Dove มักหยิบยกประเด็นความงามและความมั่นใจของผู้หญิงมาพูดถึงเรื่อย ๆ ผ่านแคมเปญ ‘Real Beauty’ ที่เชื่อว่า “ความงามมีอยู่ในทุกคน” และมักนำเสนอว่าแบรนด์กำลังทำสิ่งที่ดีให้สังคมอยู่ แต่คุณรู้ไหมว่าเบื้องหลังภาพลักษณ์ที่สวยงามนี้ Dove ซ่อนอะไรไว้บ้าง

พวกเราน่าจะคุ้นเคยกับ Dove ดี แบรนด์นี้ไม่ได้ทำแค่ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิว หลายปีที่ผ่านมา Dove ประโคมโฆษณาแคมเปญ ‘Real Beauty’ ผ่านสื่อต่าง ๆ พร้อมวิสัยทัศน์ที่ส่งเสริมความมั่นใจให้ผู้หญิง ผ่านการสู้กับเทรนด์ Toxic Beauty หรือค่านิยมด้านความงามเดิม ๆ

แต่เบื้องหลังนั้น Dove กลับทำลายความงามของสิ่งแวดล้อมเสียเอง และนั่นส่งผลกระทบกับสุขภาพของผู้คนและชุมชน โดยการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งจำนวนมหาศาล ก่อให้เกิดขยะมากมายจนกลายเป็นวิกฤตมลพิษพลาสติก

มาร่วมกันบอก Dove ให้หยุดทำลายความสวยงามของสิ่งแวดล้อม และหยุดมลพิษพลาสติก

Dove ผลิตซองพลาสติกซาเช่ 12,000 ซองต่อนาที

ผู้คนกว่า 200 ล้านคนกำลังเผชิญความเสี่ยงจากน้ำท่วมที่เกิดบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้น รวมถึงวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เห็นชัดเจนขึ้น พลาสติกที่ทำจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ส่งผลกระทบต่อโลกของเรา และการใช้พลาสติกจำนวนมหาศาลของ Dove กำลังเร่งรัดให้วิกฤตสภาพภูมิอากาศรุนแรงขึ้น

Dove รู้ดีว่ามีทางเลือกอื่นนอกเหนือจากพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง แต่การผลิตและใช้พลาสติกประเภทนี้ยังคงดำเนินต่อไป ทุก ๆ ปี Dove ใช้ซองพลาสติกซาเช่ถึง 6.4 พันล้านซอง ซองพลาสติกประเภทนี้เป็นซองขนาดเล็กที่แบ่งขายผลิตภัณฑ์ (ขนาดเท่าไซส์ทดลอง) และเป็นพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งที่จัดการได้ยาก ทั้งการเก็บกลับมาหลังจากที่มันกลายเป็นขยะกับการรีไซเคิลที่แทบเป็นไปไม่ได้เลย ทุกนาที Dove ผลิตซองเหล่านี้ออกมาถึง 12,000 ซอง!

Dove ก่อมลพิษในอินเดีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

ขยะพลาสติกจาก Dove ส่งผลเสียต่อแม่น้ำและทะเล หากพลาสติกจากซองบรรจุภัณฑ์เหล่านี้ถูกเผา ก็จะก่อมลพิษทางอากาศ นักกิจกรรมกรีนพีซที่ฟิลิปปินส์เจอขยะจากบรรจุภัณฑ์ของ Dove ในสิ่งแวดล้อม ซึ่งนั่นทำให้เป็นสาเหตุหนึ่งของความเสื่อมโทรมในแหล่งน้ำของที่นั่น

“บริษัทอย่าง Dove ไม่ได้แคร์พวกเราเลย แบรนด์เหล่านี้ผลิตซองแชมพูแบบซาเช่ ที่ขยะจากบรรจุภัณฑ์ส่งผลกระทบต่อชุมชน พอมีน้ำท่วม ก็เป็นเพราะพลาสติกประเภทนี้ไปอุดตันในท่อน้ำ”

  มาริลิว มานันกัต คนกวาดขยะ และคุณแม่ลูกสี่ จากเมืองบารังไก ออกัสติน ประเทศฟิลิปปินส์

ผู้หญิงหลายคนในหลายประเทศอย่างเช่น อินเดีย ไทย ฟิลิปปินส์ กลับต้องเจอปัญหาขยะพลาสติกจากแบรนด์นี้ รวมถึงแบรนด์อื่นๆ ของบริษัทแม่อย่างยูนิลีเวอร์

  • นักกิจกรรมและอาสาสมัครกรีนพีซในไทยเจอขยะของยูนิลีเวอร์ในสิ่งแวดล้อมของไทยเช่นกัน สามารถดูข้อมูลได้ที่ https://plasticfreefuture.greenpeace.or.th/dashboard/

Dove สามารถหยุดปัญหาพลาสติกได้ แต่กลับเลือกที่จะนิ่งเฉย

เราอยากเห็นการทำจริง และมุ่งมั่นกว่านี้ หากยังคงปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไป การผลิตพลาสติกทั่วโลกจะเพิ่มสูงเกือบถึง 3 เท่าภายในปี 2593

จำนวนสะสมรวมของขยะพลาสติกที่ถูกกำจัดและถูกผลิตขึ้นมา ที่มา: Geyer, Roland & Jambeck, Jenna & Law, Kara. (2017). Production, use, and fate of all plastics ever made. Science Advances. 3. e1700782. 10.1126/sciadv.1700782. Research Gate

บริษัทยูนิลีเวอร์ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Dove อ้างว่าอยากจะทำให้โลกนี้ “ปราศจากขยะ” และทำให้สุขภาพของโลกดีขึ้น แต่มีเพียง 0.2% ของบรรจุภัณฑ์ที่สามารถใช้ซ้ำได้ บริษัทพูดเสมอว่าพวกเขากำลังเปลี่ยน และพยายามรีไซเคิลให้มากขึ้นพร้อมกับมีเป้าหมายใหญ่ แต่การรีไซเคิลนั้นก็ไม่ใช่ทางออกที่ดีนัก กับการแก้วิกฤตมลพิษพลาสติกที่เกิดขึ้น ณ ตอนนี้

เราอยากเห็น Dove ลงทุนในระบบใช้ซ้ำ (Refill และ Reuse) Dove และยูนิลีเวอร์จะต้องเปลี่ยน และลด ละ เลิก พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง เพื่อปกป้องอนาคตของคนรุ่นใหม่และผู้หญิงตามวิสัยทัศน์ที่บริษัทวางไว้

เรายังมีโอกาสสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ตอนนี้ ผู้นำหลายประเทศได้มารวมตัวกันเพื่อเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกโลก นี่เป็นโอกาสสำคัญที่ช่วยพลิกวิกฤตมลพิษพลาสติกได้

ยูนิลีเวอร์มีความสามารถและศักยภาพที่จะผลักดันสนธิสัญญานี้ โดยการเป็นผู้นำที่จะลด ละ เลิก การใช้และการผลิตพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง มิใช่ยังคงส่งเสริมการใช้พลาสติกที่ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นขยะหลังการใช้เพียงไม่กี่นาที ในขณะที่บริษัทได้กำไรจากยอดขายเหล่านั้น แต่ไม่รับผิดชอบเมื่อบรรจุภัณฑ์ของตนกลายเป็นขยะ คนที่ต้องรับผลกระทบกลับเป็นสิ่งแวดล้อมและชุมชน

เราอยากเห็นแบรนด์ใหญ่อย่าง Dove ลุกขึ้นมานำเทรนด์ และสร้างคุณค่าที่ดีต่อสังคม เหมือนที่แบรนด์ตั้งใจไว้ โดยเริ่มจัดการปัญหาพลาสติกจากบรรจุภัณฑ์

ถึงเวลาที่ Dove จะพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าแบรนด์ให้ความสำคัญกับ ‘Real Beauty’ จริง ๆ

นีน่า แชรงค์ และแอนนา ดิสกี เป็นหัวหน้าโครงการและนักรณรงค์โครงการยุติมลพิษพลาสติก ที่กรีนพีซ สหราชอาณาจักร