แม้ว่าเหตุการณ์อาคาร Rana Plaza ถล่ม จะล่วงเลยมากว่า 10 ปีแล้ว แต่อุตสาหกรรมแฟชั่นเปลี่ยนแปลงไปบ้างหรือไม่?

เสื้อผ้าทุกตัวถูกผลิตขึ้นด้วยมือของแรงงานฝีมือ

ในขณะที่การกำจัดเสื้อผ้าแฟชั่นปริมาณมหาศาลกลายเป็นปัญหาใหญ่ อีกหนึ่งปัญหาที่สะสมมานานคือต้นทุนทรัพยากรแรงงาน

การผลิตเสื้อผ้าแต่ละตัวต้องใช้ทักษะในการผลิต ดังนั้นตอนนี้ทุกสิ่งทุกอย่างที่คุณกำลังสวมใส่ตั้งแต่หัวจรดเท้าล้วนผลิตขึ้นด้วยมือของแรงงานที่มีฝีมือ

แน่นอนว่าเสื้อผ้าที่เราสวมใส่ไม่สามารถผลิตขึ้นมาเองได้ด้วยเครื่องจักรทั้งหมด มีหลากหลายส่วนที่ต้องใช้ทักษะและฝีมือโดยมนุษย์ ซึ่งมักจะเป็นพนักงานหญิงที่ทำงานอย่างหนักเพื่อตอบสนองระบบอุตสาหกรรมระดับโลก แต่กลับได้รับค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรม

พนักงานในโรงงานสิ่งทอ ที่เมืองธากา บังกลาเทศ โรงงานแห่งนี้จ้างพนักงานมากถึง 6 พันคน © Frédéric Soltan / Corbis via Getty

“เสื้อผ้าที่เรากำลังสวมใส่อยู่ตั้งแต่เน็กไทไปจนถึงถุงเท้า มักจะถูกผลิตด้วยมือของแรงงานมีฝีมือ เพราะเสื้อหลายอย่างไม่สามารถผลิตได้ด้วยเครื่องจักร”

แต่เมื่อเราทำให้เสื้อผ้ากลายเป็นสิ่งของที่ใช้แล้วทิ้ง เราทำให้คุณค่าของมันลดลงทันทีรวมทั้งคุณค่าที่มาจากฝีมือของแรงงานเหล่านี้ด้วย ดังนั้นสิ่งที่เราควรตระหนักอยู่เสมอนั่นก็คือเสื้อผ้าเหล่านี้ถูกทำขึ้นมาด้วยมือของใครสักคนอยู่เสมอและผู้คนเหล่านี้ได้รับค่าตอบแทนที่น้อยนิด

เราหลายคนต่างรู้เรื่องนี้ดี แต่ระบบอุตสาหกรรมแบบนี้ทำให้เรามองไม่เห็นที่มาของเสื้อผ้าและเพิกเฉยต่อคุณค่าของมันไปอย่างง่ายดาย

การทำงานท่ามกลางอันตราย ค่าตอบแทนอันน้อยนิด เพื่อผลิตเสื้อผ้าที่ใช้แล้วทิ้ง

ด้วยระบบที่บังคับให้ต้นทุนการผลิตเสื้อผ้าถูกลงกลายเป็นกับดักสำหรับพนักงานด้านสิ่งทอซึ่งจะต้องทำงานท่ามกลางสถานที่ทำงานที่อันตราย ที่ผ่านมามีรายงานเหตุเพลิงไหม้โรงงานเสื้อผ้าที่เกิดขึ้นทั่วโลกอยู่บ่อยครั้ง เพียงแค่เดือนมีนาคม 2020 เดือนเดียวก็มีรายงานว่าพบโรงงานสิ่งทอถูกไฟไหม้ถึง 66 ครั้ง ซึ่งเฉลี่ยแล้วเกิดเพลิงไหม้ในทุก ๆ 2 วัน

และแม้ว่าโศกนาฎกรรมที่เลวร้ายที่สุดของอุตสาหกรรมสิ่งทอจะเกิดขึ้นล่วงเลยมา 10 ปีแล้ว แต่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นกลับมีอยู่เพียงน้อยนิด ในปี 2013 เกิดอุบัติเหตุโรงงานสิ่งทอ Rana Plaza ในบังกลาเทศถล่ม ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1,134 คน และมีผู้บาดเจ็บถึง 2,500 คน ส่วนใหญ่เป็นเพศเหญิง

พนักงานจากโรงงานสิ่งทอและญาติผู้เสียชีวิต รวมตัวจุดเทียนรำลึกถึงผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์โศกนาฎกรรม Rana Plaza หลายคนกล่าวว่าพวกเขาไม่ได้รับค่าชดเชยจากความสูญเสียแม้ว่าการรำลึกครั้งนั้นเป็นเดือนที่ 6 แล้วก็ตาม © Suvra Kanti Das/AFP via Getty Images

กลุ่มพนักงานหญิงเหล่านี้ต่างรู้ดีว่าสภาพการทำงานที่เธอเผชิญอยู่อันตรายมาก เพราะก่อนหน้าเหตุการณ์ถล่ม ตึก Rana Plaza ได้รับการตรวจสอบและยืนยันว่าตึกอยู่ในสภาพที่ไม่ปลอดภัย

อย่างไรก็ตามบริษัทแฟชั่นยังคงบังคับให้บริษัทผู้ถูกว่าจ้างผลิตให้ผลิตเสื้อตามออร์เดอร์ให้ทัน

แค่ลองคิดว่าตัวเราเองทำงานอยู่กับเครื่องจักร ผลิตเสื้อผ้าที่คุณไม่มีโอกาสจะสวมใส่มันด้วยซ้ำและต้องอยู่ในสภาพการทำงานที่อันตราย แล้วในเสี้ยววินาทีตึกที่คุณยืนอยู่ก็แตกหักพังทลายลง

แม้ว่าเหตุการณ์นี้จะผ่านล่วงเลยมาแล้ว 10 ปี แต่ปัญหาที่ถูกกลบซ่อนอยู่ในอุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่นยังไม่ถูกแก้ไข นี่เป็นการแสวงหาผลประโยชน์บนชีวิตของคนอื่น ทั้งชีวิตของพนักงานและการลดคุณค่าทักษะฝีมือของพวกเขา และเป็นความไม่รับผิดชอบต่อผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เราเห็นได้จากขยะสิ่งทอจำนวนมากที่ชายหาดกานา

และในบางครั้ง บริษัทก็ไม่ได้จ่ายค่าชดเชยให้กับพนักงานเลย

และเมื่อโลกต้องเผชิญกับวิกฤตโรคระบาดโควิด – 19 จนต้องล็อกดาวน์ อุตสาหกรรมแฟชั่นเป็นหนี้พนักงานในโรงงานสิ่งทอกว่า 16,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากที่ต้องปิดร้านและไม่ได้รับรายได้ จนถึงกระทั่งปัจจุบันก็ยังมีพนักงานที่ไม่ได้รับรายได้ที่ค้างอยู่

https://twitter.com/labourlabel/status/1417037891692371974?ref_src=twsrc%5Etfw%7Ctwcamp%5Etweetembed%7Ctwterm%5E1417037891692371974%7Ctwgr%5E713bee6b817a129e0517bcb67a05b4d3fd1aea18%7Ctwcon%5Es1_&ref_url=https%3A%2F%2Fwww.greenpeace.org.uk%2Fnews%2Ffast-fashion-climate-change-pollution-violence%2F

ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ บริษัทผู้ผลิตเสื้อผ้าให้กับแบรนด์ Boohoo ในสหราชอาณาจักรบังคับพนักงานในเมืองเลสเตอร์ให้ทำงานเกินกว่าเวลาที่กำหนดแม้จะเป็นช่วงเวลาที่รัฐประกาศล็อกดาวน์ อีกทั้งยังจ่ายค่าตอบแทนให้น้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำอีกด้วย

ทำไมเหตุการณ์แบบนี้จึงเกิดขึ้น เหตุการณ์ที่เสื้อผ้าต้องถูกผลิตขึ้นจากน้ำมันและความทุกข์ยากของคนอื่น เพราะกระบวนการผลิตเหล่านี้ทำให้ราคาเสื้อผ้าถูกลงแต่สามารถผลิตได้ในปริมาณมากอย่างนั้นหรือ? หรือนี่เป็นความผิดของเรา (ผู้บริโภค) ที่ต้องการเสื้อผ้าแฟชั่นเพื่อการอยู่ในสังคม

บริษัทแฟชั่นอยากให้เราโทษตัวเอง

ไม่ว่าเราจะเป็นคนที่ชอบช็อปปิงเป็นชีวิตจิตใจหรือไม่ แต่ก็เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าบริษัทเหล่านี้ได้เป็นผู้ควบคุมอุปสงค์ไปแล้ว

ความจริงก็คือเราอาศัยอยู่ในระบบเศรษฐกิจโลกที่มองถึงโอกาสในการแสวงหาผลประโยชน์มหาศาลจากมนุษย์และทรัพยากรธรรมชาติ

แฟชั่นก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่เกิดขึ้น แต่อย่างน้อยก็กลายเป็นกรณีที่ทำให้ใครหลายคนตาสว่างเกี่ยวกับปัญหาของฟาสต์แฟชั่น แบรนด์แฟชั่นยื่นคำสั่งซื้อจำนวนมากให้กับโรงงานผู้ผลิต นับวันยิ่งเพิ่มขึ้นทวีคูณ แต่พนักงานในโรงงานกลับไม่ได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม และเมื่อบริษัทยิ่งสั่งผลิตเสื้อผ้าจำนวนมากเพื่อให้ราคาต่อชิ้นถูกลง พวกเขาก็ยิ่งสร้างเสื้อผ้าออกมามากเกินปริมาณความต้องการ

และเมื่อถึงจุดนี้ บริษัทเหล่านี้ผลิตเสื้อผ้าเกินความต้องการไปมากถึง 40% จึงเป็นเรื่องยากที่จะทึกทักไปว่า “เพราะผู้บริโภคอยากซื้อเสื้อผ้า” มาเป็นสาเหตุของการผลิตที่ล้นเกิน นอกจากนี้สถานการณ์เช่นนี้ยังสนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในระบบโลก รวมทั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชนและก่อให้เกิดมลพิษพลาสติกอีกด้วย 

อุตสาหกรรมแฟชั่นผลิตเสื้อผ้าปริมาณมหาศาลในแต่ละปี และส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ถูกซื้อและนำไปใช้ด้วยซ้ำ ภาพนี้แสดงให้เห็นว่าหากเรายังคงซื้อเสื้อผ้าเรื่อย ๆ ในที่สุดห้องของเราจะเต็มไปด้วยกองเสื้อผ้าจนสามาถจมเราได้ทั้งตัว

เช่นเดียวกับการแสวงหาผลกำไรจากทักษะฝีมือของพนักงานและทรัพยากรธรรมชาติ แบรนด์เสื้อผ้าใช้ประโยชน์จากความต้องการเสื้อผ้า (ที่เป็นหนึ่งในความต้องการพื้นฐาน) ของมนุษย์มาสร้างอุปสงค์เทียมในรูปแบบของการดีไซน์เสื้อผ้าออกมาเรื่อย ๆ 

บริษัทฟาสต์แฟชั่นของจีนอย่าง Shein ก็มีเสื้อผ้าที่ออกแบบมาหลายพันดีไซน์บนเว็บไซต์ และยังเพิ่มเสื้อผ้าดีไซน์ใหม่อยู่เรื่อย ๆ ประมาณ 1,000 ดีไซน์บนเว็บไซต์ทุกวัน เพียงเพื่อต้องการกำไรเท่านั้น

สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ประเด็นสดใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น เพราะมันเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาพร้อม ๆ กับระบบเศรษฐกิจโลกนั่นเอง การทำฟาร์มฝ้ายก็ทำให้เกิดปัญหาค้าทาสที่ชาวยุโรปจับชาวแอฟริกันมาเป็นทาสเพื่อทำงานในศตวรรษที่ 17 ซึ่งอุตสาหกรรมนี้ได้รับอิทธิพลจากราชวงศ์ชั้นสูงที่เรียกได้ว่าเป็นอินฟลูเอนเซอร์ในยุคนั้นอย่าง มารีย์ อองตัวเน็ต ซึ่งสวมใส่ผ้าฝ้ายเนื้อดี


ติดตามปัญหาจากอุตสาหกรรม Fast Fahion ตอนที่ 4 ในประเด็น อนาคตของอุตสาหกรรม Fast Fashion จะเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นได้หรือไม่?  เร็ว ๆ นี้

บทความนี้แปลจากบทความต้นฉบับภาษาอังกฤษ อ่านบทความต้นฉบับ