เรียบเรียง  วีรภัทร ฤทธาภิรมย์

รัฐมนตรีถาม : เมื่อรัฐลดค่าไฟ ทำไมยังต้องเรียกร้อง “ค่าไฟต้องแฟร์”?

ประชาชนตอบ : การลดค่าไฟ ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เพื่อเพิ่มความนิยมและกระจายฐานเสียงของรัฐบาล ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการแก้ปัญหาค่าไฟที่ไม่แฟร์ได้ หนึ่งในวิธีการแก้ปัญหาค่าไฟที่ไม่แฟร์

ต้องแก้ที่ต้นตอของปัญหาค่าไฟที่แพงขึ้นมาอย่างยาวนาน โดยการหยุดสัญญารับซื้อไฟฟ้าฉบับใหม่ (New PPA) ในการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนเพื่อลดต้นทุนในโครงสร้างค่าไฟฟ้าและถูกบวกรวมเข้าไปในบิลค่าไฟฟ้าของประชาชน ทั้งนี้ การปลดล็อคเพดานการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของเอกชนและประชาชนเพื่อให้เกิดระบบพลังงานแบบกระจายศูนย์ (decentralization) จะเป็นอีกแนวทางการแก้ปัญหาที่ทำให้เกิดธรรมาภิบาลทางด้านพลังงานมากขึ้น 

รัฐมนตรีถาม : ปิดสวิตซ์ทุนพลังงานผูกขาด ใครหรือที่ผูกขาดพลังงาน และใครที่ทำให้ประชาชนผู้บริโภคถูกตัดขาดออกจากวงอำนาจในการร่วมตัดสินใจ?

ประชาชนตอบ: ในหลายๆ ครั้ง ประชาชนจะทราบข่าวการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนต่อเมื่อมีการลงนามซื้อขายในสัญญาไปแล้ว โดยเมื่อมีการเปิดเผยข้อมูล ผู้ลงทุนในสัญญาซื้อขาย (Power Purchase Agreemen: PPA) จะเห็นได้ว่าเป็นแหล่งทุนแหล่งเดิม นายทุนคนเดิมๆ ซึ่งสัญญาซื้อขายลักษณะนี้ค่อนข้างเป็นลักษณะผูกขาด ทำให้กลุ่มทุนพลังงานมีอำนาจเหนือตลาด มีผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจ สร้างภาระให้กับผู้บริโภค และบั่นทอนประชาธิปไตยทางพลังงาน

การที่รัฐบาลยิ่งเพิ่มการซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนมากขึ้นยิ่งทำให้ประชาชนต้องแบกรับต้นทุนแฝงที่ถูกนำมาบวกรวมเข้าไปในบิลค่าไฟฟ้ามากขึ้นตามไปด้วยและในเมื่อกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศไทยล้นเกินกว่าร้อยละ 50 แล้วจะมีความจำเป็นอะไรที่รัฐต้องซื้อไฟฟ้าเพิ่มจากโรงไฟฟ้าเอกชนพร้อมสัญญา take or pay ที่ผูกพันระยะยาว ทั้งไฟฟ้าจากเขื่อนลุ่มน้ำโขง โรงไฟฟ้าก๊าซและการนำเข้าก๊าซเหลว LNG ซึ่งเป็นการเซ็นสัญญาที่ไม่รับฟังเสียงประชาชนในพื้นที่ และหน่วยงานรัฐไม่ได้นำความคิดเห็น ข้อคัดค้าน และข้อกังวลของประชาชนที่มีมาตลอดระยะเวลาหลายปีไปประกอบการตัดสินใจก่อนการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า โดยตลอดระยะเวลากว่า 7 ปีที่ผ่านมา

รัฐมนตรีถาม: การที่รัฐบาลซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านก็ดีอยู่แล้ว พลังงานฟอสซิลคือความมั่นคงทางพลังงาน?

ประชาชนตอบ : ซื้อเพิ่มทำไม ในเมื่อภาคเอกชน

และภาคประชาชนภายในประเทศมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าใช้ได้เอง โดยเฉพาะประเทศไทยขึ้นชื่อว่า “รวยแดด” ผลการศึกษาชี้ชัดว่าในปัจจุบันประเทศไทยได้นำพลังงานแสงอาทิตย์มาผลิตไฟฟ้าเพียงร้อยละ 1.1 ของความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศ หรือเพียงร้อยละ 0.8 ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศ 

ดังนั้นประเทศไทยยังมีพลังงานหมุนเวียนที่ยังไม่ได้นำมาผลิตไฟฟ้าอีกมาก ทั้งจากพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาทุกประเภทราว 34,741 เมกะวัตต์ พลังงานจากชีวมวลพืชเกษตรเฉพาะพืชสำคัญ 6 ลำดับแรกที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวและการปลูกเฉพาะเพื่อเป็นเชื้อเพลิงราว 3,940 เมกะวัตต์ พลังงานจากก๊าซชีวภาพอย่างน้อย 1,565 เมกะวัตต์ และพลังงานลมอีกอย่างน้อย 3,000 เมกะวัตต์ เป็นต้น 

รัฐมนตรีถาม: ทำไมต้องเรียกร้องระบบหักลบกลบหน่วยไฟฟ้า net metering ?

ประชาชนตอบ : ประเทศไทยมีศักยภาพด้านพลังงานหมุนเวียนมากมายชนิดที่ทุกคนที่เดินตากแดดในประเทศนี้รับรู้ได้ แต่พอจะผลิตพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ใช้เอง กลับมีอุปสรรคขัดขวางมากมาย

ซึ่งจากนโยบายที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ง่ายที่สุด ลงทุนน้อยที่สุด ไม่ต้องซื้อมิเตอร์เพิ่มเติม ไม่ต้องติดอุปกรณ์ป้องกันไฟฟ้าไหลย้อน และไม่ต้องซื้อแบตเตอรี่ ก็คือ นโยบาย “Net-Metering” คือการอนุญาตให้กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้าน (ในตอนกลางวันซึ่งเจ้าของไม่อยู่บ้าน) สามารถไหลเข้าสู่ระบบสายส่งได้ก่อน และในเวลากลางคืน (เจ้าของบ้านกลับมา) ไฟฟ้าจากระบบสายส่งก็ไหลกลับเข้าบ้าน เมื่อครบเดือนก็คิดการใช้สุทธิ (net) ตามค่าไฟฟ้าที่ปรากฏในมิเตอร์ปัจจุบัน หลายประเทศได้นำนโยบาย Net-Metering ไปใช้อย่างกว้างขวางทั้งในประเทศร่ำรวยและประเทศยากจน เช่น สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา แคนนาดา อินเดีย ปากีสถาน และเคนยาเป็นต้น แต่ประเทศไทยเรายังไม่มีการนำนโยบายนี้มาใช้เลย ทั้งที่หลายภาคส่วนให้คำยืนยันว่าการติดตั้งระบบ “Net-Metering” ในบ้านเราไม่มีปัญหา

รัฐมนตรีถาม : ระบบเดิมๆ ก็ดีอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องเอาระบบ Net-Metering มาใช้?

ประชาชนตอบ : นี่คือ ประโยชน์ของระบบ Net-Metering

  1. ทำให้เกิดการคิดค่าไฟฟ้าแบบหักลบกลบหน่วย ลดภาระค่าไฟฟ้าของประชาชน
  2. สร้างรายได้จากไฟฟ้าที่เหลือเพราะประชาชนสามารถขายไฟฟ้าที่เหลือจากการใช้เข้าสู่สายส่งของการไฟฟ้าฯ ได้ 
  3. ทำให้ประชาชนรายย่อยสามารถผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ได้เต็มที่ ไม่ต้องถูกตัดไฟที่เกินทิ้ง และมีความคุ้มค่าพอจะติดได้จริงสำหรับประชาชน
  4. ราคาไฟฟ้าเป็นธรรม ไม่เอื้อทุนใหญ่ เพราะเราจะผลิตไฟฟ้าใช้เองได้จากโซลาร์เซลล์และขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฯ เองได้ในราคาที่เป็นธรรม
  5. เกิดการกระจายศูนย์พลังงานและปฏิวัติระบบพลังงานของไทย เปลี่ยนจากระบบรวมศูนย์พลังงาน (centralisation) ที่เอื้อนายทุนใหญ่มาเป็น ระบบกระจายศูนย์พลังงาน (decentralisation) หากเราช่วยผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ โซลาร์รูฟท็อปเองได้จะทำให้เกิดความมั่นคง ความยั่งยืน และประชาธิปไตยทางพลังงานอย่างแท้จริง
  6. ลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล จากเดิมการผลิตไฟฟ้าของไทยต้องพึ่งพาพลังงานฟอสซิล (ถ่านหินและก๊าซ) เป็นจำนวนมาก การผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปจะช่วยลดการใช้ทั้งถ่านหินและฟอสซิลก๊าซและนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

รัฐมนตรีถาม : คนที่ไม่มีโซลาร์เซลล์จะได้ประโยชน์จาก Net Metering อย่างไร?

ประชาชนตอบ : การมี Net- Metering จะทำให้ภาคครัวเรือนมีความคุ้มทุนในการติดตั้งโซลาร์บนหลังคาบ้านมากขึ้น เมื่อเกิดการติดตั้งโซลาร์จำนวนมาก จะทำให้เรามีแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้ากระจายอยู่ทั่วประเทศ เกิดการกระจายอำนาจในการผลิต พลังงานจะไม่ถูกผูกขาดอยู่กับเพียงกลุ่มทุนไม่กี่แห่ง และพัฒนาไปสู่การเปลี่ยนผ่านพลังงานจากพลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานหมุนเวียน 

อีกทั้งรัฐบาลสามารถเริ่มสนับสนุนให้เกิดการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้น ทั้งจากนโยบายของรัฐบาล การสนับสนุนทางการเงินของสถาบันการเงิน หรือการออกมาตรการกระตุ้นอย่างเช่นการลดหย่อนภาษี เป็นต้น ทั้งนี้หากหลังคาบ้านของประชาชนเริ่มติดตั้งโซลาร์เซลล์ได้อย่างน้อย 1 ล้านหลังคาเรือน หลังคาโรงพยาบาลของรัฐราว 8,170 แห่ง และ โรงเรียนของรัฐอย่างน้อย 31,021 แห่ง สิ่งเหล่านี้จะทำให้ลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ลดการใช้เงินภาษีเพื่อจ่ายค่าไฟฟ้าให้กับกลุ่มทุนฟอสซิลและเกิดความคุ้มทุนในช่วงราว 5 ปีแรกของการลงทุน อีกทั้งจะทำให้เกิดการจ้างงานในช่วง 3 ปีแรกจากการติดตั้งโซลาร์รูฟท้อปมากกว่า 50,000 ตำแหน่ง  

รัฐมนตรีถาม : ขยะจากแผงโซลาร์เซลล์ใช้แล้วจะเพิ่มขึ้น?

ประชาชนตอบ : 3 แนวทางสำคัญในการจัดการคือ ข้อแรกคือ การลดการใช้ (Reduce) การเพิ่มประสิทธิภาพของแผงโซลาร์เซลล์จะทำให้เราสามารถลดปริมาณของแผงที่จะต้องใช้ ถัดมาคือการใช้ซ้ำ (Reuse) หลังจากการใช้งานราว 25-30 ปี ประสิทธิภาพแผงโซลาร์เซลล์ที่ลดลงสามารถนำมาใช้ซ่อมหรือใช้เพื่อการสูบน้ำที่ต้องการกำลังผลิตลดลงได้ และอันสุดท้ายคือ การรีไซเคิล (Recycle) ส่วนประกอบของแผงโซลาร์เซลล์สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างน้อยร้อยละ 85 

ร่วมผลักดันนโยบาย Net Metering ไปกับกรีนพีซ ประเทศไทย

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ต้องประกาศใช้ระบบ Net Metering

ร่วมเรียกร้องให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ออกมาตรการ net metering รับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟจากบ้านเรือนของประชาชนทั่วไป

มีส่วนร่วม

#ค่าไฟต้องแฟร์  #NetMeteringNow