ไปให้พ้นจากตลาดชดเชยคาร์บอน มุ่งสู่ปฎิบัติการกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศที่นำโดยชุมชน

เราต้องยอมรับความจริงที่ว่า มนุษยชาติกําลังเปลี่ยนแปลงชีวมณฑลและทําลายความหลากหลายทางชีวภาพในรูปแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน หลายปีที่ผ่านมา ประเทศต่างๆ ได้เจรจาหาหนทางสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศให้มากขึ้นเพื่อบรรลุเป้าหมายของความตกลงปารีสในการจํากัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกที่ 1.5°C เทียบกับระดับก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม หากพ้นจากขีดจำกัดที่ว่านี้ก็คืออันตรายโดยสิ้นเชิง ในขณะที่ การจัดตั้งตลาดคาร์บอนที่อ้างว่าเพื่อการจัดการก๊าซเรือนกระจกภายใต้ความตกลงปารีสนั้นไม่ได้ช่วยอะไรเลยในแง่ของผลลัพธ์ที่มีความหมายสำหรับการต่อกรกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศและวิกฤตความหลากหลายทางชีวภาพ เวลาแห่งการเดิมพันการชดเชยคาร์บอนนั้นสิ้นสุดลงแล้ว

การแก้ปัญหาแบบไม่มักง่ายเพื่อผลลัพธ์ที่แท้จริง

ความตกลงปารีสแบ่งแนวทางในการดําเนินการร่วมกันเพื่อบรรลุเป้าหมายขีดจำกัดอุณหภูมิ 1.5°C ประการแรกคือ ตั้งใจที่จะสร้างตลาดคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศ ประการที่สองคือบัญชีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีความสลับซับซ้อนสูงสําหรับตลาดคาร์บอนระหว่างประเทศ ทั้งสองแนวทางนี้เสี่ยงในการทำให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อผู้คน ธรรมชาติ และสภาพภูมิอากาศ เช่น การแย่งยึดที่ดินเพื่อทำสวนป่าสำหรับพลังงานชีวมวล เป็นต้น

การประท้วงต่อต้านการรื้อถอนหมู่บ้าน Lützerath ที่นักกิจกรรมกรีนพีซเข้าร่วม
© Bernd Lauter / Greenpeace

ทางเลือกประการที่สามคือ แนวทางที่ไม่ใช่ตลาดโดยเป็นพื้นที่เพื่อการทํางานร่วมกันที่ดีขึ้นและเร็วขึ้นของปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศระหว่างกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลาย มักเป็นพื้นที่การทำงานร่วมกันที่ถูกมองข้าม แนวทางนี้ให้ความหวังในการเพิ่มขีดความสามารถของกลุ่มชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นอื่นๆ และกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้หญิงและเด็ก เพื่อกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพโดยย้อนกลับไปสู่วิธีการแก้ปัญหาที่ผิดพลาด

รายงานล่าสุดของกรีนพีซ “Match-Making Community-Led Climate Action” ระบุถึงวิสัยทัศน์สําหรับความร่วมมือระหว่างประเทศภายใต้ความตกลงปารีสที่นอกเหนือไปจากตลาดคาร์บอน มุ่งเน้นไปมาตรา 6.8 ของความตกลงปารีส ซึ่งมีความเป็นไปได้หากเจตจํานงทางการเมืองเกิดขึ้นเพื่อปรับเปลี่ยนปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศให้ถูกต้องผ่านการขยายความร่วมมือระหว่างประเทศ

© Marie Jacquemin / Greenpeace

มาตรา 6.8 นั้นเป็นองค์ประกอบที่เป็นเอกลักษณ์และสําคัญของความตกลงปารีส สามารถสร้างให้เกิดปฏิบัติการที่ร่วมมือกันในการจัดการก๊าซเรือนกระจกโดยไม่จำเป็นต้องใช้กลไกการชดเชยคาร์บอน และขับเคลื่อนการทํางานร่วมกันระหว่างการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การปรับตัว และการพัฒนาที่ยั่งยืน แพลตฟอร์มบนเว็บไซต์ของ UNFCCC ที่วางแผนสําหรับแนวทางที่ไม่ใช่ตลาดจะต้องนํามาใช้เพื่อรักษาจิตวิญญาณของความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายของความตกลงปารีส

ปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศที่มีความเสมอภาค แทนที่จะเป็นช่องว่างแห่งหายนะ

สิ่งที่ต้องเข้าใจให้ชัดเจนคือ แพลตฟอร์มความร่วมมือใหม่ของ UNFCCC นี้จะต้องไม่กลายเป็นช่องทางอีกอันหนึ่งสําหรับอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษที่แอบแฝงหาวิธีแก้ปัญหาที่ผิดพลาดโดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างคาร์บอนเครดิต แพลตฟอร์มความร่วมมือดังกล่าวนี้จะต้องรับประกันความเป็นธรรมทางสังคม ความเป็นธรรมทางเพศสภาพ แนวทางตามหลักสิทธิที่สนับสนุนความสมบูรณ์ของระบบนิเวศและส่งมอบผลประโยชน์ร่วมกันสําหรับผู้คนและธรรมชาติ

วันที่ 10 ของการเดินทางสำรวจระบบนิเวศป่าไม้ใน Bucovina โรมาเนีย
© Răzvan Dima / Greenpeace

กรอบอนุสัญญาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ(UNFCCC) ผ่านความตกลงปารีสได้กําหนดเป้าหมายระดับโลกที่ควรบรรลุโดยคํามั่นสัญญาของแต่ละประเทศภาคี และคําปฏิญาณจะต้องแปรเป็นการลงมือทำ ผู้นําที่แท้จริง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อยู่ใน COP28  จะมีบทบาทสําคัญในการจัดการกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพที่เชื่อมต่อกัน และต้องนำกลไกความร่วมมือแบบใหม่ที่ให้ความสําคัญกับสิทธิการถือครองที่ดิน การปกป้องระบบนิเวศ การฟื้นฟูภูมิทัศน์ทางธรรมชาติ การบริโภคและห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน ความโปร่งใส ความรับผิดชอบ และการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ที่โปร่งใสตรวจสอบได้และเสมอภาค การเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนคือกุญแจสู่ความสําเร็จ การเจรจาเกี่ยวกับแนวทางที่ไปพ้นจากระบบตลาดต้องไม่ถูกกีดกันและเคลื่อนตัวไปข้างหน้าเพื่อเป็นสัญญาณแห่งความหวัง


Jannes Stoppel เป็นที่ปรึกษาด้านนโยบายด้านความหลากหลายทางชีวภาพและนโยบายสภาพภูมิอากาศของ Greenpeace International

Davi Martins เป็นนักยุทธศาสตร์การรณรงค์อาวุโสของ Greenpeace International

บทความนี้แปลจากบทความต้นฉบับภาษาอังกฤษ อ่านบทความต้นฉบับ