“สิ่งที่เราต้องการมากที่สุดคือความเข้าใจ” ‘บารมี ชัยรัตน์’ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจนตอบ เมื่อเราถามว่าม็อบสมัชชาคนจน กว่า 2,000 คน ที่ปักหลักกลางสายฝนกระหน่ำข้างกระทรวงศึกษาธิการขณะนี้ ต้องการอะไรจากประชาชนทั่วไปมากที่สุด

#สมัชชาคนจน หอบปัญหาคนจนมากมายเพื่อมาเจรจากับรัฐบาลและสื่อสารกับสังคม รวมทั้งหนึ่งในปัญหาที่นับเป็นภัยคุกคามใหม่ของคนจนไทย นั่นคือ ‘คาร์บอนเครดิต’

“คาร์บอนเครดิตคือเรื่องใหญ่ระดับโลกเลยครับ ส่วนในไทยเรียกว่าเดินหน้านโยบายเต็มตัว รัฐธรรมนูญฉบับนี้ (ฉบับปี 2560) วางยุทธศาสตร์ชาติไว้ 20 ปี และหนึ่งในยุทธศาสตร์ฯ คือการเอาที่ดินของชาวบ้านไปปลูกป่าคาร์บอนเครดิต ถ้าดูจากแผนฯ เป็นไปได้สูงมากว่าภายในปี 2580 พื้นที่ของชาวบ้านเกือบทั้งหมดจะกลายเป็นพื้นที่ปลูกป่าเศรษฐกิจและป่าอนุรักษ์เพื่อดูดซับคาร์บอน

เราสมัชชาคนจนคัดค้านคาร์บอนเครดิตเต็มตัว เรายืนยันว่าการปลูกป่าเพื่อดูดซับคาร์บอน ไม่ใช่แค่ผิดธรรมดาแต่เป็นเรื่องลวงโลก เพราะมันเป็นไปไม่ได้เลย ขณะคุณเอาที่ดินชาวบ้านไปปลูกป่า แต่คุณไม่ได้หยุดอุตสาหกรรม คุณยังเดินหน้าตั้งนิคมอุตสาหกรรมตลอดเวลา เพราะฉะนั้นคาร์บอนเครดิตไม่มีทางแก้ไขปัญหานี้ได้ คุณต้องไปลดที่ต้นเหตุ ลดที่ภาคอุตสาหกรรม ลดที่ภาคบริการ ลดที่ภาคการผลิตที่ปลดปล่อยคาร์บอนและสารเคมีปริมาณมหาศาลครับ

หลายคนอาจจะมองว่าคาร์บอนเครดิต มีหลายมิติที่ดีใช่ไหมครับ แต่ในอีกมิติหนึ่งคาร์บอนเครดิตไปแย่งที่ดินของชาวบ้าน แย่งพื้นที่อาหาร ตอนนี้โครงการคาร์บอนเครดิตหลายแห่งสนับสนุนการปลูกอ้อยเพื่อป้อนสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล เราห้ามไม่ให้เกษตรกรเผาอ้อย แต่เอาอ้อยไปเข้าโรงไฟฟ้าชีวมวลก็เผาเหมือนกัน เกิด PM2.5 เหมือนกัน แย่งชิงพื้นที่อาหารไปด้วย นี่คือการเกษตรแบบคาร์บอนเครดิต และผมคิดว่าคาร์บอนเครดิตยังจะนำไปสู่การการทำเกษตรขนาดใหญ่ที่ให้ผลผลิตเร็วและมากโดยใช้พันธุ์พืช GMO ที่ต้านพิษยาฆ่าแมลงชนิดแรงๆ ที่เราเคยต้านกันได้และจะกระทบกับพันธุ์พืชพื้นเมือง โอ้โห! ไม่รู้กี่เด้งต่อกี่เด้งเลยทีนี้ แต่เรากลับไปเรียกเศรษฐกิจแบบนี้ว่าเศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจหมุนเวียน

ผมคิดว่าตอนนี้เรียกว่าเกือบทุกภาคส่วนของสังคม ไม่ได้มองคาร์บอนเครดิตด้วยสำนึกหรือตระหนักเรื่องการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแต่มองว่าคาร์บอนเครดิตเป็นการแสวงหากำไร นั่นยิ่งเลวร้ายเข้าไปอีก

เพราะฉะนั้นผมคิดว่าเราต้องบอกรัฐบาลว่านโยบายนี้ผิดพลาดและต้องออกมาบอกสังคมด้วยว่า ‘เฮ้ย! เราอย่าไปหลงกับเรื่องนี้’ และผมอยากจะบอกกับคนรุ่นใหม่ด้วยว่า ปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องชี้เป็นชี้ตายในอนาคตของพวกคุณเลยนะ

ผมเนี่ยอยู่อีกไม่นานหรอก แต่พวกคุณจะอยู่อีกนาน แล้วพวกคุณจะอยู่กันยังไง? อย่าไปหลงว่าคาร์บอนเครดิตจะสร้างกำไรให้คุณ เพราะจะทำให้ราคาหุ้นในตลาดพุ่งขึ้น แล้วเข้าไปซื้อหุ้น ปั่นหุ้นคาร์บอนเครดิตกัน

เราอยากเตือนพวกคุณด้วยความหวังดีจริงๆ ก่อนการจัดประชุม COP28 (การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) ในปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ ผมอยากส่งเสียงให้ถึงที่ประชุม COP28 ด้วยว่า อย่าหน้ามืดตามัวกับการแสวงหากำไรจากการค้าคาร์บอน คุณหันมาตระหนักเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงๆ จังๆ เถอะ นี่คือเหตุผลที่แท้จริงที่เราต้องการมาเรียกร้องกับรัฐบาลในครั้งนี้ และนี่คือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพวกเรา

หลายคนถามว่า ‘รัฐบาลเพิ่งทำงาน ทำไมรีบมา?’ คนที่เข้ามาเป็นรัฐมนตรีในชุดนี้ 80% เป็นคนรัฐบาลในชุดที่แล้ว รู้จักสมัชชาคนจนทั้งนั้น ผมว่าคนในรัฐบาลท่องได้หมดแล้วครับถึงปัญหา แค่ผมอ้าปากเขาก็รู้แล้วว่าผมจะพูดอะไร แต่กับพี่น้องใต้เขื่อนโป่งขุนเพชร จ.ชัยภูมิ และพี่น้องท่าเคย ที่น้ำท่วมแล้วบ้านพัง ต้องซ่อมแซมบ้านแต่ซ่อมไม่ได้เพราะว่าบ้านอยู่ในเขตป่าซึ่งรัฐแย่งยึดที่ดินเขาอยู่, มีความพยายามรื้อฟื้น พ.ร.บ.ไม่แสวงหากำไร #NoNPOBill ทั้งที่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นไปแล้วให้คืนชีพอยู่ขณะนี้, การรุกคาร์บอนเครดิต, และการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ที่ยังมีความกำกวมว่าเราจะได้ สสร. จากการเลือกตั้ง 100% ไหม เรื่องพวกนี้คือเหตุผลที่เรามาและเป็นเรื่องที่รอไม่ได้ครับ”

#ClimateEmergency