ช่วงกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา หลายคนอาจจะเคยเห็นภาพถ่ายพรีเวดดิ้งหน้าภูเขากองขยะขนาดมหึมาของคู่บ่าวสาวชาวไต้หวันในเมืองผูหลี่ มณฑลหนานโถว และอาจเกิดคำถามในใจว่าเหตุใดทั้งสองจึงตัดสินใจบันทึกช่วงเวลาแห่งความสุขท่ามกลางความเหม็นคลุ้งของกองขยะเช่นนี้

เจ้าสาวในภาพถ่ายและเจ้าของคอนเส็ปท์นี้เธอชื่อ Iris Hsueh เธอทำงานในตำแหน่งหัวหน้าทีมระดมทุน  ที่กรีนพีซ เอเชียตะวันออก สำนักงานไทเป Iris เล่าติดตลกว่าก่อนหน้านี้เธอคิดจะถ่ายรูปพรีเวดดิ้งกับ Ian Ciou ว่าที่สามีของเธอหน้าเทอร์โมมิเตอร์ขนาดยักษ์เพื่อแสดงให้เห็นถึงความรุนแรงของภาวะโลกร้อน รวมไปถึงการถ่ายภาพหน้ากองปะการังที่ตายแล้วเพื่อแสดงให้เห็นถึงสภาพแวดล้อมทางทะเลที่นับวันยิ่งแย่ลง แต่สุดท้ายเธอตัดสินใจเลือกฉากหลังเป็นภูเขากองขยะ เพราะมันเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราอย่างใกล้ชิด ทุกคนคือผู้สร้างภูเขาขยะ และทุกคนควรรับผิดชอบต่อขยะที่สร้างขึ้น ซึ่งขยะที่พวกเราทิ้งกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนั้นไม่เคยหายไปไหน พวกมันกองรวมกันจนกลายเป็นภูเขากองขยะอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง Iris และ Ian จึงตัดสินใจถ่ายรูปพรีเวดดิ้งหน้าภูเขากองขยะด้วยประการฉะนี้

Iris เริ่มมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนปัญหาสิ่งแวดล้อมครั้งแรกตั้งแต่สมัยมหาวิทยาลัย เธอเรียนคณะโลจิสติกส์สาขาวิชาวิทยาการเดินเรือ เธอเล่าว่ามีอยู่ครั้งหนึ่งในระหว่างกิจกรรมชมรม เธอได้เรียนรู้ว่าปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ประเทศเคนยาขาดแคลนอาหารตลอดทั้งปี มลพิษยังทำให้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนในท้องถิ่นมีไม่เพียงพอ ส่งต่อมายังปัญหาอีกมากมายกระทบต่อคุณภาพชีวิตมนุษย์ เช่น ความหิวโหย ความยากจน และโรคภัยไข้เจ็บ เหตุการณ์นี้เองเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เธอมุ่งมั่นที่จะเข้าทำงานในองค์กรที่ตอบสนองเจตนารมณ์ของเธอนับแต่นั้นเป็นต้นมา

Iris เล่าถึงสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมในไต้หวันว่า การขับเคลื่อนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมในไต้หวันนั้นไม่ได้ราบรื่นตั้งแต่แรก และเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ผู้คนละทิ้งนิสัยการใช้ชีวิตแบบเดิม ๆ ที่ทำลายสิ่งแวดล้อม เธอออกไปตามท้องถนนร่วมกับเพื่อนร่วมงานกรีนพีซเพื่อจัดกิจกรรมระดมทุน รณรงค์ให้ผู้คนตระหนักถึงภัยคุกคามต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการเรียกร้องให้ปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของผู้อยู่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงจากมลพิษ ยิ่งไปกว่านั้น เธอยังเป็นนักปฏิบัติที่รักษาสิ่งแวดล้อมอย่างมุ่งมั่นตั้งใจ เธอทานอาหารมังสวิรัติ นำภาชนะใส่อาหารมาเอง และปฏิเสธการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติก วิถีการใช้ชีวิตในการลดขยะพลาสติกของเธอได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรอบข้าง จนค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลาสติกทีละน้อยและกลายเป็นนิสัยในที่สุด ควบคู่ไปกับการทำงานในกรีนพีซที่สร้างการตระหนักรู้ด้านปัญหาสิ่งแวดล้อมให้คนไต้หวันมากขึ้นเรื่อย ๆ อันนำไปสู่การผลักดันนโยบายด้านการสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม การบรรลุนโยบายเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงข้ามคืน นอกเหนือจากการนำไปปฏิบัติจริงและการประชาสัมพันธ์อย่างแข็งขันของนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมและสมาคมองค์กรต่าง ๆ แล้ว เธอยังต้องการการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในไต้หวันอีกด้วย ก่อนเสนอนโยบายใด ๆ ทีมงานของกรีนพีซจะศึกษา วิจัย รวบรวมข้อมูลและเสนอแนวทางแก้ไข และนำผลลัพธ์เหล่านี้ไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อชักชวนให้พวกเขายอมรับข้อเสนอนโยบายการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของกรีนพีซ และส่งเสริมการกำหนดกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง แน่นอนว่า การเจรจาเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่มีดินแดนที่มีระบบกฎหมายที่ดี มีความเสมอภาคและมีระบบประชาธิปไตยอย่างไต้หวัน จะเห็นได้จากการออกข้อบังคับให้ร้านสะดวกซื้อในไต้หวันมีนโยบาย “ถุงพลาสติกต้องคิดตังค์” และ “นำแก้วมาเองจะรับส่วนลด” ซึ่งในมุมมองของเธอ มาตรการเหล่านี้แม้ว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่อย่างน้อยมันก็จะค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลาสติกอย่างสิ้นเปลือง และช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมในเกาะแห่งนี้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

Iris เล่าถึงแผนการแต่งงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคตว่า “ในงานแต่งงานของฉันจะไม่มีแก้วน้ำ ไม่มีจาน ไม่มีกระดาษทิชชู่ ไม่แจกของชำร่วยที่ทำจากพลาสติก เพื่อน ๆ และญาติพี่น้องที่มาร่วมงานจะต้องนำภาชนะใส่อาหารและเครื่องดื่มมาเอง หากทานอาหารไม่หมด ทุกคนก็ต้องช่วยกันนำอาหารที่เหลือกลับบ้าน” ความคิดนี้ทำให้พ่อของเธอไม่เห็นด้วยและถามกลับทันทีว่า “ถ้าทำอย่างนี้ คนอื่นจะหาว่าเราขี้เหนียวหรือเปล่า”

แผนการจัดงานเลี้ยงฉลองวันวิวาห์ของ Iris กับคำพูดไม่เห็นด้วยของพ่อ ไม่เพียงสะท้อนความคิดที่แตกต่างระหว่างคนสองรุ่นเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงความแตกต่างระหว่าง Iris ในฐานะนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมและพ่อของเธอที่รู้สึกว่าความคิดของเธออาจจะสุดโต่งเกินไป เนื่องจากเขาไม่สามารถจินตนาการถึงอันตรายของถ้วยและจานพลาสติกเพียงไม่กี่ใบได้ และมองไม่เห็นความจำเป็นใด ๆ ที่ให้แขกเหรื่อต้องลำบากลำบนกับการนำภาชนะกันมาเองเพื่อร่วมแสดงความยินดี Iris รู้ดีว่าแนวคิดของเธอในการจัดงานแต่งงานเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ยาก แต่เธอยังยืนยันที่จะจัดงานแต่งรักษ์โลกตามปณิธานอันมุ่งมั่นของเธอต่อไป

จากภาพถ่ายพรีเวดดิ้งที่สร้างกระแสบนโลกออนไลน์ไปจนถึงแนวคิดการจัดงานแต่งงานของ Iris ทำให้เราได้เห็นถึงความตั้งใจอย่างแรงกล้าในการกระตุ้นเตือนให้ผู้คนได้ตระหนักถึงปัญหาขยะที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม แม้ว่าสิ่งเธอทำอาจจะไม่ถึงกับทำให้โลกใบนี้ดีขึ้นแบบพลิกฝ่ามือ แต่หากไม่มีการเริ่มต้นแล้ว การเปลี่ยนแปลงก็ยากที่จะเกิดขึ้นได้จริง