นี่คือโอกาสสำคัญของคนรุ่นเราที่จะปกป้องสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อมจากมลพิษพลาสติกและวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

ปัจจุบันเรามีข้อมูลเป็นประจักษ์แล้วว่า ตัวเลขการผลิตพลาสติกทั่วโลกเพิ่มขึ้นจากปี 2543 ถึงปี 2562 เป็นเท่าตัว โดยโลกผลิตพลาสติกมากถึง 460 ล้านตัน (Mt) ต่อปี และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกเกือบ 3 เท่าภายในปี 2593 นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ว่าโลกจะปล่อยคาร์บอนได้อีกเพียง 13% เท่านั้นหากต้องการคงอุณหภูมิไว้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

การผลิตพลาสติกเช่นนี้หากยังไร้การควบคุมก็จะเร่งให้เกิดวิกฤตต่อโลกอย่างหนัก ทั้งวิกฤตสภาพภูมิอากาศ มลพิษและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของประชาชนถึงขนาดที่ไม่สามารถจินตนาการได้ รวมทั้งยิ่งทำให้วิกฤตด้านมนุษยธรรมรุนแรงขึ้นทั่วโลก ทั้งปัญหาการเหยียดเชื้อชาติ การเหยียดเพศ และความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ

โรงงานรีไซเคิลและการจัดการขยะในเมืองโบโกตา (Bogotá) โคลอมเบีย © Juan Pablo Eijo / Greenpeace

อย่างไรก็ตาม การเจรจาระดับโลกเกี่ยวกับสนธิสัญญาพลาสติกโลกที่จะเกิดขึ้นที่เคนยาก็ใกล้เข้ามาทุกที ผู้นำโลกจะต้องยกระดับการแก้ไขมลพิษพลาสติกให้อยู่บนพื้นฐานของความจริงและต้องยอมรับได้แล้วว่าปัญหาพลาสติกกลายเป็นวิกฤตที่เร่งด่วน และหนทางเดียวที่จะหลีกเลี่ยงผลกระทบอย่างรุนแรงของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ คือการตั้งเป้าหมายและกฎเกณฑ์ที่สามารถลดปริมาณการผลิตพลาสติก และการประชุมเจรจาครั้งนี้ก็เป็นโอกาสที่ดีที่ผู้นำโลกจะแสดงความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหา ซึ่งหากพวกเขาทำไม่สำเร็จ โลกของเราก็จะได้รับผลกระทบอย่างใหญ่หลวง

การลดการผลิตพลาสติกลงอย่างน้อย 75% จะทำให้เราหลีกเลี่ยงหายนะจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

หากพิจารณาถึงมลพิษพลาสติกผ่านมุมมองด้านสภาพภูมิอากาศ ก็มีแบบจำลองโดย Eunomia และ Pacific Environment ที่แสดงให้เราเห็นว่าหากลดการผลิตพลาสติกลง 75% ภายในปี 2593 จะช่วยคงอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่ให้เกิด 1.5 องศาเซลเซียส และยังจะป้องกันผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศร้ายแรงที่เกิดจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น จากรายงานสถิติล่าสุดเกี่ยวกับการทบทวนสถานการณ์และการดำเนินงานระดับโลก (Global Stocktake) ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คาดการณ์ว่าโลกใกล้ที่จะไม่สามารถคงอุณหภูมิเฉลี่ยไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียสได้แล้ว รายงานยังเสนอให้ผู้นำทั่วโลกต้องลงมือแก้ไขภาวะโลกเดือดอย่างจริงจังมากกว่านี้เพื่อปกป้องทุกชีวิตที่อาศัยอยู่บนโลก

การตั้งเป้าหมายลดการผลิตพลาสติกทั่วโลกให้ได้อย่างน้อย 75% ภายในปี 2583 จึงตอบโจทย์ข้อเสนอนี้ให้เข้มข้นและทะเยอทะยานมากขึ้นในมาตรการการแก้ปัญหาระดับสากลและด้วยเป้าหมายนี้ไม่เพียงแค่จะช่วยให้แต่ละประเทศไปถึงเป้าหมายการกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ แต่ยังสร้างอาชีพ ยกระดับให้นวัตกรรมที่เป็นทางออกของวิกฤตสภาพภูมิอากาศให้เข้มข้นและทำได้จริง และนำไปสู่โลกคาร์บอนต่ำ ปลอดมลพิษ และไปสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่อยู่บนพื้นฐานระบบใช้ซ้ำ

สนธิสัญญาพลาสติกต้องเอื้อประโยชน์ต่อชุมชนและแรงงาน ไม่ใช่กลุ่มอุตสาหกรรมฟอสซิล

ไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่ที่ กลุ่มบริษัทฟอสซิลวางแผนใช้ประเด็นสภาพภูมิอากาศเพื่อหยุดการแก้ปัญหาที่ทะเยอทะยาน รวมทั้งโน้มน้าวรัฐบาลหลายประเทศให้ดำเนินนโยบายไปในทิศทางที่พวกเขากำหนดเพื่อผลกำไรในระยะสั้น ก่อนหน้านี้รายงานหลายฉบับระบุว่าตัวแทนผู้เจรจาต่อรองข้อตกลงสนธิสัญญาพลาสติกโลกหลายคนมีความเชื่อมโยงหรือเป็นที่ปรึกษาให้กับอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ อีกทั้งยังพยายามทำให้โลกเจอกับความล้มเหลวด้วยการปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจด้วยการทำให้โลกมองข้ามวิธีการแก้วิกฤตพลาสติกด้วยการลดการผลิตโดยตรง ดังนั้นผู้นำโลกจะต้องปฏิเสธการโน้มน้าวของตัวแทนจากกลุ่มธุรกิจเหล่านี้

จากประสบการณ์การเจรจาด้านสภาพภูมิอากาศที่ผ่านมาหลายสิบปี เราต่างทราบดีว่าการเจรจาต้องการเป้าหมายที่หนักแน่นและทะเยอทะยานพอ ทั่วโลกจะต้องเห็นควรร่วมกันเกี่ยวกับการลดการใช้พลาสติกและต้องเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นธรรมโดยมุ่งเน้นไปที่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์นี้และผู้ก่อมลพิษจะต้องชดเชยค่าความสูญเสียและเสียหายอีกด้วย

นักรณรงค์กรีนพีซ ตุรเคีย เป็นประจักษ์พยานบริเวณบ่อขยะพร้อมกับป้ายข้อความที่เขียนว่า ‘Wasted Land’ รวมทั้งสืบสวนสอบสวนบ่อขยะในเมือง Seyhan จังหวัด Adana ในตุรเคีย ทั้งนี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา กรีนพีซ เมดิเตอร์เรเนียน เผยแพร่รายงานที่ระบุว่า ดิน อากาศ และน้ำ ในตุรเคียได้รับผลกระทบจากมลพิษพลาสติกนำเข้าและส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนอย่างไรบ้าง © Caner GUEVERA / Greenpeace

การเจรจาเริ่มต้นขึ้นแล้ว ตอนนี้เราต้องเริ่มลงมือทำเพื่อแก้ปัญหา

ร่างสนธิสัญญาพลาสติกโลกที่ออกมาเมื่อไม่นานมานี้ (Zero Draft) ได้รวบรวมโครงสร้างด้านกฎหมายพื้นฐานที่ต้องใช้ความหนักแน่นที่จะผลักดันให้ทั่วโลกตั้งเป้าหมายลดการผลิตพลาสติก การเจรจาครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดีและเราต้องการความมุ่งมั่น ทะเยอทะยานมากพอจากผู้นำทั่วโลกที่จะแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง

สนธิสัญญาพลาสติกโลกเป็นโอกาสที่คนรุ่นเราจะแก้ปัญหามลพิษพลาสติก เราและเครือข่ายพันธมิตรอย่างเครือข่าย Break Free from Plastic รวมทั้งผู้คนอีกหลายล้านคนกำลังร่วมกันแก้ไขปัญหาและเรียกร้องรัฐบาลให้มุ่งมั่นแก้ปัญหา เราสามารถทำให้สนธิสัญญาพลาสติกโลกบรรลุด้วยความมุ่งมั่นและยุติยุคพลาสติกได้


เกรย์แฮม ฟอร์บส์ (Graham Forbes) หัวหน้าทีมเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกโลกและหัวหน้าโครงการพลาสติกระดับสากล กรีนพีซ สหรัฐอเมริกา

บทความนี้แปลจากบทความต้นฉบับภาษาอังกฤษ อ่านบทความต้นฉบับ