การต่อสู้เพื่อหยุดโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ยาวนานมากกว่า 5ปีของชาวบ้านพื้นที่จังหวัดสงขลาและปัตตานีเพื่อปกป้องฐานทรัพยากรร่วมกันของควน ป่า นา เล กลายเป็นอีกตำนานสำคัญของการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ที่มุ่งมั่นจะหยุดการลงทุนของอุตสาหกรรมถ่านหินและผลักดันการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแทน

'Heart for Sea' Solidarity Activity in Teluk Patani, Thailand. © Baramee  Temboonkiat / Greenpeace
ตัวแทนจาก ชุมชนสะกอม เทพา และสวนกง ในจังหวัดสงขลา ร่วมกันกล่าวคำประกาศเจตนารมย์คัดค้านโครงการการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา บนเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ซึ่งเป็นเรือลักษณ์ของกรีนพีซ  © Baramee Temboonkiat / Greenpeace

การยืนหยัดต่อสู้ของชาวบ้านคือจุดแข็งในการต่อกรกับความไม่ชอบธรรมจากกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA-Environmental Health Impact Assessment) ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งนี้ และกรีนพีซได้ร่วมจัดทำข้อมูลชุมชน CHIA Community Health Impact Assessment กับชาวบ้านในชุมชนและเครือข่ายนักวิชาการจากหลากหลายสถาบันเพื่อบ่งชี้ให้เห็นถึง ความบกพร่องจากการขาดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและการขาดข้อมูลทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมต่อการดันทุรังเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 

หมิด ชายเต็ม ผู้ประสานงานเครือข่ายเทใจให้เทพา เล่าย้อนความรู้สึกให้ฟังว่า “ในช่วงการต่อสู้กับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพานั้นเหนื่อย แต่เหนื่อยสู้นะ  พวกเราไปอยู่กทม.เกือบเดือนเพื่อเรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เพิกถอนรายงาน EHIA และยุติโครงการ เราเดินเท้ายื่นหนังสือให้กับอดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และชาวบ้านถูกดำเนินคดีและเราต่อสู้จนชนะคดี เพราะทุกคนร่วมมือกัน ถ้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาทำจริงๆพวกเราไม่ได้มานั่งชายหาดแบบนี้ ผมไปจังหวัดระยองถึง 2 ครั้งไปดูสิ่งที่เกิดขึ้นจากเขตอุตสาหกรรมที่ระยอง เรากลับมาคิดว่าจะอยู่กันอย่างไร ถ้าเราไม่คัดค้าน ลูกหลานจะกินอะไร แต่ตอนนี้เด็กไม่ด่าเราแล้ว สิทธิของเรา เราต้องสู้”

'Heart for Sea' Solidarity Activity in Teluk Patani, Thailand. © Baramee  Temboonkiat / Greenpeace
ในปี 2561 เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ซึ่งเป็นเรือสัญลักษณ์ของกรีนพีซ เดินทางมาถึงตือโละปาตานีเพื่อเข้าร่วมกับเรือประมงราว 100 ลำ จากชุมชนสะกอม เทพา และสวนกง ในจังหวัดสงขลา ซึ่งจัดวางภาพวาดบนผืนผ้าขนาด 30 x 30 เมตรในทะเลบริเวณใกล้เกาะขาม โดยเป็นภาพตัวละครในหนังตะลุงพร้อมข้อความ “ควน ป่า นา เล ควรหวงแหน” (หมายถึง “ปกป้องภูเขา ป่าไม้ ทุ่งนาและทะเล”) เพื่อแสดงเจตนารมย์คัดค้านถ่านหิน(no coal) และเทใจให้ทะเล(Heart for Sea) © Baramee Temboonkiat / Greenpeace

เราต้องสู้ด้วยข้อมูลและการแสดงออกในพื้นที่สาธารณะ

นอกจากการต่อสู้ทางข้อมูลวิชาการเพื่อหยุดโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินแล้ว การลงถนนของชาวบ้านถือเป็นการแสดงออกที่ชัดเจนในการยืนหยัดคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาตลอดมา แม้ชาวบ้านเทพาถูกจับกุมและดำเนินคดีและต่อสู้ทางคดีมาหลายปี คำพิพากษาคดีเทใจให้เทพาที่ชาวบ้านถูกฟ้องคดี 17 คน ศาลฎีกาได้มีคำวินิจฉัยจนกลายเป็นบรรทัดฐานที่สำคัญของการต่อสู้ของประชาชนทุกคน

กฤษฎา ขุนณรงค์ เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนภาคใต้ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ทนายบอย ย้ำความสำคัญจากการวินิจฉัยของกระบวนการยุติธรรมในครั้งนี้ว่า  “การต่อสู้ของชาวบ้านเพื่อหยุดโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพานั้น ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยใจความว่า …..การชุมนุมสาธารณะเป็นเสรีภาพพื้นฐานที่จำเป็นของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และผู้ชุมนุมหรือชาวบ้านเทพาในตอนนั้น เห็นว่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจะสร้างความเดือดร้อนและกระทบกระเทือนต่อวิถีชีวิตของตน ประสงค์จะคัดค้านการก่อสร้างด้วยการนำหนังสือไปยื่นนายกรัฐมนตรี ผู้ชุมนุมย่อมมีเสรีภาพที่จะกระทำได้ การชุมนุมสาธารณะครั้งนี้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายทุกประการ เราถือว่าเป็นการวางฐานที่สำคัญตามสิทธิของรัฐธรรมนูญ และกว่าชาวเทพาจะได้คำพิพากษาที่ยืนยัน การที่ชาวเทพาเพียงแค่เดินไปยื่นหนังสือนายกรัฐมนตรีนั้น ชาวเทพาต้องใช้เวลาราว 6-7 ปี ที่ถือว่าการชุมนุมเป็นสิทธิที่ชอบด้วยกฎหมาย”

'Heart for Sea' Solidarity Activity in Teluk Patani, Thailand. © Baramee  Temboonkiat / Greenpeace
เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ซึ่งเป็นเรือสัญลักษณ์ของกรีนพีซ เดินทางมาถึงตือโละปาตานีเพื่อเข้าร่วมกับเรือประมงราว 100 ลำ จากชุมชนสะกอม เทพา และสวนกง ในจังหวัดสงขลา ซึ่งจัดวางภาพวาดบนผืนผ้าขนาด 30 x 30 เมตรในทะเลบริเวณใกล้เกาะขาม โดยเป็นภาพตัวละครในหนังตะลุงพร้อมข้อความ “ควน ป่า นา เล ควรหวงแหน” (หมายถึง “ปกป้องภูเขา ป่าไม้ ทุ่งนาและทะเล”) เพื่อแสดงเจตนารมย์คัดค้านถ่านหิน(no coal) และเทใจให้ทะเล(Heart for Sea) © Baramee Temboonkiat / Greenpeace

สิทธิของชุมชนคือฐานรากในการจัดการทรัพยากรที่เป็นธรรม

การตกยุคของอุตสาหกรรมถ่านหินทำให้โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาเป็นความล้าสมัย และกำลังแทนที่ด้วยการเปลี่ยนผ่านสู่การนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า และในวันอาทิตย์ที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา ชาวบ้านในพื้นที่จึงประกาศยุทธศาสตร์ 11 ข้อเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อเป็นแนวทางร่วมกันในการผลักดันให้เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ 

“การพัฒนาที่ยั่งยืน ควรส่งเสริมศักยภาพชุมชนบนฐานทรัพยากรที่มีอยู่ ไม่ใช่การเบียดบังทรัพยากร คำพูดหรือวาทกรรมที่พอสรุปได้คือ ทะเลตือโละปาตานีเหมือนตู้กับข้าวที่หล่อเลี้ยงคนในชุมชนและแต่ละภาค ความมั่นคงทางอาหารจะดำเนินอยู่ได้ เราต้องช่วยกันรักษาตู้กับข้าว มันคือความมั่นคงทางอาหาร” กิตติภพ สุทธิสว่าง ที่ปรึกษาเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นกล่าวทิ้งท้าย 


แถลงการณ์เครือข่ายเทใจให้เทพาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

การรวมตัวเพื่อปกป้องชุมชนและสิ่งแวดล้อมของเครือข่ายเทใจให้เทพาในกรณีการคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน รวมถึงการต่อสู้คดีของพี่น้องจนได้รับชัยชนะและสามารถสร้างบรรทัดฐานถึงการมีสิทธิที่จะปกป้องบ้านเกิดและสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญการชุมนุมประท้วงโดยสงบปราศจากอาวุธ รัฐธรรมนูญคุ้มครองและใช้สิทธิได้เต็มที่และเป็นต้นแบบให้ชุมชนอื่นๆที่จะใช้สิทธิในการปกป้องดูแลชุมชนและสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ทางเครือข่ายเทใจให้เทพาและเครือข่ายชุมชน นักวิชาการ ภาครัฐและเอกชนได้ร่วมมือกันกำหนดยุทธศาสตร์เทพายั่งยืนเพื่อแก้ไขปัญหา เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและวิกฤตโลกร้อนดังนี้

1.ความมั่นคงทางอาหาร (ควน-ป่า-นา-เล)

2.การพัฒนาท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

3.การพัฒนาการศึกษาและแหล่งเรียนรู้

4.การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน

5.การพัฒนาและส่งเสริมแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่ยั่งยืน

6.การพัฒนาเด็กและเยาวชน

7.การส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม

8.การจัดการน้ำที่ยั่งยืน

9.การจัดการขยะ

10.การแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่ง

11.การจัดการที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย

การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ทั้ง11ข้อจะสำเร็จลุล่วงสามารถบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือทุกภาคีเครือข่าย อาศัยความรู้ อาศัยเทคโนโลยี อาศัยทุนทางสังคม รวมถึงข้อมูลและการสื่อสารสาธารณะ จึงจะสำเร็จตามเป้าหมาย ทางเครือข่ายเทใจให้เทพาและภาคีเครือข่ายจึงขอแสดงเจตนารมณ์จะร่วมกันขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เทพายั่งยืนไปด้วยกันเพื่อความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมของพี่น้องชาวเทพา

สานพลังความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

เครือข่ายเทใจให้เทพา


ความยั่งยืนของตือโละปาตานีจากไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน

จากแถลงการณ์ของเครือข่ายเทใจให้เทพา ในยุทธศาสตร์ข้อที่ 5 ว่าด้วยการพัฒนาและส่งเสริมแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่ยั่งยืนนั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราต้องมาดูการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของพื้นที่สงขลาและปัตตานี ข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พบว่า สำหรับจังหวัดสงขลา ข้อมูลของกกพ.ชี้ให้เห็นว่า สงขลาเป็นจังหวัดที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเข้าระบบแล้วราวกว่า 100 เมกะวัตต์ทั้งจากโซลาร์รูฟท้อป พลังงานลม ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ พลังงานลม ในพื้นที่อำเภอเมือง จะนะ กระแสสินธุ์ หาดใหญ่ ระโนด เทพา และเมืองสงขลา

จังหวัดปัตตานีมีการตอบรับซื้อไฟฟ้าแล้ว แต่ยังไม่เซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchasing Agreement -PPA) อยู่ราว 65 เมกะวัตต์ มาจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบโซลาร์ฟาร์ม พลังงานลม และก๊าซชีวภาพ ในพื้นที่อำเภอยะหริ่ง อำเภอเมืองและอำเภอปะนะเระ สำหรับการผลิตไฟฟ้าของจังหวัดปัตตานีที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว ( Commercial Operation Date-COD) ราวกว่า 31 เมกะวัตต์ จากชีวมวลและก๊าซชีวภาพในพื้นที่อำเภอหนองจิกและแม่ลาน 

หากเราต้องการที่จะผลักดันยุทธศาสตร์ข้อที่ 5  พื้นที่จังหวัดสงขลาและปัตตานีจำเป็นจะต้องมีการศึกษาศักยภาพพลังงานหมุนเวียนเพิ่มแม้จะอยู่ในอำเภอที่มีการผลิตไฟฟ้าเข้าระบบแล้วและยังมีอีกหลายอำเภอที่ยังไม่มีการศึกษาอย่างเป็นทางการ อีกทั้งการหยุดโครงการโรงไฟฟ้าฟอสซิลก๊าซแห่งใหม่ก็จำเป็นที่จะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อให้การวางแผนดึงศักยภาพพลังงานหมุนเวียนในพื้นที่มาใช้เป็นลำดับแรกเกิดขึ้นจริง