วันที่ 16 พฤศจิกายน 2566

หลังจากกรีนพีซ ประเทศไทยส่งจดหมายเปิดผนึกถึงบริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2563 ให้ยุติโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย จ. เชียงใหม่ และโครงการเหมืองถ่านหินแม่ทะ  จ.ลำปาง บริษัทปูนซีเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด ได้ส่งจดหมายชี้แจงกลับมายังกรีนพีซ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2563 ระบุถึงใจความสำคัญ 3 ประการ ดังนี้

  1. โครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย จ. เชียงใหม่ ดำเนินการโดยเอกชนรายอื่น ซึ่งบริษัทไม่ได้ลงทุนหรือถือหุ้นใดๆ ทั้งนี้ บริษัทขอให้ความเชื่อมั่นว่าบริษัทมีนโยบายที่เข้มงวดในการไม่รับซื้อวัตถุดิบหรือปัจจัยการผลิตจากแหล่งที่ไม่ได้ดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมและกฏหมาย
  2. สำหรับโครงการเหมืองถ่านหินแม่ทะ จ.ลำปาง บริษัทขอยืนยันว่ายังไม่ดำเนินการทำเหมืองแต่อย่างใด เนื่องจากอยู่ในขั้นตอนการเปิดรับฟังความคิดเห็นของชุมชน และศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
  3. บริษัทมีเป้าหมายลดการใช้ถ่านหินเป็นศูนย์ (Zero-Coal) ในอนาคต โดยเพิ่มสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงทางเลือกอื่นๆ

ทั้งนี้ โครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย ดำเนินการโดยบริษัท 99 ธุวานนท์ จำกัด กำลังดำเนินการขอสัมปทานเพื่อขุดเหมืองถ่านหินซับบิทูมินัสคำขอประทานบัตรที่ 1/2543 เนื้อที่ประมาณ 284 ไร่ 30 ตารางวา เพื่อป้อนอุตสาหกรรมผลิตปูนซีเมนต์ของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) แต่ยังไม่อาจดำเนินโครงการต่อได้ เนื่องจากเมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2565 ศาลปกครองเชียงใหม่มีคำสั่งให้คุ้มครองชั่วคราวกรณีโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อยจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา หลังจากตัวแทนประชาชนชุมชนกะเบอะดิน อ.อมก๋อย จำนวน 50 คน ร่วมกันยื่นฟ้องเพิกถอนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment) หรือ: EIA โครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย ต่อมาทางมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมได้นำส่งหลักฐานต่อศาล ดังนี้คือ

1. รายงาน “อมก๋อย แหล่งอากาศดีที่อาจสิ้นสูญ: แผนที่ความเสี่ยงต่อมลพิษทางอากาศกรณีดำเนินโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย” จัดทำโดยมหาวิทยาลัยนเรศวรและกรีนพีซ ประเทศไทย ผลการจำลองชี้ว่า จะเกิดการฟุ้งกระจายของ PM2.5 และ PM10 ในบรรยากาศซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรังในระดับรุนแรง เกิดผลกระทบจากไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) จากการตกสะสมของกรดสู่พื้นที่เกษตรกรรมในระดับที่จะส่งผล กระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ของดิน กระทบการประกอบอาชีพของชุมชนกะเบอะดิน และ ท้ายที่สุดคือเกิดการตกสะสมของปรอทสู่แหล่งน้ำหลักของชุมชนกะเบอะดิน ปรอทจะสะสมในปลาเกินค่าที่ส่งผลกระทบต่อระดับสติปัญญาของเด็ก หากเด็กหรือหญิงตั้งครรภ์บริโภคปลาปนเปื้อนปรอทดังกล่าว 

2. รายงานฉบับสมบูรณ์ “โครงการวิจัย เรื่อง การประเมินระดับการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม กรณีโครงการเหมืองแร่ถ่านหินหมู่บ้านกะเบอะดิน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่” จัดทำโดย ชุมชนกะเบอะดิน มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมและมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้มีการประเมินมาตรฐานในการจัดทำ EIA ในกรณีเหมืองถ่านหินอมก๋อยหลายมิติ และพบปัญหาหลายด้าน โดยด้านที่นับว่ามีน้ำหนักควรเพิกถอน EIA ฉบับนี้มากที่สุดคือการขาดการมีส่วนร่วมของชุมชนในบริเวณที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบซึ่งมีการเปิดการรับฟังความคิดเห็นแต่กลับไม่มีการนำความคิดเห็นของประชาชนไปใส่ในรายงาน EIA แม้แต่น้อย แสดงให้เห็นว่าการมีส่วนร่วมในการจัดทำรายงาน EIA กรณีโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อยขัดต่อเนื้อในรายงาน EIA อย่างมีนัยสำคัญ และไม่เป็นไปตามประกาศเรื่องแนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) อย่างชัดเจน

สำหรับ “โครงการเหมืองถ่านหินแม่ทะ” อยู่ในพื้นที่บ้านบอมพัฒนา ดำเนินการโดย บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด กำลังดำเนินการขอสัมปทานขุดเหมืองถ่านหินลิกไนต์ประเภทที่ 3 ตามคำขอประทานบัตรที่ 7/2561, 8/2561, 9/2561, 10/2561  หมายเลขเขตเหมืองแร่ที่ 30542 เนื้อที่ประมาณ 958.50 ไร่ ประชาชนแม่ทะได้คัดค้านโครงการเหมืองถ่านหินดังกล่าวและส่งหนังสือร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อชี้ให้เห็นว่าการทำประชาพิจารณ์ขาดความชัดเจนและไม่ชี้แจงรายละเอียดถึงผลกระทบของโครงการอย่างรอบด้าน การเดินหน้าโครงการเหมืองถ่านหินแม่ทะกำลังจะทำลายความมั่นคงทางเศรษฐกิจ วิถีชีวิตชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติทรัพยากรธรรมชาติทั้งป่าไม้ น้ํา ดิน และอากาศ ซึ่งมีคุณค่ามหาศาลและไม่อาจหาสิ่งใดมาทดแทนได้ จากการศึกษาข้อมูลของกลุ่มรักษ์แม่ก๋องพบว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจโดยประมาณในพื้นที่ตําบลบ้านบอมและตําบลบ้านกิ่วพบว่ารายได้ทางเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชนมากกว่า 400 ล้านบาทต่อปี จากสินค้า บริการ การท่องเที่ยว กิจกรรมทางการเกษตรและจากป่าแหล่งอาหาร

แม้ในคำชี้แจงจากบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ถึงกรีนพีซ ประเทศไทย ข้างต้น จะระบุว่าบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ไม่ได้เป็นผู้ดำเนินโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อยโดยตรงและมีเป้าหมายลดใช้ถ่านหินเป็นศูนย์ (Zero Coal) ในอนาคต แต่ใน EIA ของโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อยระบุไว้ชัดเจนว่าปลายทางหลักของห่วงโซ่อุปทานถ่านหินคือบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) อีกทั้งบริษัท 99 ธุวานนท์ จำกัด ผู้ดำเนินโครงการฯ ซึ่งอยู่ในห่วงโซ่อุปทานชั้นต้นยังคงพยายามต่อสู้คดีกับประชาชนบ้านกะเบอะดินในศาลปกครอง เพื่อต้องการสร้างเหมืองถ่านหินต่อไป  รวมถึงความพยายามที่จะสร้างเหมืองถ่านหินแม่ทะยังคงดำเนินไป

ที่มาภาพ: EIA โครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย https://eia.onep.go.th/eia/detail?id=4147

ขณะนี้เวลาได้ล่วงเลยมาหลังจากวิกฤตโรคระบาด กรีนพีซ ประเทศไทย ในฐานะองค์กรรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นอิสระ และผลักดันการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม จึงขอเรียกร้องให้ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)  สร้างความชัดเจนและประกาศมาตรการที่เป็นรูปธรรมต่อเป้าหมายการลดใช้ถ่านหินให้เป็นศูนย์ (Zero Coal) ที่บริษัทได้ประกาศไว้ โดยชี้แจงอย่างชัดเจนถึงห่วงโซ่อุปทาน แผนการปฏฺิบัติงาน และกรอบเวลาที่นำไปสู่เป้าหมายการลดใช้ถ่านหินให้เป็นศูนย์ (Zero Coal) ซึ่งในภาพรวมคือการเป็นส่วนหนึ่งในการปลดระวางถ่านหิน (Phase-out coal) ของประเทศไทย และตัดสินใจอย่างกล้าหาญเพื่อยุติการมีส่วนร่วมทุกระดับในห่วงโซ่อุปทานโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่และยุติโครงการเหมืองถ่านหินแม่ทะ จังหวัดลำปาง ในฐานะที่บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เป็นเจ้าของโครงการ โดยทันที   

หากบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ยังคงมีส่วนในการเดินหน้าโครงการเหมืองถ่านหินดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือเป็นปลายทางของห่วงโซ่อุปทาน ย่อมทำให้เป้าหมายของบริษัทฯ เพื่อบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี2050 (Energy Transition Solutions: ETS) และเป้าหมายบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง เป็นการลดทอนหลักปฏิบัติสากลด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (UN Guiding Principle on Human Rights) รวมถึงเป็นการสร้างความเข้าใจต่อนโยบายความยั่งยืนของบริษัทที่ไม่ครบถ้วนต่อทั้งผู้บริโภค และผู้ถือหุ้นของบริษัทและประชาชนต่อไป

 

ธารา บัวคำศรี

ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย