ใครที่คลิกเข้ามาอ่านอย่าเพิ่งสงสัยไปว่า YWM36 คือกลุ่มไอดอลกลุ่มใหม่ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากกลุ่มไอดอลสาว ๆ BNK48 ที่กระแสมาแรงไม่หยุดฉุดไม่อยู่หรือเปล่า ที่จริงแล้ว YWM36 คือตัวย่อที่มาจากชื่อโครงการ Youth Wavemakers ตอน Break Free From Plastic และตัวเลข 36 ก็คือจำนวนของน้อง ๆ เยาวชนจาก 1,200 คน ที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการนี้

สิ่งที่ทำให้กลุ่ม YWM36 แตกต่างจากกลุ่มไอดอลทั่วไปคือโครงการนี้ไม่มีการจับมือ มีแต่จับขยะพลาสติก ไม่มีแฟนคลับ (แต่เราหวังว่าจะมีในอนาคต) ไม่มีโอชิไม่มีโอตะ มีแต่โอกาสที่ให้น้อง ๆ ได้เรียนรู้เรื่องมลพิษจากขยะพลาสติกโดยผ่านประสบการณ์จริง  น้อง ๆ เยาวชนเหล่านี้พร้อมที่จะร่วมเดินทางทวงความสะอาดและสวยงามให้กับท้องทะเลและชายหาดของพวกเรา

Youth Wavemakers ชื่อนี้มีที่มาอย่างไร

มาริสา สกุลชัย (เอมมี่) หัวหน้าโครงการนี้เล่าว่า “ความหมายของคำว่า Wave ของเราไม่ได้จำกัดอยู่ที่คำว่าคลื่นหรือกระแส แต่เราต้องการสื่อถึง คลื่นลูกใหม่ ที่เต็มไปด้วยพลัง ความตั้งใจและ passion ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่าง ซึ่งก็คือเยาวชน กรีนพีซเชื่อว่าเยาวชนคือพลังสำคัญในการเปลี่ยนแปลง พวกเขาพร้อมที่จะรับและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆอยู่เสมอ ถ้าหากเราสามารถดึงศักยภาพที่ซ่อนอยู่ภายในตัวของน้องๆได้ โดยให้องค์ความรู้และการทำกิจกรรมต่างๆ จากประสบการณ์จริง เพื่อสร้างความตระหนักและเปลี่ยนทัศนคติด้วยการลงมือทำเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาเรื่องขยะพลาสติกที่เป็นวิกฤตโลกในขณะนี้ที่ต้องลงมือแก้ไขอย่างเร่งด่วน พวกเขาจะกลายเป็นคลื่นลูกใหม่ในการเปลี่ยนแปลงที่มีพลังในสังคมอย่างยั่งยืนต่อไป

ก่อนหน้านี้เราก็เคยมีจัดกิจกรรม Youth Wavemakers กันเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ตอนนั้นเป็นกิจกรรม Clean Up the Ocean ที่บางแสน เราพาน้อง ๆ ไปร่วมกันเก็บขยะที่ชายหาด และนำขยะพลาสติกที่เราเก็บได้นั้นไปเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของขยะสู่ท้องทะเล ซึ่งจัดแสดงที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ (BACC) ครั้งนั้นเป็นกิจกรรมที่สร้างความตระหนักให้น้องๆ ได้รับรู้ถึงปัญหาขยะพลาสติกในทะเล และปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ท้องทะเลไทย  แต่ในครั้งนี้จะแตกต่างจากครั้งที่แล้ว เพราะเราไม่ได้แค่ clean up ชายหาดเท่านั้น แต่เราอยากให้น้องๆได้เข้าใจถึงภาพรวมของต้นตอปัญหาและสถานการณ์วิกฤตของขยะพลาสติกทั่วโลก รวมทั้งบทบาทของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องซึ่งรวมถึงตัวน้อง ๆ เยาวชนเองด้วย”

ทำไม๊ ทำไม ถึงมาสมัครค่ายนี้กัน

เหมย เยาวชนจากนครสวรรค์เล่าว่า “หนูเป็นคนที่ชอบสิ่งแวดล้อมที่สะอาดมาก มันเป็นความรู้สึกที่ดีอย่างหนึ่งเวลาเห็นสถานที่ที่ไม่มีขยะพลาสติก รู้สึกสะอาดตา หนูเป็นคนที่แบบถ้าเจอขยะแล้วอยากจะเก็บทิ้งให้หมด และไม่อยากให้ใครต้องมาทิ้งขยะอีก”  น้องเล็ก สาวตัวเล็กตาคมเล่า “เมื่อสองสามปีก่อนหนูไปเดินตลาดนัดกับแม่ เวลาแม่ซื้อของนู่นนี่ก็จะได้ถุงพลาสติกใบเล็กใบใหญ่มาเยอะมาก หนูเห็นว่าถุงพลาสติกมันเยอะเกินแล้วอาการเดิมคือรู้สึกรกหูรกตากลับมาอีกครั้ง หนูถึงกับดุแม่ว่า แม่เลิกรับถุงพลาสติกมาเยอะ ๆ ได้มั้ย หนูไม่ชอบ (หัวเราะ) พอหลังจากนั้นแม่หนูก็เริ่มเปลี่ยนโดยที่บอกแม่ค้าที่ตลาดนัดว่า ไม่เอาถุงพลาสติกนะแม่ค้า แล้วก็ถ้ามีถุงพลาสติกอยู่แล้วก็ใส่รวมกันเลย”

ส่วนข้าวทิพย์ น้องเยาวชนวัย 16 ปี บอกว่า “สำหรับหนู ตอนนั้นกำลังหาค่ายช่วงที่ว่าง แล้วก็มาเจอประกาศในแคมป์ฮับ ช่วงนั้นหนูได้ทำเรื่องสิ่งแวดล้อมกับทางโรงเรียน และหนูสนใจว่าหากหนูเข้าโครงการนี้แล้วหนูจะต่อยอดกับโครงการที่หนูทำกับโรงเรียนได้อย่างไร  เราได้เรียนรู้สิ่งที่ไม่เคยรู้ และขยายผลต่ออย่างไร หนูอยากช่วยโลกที่เราอยู่ให้ดีขึ้น”

ความท้าทาย

ข้าวทิพย์: พอเห็นข่าวจาก Camphub เราก็อยากสมัครมาโครงการนี้มาก ความท้าทายของหนูที่เจอเลยคือหนูกำลังอยู่ในช่วงสอบ ต้องอ่านหนังสือหนัก แต่เราก็ตัดสินใจแล้วว่าเราอยากจะมาเพื่อช่วยปกป้องโลกใบนี้นี้ เราอยากเป็นพลังอีกหนึ่งเสียง และเรามีใจที่จะอยากจะทำจริง ๆ น้อง เล่า
เหมย: เรื่องสำรวจยี่ห้อขยะ (Brand Audit) ค่ะ เพราะหนูไม่รู้ว่าคือะไร ไม่เคยได้ยินมาก่อน แต่พอได้ลองได้ลงสนามปฏิบัติจริงหนูก็เข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของการทำสำรวจยี่ห้อขยะ (Brand Audit) ว่าเราทำไปทำไม

จ้า เป็นอีกหนึ่งคนที่ได้มาร่วมค่ายนี้พูดเสริมว่า  “สิ่งที่ท้าทายผมคือเป็นความคิด ความกลัว ของผมเองว่าเราเป็นแค่เยาวชนคนหนึ่ง ตัวเล็ก ๆ เราจะไปทำอะไรได้ เราจะเปลี่ยนแปลงโลกนี้ได้อย่างไร แต่พอเมื่อจบค่ายผมก็มีความหวังและความเชื่อที่ว่าถ้าพลังเล็ก ๆ แต่รวมกันเป็นก้อนใหญ่เราก็สามารถเปลี่ยนแปลงและช่วยสิ่งแวดล้อมของโลกนี้ได้”

ค่ายนี้มีดีอะไร?

ข้าวทิพย์: ค่ายนี้หนูได้รับความอบอุ่น และได้เจอคนที่มีจิตวิญญาณ มีทัศนคติตรงกัน รักโลก รักทะเล เราไม่รู้จักกัน แต่มีมุมมองเดียวกัน ทุกคนมาปุ๊บจูนติดกันเลย โครงการนี้มีอะไรมากกว่าโครงการเก็บขยะทั่วไป เราอยากดูแลโลกนี้ เพราะลูกหลานเรายังต้องอยู่ เราต้องช่วยกันดูแล ตระหนักสิ่งที่ทำลงไป อิน เราต้องรักโลกจริงๆ
แดม: ค่ายนี้เปรียบเสมือนโรงเรียนที่ให้เยาวชนเข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้ เมื่อได้ความรู้เราก็สามารถออกไปทำอะไรที่ดีให้กับสังคม นอกจากนี้ยังรู้สึกเป็นเหมือนบ้าน จบค่ายนี้แล้วเราก็ยังไม่ทิ้งกันไปไหน มีการสานต่อ การติดต่อกัน เพื่อกลับมาทำอะไรดีๆ ร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง

 

 สำรวจยี่ห้อขยะ (Brand Audit) เรื่องใหม่ ไม่ไกลตัว

เอมมี่: การทำ Brand Audit หรือการสำรวจยี่ห้อขยะ จากขยะพลาสติกที่พบ ทำให้น้อง ๆ ได้ตระหนักว่าขยะพลาสติกตามชายหาดส่วนใหญ่นั้น ส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของเรา ทำไมขยะเหล่านี้จึงลงมาอยู่ที่ทะเลได้?  ไม่ว่าจะเป็นบรรจุภัณฑ์จากหมวดอาหาร หมวดของใช้ในครัวเรือน และของใช้ส่วนตัว นอกจากนั้นน้องๆ ยังได้เรียนรู้ว่าขยะพลาสติกที่พบว่าเป็นพลาสติกประเภทใด และจากยี่ห้อใดบ้าง นั่นก็เพราะเราอยากชี้ให้เห็นว่ามันถึงเวลาแล้วที่ภาคการผลิตและเจ้าของแบรนด์ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จะต้องมีบทบาทในการรับผิดชอบและแก้ไขปัญหาพลาสติกและเสนอทางเลือกที่ดีให้กับผู้บริโภค โดยมีนโยบายและแนวทางการผลิตสร้างบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมรวมทั้งมีส่วนในการสร้างพฤติกรรมที่ดีให้แก่ผู้บริโภค โดยไม่ยัดเยียดบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งให้แก่ผู้บริโภคโดยไม่จำเป็น

จริง ๆ แล้วมีหลายประเทศที่เริ่มทำ Brand Audit เช่น ประเทศอังกฤษ ถ้าเอาใกล้ ๆ ประเทศไทยก็คือที่ ฟิลิปปินส์  ที่ฟิลิปปินส์นี่โหดมากเลยนะ เขาใช้เวลาในการทำความสะอาดเกาะฟรีดอมกันตั้ง 8 วัน และคนอาสามัครอีกนับร้อย คิดดูว่าขยะพลาสติกมันเยอะขนาดไหน ที่ฟิลิปปินส์ทำคือการสำรวจยี่ห้อขยะและการเก็บขยะที่ชายหาดไปพร้อมกัน ผลลัพธ์ที่ออกมาก็ไม่น่าแปลกใจ ขยะส่วนใหญ่ที่เจอก็จะเป็นของบริษัทที่เรารู้จักกันดี เช่น เนสเล่ท์ โค้ก ฯลฯ จริง ๆ อาจจะเป็นขยะของเราเองก็ได้ใครจะไปรู้

กรีนพีซจัดโครงการเยาวชนกรีนพีซ (Youth Wavemakers) ณ หาดชะอำ จ.เพชรบุรี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ลดการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Break Free From Plastic) เพื่อผลักดันเยาวชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการปกป้องสิ่งแวดล้อมโดยการลงมือปฏิบัติจริง และเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่สังคมปลอดพลาสติก

โดยครั้งนี้เราได้จัดเวิร์กช็อปสำรวจยี่ห้อขยะ (Brand Audit)  การตรวจสอบยี่ห้อผลิตภัณฑ์ โดยให้น้อง ๆ ได้ลงพื้นที่เก็บขยะจริงเพื่อทำความสะอาดชายหาดชะอำแล้ว ยังต้องทำการและตรวจสอบและจดบันทึก ยี่ห้อผลิตภัณฑ์จากขยะพลาสติกที่พบเป็นระยะทาง 120 เมตร ว่ามียี่ห้อใดบ้างและเป็นพลาสติกประเภทใด

ผู้ที่ต้องรับผิดชอบกับปัญหาขยะพลาสติก

เหมย: หนูคิดว่าปัญหานี้เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องรับผิดชอบ  เมื่อคุณคิดนวัตกรรมต่าง ๆ มาเพื่อสร้างถุงพลาสติกได้ คุณก็ต้องหาทางออกในการลดการผลิตให้ได้ หากทำไม่ได้มันคือการไร้ความรับผิดชอบ ส่วนพวกเราหากเราไปเริ่มกดดันร้านสะดวกซื้อ ร้านค้า แรงกดดันก็จะลามไปถึงไปถึงบริษัทได้  ถามว่าช้าไปมั้ย หนูก็ว่าช้าไปนะเมื่อเทียบกับสถานการณ์ตอนนี้ ถุงพลาสติกที่ฝังอยู่ในดินทำให้ดินเสีย หากเผาก็เกิดแก๊สเรือนกระจกทำให้โลกร้อน ตอนนี้โลกเราร้อนมาก เราต้องรู้จักการอยู่ร่วมให้ได้กับธรรมชาติ เราไม่ใช่เป็นนายธรรมชาติ ธรรมชาติต้องเป็นนายเรา
อีกเรื่องหนูเคยดูวีดีโอเรื่องที่ติดตามคนเก็บขยะ คนหลายคนจะคิดว่าพนักงานที่เก็ยขยะพอเขาเก็บไปแล้วก็เอาไปรวมกันบนรถ แต่จริง ๆ แล้ว เขาจะมีถุงกระสอบใบเล็ก ๆ ที่เอาไว้แยกขยะที่เราทิ้งอีกที่ ที่เห็นว่าเขารวมไปเพราะเราไม่ได้แยกขยะก่อน การที่เราไม่แยกขยะมันทำให้ยากต่อการนำไปรียูส รีไซเคิล

เยาวชนผู้ที่จะสร้างแรงกระเพื่อม

ข้าวทิพย์: การที่เยาวชนคนหนึ่งลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง จากคน ๆ เดียวอาจจะดูเล็ก แต่ถ้าไม่มีใครหรือองค์กรใดเริ่มที่จะทำอะไรเลยปัญหานี้จะไม่หมดไป เยาวชนเป็นแรงผลักดัน เป็นรากฐาน ทุกคนต้องเคยเป็นเด็ก เยาวชนเป็นรากฐานในการช่วยพัฒนาโลกนี้
เหมย: หนูอยากให้คิดว่าเยาวชนก็เหมือนกับเป็นเสาหลักของตึก ถ้าเสามีความแข็งแกร่งตึกก็จะไม่ล้ม การที่เริ่มปลูกฝังกับเยาวชนเป็นเรื่องที่ดี ลองคิดอีกว่าเชื้อเพลิงคือถุงพลาสติกที่กำลังมีไฟไหม้ ถ้าเราไม่ช่วยกันดับไฟแน่นอนว่าถุงพลาสติกใบนั้นก็จะปล่อยสารพิษออกมามากมาย

หลังจากค่ายจบ

แดม: ผมคิดว่าผมจะมีวินัยในการทิ้งขยะมากขึ้น ที่สำคัญคือลดการใช้ถุงพลาสติก ความรู้ที่เราได้จากค่ายนี้ผมจะเอาไปสานต่อ ไปเล่าให้เพื่อนหรือครอบครัวได้ฟัง
ข้าวทิพย์: ส่วนตัวเรื่องปัญหาพลาสติกหนูเป็นคนที่ตระหนักเรื่องนี้พอสมควร มีคนบอกว่าให้เริ่มจากตัวเราก่อน โอเคหนูทำจริง ๆ แต่มันไม่ทันแล้ว ปกติแล้วหนูพกกระติกน้ำไปโรงเรียนตลอด แต่หลังจากนี้หนูจะลดใช้พลาสติกอย่างอื่น ส่วนเรื่องหลอดพลาสติกหนูอยากคุยกับอาจารย์เผื่อมีโครงการอะไรเพิ่มเติม หนูอยากทำให้มันเห็นผลได้จริง
บั๊มพ์: ผมจะนำความรู้ที่ได้ไปแบ่งปันให้เพื่อนและครูที่โรงเรียน แล้วก็ครอบครัวด้วยครับ ผมอยากให้โรงเรียนผมเป็นตัวอย่างให้กับโรงเรียนอื่น ๆ เพื่อส่งต่อให้เกิดเป็นพลังใหม่ให้กับคนที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน
เอมมี่: เราหวังว่าน้องๆ เยาวชนกว่า 30 คนกลุ่มนี้ ที่ผ่านการคัดเลือกจากผู้สมัครกว่า 1,200 คน จะกลายเป็น Wavemakers คลื่นลูกต่อไป ที่จะช่วยกันสร้างแรงกระเพื่อมผลักดันการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก โดยเริ่มต้นจากตัวน้องๆ เองด้วยการลด ละ เลิกใช้ พลาสติกครั้งเดียว single use plastic และเป็นส่วนหนึ่งร่วมกันขับเคลื่อนกับคนทั่วโลกในการรณรงค์ #BreakFreeFromPlastic ต่อไป

เส้นทางเพื่อทวงท้องทะเลและชายหาดที่สวยงามของน้อง ๆ YWM36 จะเป็นอย่างไร จะโรยด้วยกลีบกุหลาบหรือหนามกุหลาบก็ขึ้นอยู่กับผู้บริโภค ผู้ผลิต ผู้กำหนดนโยบาย ด้วยว่าจะร่วมปูเส้นทางให้น้อง ๆ ไปในทิศทางไหน จะร่วมมือกันช่วยทำให้ภารกิจนี้สำเร็จหรือว่าต้องต่อสู้กับปัญหาขยะพลาสติกครั้งเดียวที่ใช้แล้วทิ้งต่อไป

Fundraising Team in Manila. © Geric Cruz / Greenpeace
ร่วมบริจาค

ด้วยความช่วยเหลือจากคุณ ทำให้เราสามารถใช้วิธีการที่สร้างสรรค์อย่างสันติ เปิดโปงการทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องมหาสมุทร ป่าไม้ แหล่งน้ำ อาหาร และสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนเป็นระบบพื้นฐานสำหรับทุกชีวิตบนโลกใบนี้

มีส่วนร่วม