วันแห่งการประท้วง Shell ในกรุงลอนดอนเมื่อปี 2538 © Greenpeace / Jim Hodson

เป็นสิ่งที่ชัดเจนและไม่มีอะไรซับซ้อนในแนวความคิดที่ว่ากลุ่มอุตสาหกรรมฟอสซิลมีปัญหามากมาย

นี่เข้าทำนองหว่านพืชอย่างไรก็ได้ผลอย่างนั้น เพราะที่ผ่านมาอุตสาหกรรมเหล่านี้ก่ออาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อมไว้มากมาย และไม่ว่ากลุ่มผู้ก่อมลพิษเหล่านี้จะใช้ข้ออ้างใด ๆ ก็ตาม แต่เมื่อคุณทำอะไรบางอย่างผิดพลาดก็ต้องเป็นความรับผิดชอบของคุณที่ต้องแก้ไขความผิดพลาดนั้น และหากยังแก้ไขความผิดพลาดนั้นไม่ได้ ก็ต้องชดเชยให้กับคนหรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบ

ในบทความนี้เราจะมาสำรวจว่า ทำไมกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเชื้อเพลิงฟอสซิล (ถ่านหิน,น้ำมัน,ก๊าซฟอสซิล) ที่เป็นตัวการหลักในการก่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศจะต้องรับผิดชอบต่อการทำลายสิ่งแวดล้อมที่พวกเขาได้ก่อเอาไว้

‘ผู้ก่อมลพิษต้องจ่าย’ คือหลักการว่าด้วยภาระรับผิดที่โปร่งใสและตรวจสอบได้

หลักการผู้ก่อมลพิษต้องจ่ายถือเป็นแนวคิดพื้นฐานในหลักจริยธรรมด้านสิ่งแวดล้อมและอยู่ในหลักกฎหมายสากล ซึ่งเน้นย้ำว่าผู้ที่สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมควรต้องเป็นผู้รับผิดชอบทั้งด้านการจ่ายเงินชดเชยและเป็นผู้แก้ปัญหาที่ก่อไว้ อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่าการต้องจ่ายค่าชดเชยจะเป็นการอนุญาตให้บริษัทเหล่านี้ก่อมลพิษได้ และแม้ว่าเราจะต้องยุติยุคฟอสซิลให้เร็วที่สุด แต่ในขณะที่โลกกำลังเปลี่ยนผ่านด้วยการลดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ทั้งถ่านหิน น้ำมันและก๊าซฟอสซิลลง ผู้ก่อมลพิษรายใหญ่ทั้งหลายจะต้องจ่ายค่าชดเชยความสูญเสียและเสียหายจากสิ่งที่พวกเขาได้ก่อเอาไว้ด้วย

ภาระที่ไม่ได้สัดส่วนตกอยู่กับกลุ่มประเทศซีกโลกใต้จากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

หนึ่งในเหตุผลที่น่าสนใจที่ว่าทำไมกลุ่มบริษัทฟอสซิลจะต้องจ่ายค่าชดเชยความสูญเสียและเสียหายที่พวกเขาได้ก่อเอาไว้นั่นก็คือ ความจริงที่ว่าการดำเนินธุรกิจแสวงหาต้นทุนด้านทรัพยากรของพวกเขากลายเป็นผลกระทบที่ประชาชนในประเทศซีกโลกใต้ได้รับ แม้ว่าการชดเชยด้านการเงินจะเป็นปัจจัยสำคัญในการชดเชยก็จริง แต่สิ่งสำคัญกว่าเงินนั่นคือหลักคิด ‘ผู้ก่อมลพิษต้องจ่าย’ เพราะการทำลายสิ่งแวดล้อมเพื่อแสวงหาทรัพยากรของอุตสาหกรรมฟอสซิลมีหลายสิ่งที่ไม่สามารถทดแทนได้ด้วยเงินนั่นคือ ชีวิต วัฒนธรรม และความมั่นคงของโลกในอนาคตที่มีต่อคนรุ่นต่อไป แต่อย่างน้อยการชดเชยด้วยเงินจะสามารถฟื้นฟูระบบสาธารณูปโภคจากผลกระทบของเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วและรับมือกับผลกระทบดังกล่าวได้อย่างทันท่วงที

ชุมชนในกลุ่มประเทศซีกโลกใต้มากมายต้องทนทุกข์กับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศและการแสวงหาเชื้อเพลิงฟอสซิลในขณะที่ผู้ได้รับผลประโยชน์นั้นมุ่งสู่การขุดเจาะเชื้อเพลิงฟอสซิลนอกชายฝั่ง ซึ่งผลกระทบที่เห็นเช่น เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว การปล่อยมลพิษในระดับอุตสาหกรรม การคอร์รัปชั่นในระบบการเมืองและผลกระทบต่อระบบนิเวศโลก ต่างเกิดจากกลุ่มคนจากบริษัทภายนอกที่เข้ามาขุดเจาะและแสวงหาทรัพยากรในพื้นที่ของชุมชนท้องถิ่นของประเทศซีกโลกใต้ทั้งสิ้น ชุมชนเหล่านี้ถูกโดดเดี่ยวและต้องรับมือกับปัญหาใหญ่เพียงลำพัง ในขณะที่กลุ่มผู้บริหารในอุตสาหกรรมจากประเทศซีกโลกเหนือเหล่านี้กลับร่ำรวยขึ้น ช่องว่างความเหลื่อมล้ำนี้เป็นทั้งปัญหาด้านจริยธรรมและความไม่เป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมที่จะต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน

@greenpeace_international

Shell keeps lying to satisfy their interests while they keep devastating the planet, especially the Global South. Join us now to hold them accountable for their crimes. Sign the petition in our biography #shell #greenpeace #makeba #ClimateCrisis #ClimateCrisis #climatechange

♬ Epic News – DM Production

รัฐบาลในกลุ่มประเทศซีกโลกใต้ต่างมีภาระผูกพันต่อประชาชนของตนเองในการเรียกร้องค่าเสียหายสำหรับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศตั้งแต่อดีตและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตซึ่งเป็นความรับผิดชอบของกลุ่มบริษัทที่ก่อวิกฤตนี้ขึ้น

กรณีศึกษา : บริษัทเชลล์ในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์

เรามาดูตัวอย่างที่เรียกได้ว่าเป็นกรณีศึกษาเกี่ยวกับบริษัทน้ำมัน เชลล์ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในสหราชอาณาจักร แต่เข้ามาแสวงหาแหล่งน้ำมันในเขตพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์ ประเทศไนจีเรียยาวนานกว่าทศวรรษ โดยการดำเนินงานของเชลล์นั้นส่งผลทำให้เกิดการทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างหนัก ทำลายระบบนิเวศ ทำให้วิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นต้องปั่นป่วน ยิ่งไปกว่านั้นยังเกิดการคุกคามสิทธิมนุษยชนอย่างหนักต่อนักกิจกรรมหรือใครก็ตามที่กล้าลุกขึ้นมาคัดค้านในสิ่งที่เชลล์ทำ อย่างไรก็ตามมักจะมีเจ้าหน้าที่รัฐปรากฎตัวเข้ามาและทำทีเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้กับเชลล์ เมื่อใครก็ตามที่ออกมาพูดคัดค้านเชลล์ก็จะถูกคุกคาม ใช้ความรุนแรงจนได้รับบาดเจ็บหรือแม้กระทั่งเสียชีวิต เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องวิกฤต อีกทั้งยังเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่าอุตสาหกรรมฟอสซิลให้ความสำคัญกับการแสวงหาผลกำไรมากกว่าชีวิตของคนในชุมชนและสิ่งแวดล้อม

ประชาชนในพื้นที่ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าพวกเขาต้องทนทุกข์กับหายนะน้ำมันรั่ว ก๊าซรั่ว และการปนเปื้อนของสารเคมีที่เป็นพิษ ซึ่งส่งผลกระทบทำให้สุขภาพของประชาชนถูกทำร้าย พืชผลการเกษตรได้รับผลกระทบและไม่สามารถเข้าถึงน้ำสะอาดได้ นักวิจารณ์บางคนถึงกับกล่าวหาว่าเชลล์เป็นผู้ทำลายสิ่งแวดล้อมในธรรมชาติโดยเจตนา

โกเม ออดโฮเมอร์ หัวหน้าด้านงานสื่อสารของ ออยล์วอช แอฟริกา (Oilwatch Africa) กล่าวว่า จากเหตุการณ์นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมทั้ง 9 คนถูกฆาตกรรมในโอโกนี (เหตุการณ์ดังกล่าวถูกเรียกสั้น ๆ ว่า Ogoni 9 ) ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเรียกร้องความเป็นธรรมจากกลุ่มคนที่ยังลอยนวลและทวงคืนความเป็นธรรมให้กับพี่น้องในโอโกนีและสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์

“ในปี 2564 รัฐบาลไนจีเรียประกาศนิรโทษกรรมต่อผู้ต้องหาในเหตุการณ์สังหารนักกิจกรรมทั้ง 9 คน ซึ่งเป็นเรื่องที่สร้างความตกตะลึงเพราะการตัดสินโทษกลับกลายเป็นการอภัยโทษ”

“ตอนนี้จึงเป็นเวลาที่เราจะต้องเรียกร้องการชำระจากอาชญากรด้านสิ่งแวดล้อม และเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับ เคน ซาโร-วีวา และกลุ่มผู้นำของเมืองโอโกนีที่ถูกสังหารเพียงเพราะพวกเขาต้องการปกป้องสิ่งแวดล้อม”

“ทั้งนี้ ยังเป็นเวลาสำหรับทุกคนที่ต้องการจะลุกขึ้นมาเรียกร้องคัดค้านความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม เพราะการทำลายสิ่งแวดล้อมนั้นเกิดขึ้นทั่วแอฟริกาไม่ใช่เพียงแค่ในพื้นที่สามเหลี่ยมป่าแม่น้ำไนเจร์ เวลานี้เป็นเวลาที่เราต้องทำในสิ่งที่ควรทำ”

ทำไมการลงมือเป็นสิ่งจำเป็น : COP 28 และหนทางข้างหน้า

ในการประชุมเจรจาด้านสภาพภูมิอากาศโลก COP28 นั้นเป็นการประชุมที่เราให้ความสำคัญเพราะเราจะต้องมุ่งเน้นไปที่หลักการจ่ายค่าชดเชยจากกลุ่มผู้ก่อมลพิษหลัก และความเร่งด่วนที่กลุ่มอุตสาหกรรมฟอสซิลจะต้องหยุดการขุดเจาะเชื้อเพลิงฟอสซิลและต้องเริ่มจ่ายชดเชยค่าความสูญเสียและเสียหายที่พวกเขาก่อเอาไว้ ยิ่งไปกว่านั้นจะต้องให้คำมั่นสัญญาว่าจะลดและเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอีกด้วย โดยประชาชนแบบเราจะต้องช่วยกันเรียกร้องให้กลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้ต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบที่พวกเขาก่อขึ้นต่อโลกและประชาชนทั่วโลก

หลักคิด ผู้ก่อมลพิษต้องจ่าย นั้นเป็นมากกว่าหลักจริยธรรม เพราะมันเป็นเครื่องมือพื้นฐานที่จะทำให้เกิดความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม (climate justice) เราต้องส่งสาส์นถึงกลุ่มผู้นำว่าเราต้องการให้อุตสาหกรรมฟอสซิลยอมรับในต้นทุนที่พวกเขาเคยก่อเอาไว้ โดยเฉพาะในส่วนของประเทศซีกโลกใต้และประชาชนที่นั่นที่ต้องแบกรับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศโดยที่พวกเขาไม่ได้ก่อ

การดำเนินการที่ทำลายสิ่งแวดล้อมของเชลล์ที่เกิดขึ้นในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์ เป็นเพียงแค่หนึ่งในตัวอย่างอีกมากมายที่แสดงให้เห็นถึงการแสวงหาผลกำไรบนการทำลายสิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรมฟอสซิล ถึงเวลาที่อุตสาหกรรมนี้จะต้องชดเชยในสิ่งที่ตนเองได้ทำลงไปด้วยการชดใช้ความเสียหายที่ได้ก่อขึ้น มาร่วมกันเรียกร้องต่ออุตสาหกรรมฟอสซิลด้วยกัน เพราะนี่คือความรับผิดชอบของเราทุกคนต่อโลกใบนี้ที่เราต่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


มาร์ติน ซาแวน หัวหน้างานรณรงค์และการสื่อสารเกี่ยวกับแนวคิด ผู้ก่อมลพิษต้องจ่าย กรีนพีซ สากล

ควินดี้ เอเคจู หัวหน้างานด้านการสื่อสารแพลตฟอร์ม TikTok ของงานรณรงค์ Fossil Free Revolution กรีนพีซ เนเธอร์แลนด์

บทความนี้แปลจากบทความต้นฉบับภาษาอังกฤษ อ่านบทความต้นฉบับ