ท่ามกลางกระแสโลกร้อนและนโยบาย Net Zero บริษัทและทุนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ต่างพากันออกแคมเปญโครงการปลูกป่าลดโลกร้อน เช่น การระบุเป้าหมายการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกว่า “ธุรกิจของเราต้องการปลูกต้นไม้จำนวน X ต้น พื้นที่ X ไร่ ภายในปี 2030 ซึ่งในอนาคตพื้นที่ป่าเหล่านี้จะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า X ล้านตันต่อปี”

บทความนี้ต้องการชี้ให้เห็นว่า การปลูกป่าลดโลกร้อนเป็นเพียงวาทกรรมการฟอกเขียวของอุตสาหกรรมผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล (น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซฟอสซิล) ซึ่งเป็นต้นตอของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ การปลูกต้นไม้เชิงสัญลักษณ์นอกจากจะไม่ได้สร้างป่าธรรมชาติแล้วยังอาจเป็นอันตรายต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพอีกด้วย 

การประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฎิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทยครั้งที่ 2. © Greenpeace
นักกิจกรรมกรีนพีซ ประเทศไทยฉายโปรเจคเตอร์ “หยุดใช้ผืนป่าแลกคาร์บอน Real Zero Not Net Zero” ส่งสารถึงนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน และคณะรัฐบาลไทยในพิธีเปิดการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฎิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทยครั้งที่ 2 (2nd Thailand Climate Action Conference) กรีนพีซ ประเทศไทย เรียกร้องให้รัฐบาลไทยทบทวนกรอบท่าทีเจรจาในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 28 (COP28) โดยเห็นว่านโยบายสภาพภูมิอากาศของไทยยังคงขาดสมดุล มุ่งเน้นมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (mitigation) เป็นหลัก ให้ความสำคัญกับการรับมือปรับตัวจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ (adaptation) น้อยมาก และแทบไม่พูดถึงความสูญเสียและความเสียหาย(loss and damage) และเปิดช่องให้มีการฟอกเขียว (greenwashing) มากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการชดเชยคาร์บอนภาคป่าไม้ (forest carbon offset)
© Greenpeace

เหตุใดภาคธุรกิจจึงหันมาปลูกป่า

การปลูกป่าลดโลกร้อนกลายมาเป็นวาทกรรมของภาคธุรกิจเพื่อแสดงถึงความรับผิดชอบต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ กิจกรรมการปลูกต้นไม้ถือเป็นกลยุทธ์ของบริษัทในการสื่อสารกับสังคมว่าธุรกิจของตนรักษ์โลกและมุ่งมั่นต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(SDGs) นอกจากการสร้างภาพลักษณ์ความเขียวให้กับองค์กรธุรกิจแล้วการปลูกต้นไม้ถือเป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งของบริษัทที่จะเคลม “คาร์บอนเครดิต” จากจำนวนต้นไม้ที่ปลูกและนำคาร์บอนเดรดิตที่ได้รับมาชดเชยปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่บริษัทปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ 

Carpathian Forest in Romania. © Răzvan Dima / Greenpeace
© Răzvan Dima / Greenpeace

นั่นหมายความว่าบริษัทและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ยังคงสามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมหาศาลต่อไปเพราะได้รับคาร์บอนเครดิตจากการปลูกป่ามาชดเชย

การปลูกป่าเพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถือเป็นกลยุทธ์ของบริษัทในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเท่ากับศูนย์ หรือ Net Zero จะเห็นได้ว่า ภาคธุรกิจและบริษัทขนาดใหญ่หลายบริษัทตัดสินใจลงทุนปลูกป่าทั้งการปลูกในพื้นที่ของตนเองและขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าของรัฐในการทำโครงการปลูกป่าลดโลกร้อน

อันที่จริงแล้วการชดเชยปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคอุตสาหกรรมสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี การเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด เป็นต้น แต่บริษัทมักเลือกการปลูกป่าเพราะเป็นวิธีการที่ง่าย สะดวก และลงทุนน้อยเมื่อเทียบกับวิธีการอื่นๆ การจัดหาคาร์บอนเครดิตจากการปลูกป่าจึงเป็นที่นิยมของภาคธุรกิจเพราะสามารถช่วยลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายของบริษัท อีกทั้งยังได้ภาพลักษณ์ที่ดีในการรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย อย่างไรก็ตาม การปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศและสามารถรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศได้อย่างแท้จริงนั้นเกี่ยวข้องกับเงื่อนไขและปัจจัยมากมายหลายประการ 

การปลูกต้นไม้เพื่อลดโลกร้อนขององค์กรธุรกิจแม้เกิดจากความปรารถนาดี แต่ในหลายกรณีอาจเป็นอันตรายต่อโลก ระบบนิเวศ และชุมชนท้องถิ่น

ปลูกต้นไม้เพื่อฟื้นฟูป่าหรือแค่การฟอกเขียว

สำนักข่าว BBC เคยเผยแพร่บทความเรื่อง How phantom forests are used for greenwashing เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 โดยตั้งคำถามและนำเสนอให้เห็นว่าการปลูกป่าที่ไม่ได้ป่านั้นถูกใช้เพื่อการฟอกเขียวของธุรกิจอย่างไร เนื้อหาของบทความดังกล่าวพูดถึงโครงการปลูกป่าที่ดำเนินงานโดยภาครัฐและบริษัทเอกชนในฟิลิปปินส์ อินเดีย และอีกหลายประเทศในทวีปแอฟริกา และชี้ให้เห็นว่าในช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลในประเทศต่างๆ เหล่านี้อ้างโครงการปลูกป่าเพิ่มพื้นที่ป่าเพื่อดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ 

รัฐและภาคธุรกิจหันมาใช้กิจกรรมการปลูกป่าเป็นกลยุทธ์หลักในการต่อกรกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ สิ่งที่บทความนี้ให้บทเรียนกับเราก็คือ ในหลายๆ กรณี พื้นที่ป่าปลูกที่อ้างโดยรัฐและบริษัทนั้นไม่มีอยู่จริง มีเพียงตัวเลขการปลูกป่าที่อยู่บนกระดาษเท่านั้น สาเหตุหลักๆ ก็เนื่องจากโครงการเหล่านี้ไม่ได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้ บางครั้งต้นไม้ที่ปลูกก็ตายหมดหรือถูกตัดไปใช้ประโยชน์เมื่อถึงระยะเวลาการตัดฟัน อย่างเช่นในกรณีของอินเดีย บทความของ BBC นำเสนอให้เห็นว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รัฐอุตตรประเทศได้อ้างว่าปลูกต้นไม้หลายสิบล้านต้น แต่เมื่อทาง BBC ไปตรวจสอบพื้นที่โครงการปลูกป่าก็พบว่ามีต้นไม้เพียงไม่กี่ต้นเท่านั้นที่รอดและยังมีชีวิตอยู่

บทความอีกชิ้นหนึ่งเผยแพร่โดยมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด แสดงความกังวลต่อโครงการปลูกป่าขนาดใหญ่ที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศป่าไม้และความหลากหลายทางชีวภาพ โดยชี้ให้เห็นว่าการสนับสนุนการปลูกต้นไม้มีค่าทางเศรษฐกิจในประเทศชิลี ส่งผลให้สูญเสียป่าธรรมชาติที่มีคุณค่าทางความหลากหลายชีวภาพ และป่าปลูกเหล่านี้ช่วยเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น  บทความนี้ยังนำเสนอหลักฐานเชิงประจักษ์ของโคงการปลูกป่าขนาดใหญ่ที่อ้างว่าต้องการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพและต่อสู้กับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ เช่น โครงการ Bonn Challenge ที่พยายามฟื้นฟูพื้นที่ป่าซึ่งมีขนาดใหญ่กว่ารัฐแคลิฟอร์เนียถึงแปดเท่าภายในปี 2573 และโครงการ Trillion Trees ที่พยายามปลูกต้นไม้ให้มากที่สุดตามชื่อของโครงการ 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการออกแบบนโยบายและการดำเนินงานโครงการปลูกต้นไม้ไม่ค่อยตระหนักถึงองค์ความรู้ทางนิเวศวิทยาทำให้โครงการต่างๆ เหล่านี้มีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้สิ้นเปลืองเงินบประมาณ และอาจทำให้สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพอีกด้วย การปลูกป่าจำนวนมหาศาลในระยะเวลาที่ผ่านมาไม่ค่อยประสบผลสำเร็จมากนัก 

เครือข่ายภาคประชาชนจากทั่วประเทศ เดินขบวน เรียกร้องให้รัฐบาลไทย หยุดฟอกเขียว จากโมเดลเศรษฐกิจ BCG. © Tadchakorn  Kitchaiphon / Greenpeace
เครือข่ายภาคประชาชนจากทั่วประเทศ เดินขบวน เรียกร้องให้รัฐบาลไทย หยุดฟอกเขียว จากโมเดลเศรษฐกิจ BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว: Bio-Circular-Green Economy) และสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นธรรมสำหรับทุกคน ในระหว่างที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค 2565 ในวันที่ 16-18 พฤศจิกายน 2565 © Tadchakorn Kitchaiphon / Greenpeace

การปลูกต้นไม้ช่วยสร้างภาพลักษณ์ให้กับองค์กรธุรกิจในการรักษาสิ่งแวดล้อม บริษัทและภาคธุรกิจมักจะนำเสนอเพียงพื้นที่ปลูกป่าที่ดำเนินการปลูกไปแล้วว่ามีขนาดพื้นที่จำนวนเท่านั้นเท่านี้ แต่พวกเขามักไม่ค่อยนำเสนอสภาพพื้นที่ป่าหลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรมปลูกป่า ป่าที่ปลูกจึงเป็นตัวเลข เป็นเพียงป่าบนกระดาษ แต่ไม่มีป่าเกิดขึ้นในพื้นที่จริง หรือเป็นเพียง “ป่าทิพย์” 

เจตนาดีแต่อาจเป็นอันตรายต่อระบบนิเวศ

การเลือกชนิดไม้ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับระบบนิเวศดั้งเดิมถือเป็นโจทย์ใหญ่ของการปลูกต้นไม้เพื่อฟื้นฟูป่า การทำโครงการปลูกป่าลดโลกร้อนอาจเริ่มต้นความปรารถนาดีที่จะช่วยเพิ่มพื้นที่ป่าให้ และสามารถมีต้นไม้ช่วยในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ความปรารถนาดีหากขาดความเข้าใจทางนิเวศวิทยา และขาดความตระหนักเชิงนิเวศ การปลูกป่าและต้นไม้อาจเป็นอันตรายต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพได้  

การปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศต้องมีการวางแผนที่เหมาะสม มีการสำรวจและประเมินสภาพพื้นที่เพื่อทราบถึงระบบนิเวศดั้งเดิมของพื้นที่นั้นๆ แล้วจึงคัดเลือกชนิดไม้ที่จะปลูกให้สอดคล้องและเหมาะสมกับระบบนิเวศดั้งเดิม โครงการปลูกป่าลดโลกร้อนส่วนใหญ่ไม่เคยอธิบายว่าพวกเขาปลูกต้นไม้ชนิดใด และปลูกที่ไหน สภาพพื้นที่เป็นอย่างไร 

การปลูกป่าลดโลกร้อนในพื้นที่ขนาดใหญ่โตมหาศาลบางโครงการมีขนาดพื้นที่ถึง 1 ล้านไร่ เพื่อประหยัดต้นทุน ผู้ปลูกมักจะเลือกกล้าไม้ราคาถูกและหาง่าย กล้าไม้เหล่านี้อาจไม่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และระบบนิเวศดั้งเดิม ถึงแม้ว่าการปลูกป่าในลักษณะนี้จะทำให้มีต้นทุนค่อนข้างต่ำและสามารถปลูกต้นไม้ในพื้นที่กว้าง  แต่อัตราการรอดตายของกล้าไม้ค่อนข้างต่ำ ทำให้มีจำนวนต้นไม้ที่รอดตายและเหลืออยู่ในพื้นที่โครงการเพียงไม่กี่ต้นเท่านั้น และประเด็นที่น่ากังวลก็คือ ต้นไม้บางชนิดที่นำไปปลูกไม่ได้เป็นพันธุ์ไม้ท้องถิ่นดั้งเดิมอาจเป็นอันตรายต่อความยั่งยืนของระบบนิเวศในระยะยาว

แม้ในปัจจุบันภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมารณรงค์พันธุ์ไม้ที่สามารถนำไปปลูกเพื่อสร้างรายได้และลดโลกร้อน จำนวน 58 ชนิดพันธุ์ แต่ดูเหมือนว่าภาครัฐเองก็ไม่เคยให้ข้อมูล และการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความเหมาะสมและการคัดเลือกชนิดพันธุ์ไม้ให้สอดคล้องกับระบบนิเวศดั้งเดิม การรณรงค์ยังคงเน้นเฉพาะด้านเศรษฐกิจ เน้นการสร้างรายได้จากไม้ที่ปลูก และมุ่งไปที่การเคลมจำนวนคาร์บอนเครดิตจากต้นไม้มากจนเกินไป ความตระหนักเชิงนิเวศของการปลูกต้นไม้ยังคงเป็นประเด็นและความท้าทายในการปลูกต้นไม้เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ

ปลูกแล้วปล่อยให้ธรรมชาติดูแล

โครงการปลูกป่าลดโลกร้อนมักจะจัดกิจกรรมปลูกต้นไม้แบบ “ปลูกแล้วไป” บริษัทและภาคธุรกิจมักจะไม่มีแผนการดูแลและบำรุงรักษาต้นไม้ที่ปลูกอย่างต่อเนื่อง มีบทเรียนที่ชัดเจนว่าในประเทศเขตร้อนการปลูกต้นไม้แล้วปล่อยเติบโตตามธรรมชาติมักไม่ค่อยประสบผลสำเร็จ กล้าไม้ที่ปลูกต้องอาศัยระยะเวลาหลายปีในการเติบโตเป็นไม้ใหญ่ จำเป็นอย่างยิ่งต้องดูแลรักษาต้นไม้อย่างต่อเนื่องหลังจากนำกล้าไม้ลงดิน กล้าไม้เล็กๆ มีความเสี่ยงต่อโรคและแมลง มักจะไม่ค่อยทนแล้ง และไม่สามารถทนไฟป่า หากไม่มีระบบการติดตามและการดูแลที่เหมาะสมต้นไม้ที่ปลูกก็จะตายในที่สุด  

มีงานวิจัยของสำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืชเกี่ยวกับการฟื้นฟูระบบนิเวศป่าดิบแล้งในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ นักวิจัยได้สำรวจอัตราการรอดตายของต้นไม้ 7 ชนิดพันธุ์ หลังจากที่ปลูกไปแล้วเป็นระยะเวลา 5 ปี พบว่า ชนิดพันธุ์ไม้แต่ละชนิดมีอัตราการรอดตายที่แตกต่างกัน เช่น ไม้มะค่าโมง มีอัตราการรอดตาย ร้อยละ 55.1 ในขณะที่ไม้ยางนามีอัตรารอดตายเท่ากับศูนย์ นั่นหมายความว่าถ้าโครงการปลูกกล้าไม้มะค่าโมงในปีที่ 1 จำนวน 100 ต้น เมื่อเวลาผ่านไป 5 ปี จะเหลือต้นมะค่าโมงเพียง 55 ต้นเท่านั้น ในขณะที่ต้นยางนานั้นตายหมดทุกต้น ในงานวิจัยชิ้นนี้ยังชี้ให้เห็นอีกว่าอัตราการรอดตายของต้นไม้ยังสัมพันธ์กับสภาพของพื้นที่ ต้นไม้ที่ปลูกในพื้นที่ลาดชันมีแนวโน้มรอดตายน้อยกว่าบริเวณพื้นที่ราบ

ดังนั้น การปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูป่าและระบบนิเวศอย่างแท้จริงต้องมีแผนการติดตามการเปลี่ยนแปลงและสำรวจอัตราการรอดตายของกล้าไม้หลังจากการปลูก จากคู่มือการฟื้นฟูป่าของหน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่า การสำรวจและติดตามการเปลี่ยนแปลงของต้นไม้และพืชในพื้นที่ปลูกนั้นควรดำเนินการอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และหากต้องการดูและติดตามการเปลี่ยนแปลงด้านความหลากหลายทางชีวภาพควรดำเนินการต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 5-10 ปี

การประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฎิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทยครั้งที่ 2. © Greenpeace
นักกิจกรรมกรีนพีซ ประเทศไทยกางป้ายผ้า “ผืนป่า ≠ คาร์บอนเครดิต หยุดฟอกเขียว” และฉายโปรเจคเตอร์ “หยุดใช้ผืนป่าแลกคาร์บอน Real Zero Not Net Zero” ส่งสารถึงนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน และคณะรัฐบาลไทยในพิธีเปิดการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฎิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทยครั้งที่ 2 (2nd Thailand Climate Action Conference) กรีนพีซประเทศไทยเรียกร้อง ให้รัฐบาลไทยทบทวนกรอบท่าทีเจรจาในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 28 (COP28) โดยเห็นว่านโยบายสภาพภูมิอากาศของไทยยังคงขาดสมดุล มุ่งเน้นมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (mitigation) เป็นหลัก ให้ความสำคัญกับการรับมือปรับตัวจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ (adaptation) น้อยมาก และแทบไม่พูดถึงความสูญเสียและความเสียหาย(loss and damage) และเปิดช่องให้มีการฟอกเขียว (greenwashing) มากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการชดเชยคาร์บอนภาคป่าไม้ (forest carbon offset) การนำผืนป่ามาชดเชยคาร์บอนไม่ใช่ทางออกจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ แต่คือแนวทางที่เปิดโอกาสให้บรรษัทอุตสาหกรรมและกลุ่มประเทศที่ร่ำรวยแสวงหาผลกำไรโดยการแย่งยึดที่ดินและทรัพยากรป่าไม้ที่ดูแลโดยชุมชนท้องถิ่น ขณะเดียวกัน ก็หลีกเลี่ยงภาระรับผิดต่อความสูญเสียและความเสียหายจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่กลุ่มอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลก่อขึ้น
© Greenpeace

การปลูกต้นไม้แล้วไปปล่อยให้ธรรมชาติดูแลนอกจากไม่มีหลักฐานว่าโครงการประสบผลสำเร็จมากน้อยเพียงในการฟื้นฟูป่า บ่อยครั้งก็พบว่าบริษัทและภาคธุรกิจมักจะนำเสนอเพียงตัวเลขจำนวนต้นไม้และพื้นที่ปลูกป่าซึ่งไม่มีหลักฐานว่ามีต้นไม้เหลืออยู่จริงหรือไม่ และนั่นก็คือการฟอกเขียวนั่นเอง

การปลูกป่าไม่ใช่คำตอบ

การปลูกต้นไม้เป็นเรื่องที่ฟังดูดี ช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้องค์กรธุรกิจ บริษัทขนาดใหญ่มักอ้างกิจกรรม CSR ปลูกป่าเพื่อแสดงออกถึงความรับผิดชอบขององค์กรต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ถึงแม้ว่าการปลูกป่าไม่ใช่การฟอกเขียวด้วยตัวมันเอง แต่การออกแคมเปญการปลูกป่าและสร้างความเขียวของบริษัทและทุนขนาดใหญ่ทำให้สังคมลืมตั้งคำถามต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทุนอุตสาหกรรมซึ่งเป็นต้นตอของวิกฤตโลกเดือด สิ่งที่ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ต้องดำเนินการคือ การยุติการฟอกเขียวและหันไปเอาจริงเอาจังกับการหยุดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งเป็นต้นตอของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

การปลูกป่าเพื่อฟอกเขียวนอกจากจะไม่ช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนแล้วยังเป็นอันตรายต่อระบบนิเวศอีกด้วย


เอกสารประกอบการเรียบเรียง

  • ประเสริฐ ติยานนท์, สิรนิทร์ ติยานนท์ และ ปิยพงษ์ สืบเสน. 2016. การทดลองปลูกเสริมเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศป่าดิบแล้งที่มีไม้ลาน. Proceedings of the 3rd National Meeting on Biodiversity Management in Thailand การประชุมวิชาการการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 (2016): 65–72
  • หน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า. 2008. งานวิจัยเพื่อการฟื้นฟูระบบนิเวศป่าเขตร้อน : คู่มือ ดำเนินการ. ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • Elliott, S. D., D. BlakESlEy anD k. HarDwick, 2013. Restoring Tropical Forests: a practical guide. Royal Botanic Gardens, Kew; 344 pp.

* สุรินทร์ อ้นพรม จบปริญญาเอกสาขาภูมิศาสตร์มนุษย์ เคยเป็นอาจารย์ที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปัจจุบันเป็นนักวิจัยอิสระ สนใจประเด็นนิเวศวิทยาการเมืองสิ่งแวดล้อม การพัฒนา และปัญหาความเหลื่อมล้ำ ขณะนี้กำลังทำวิจัยเรื่อง “การชดเชยและการค้าคาร์บอนภาคป่าไม้กับการฟอกเขียวของทุนอุตสาหกรรม”