายสนับสนุนให้เกิดฝุ่น PM2.5 เช่นออกแบบนโยบายรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้านโดยไม่มีมาตรการภาษีใดๆ ผนวกด้วยปัญหาโลกร้อนที่ไม่มีกฎหมายใดมาสนับสนุนจริงจังเสียที

ในฐานะนักกฎหมาย นโยบายของรัฐในประเทศไทยควรจะปรับเปลี่ยนไปในทิศทางใดบ้างเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม 

กรกนก: ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ไทยไปลงนามไว้ เช่น ESCR ที่ระบุเรื่องสิทธิในสุขภาพใน COP ควรนำมาใช้จริงตามบริบทโลกที่เปลี่ยนไป เพื่อคุ้มครองสิทธิ เป็นมาตรฐานเดียวกันกับประเทศอื่นที่สามารถคุ้มครองเราได้ อาจจะไม่ต้องเขียนใหม่แต่ทำให้ครอบคลุม

วัชลาวลี: ประเทศไทยไปรับหลักการสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศมาเยอะมาก แต่ไม่มีกฎหมายมากนักที่สอดคล้องในการคุ้มครองสิทธิ ขณะที่คนในกระบวนการยุติธรรมก็ควรต้องยอมรับความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม การมีส่วนร่วมจากประชาชนและชุมชนในการสร้างสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ที่ดี 

ความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมในความหมายของทั้งสองคนคืออะไร

วัชลาวลี : การเปิดรับให้บุคลลทุกคน ชุมชน มีสิทธิในการใช้ ดูแล บำรุงรักษาทรัพยากรที่ไม่ได้ให้ผลประโยชน์แต่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ทุกคนมีสิทธิตรวจสอบ  ขณะเดียวกันสามารถออกแบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ต้องออกแบบอย่างเข้าใจและเคารพวัฒนธรรม 

นโยบายไม่ควรให้อำนาจรัฐอย่างเดียว แต่ควรให้ชุมชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เพื่อให้ประชาชนดำรงชีวิตอย่างมีความสุข มีอากาศที่ดี ส่งต่อไปยังลูกหลานในอนาคต 

กรกนก: กฎหมายภายในประเทศและระหว่างประเทศที่ไม่มีการเลือกปฏิบัติ มีการพิจารณาจากหลายมุมการเคารพในอัตลักษณ์ความแตกต่าง หรือพหุวัฒนธรรม  ไม่ใช่แค่กฎหมายที่เขียนไว้ในกระดาษ ถึงแม้ไม่มีกฎหมาย ศาลก็ควรเป็นผู้ที่อำนวยความยุติธรรมเป็นที่ตั้ง 

คิดว่าการฟ้องคดีจะช่วยแก้ปัญหาฝุ่นได้มาน้อยอย่างไร

วัชลาวลี: อย่างน้อยการฟ้องคดีครั้งนี้ เราอยากให้ปัญหาฝุ่นพิษได้รับการยกระดับให้เป็นปัญหาของประเทศ และรัฐมีการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ทำได้จริง มีส่วนร่วมจากประชาชน และบริษัทเกษตรจะต้องมีหน้าที่ในการเข้ามารับผิดชอบและแก้ปัญหาอย่างจริงจัง 

เราไม่อยากได้แค่หน้ากากแจก ไม่อยากได้การพ่นน้ำ เราอยากได้การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน และสร้างความตระหนักไม่กล่าวโทษว่าคนบนดอยเป็นคนเผาป่า แต่ปัญหาฝุ่นพิษเป็นความไม่เข้าใจของภาครัฐในระบบไร่หมุนเวียน ทำให้เกิดการสะสมของใบไม้และไฟรุนแรง นโยบายรัฐต้องเปิดกว้าง และออกแบบให้หลากหลาย ไม่ใช่ One for All ต้องมีมาตรการที่แตกต่างในการแก้ไขปัญหา นอกจากนี้จะต้องมีระบบสาธารณสุขของคนในพื้นที่เสี่ยงภัย เช่น การตรวจปอดฟรี ตรวจสุขภาพฟรี ลูกหลานต้องมีสิทธิที่จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี และส่งต่อไปยังคนในอนาคตที่จะเกิดมา ปัจจุบันนี้มีสิทธิที่ถูกตัดออกไปจากในรัฐธรรมนูญปี 2560 คือ บุคคลมีสิทธิในการดำรงชีวิตในพื้นที่ที่เอื้อต่อสุขภาพ เราต้องการให้คดีเป็นจุดตั้งต้นในการถกเถียงในการมีสิทธิที่ดีได้รับการรับรองสิทธิคืนมาตรัฐธรรมนูญ การฟ้องจึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดความตื่นตัวและตระหนักรู้ของผู้มีส่วนได้เสียทั้งหลาย ทั้งผู้ได้รับผลกระทบ บุคคลทั่วไป ภาครัฐ ภาคธุรกิจ ผู้กำหนดนโยบายและกฎหมาย เพื่อจะหามาตรการในการลดฝุ่น ทั้งภายในและต่างประเทศ ที่เกี่ยวเนื่องกับห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจจากประเทศไทย ภาครัฐต้องมีมาตรการอย่างรอบด้าน โดยการมีส่วนร่วม ไม่ใช่นโยบาย top down 

กรกนก:ภาคธุรกิจและผู้กำหนดนโยบายต้องตื่นตัวกับการเปิดเผยข้อมูลและมาตราการการลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมจากการดำเนินกิจการในซ่วงโซ่อุปทาน

ไม่ว่าผลของคดีจะเป็นอย่างไร แต่เชื่อว่าทุกภาคส่วนจะมีมาตรการที่ดี ครบถ้วน รอบด้าน ยั่งยืน มาช่วยกันแก้ปัญหา เพื่อป้องกันผลกระทบทางสุขภาพ สิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน

คาดหวังอะไรบ้างจากการฟ้องคดีในครั้งนี้ และอยากเห็นการแก้ปัญหาอะไรอย่างเป็นรูปธรรมในประเด็นฝุ่นพิษภาคเหนือและข้ามพรมแดน

กรกนก: คาดหวังว่าจะมีคำพิพากษาที่เป็นคดีตัวอย่างที่ศาลปกครองอ้างหลักการสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ มาคุ้มครองสิทธิของคนในประเทศไทย และเกิดการแก้ปัญหาจากผลกระทบข้ามพรมแดน ซึ่งเป็นข้อท้าทายของภูมิภาคนี้ หวังว่าศาลจะเล็งเห็นว่าความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate justice เป็นประเด็นสำคัญ 

อย่าลืมว่าเราอยู่กับปัญหานี้หนี้มากกว่า 10 ปีแล้ว อยากให้มีการตระหนักรู้และเฝ้าะระวังทางสุขภาพ เช่น โรคปอด หรือโรคระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะในพื้นที่เช่นภาคเหนือ ต้องมีการเก็บข้อมูลจากผลกระทบทางสุขภาพ เมื่อเทียบกันแล้วภาษีที่จ่ายกับการป้องกันมีราคาถูกกว่าการแก้ไข โดยที่ความรับผิดชอบภาคธุรกิจน่าจะเป็นทางแก้ไขที่ดีกว่าการสูญเสียทางสุขภาพของประชาชน คำถามคือ เศรษฐกิจไม่ได้มีแค่ GDP ทำไมรัฐต้องแบกรับปัญหาสุขภาพของประชาชน สุดท้ายก็เป็นภาษีของเราอยู่ดี 

วัชลาวลี: การฟ้องครั้งนี้เป็นการจุดประเด็นสิทธิสิ่งแวดล้อมที่ดี ทุกภาคส่วนต้องเห็นว่าสิทธิในอากาศที่ดีเป็นสิทธิสำคัญและขั้นพื้นฐานที่รัฐต้องให้ความสำคัญและดูแล เพราะเราหายใจทุกวัน เราอยากให้รัฐทำหน้าที่ตรงนี้มากๆ และให้สิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลในสภาวะวิกฤต ที่ต้องเข้าถึงง่ายและราคาถูก ไม่จำเป็นที่ประชาชนต้องเสียเงินค่าเครื่องฟอก รัฐต้องเตรียมมาตรการพื้นฐานตรงนี้ เพื่อไปขับเคลื่อนประเทศ ที่สำคัญคือเราอยากเห็นภาคธุรกิจออกมาแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ไม่ผลักภาระให้คนบนดอยหรือชาวพื้นเมืองชาติพันธุ์ว่าเป็นต้นเหตุ เพราะ PM2.5 ใหญ่กว่านั้นและเกิดจากปัญหาโครงสร้างของรัฐ

ร่วมจับตามองว่าการตัดสินของศาลปกครองเชียงใหม่จะเป็นอย่างไร จะเป็นอีกหน้าประวัติศาสตร์การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนภาคเหนือ หรือจะเป็นอีกแค่บทหนึ่งของกฎหมายที่ไม่สามารถเอื้อความยุติธรรมให้กับประชาชน