เกิดอะไรขึ้นกับแหล่งน้ำ?

ในวัน World Food Day ที่ผ่านมา ได้กำหนดให้ ‘น้ำ’ เป็นหัวข้อหลักที่จะพูดคุยถึงในปีนี้ แน่นอนว่าน้ำคือทรัพยากรสำคัญในการเพาะปลูกอาหาร แต่ขณะนี้ผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศกำลังทำให้การเพาะปลูกต้องเจอกับความท้าทายครั้งใหญ่ เช่น การพยากรณ์ปริมาณน้ำฝนยากขึ้นเพราะรูปแบบการตกของฝนที่เปลี่ยนไป เกิดคลื่นความร้อนที่รุนแรงกว่าเดิม ไร่นาก็ต้องการน้ำมากขึ้นเพราะอุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้น ในภาพรวมเราต้องพึ่งพาน้ำฝนในปริมาณมากเนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกสามในสี่ของโลกต้องอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก นั่นสรุปได้ว่าเรากำลังเผชิญกับภัยพิบัติที่รุนแรง

สำหรับความพยายามบรรเทาทุกข์จากผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ นโยบายการจัดการและอนุรักษ์แหล่งน้ำมักจะมีธนาคารโลก (World Bank) เข้ามาเป็นผู้รับผิดชอบ โดยรณรงค์ให้ขยายแนวคิด ‘ชลประทานที่ยั่งยืน’ (หมายถึงระบบการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ระบบน้ำหยด (drip irrigation)) แต่ระบบชลประทานยุคใหม่จะใช้เครื่องปั๊มน้ำจากอ่างเก็บน้ำ (เช่น น้ำใต้ดิน) ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อผู้คนทั้งโลก

กรีนพีซ สเปนเดินทางไปยังเมือง Bardenas, Foral Community of Navarra ในสเปน เพื่อสำรวจและบันทึกผลกระทบจากความแห้งแล้ง ทั้งจากขาดฝนและการจัดการน้ำที่ย่ำแย่ ซึ่งทำให้ระบบน้ำทั่วประเทศเลวร้ายลงกว่าเดิม ราว 75% ของพื้นที่ตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะกลายเป็นทะเลทราย © Greenpeace / Pedro Armestre

ทำไมการจัดการน้ำจึงสำคัญ?

การเกษตรเป็นสาเหตุที่ทำให้ทั่วโลกขาดแคลนน้ำอยู่แล้ว มนุษย์ใช้น้ำกว่า 70% เพื่อผลิตอาหาร โดยปริมาณน้ำส่วนใหญ่นั้นถูกใช้ไปกับการปลูกพืชเศรษฐกิจและใช้ในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ ปัจจุบันแม้จะมีพืชพันธุ์ราว 1 ใน 4 ของโลกที่ปลูกด้วยการจัดการน้ำ เช่น การสูบน้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะและการกระจายน้ำรูปแบบต่าง ๆ  แต่ในจำนวนดังกล่าวมีการทำเกษตรถึง 1 ใน 3 ที่ก่อภาวะตึงเครียดเนื่องจากใช้น้ำมากเกินไปจนส่งผลให้น้ำไม่เพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภค นั่นหมายถึงมีการใช้น้ำสะอาดไปอย่างสิ้นเปลืองในปริมาณมหาศาลในภาคเกษตรเชิงอุตสาหกรรม โดยน้ำที่นำมาใช้ในการเกษตรนั้นมักจะมาจากแหล่งน้ำเดียวกันกับแหล่งน้ำที่ใช้ในครัวเรือนและภาคพลังงาน และเมื่อการปลูกพืชต้องพึ่งพาน้ำจากแม่น้ำและแหล่งน้ำใต้ดินมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเหลือปริมาณน้ำที่จะเอาไปใช้ในจุดประสงค์อื่น ๆ เช่น ใช้ดื่มหรือใช้เพื่อสุขอนามัยน้อยลงเท่านั้น

ในบางพื้นที่เกิดภาวะการแย่งน้ำสูงระหว่างการใช้น้ำเพื่อบริโภคกับการใช้เพื่อปลูกพืช ส่งผลให้เกิดผลกระทบและเกิดการแข่งขันเพื่อแย่งทรัพยากรน้ำ นำมาสู่ปัญหาความไม่เท่าเทียม หนึ่งในนั้นคือปัญหาการผลักหน้าที่รับผิดชอบหาน้ำเพื่อบริโภคไปให้กับผู้หญิง ในขณะที่แหล่งน้ำจากสถานที่ต่าง ๆ ก็ลดน้อยลงจนแทบไม่เหลือ พวกเธอต้องเดินทางออกไปไกลขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อหาแหล่งน้ำใหม่ซึ่งหมายถึงความเสี่ยงที่จะถูกทำร้ายร่างกายหรือป่วยเพราะใช้ร่างกายหนักเกินไป เวลาที่พวกเธอสูญเสียไปกับการเดินทางแหล่งน้ำก็ยิ่งทำให้ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำกว้างขึ้นมากเท่านั้น

นาข้าวที่ใช้น้ำจากต้นน้ำห้วยผาขาวในการเพาะปลูก ต้นน้ำแห่งนี้เป็นหนึ่งในแหล่งน้ำสำคัญของชุมชนกะเหรี่ยงโปว์ หมู่บ้านกะเบอะดิน ใน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ © Chanklang Kanthong / Greenpeace

และแม้ว่าเราจะลงทุนด้วยเงินจากทั่วโลกให้กับระบบชลประทานเพื่อให้การเพาะปลูกมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะสร้างให้ระบบยั่งยืนตลอดไป ก็เพราะว่าการมุ่งเน้นไปที่ระบบการจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพอย่างเดียวสามารถนำเราไปสู่การบริโภคที่มากขึ้นจนล้นเกิน ทั้งนี้ ยกตัวอย่างในภาคพลังงานที่ก่อนหน้านี้มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาประสิทธิภาพของเครื่องยนต์เป็นเวลาหลายปี แม้ว่าจะมีหลักฐานที่ระบุว่าการพัฒนาในรูปแบบนี้จะนำไปสู่การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมากขึ้น สถานการณ์เช่นนี้จึงเกิดขึ้นกับการจัดการน้ำเช่นกัน เพราะหากทุกเฮกตาร์ในแต่ละฟาร์มสามารถประหยัดน้ำในฟาร์ม ก็จะช่วยเพิ่มการผลิตพืชพันธุ์มากขึ้น และยังมีน้ำเหลือใช้สำหรับอุปโภคบริโภคอื่นมากขึ้น

ประเด็นสำคัญที่เราอยากเรียกร้อง

แนวคิดที่ว่าเราควรโฟกัสไปที่การเพิ่มประสิทธิภาพนั้นอยู่บนพื้นฐานของการสันนิษฐานที่ว่าเราควรคงระบบการผลิตอาหารของโลกให้ไว้แบบเดิม และมุ่งพัฒนาให้ระบบมีประสิทธิภาพมากขึ้น (และมีความสำคัญมากขึ้นรวมทั้งผลิตได้มากขึ้น)

แต่การทำแบบนี้ก็เหมือนกับการเข็นครกขึ้นภูเขา เพราะตอนนี้ระบบผลิตอาหารโลกกำลังก่อวิกฤตหนัก เพราะเป็นระบบที่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึงหนึ่งในสามจากปริมาณก๊าซที่ถูกปล่อยออกมา นอกจากนี้อุตสาหกรรมการเกษตรยังเป็นหนึ่งในตัวเร่งที่ทำให้เกิดการทำลายผืนป่า ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่คร่าชีวิตสัตว์ป่า แน่นอนว่าไม่ได้เป็นเพียงแค่ตัวการทำให้โลกขาดแคลนน้ำ แต่ยังเป็นสาเหตุที่ทำให้น้ำปนเปื้อนทั่วโลก

เมื่อนึกถึงการผลิตอาหารในอนาคต แน่นอนว่าเราจะต้องกังวลกับภาวะแหล่งน้ำที่ลดลงทุกที แต่จะดีกว่าหรือไม่หากเราหยุดโต้เถียงกันเกี่ยวกับเทคนิคเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ แล้วเปลี่ยนประเด็นไปพูดคุยถึงการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมเกษตรในเชิงระบบมากขึ้น ว่าใครเป็นผู้ผลิตอาหาร และเพื่อใคร ซึ่งอาจเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่า

มิถุนายน 2565 นักกิจกรรมกรีนพีซ กรีซ ประท้วงโดยสงบด้านนอกกระทรวงการเกษตรและอาหารในกรุงเอเธนส์ โดยนักกิจกรรมส่ง ‘การ์ดขอบคุณ’ ให้กับรัฐมนตรีกระทรวงการเกษตรและอาหาร เพื่อคัดค้านการเพิกเฉยต่อปัญหาราคาอาหารแพงและวิกฤตด้านอาหารที่โลกกำลังเผชิญอยู่ขณะที่เกิดสงครามรัสเซียบุกยูเครน © Nikos Thomas / Greenpeace

ใครควรเป็นผู้ผลิตอาหาร

อุตสาหกรรมอาหารในปัจจุบันมุ่งเน้นไปที่การทำกำไรและแสวงหาผลประโยชน์เหนือประชาชนของกลุ่มบริษัทข้ามชาติเพียงไม่กี่เจ้า อย่างไรก็ตามเรายังมีระบบอาหารในรูปแบบอื่นที่ทำได้จริง หนึ่งในนั้นคือการทำงานร่วมมือกัน เกิดความเท่าเทียมทางสังคมมากกว่า เป็นมิตรกับระบบนิเวศมากกว่า และเมื่อชุมชนได้จัดการตนเองและมีอำนาจในการผลิตอาหารเอง ระบบอาหารก็จะเปลี่ยนผ่านจากการผูกขาดไปมีอธิปไตยทางอาหารมากขึ้น ซึ่งจะเป็นระบบอาหารที่ดำเนินไปด้วยชุมชนพร้อมกับความต้องการของชุมชน

เช่นเดียวกับชนพื้นเมือง กลุ่มคนที่คอยจัดการทรัพยากรธรรมชาติในหลายพื้นที่ของโลก และเป็นผู้จัดสรรปันส่วนการใช้แหล่งน้ำมาเนิ่นนานด้วยภูมิปัญญาที่มีอยู่ รวมทั้งเป็นส่วนสำคัญต่อการพัฒนาการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน เมื่อเราปล่อยให้เกษตรกรรมและการจัดการปัจจัยการผลิตอาหาร เช่น น้ำ ให้อยู่ในมือของชุมชนซึ่งเป็นเกษตรกรท้องถิ่นจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้การจัดการทรัพยากรดีขึ้นและมีความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น เพราะจะตั้งอยู่บนการใช้และอนุรักษ์ทรัพยากร รวมทั้งยังมีความเท่าเทียมกัน

การผลิตแป้งมันสำปะหลัง (Manioc) โดยวิธีของชนพื้นเมือง Munduruku ในพื้นที่ Sawré Muybu รัฐ Pará ประเทศบราซิล © Valdemir Cunha / Greenpeace

เราควรผลิตอาหารให้ใคร

กลุ่มธุรกิจด้านการเกษตรกรรมและกลุ่มธรุกิจข้ามชาติมักแก้ต่างให้โมเดลธุรกิจของพวกเขาอยู่บ่อยครั้ง โดยอ้างว่าเกษตรกรรมเชิงอุตสาหกรรมจะ ‘เลี้ยงผู้คนทั้งโลก’ และจะต้องขยายการผลิตท่ามกลางจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ท่ามกลางจำนวนประชากรทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น แต่ยังมีผู้คนอีกจำนวนมากที่กำลังทนทุกข์จากความหิวโหยเนื่องจากขาดแคลนอาหาร ปัจจุบันมีประชากรราว 750 ล้านคนที่เผชิญกับการขาดแคลนอาหารและทุพโภชนาการ เพิ่มขึ้นจาก 3 ปีก่อนถึง 20%

ดังนั้น ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่อาหารมีมากพอสำหรับประชากรทุกคนหรือไม่ แต่เป็นเพราะอาหารเหล่านี้ถูกผลิตออกมาแต่ไม่ได้รับการกระจายอาหารอย่างถูกต้อง แม้ว่าจะมีการขยายพื้นที่การปลูกพืชทั่วโลกและยังขยายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ไม่มีการแชร์พืชพันธุ์เหล่านี้ให้กับชุมชนท้องถิ่นเพื่อบริโภคโดยตรง เพราะการแข่งขันด้านการแสวงหาผลกำไรจากการผลิตอาหารเพิ่มมากขึ้น

การปลูกพืชเพื่อเป็นอาหารสัตว์คือตัวอย่างที่เด่นชัด กรีนพีซประเมินว่าพืชพันธุ์ที่ผลิตขึ้นในยุโรปถูกส่งเป็นอาหารสัตว์ประมาณ 59% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปศุสัตว์ที่ถูกเลี้ยงแบบอุตสาหกรรมอย่างเข้มข้น น้ำที่ใช้ในการเกษตรทั่วโลกกว่า 41% เป็นการผลิตเพื่อเป็นอาหารสัตว์ ในขณะที่น้ำสะอาดปริมาณมหาศาลถูกใช้ในอุตสาหกรรมการเกษตรซึ่งก็คือการผลิตอาหารสัตว์ และเป็นปริมาณที่มากกว่าการผลิตอาหารเพื่อผู้คนในการบริโภคโดยตรง ในมุมมองของความเป็นธรรมด้านอาหาร ตัวเลขเหล่านี้ทำให้เราสะเทือนใจ เพราะสัตว์เหล่านี้ถูกเลี้ยงเพื่อเป็นอาหารให้กับผู้คน แต่กลับต้องใช้อาหารเลี้ยงสัตว์ในปริมาณมากกว่าเนื้อสัตว์ที่ผลิตออกมาได้จริง (อ้างอิงสถิติจาก Feed Conversion Ratio) สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ยังหมายถึงมีการใช้น้ำในห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมปศุสัตว์ในปริมาณที่สูงมาก เนื่องจากจำเป็นต้องใช้พืชอาหารสัตว์ในปริมาณมหาศาล และมากกว่าการเพาะปลูกธัญพืชสำหรับคนเสียอีก

มิถุนายน 2566 กรีนพีซ ฝรั่งเศส ชุมชนท้องถิ่นและเครือข่ายพันธมิตรร่วมกันคัดค้านฟาร์มเลี้ยงสัตว์เชิงอุตสาหกรรม ใน Landunvez, Brittany เนื่องจากเป็นสาเหตุการปนเปื้อนทั้งในแหล่งน้ำและอากาศ © Marie Sebire / Greenpeace

เราต้องการการเปลี่ยนแปลงทิศทางใดบ้าง

ผู้ที่มีอำนาจหรือผู้กำหนดนโยบายต้องวางแผนเพื่อเปลี่ยนผ่านระบบอาหารโลกไปในทางที่ดีกว่าเดิม เช่นเดียวกับการลดใช้ปริมาณน้ำ นอกจากนี้จำเป็นจะต้องสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรรายย่อยมากกว่ากลุ่มอุตสาหกรรมอาหารเพื่อให้พวกเขามีอำนาจในการควบคุมระบบอาหารให้มากขึ้น อีกทั้งยังผลิตอาหารที่มุ่งเน้นให้กับผู้คนมากกว่า ตอนนี้ในกลุ่มประเทศที่ร่ำรวยมีนโยบายที่จะลดการผลิตเนื้อสัตว์และเปลี่ยนการบริโภคเนื้อสัตว์และนมไปเป็นการบริโภคอาหารจากพืชผักมากขึ้น

ในวันอาหารโลกปีนี้ที่นำเสนอเรื่องของแหล่งน้ำและการใช้น้ำในอุตสาหกรรมอาหารนั้นย้ำเตือนเราทุกคนให้เห็นว่าน้ำนั้นสำคัญต่ออาหารที่เรากินมากเพียงใด การลดขยะอาหารและมุ่งเน้นบริโภคอาหารที่ใช้น้ำในการผลิตน้อยกว่าเช่นอาหารจากพืชผัก ก็เป็นสิ่งที่เราจะเริ่มช่วยโลกได้นอกเหนือไปจากการกำหนดมาตรการในเชิงโครงสร้าง เราไม่ควรนำน้ำไปแลกกับการผลิตอาหารมากเกินไปจนเราต้องขาดแคลนน้ำดื่ม ดังนั้นการปกป้องแหล่งน้ำจากผลกระทบของอุตสาหกรรมเกษตรเป็นสิ่งที่เราต้องทำเพื่อความอยู่รอดของเราทุกคน


Sophie Nodzenski นักรณรงค์ด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ กรีนพีซ สากล

บทความนี้แปลจากบทความต้นฉบับภาษาอังกฤษ อ่านบทความต้นฉบับ

อ่านรายงาน ลดเพื่อเพิ่ม (Less Is More) – Greenpeace Thailand