หากคุณไม่ได้ติดตามพัฒนาการด้านอาหารและการเกษตรที่ COP28 คุณอาจไม่รู้ว่า COP ปี 2566 นี้ได้รับการขนานนามว่าเป็น “COP ว่าด้วยอาหาร(Food COP)” ครั้งแรก

ระบบอาหารมีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ทั่วโลกราวหนึ่งในสาม และเป็นประเด็นที่ไม่ถูกจับตาอย่างละเอียด แต่ในที่สุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกี่ยวข้องกับอาหารก็กลายเป็นจุดสนใจของการเจรจาด้านสภาพภูมิอากาศในแต่ละปี เพื่อเป็นปฏิบัติการควบคู่ไปกับการปลดระวางเชื้อเพลิงฟอสซิล

ในภาพรวม : 57% ของก๊าซเรือนกระจกที่เกี่ยวข้องกับการผลิตทางการเกษตรเกิดจากฟาร์มปศุสัตว์ การผลิตปศุสัตว์คิดเป็นประมาณ 32% ของการปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีศักยภาพที่ก่อให้เกิดโลกร้อน(superheater) มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 80 เท่าในช่วงระยะเวลา 20 ปี การลดการปล่อยก๊าซมีเทนลงในอีก 7 ปีข้างหน้าทําให้เรามีโอกาสที่แท้จริงในการชะลอวิกฤตและจํากัดความโกลาหลของสภาพภูมิอากาศ

ดังนั้น คุณคงคิดว่าบริษัทอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับอุตสาหกรรมน่าจะร้อนตัวที่ “Food COP” แต่กลับกลายเป็นว่า พวกเขามีพื้นที่หลักเพื่อจัดวางว่าพวกเขาสามารถดําเนินกิจกรรมที่ก่อโลกเดือดนี้ต่อไปอย่างไร

หลังจากอยู่ในทุ่งหญ้ามาทั้งวัน ฝูงวัวจะถูกย้ายกลับไปที่ฟาร์มปศุสัตว์ใน Castanheira ใน Mato Grosso ประเทศบราซิล © Bruno Kelly / Greenpeace

อุตสาหกรรมเกษตรยักษ์ใหญ่ทําอะไรที่ COP

การประชุมพหุภาคีเช่น COP ถูกแทรกซึมมากขึ้นโดยผลประโยชน์ของบรรษัทโดยการโชว์ถึงโครงการริเริ่มด้านสภาพภูมิอากาศในเวทีคู่ขนานที่เต็มไปด้วยการฟอกเขียว แนวโน้มนี้รับรองโดยกระบวนการ “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่าย(multistakeholderism)” ซึ่งเป็นแนวทางในการกําหนดนโยบายที่เปิดให้บริษัทอุตสาหกรรมต่างๆ มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ แม้ว่าผลประโยชน์ทับซ้อนจะเกิดขึ้นระหว่างปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศและผลกําไรของบรรษัทก็ตาม ขอบเขตของการแก้ปัญหาทำให้แคบลงเป็นการแทรกแซงที่เป็นมิตรกับตลาดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นโครงการแบบสมัครใจมากกว่ามาตรการที่แข็งแกร่งที่เกี่ยวข้องกับกฎเกณฑ์ของรัฐ

มีการบันทึกไว้อย่างกว้างขวางถึงการที่อุตสาหกรรมน้ํามันและก๊าซฟอสซิลใช้กลวิธีนี้แทรกซึมการประชุมเจรจาสภาพภูมิอากาศเพื่อพยายามควบคุมประชาคมโลกถอยห่างจากปฏิบัติการที่มีความหมาย Big Ag หรือ บริษัทธุรกิจการเกษตรขนาดใหญ่ที่ใช้อํานาจมหาศาลในระบบอาหารนี้กําลังใช้วิธีเดียวกันทุกประการ ที่ COP28 ธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรกําลังจะครอบงําการเล่าเรื่องว่าด้วยการเปลี่ยนผ่านระบบอาหาร

บรรษัทอาหารข้ามชาติพยายามสร้างข่าวใหญ่ในอีเวนท์ต่างๆ เป็นสปอนเซอร์ให้กับการแสดงนิทรรศการ และแม้กระทั่งเป็นพันธมิตรอย่างใกล้ชิดในการกำหนดวาระการประชุมของประธาน COP28 เกี่ยวกับระบบอาหาร ประดิษฐ์คําขวัญที่ดูดี ยิ่งอยู่ในความสนใจมากเท่าไรก็ยิ่งดี

ทางออกที่บรรษัทอาหารข้ามชาติส่งเสริมส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมการกักเก็บคาร์บอนผ่าน “การเกษตรกรรมฟื้นฟู” และการเสริมสร้างนวัตกรรมการทําฟาร์มเพื่อประสิทธิภาพที่มากขึ้น แนวทางเหล่านี้ไม่มีข้อกําหนดใดที่ต้องการการลดระดับการผลิต ไม่มีแนวทางใดตั้งคําถามถึงรูปแบบการเกษตรอุตสาหกรรมที่มีข้อบกพร่องของอุตสาหกรรมเกษตรยักษ์ใหญ่ที่ทําให้ระบบอาหารทั่วโลกของเราล้มเหลว

ฟาร์มโรงงานโคนมแห่งนี้ใกล้เมืองคาปาโรโซ ประเทศสเปน มีลูกโคหลายแถวที่เลี้ยงไว้ โดยไม่สามารถเคลื่อนย้ายไปมาได้และถูกกีดกันไม่ให้สัมผัสกับแม่ของมัน © Tania Garnica / Greenpeace

COP28 ซึ่งเป็น “Food COP” ให้ความสําคัญกับความเชื่อมโยงระหว่างการผลิตอาหารและสภาพภูมิอากาศอย่างถูกต้อง แต่ไม่มีใครคิดเลยว่า กลุ่มผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ที่สุดในภาคเกษตรกรรมซึ่งหลบซ่อนอย่างกลมกลืนนั้นได้เป็นผู้มีบทบาทหลัก บางบริษัทอุตสาหกรรมเกษตรที่เกี่ยวข้องเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มบริษัทเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นม 15 แห่ง ซึ่งรวมกันแล้วคาดว่ามีการปล่อยก๊าซมีเทนมากเท่ากับรัสเซีย แคนาดา ออสเตรเลีย และเยอรมนี

แม้ว่าการเปลี่ยนผ่านระบบอาหารจะไม่เป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาใน COP28 นี้ แต่พื้นที่ที่อุตสาหกรรมเกษตรยักษ์ใหญ่ใช้เพื่อเล่าเรื่องของ ระบบอาหารของตนนั้นมีอยู่เกือบทุกหนทุกแห่ง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับพื้นที่ของกลุ่มเกษตรกรรายย่อย ชาวประมง และชนพื้นเมือง) นั่นหมายความว่าอุตสาหกรรมเกษตรยักษ์ใหญ่จะครองการเล่าเรื่องเกี่ยวกับการแก้ปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของระบบอาหาร เราต้องไม่ปล่อยให้สิ่งนี้เกิดขึ้น

ในทุ่งหญ้าใกล้ฟาร์ม Avel Vor ในเมือง Landunvez ประเทศฝรั่งเศส อาสาสมัครเน้นย้ำถึงผลร้ายของการทําฟาร์มแบบโรงงาน ความจําเป็นในการยุติ และเพื่อปกป้องการทําฟาร์มโดยไม่ใช้อุตสาหกรรมเกษตร
© Marie Sebire / Greenpeace

ปฏิบัติการที่เราต้องการ

ความจริงที่ว่าธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรขนาดใหญ่กําลังควบคุมการเล่าเรื่องที่ COP ไม่ได้หมายความว่าจะจบลงแค่นั้น เมื่อการประชุมเจรจาสภาพภูมิอากาศโลกสิ้นสุดลง นักการเมืองจะกลับบ้าน และนั่นคือเวลาที่การทำงานจริงๆ เรื่องระบบอาหารเริ่มต้นขึ้น

เพื่อให้ความมุ่งมั่นนี้กลายเป็นความจริง ผู้นําประเทศต่างๆ ต้องมองทะลุข้ามวาทศิลป์ของธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรขนาดใหญ่ และวางแผนการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมซึ่งคํานึงถึงระบบอาหารโดยรวม รัฐบาลยังต้องผนวกเอาองค์กรภาคประชาสังคม กลุ่มผู้บริโภค ชนพื้นเมือง นักวิทยาศาสตร์ และที่สำคัญ เกษตรกร เพื่อกําหนดแนวทางให้ห่างจากระบบเกษตรอุตสาหกรรมที่ทําลายสภาพภูมิอากาศ

ผู้มีอํานาจตัดสินใจต้องนําวิธีแก้ปัญหาที่ทะเยอทะยานมาใช้และกําหนดเป้าหมายเฉพาะสําหรับก๊าซเรือนกระจกที่แตกต่างกัน เช่น มีเทนหรือไนตรัสออกไซด์ จุดเริ่มต้นที่สําคัญประการหนึ่งคือการยุติการขยายโรงงานฟาร์มปศุสัตว์แห่งใหม่ ในกรณีที่มีรูปแบบการบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนมมากเกินไป (ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มประเทศซีกโลกเหนือ) ประเทศต่างๆ จําเป็นต้องกําหนดเงื่อนไขด้านอาหารเพื่อกระตุ้นให้ประชากรส่วนใหญ่ปรับเปลี่ยนไปสู่อาหารจากพืชมากขึ้นและโปรตีนจากสัตว์น้อยลง ควบคู่ไปกับแผนที่เป็นรูปธรรมเพื่อการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมของเกษตรกรที่ผูกติดอยู่ในความสัมพันธ์ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตร โดยการเปลี่ยนเงินอุดหนุนเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านจากการเลี้ยงปศุสัตว์อย่างเข้มข้นในฟาร์มโรงงานขนาดยักษ์ไปสู่ระบบเกษตรกรรมเชิงนิเวศเกษตร เราต้องการชุมชนชนบทที่มีชีวิตชีวาซึ่งมี ฟาร์มมากขึ้นและปศุสัตว์น้อยลงเพื่อเป็นประโยชน์ต่อความหลากหลายทางชีวภาพและสภาพภูมิอากาศ

เป็นเรื่องน่าเหลือเชื่อที่ชะตากรรมของอาหารถูกควบคุมอย่างลึกซึ้งโดยผู้เล่นที่เป็นบรรษัทอุตสาหกรรม วิธีที่เราผลิตอาหารส่งผลกระทบต่อเราทุกคน และเราไม่สามารถปล่อยให้วิธีแก้ปัญหาที่ถูกเสนอในห้องประชุมเจรจาที่ปิดลับมากําหนดวิธีที่เราหล่อเลี้ยงร่างกายและอาหารที่อยู่บนโต๊ะของเรา

กรีนพีซเดนมาร์กประท้วงร่วมกับประชาชนในท้องถิ่นในหมู่บ้านเล็ก ๆ ของ Rislev เพื่อต่อต้านภัยคุกคามจากการทําฟาร์มแบบโรงงานที่เพิ่มขึ้น
© Erik Albertsen / Greenpeace

Sophie Nodzenski เป็นนักรณรงค์ด้านอาหารและการเกษตรที่ Greenpeace International

บทความนี้แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ อ่านบทความต้นฉบับ