เคยสงสัยไหมว่า อากาศก็ร้อนและแปรปรวนขึ้นทุกปี คุณภาพอากาศก็แย่ขึ้นทุกปี สิ่งแวดล้อมมีแต่แย่ลง แต่ภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมต่างพยายามบอกว่า “เราช่วยลดโลกร้อน(เดือด)ได้ ด้วยกิจกรรมชดเชยคาร์บอน” [1]

กลายเป็นว่าทางออกจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ หรือที่ไทยนิยามว่า “โลกเดือด” ในทุกวันนี้กลับเทไปที่การนำกลไกตลาดมาช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ “ตลาดซื้อขายคาร์บอน(carbon markets) ซึ่งอาศัยหลักการที่ทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีต้นทุนที่ต้องจ่าย (carbon pricing) ขณะที่คนที่สามารถลดก๊าซเรือนกระจกก็จะได้รับผลตอบแทน กล่าวคือ หากองค์กรใดมีการดำเนินงานที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่ากรณีการปล่อยตามปกติ หรือดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้สูงกว่าปริมาณการดูดซับปกติ หรือปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่าเพดานที่ทางการกำหนด(cap) จะได้รับคาร์บอนเครดิตหรือสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เหลือไปขายให้กับองค์กรหรือบุคคลอื่นที่ต้องการซื้อเพื่อนำไปชดเชยสถานะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเองให้ลดลง ทดแทนการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรง

ผู้สนับสนุนอ้างว่า “ระบบตลาดซื้อขายคาร์บอนจะทำให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกสุทธิ (ปริมาณที่ปล่อยออกมาหักกับปริมาณที่สามารถลดหรือดูดซับได้) ของทั้งประเทศลดลง และการชดเชยคาร์บอนถือเป็นระบบที่เป็นประโยชน์ร่วม สามารถระดมเงินหลายพันล้านดอลลาร์เข้าสู่โครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศกำลังพัฒนา เช่น โครงการพลังงานหมุนเวียน เป็นต้น

แต่การชดเชยคาร์บอนถูกตั้งคำถามและได้รับการตรวจสอบอย่างเข้มงวดจากนักวิจัย สื่อมวลชน และกระบวนการทางกฎหมายเพิ่มขึ้น มีหน่วยธุรกิจ บริษัทอุตสาหกรรมต่างๆ ใช้การชดเชยคาร์บอนเป็นเสมือนใบผ่านทางให้บริษัทอุตสาหกรรมยังสามารถทำธุรกิจที่ทำลายสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของเราได้ดังเดิม ซ้ำเติมความไม่เป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ (Climate Justice)

เครือข่ายภาคประชาชนจากทั่วประเทศ เดินขบวน เรียกร้องให้รัฐบาลไทย หยุดฟอกเขียว จากโมเดลเศรษฐกิจ BCG. © Tadchakorn  Kitchaiphon / Greenpeace
เครือข่ายภาคประชาชนจากทั่วประเทศ เดินขบวน เรียกร้องให้รัฐบาลไทย หยุดฟอกเขียว จากโมเดลเศรษฐกิจ BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว: Bio-Circular-Green Economy) และสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นธรรมสำหรับทุกคน ในระหว่างที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค 2565 ในวันที่ 16-18 พฤศจิกายน 2565 © Tadchakorn Kitchaiphon / Greenpeace

ความเป็นมาของการชดเชยคาร์บอน(Carbon Offset)

คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(IPCC) นิยาม”การชดเชยคาร์บอน” ว่าเป็น “การลด(reduction) การหลีกเลี่ยง(aviodance) หรือการกำจัดออก(removal)ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง(entity) ก๊าซเรือนกระจกที่ลด หลีกเลี่ยง หรือกำจัดออกได้จะถูกซื้อโดยหน่วยงานอื่นๆ เพื่อหักลบการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยหน่วยงานอื่นๆนั้น” [2] 

Climate Action at Eni Headquarter in Rome. © Greenpeace / Francesco Alesi
นักกิจกรรมกรีนพีซถือป้ายที่มีข้อความว่าการฟอกเขียวคือหายนะของสภาพภูมิอากาศ ในการประชุมผู้ถือหุ้นบริษัทน้ำมันอิตาลี เรียกร้องให้บริษัทน้ำมันหยุดการฟอกเขียวที่จะทำให้การขุดเจาะน้ำมันและเชื้อเพลิงฟอสซิลดำเนินต่อไปอย่างไม่จำกัด และจะทำให้วิกฤตสภาพภูมิอากาศรุนแรงขึ้น © Greenpeace / Francesco Alesi

ตัวอย่างเช่น สายการบินในประเทศที่พัฒนาแล้วที่อ้างว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สามารถจ่ายเงินเพื่อซื้อคาร์บอนเครดิตจากโครงการปกป้องพื้นที่ป่าฝนเขตร้อนในแอมะซอนได้ ตามทฤษฎีแล้วก็จะช่วย “ชดเชย” การปล่อยก๊าซเรือนกระจกบางส่วนของสายการบินดังกล่าว

ความเป็นมาของการชดเชยคาร์บอนย้อนหลังกลับไปกว่า 6 ทศวรรษ [3] มาสู่กฎหมายสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกาในช่วงทศวรรษ 1970 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแก้ไขพระราชบัญญัติอากาศสะอาดซึ่งริเริ่มการทดลองในระยะแรกด้วยการชดเชยการปลดปล่อยมลพิษตะกั่ว ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และไนตรัสออกไซด์ในสหรัฐอเมริกาซึ่งวางรากฐานต่อมาตรการทางการตลาดในการจัดการสิ่งแวดล้อมทั่วโลก

ในช่วงการเจรจาพิธีสารเกียวโตซึ่งเป็นความตกลงที่มีผลผูกพันทางกฎหมายฉบับแรกภายใต้กรอบอนุสัญญากรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(UNFCCC)สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้วในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การชดเชยคาร์บอนนั้น “มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเมืองด้านสภาพภูมิอากาศ” โดยเฉพาะเพื่อซื้อใจสหรัฐอเมริกา แม้ว่าต่อมาสหรัฐอเมริกาลงนามแต่สุดท้ายก็ไม่ได้ให้สัตยาบันพิธีสาร

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคบังคับในพิธีสารเกียวโต ประเทศและเขตการปกครองต่างๆ จึงเริ่มทดลองตลาดซื้อขายการปล่อยก๊าซเรือนกระจก(Emission Trading Scheme-ETS) และการชดเชยคาร์บอน หนึ่งในนั้นคือระบบในสหราชอาณาจักร รัฐนิวเซาธ์เวลส์ของออสเตรเลีย ตลาดหุ้นด้านสภาพภูมิอากาศของรัฐชิคาโก(Chicago Climate Exchange) และที่โดดเด่นที่สุดคือ ตลาดซื้อขายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสหภาพยุโรป(EU ETS) ในปี 2548 เป็นต้น

แม้ว่าตลาดคาร์บอนภายใต้พิธีสารเกียวโตจะคลี่คลายลงในปี 2555 การชดเชยคาร์บอนกลับขยายไปสู่ระบบการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีการควบคุม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรา 6 ของความตกลงปารีส(Paris Agreement)นั้น [4] ชัดเจนว่าเปิดช่องทางให้มีการชดเชยคาร์บอน

มาตรา 6 ในความตกลงปารีสปี 2558 มีความยาวเพียงเก้าย่อหน้า เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎเกณฑ์การดำเนินงานรวมถึงรายงานการจัดทำบัญชีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก(Paris rulebook)  แต่เป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง กรีนพีซตีความว่า มาตรา 6 ส่งเสริมความร่วมมือต่างๆ ระหว่างประเทศเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่รัฐภาคีและภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มองว่า มาตรา 6 เกี่ยวข้องกับการเปิดตลาดโลกเพื่อการชดเชยคาร์บอน

การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ ในปี 2564 รัฐบาลประเทศต่างๆ ประกาศยุทธ์ศาสตร์ระยะยาวในการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์(Net Zero) ภายในปี 2593 ส่วนแผน Net Zero ของไทยตั้งเป้าหมายไว้ภายในปี 2608

Floods in Northeast, Thailand. © Roengrit Kongmuang / Greenpeace
สมาน บุญครอง ชาวนาในพื้นที่อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ เร่งเกี่ยวข้าวออกจากแปลงนาที่โดนน้ำท่วมแม้ว่าข้าวจะยังสุกไม่เต็มที่ ประเทศไทยได้ถูกจัดเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดอันดับที่ 9 ของโลก ที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในรายงาน Global Climate Risk Index 2021 ของ Germanwatch ซึ่งวิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติยังคงมีแนวโน้มทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น กรีนพีซ ประเทศไทยเรียกร้องให้รัฐสภาไทยประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ เพื่อออกกฎหมายหรือวางมาตรการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอย่างจริงจังมากกว่าแค่การฟอกเขียวอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
© Roengrit Kongmuang / Greenpeace

อย่างไรก็ตาม “Net Zero” ก็ยังเอื้อให้อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลเดินหน้าสำรวจ ขุดเจาะ สกัดและเผาไหม้ถ่านหิน ก๊าซและน้ำมันต่อไป และจ่ายเงินจ้างใครสักคนทำการดึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศโดยการปลูกป่าชดเชย กลไกซื้อขายคาร์บอน (Emission Trading) ไปจนถึงการใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน [5]  ที่ต้นทุนสูงลิบลิ่วและไม่ได้รับการพิสูจน์

เหตุผลที่การชดเชยคาร์บอนไม่ช่วยกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ

การชดเชยคาร์บอนไม่ได้หยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ แต่เป็นเหมือนการลดการปล่อยในบัญชีแยกประเภทที่ผู้ก่อมลพิษทำขึ้นมา ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ร่วมทำรายงานการประเมินของ IPCC ระบุว่า โลกจำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทันทีในปริมาณมหาศาลและสม่ำเสมอ แต่การชดเชยคาร์บอนนั้นอยู่ตรงกันข้าม โดยเป็นใบอนุญาตให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อไป สร้างแรงจูงใจในการแปลงทรัพยากรธรรมชาติให้กลายเป็นสินค้า และเอื้ออำนวยให้บรรษัทและรัฐบาลที่ทรงอิทธิพลเข้ายึดครองผืนแผ่นดินของชุมชนที่เปราะบาง เหยียบย่ำสิทธิมนุษยชน และทำลายระบบนิเวศ

เหตุผลต่อไปนี้ชี้ให้เห็นว่าการชดเชยคาร์บอนภาคป่าไม้ไม่ช่วยกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ

1. ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่า เราไม่สามารถทำการชดเชยคาร์บอนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายความตกลงปารีสที่มุ่งจำกัดมิให้อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส

ในรายงานการประเมินครั้งที่ 6 ของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(IPCC 6th Assessment Report) นั้นไม่อ้างอิงถึงการชดเชยคาร์บอนในฐานะทางออกจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ [6] และ “…ภายใต้มาตราการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มุ่งมั่นที่สุดทั้งในระดับโลกหรือในระดับประเทศ การดูดกลับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศ(carbon dioxide removal) ไม่สามารถทดแทนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก(จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล)ให้มากที่สุดอย่างรวดเร็วได้…” [7] 

Global Climate Strike 2022 in Jakarta.
นักกิจกรรมและเยาวชนร่วมเดินขบวนประท้วง เรียกร้องให้รัฐแก้ไขและรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างแท้จริงในช่วง Global Climate Strike ในกรุงจาการ์ตา โดยมีนักกิจกรรมของกรีนพีซ อินโดนีเซียร่วมเดินขบวนเรียกร้องในครั้งนี้ร่วมกับเครือข่ายที่ทำงานด้านสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสียงของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

2. กว่า 90% ของโครงการคาร์บอนภาคป่าไม้ลดก๊าซเรือนกระจกไม่ได้จริง

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการขยายตัวครั้งใหญ่ของการชดเชยคาร์บอนในกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และภาคอุตสาหกรรมมีความประสงค์จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของตนโดยการจ่ายเงินซื้อคาร์บอนเครดิตที่เกิดขึ้นจากโครงการชดเชยคาร์บอนในที่ต่างๆ การชดเชยคาร์บอนกลายเป็นเครื่องมือที่เอื้อต่อผู้ก่อมลพิษในการดำเนินธุรกิจต่อไปตามปกติ

รูปแบบการชดเชยคาร์บอนที่โดดเด่นคือ โครงการอนุรักษ์ป่าไม้(forest protection scheme) การปลูกป่า(tree-planting) อย่างไรก็ตาม การรวบรวมกรณีศึกษาโดย Carbon Brief พบหลักฐานเชิงประจักษ์ที่แสดงให้เห็นว่าโครงการอนุรักษ์ป่าไม้และปลูกป่าชดเชยคาร์บอนสร้างความไม่เป็นธรรมและละเมิดสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่น พวกเขาถูกบังคับให้ย้ายออกจากที่ดินของตนอันเป็นผลมาจากโครงการชดเชยคาร์บอนในสาธารณรัฐคองโก และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (DRC) แอมะซอนของบราซิล โคลอมเบีย และเปรู เคนยา มาเลเซีย และอินโดนีเซีย [8] 

เมื่อต้นปี 2566 The Guardian ตีแผ่ข้อมูลการวิเคราะห์ที่สำคัญเกี่ยวกับโครงการชดเชยคาร์บอนภาคป่าไม้ที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากมาตรฐานตลาดคาร์บอน Verra ว่า 94% ของคาร์บอนเครดิตไม่ก่อประโยชน์อะไรเลยให้กับสภาพภูมิอากาศ และไม่ได้ช่วยเรื่องการปกป้องผืนป่าอีกด้วย [9] 

รายงานข่าวสืบสวนสอบสวนของ The Guardian ยังพบว่า ประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนยังเป็นเรื่องน่ากังวลในโครงการชดเชยคาร์บอน เช่น การยึดพื้นที่ป่าจากชุมชนในประเทศเปรูเพื่อมาเป็นป่าคาร์บอน กลุ่มบริษัทที่อยู่ในมาตรฐาน Verra นั้นรวมถึงบริษัท Gucci, Salesforce, BHP, Shell, Disney และบริษัทยักษ์ใหญ่อื่นๆ การตีแผ่เช่นนี้นอกจากจะเป็นการตั้ง                                                                                                                                                   คำถามต่อโครงการชดเชยคาร์บอนแล้ว ยังตั้งข้อสงสัยต่อการที่บริษัทต่างๆ กล่าวว่าผลิตภัณฑ์ของตนนั้นมีความ “เป็นกลางทางคาร์บอน” แท้ที่จริงแล้วซ่อนอะไรอยู่บ้าง และมีข้อเท็จจริงแค่ไหน

Activists at the bushfires and climate emergency rally, NSW. © Dean Sewell / Greenpeace
ผู้ร่วมชุมนุมในการเดินขบวนเรียกร้องการแก้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ ชูป้ายข้อความ Who killed the world ? การเดินขบวนเกิดขึ้นใน Sydney Town Hall, NSW © Dean Sewell / Greenpeace

3.การชดเชยคาร์บอนไม่ช่วยยุติการทำลายป่า หรือการปกป้องชุมชนในเขตป่า

การปลูกป่าเพื่อขายคาร์บอนเป็นอีกหนึ่งมายาคติที่บริษัทอุตสาหกรรมพยายามจะสร้างขึ้น และเป็นช่องโหว่สำคัญของการชดเชยคาร์บอน เนื่องจากการชดเชยคาร์บอนนั้นไม่ได้ยุติการทำลายป่าในห่วงโซ่การผลิตที่กำลังเกิดขึ้นในพื้นที่หนึ่ง แต่เพียงแค่ย้ายไปทำลายหรือซื้อคาร์บอนเครดิตในพื้นที่อื่นแทน ซึ่งอาจจะเป็นในพื้นที่ป่าอีกซีกโลกหนึ่งที่ขายคาร์บอนเครดิต จนถึงปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยหลายชิ้นระบุว่าโครงการชดเชยคาร์บอนนั้นคือความล้มเหลวของการปกป้องป่า คน และสภาพภูมิอากาศ

การนำผืนป่ามาเป็นคาร์บอนเครดิตนั้นไม่เพียงแค่เป็นการสร้างวาทกรรมใหม่ของระบบทุนนิยมและเสรีนิยมที่ลดทอนคุณค่าของป่าไม้เป็นแค่สถานที่ที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินและค่าคาร์บอนเครดิต ซึ่งในความเป็นจริงป่าไม้ในแต่ละพื้นที่คือความหลากหลายทางชีวภาพที่มีสิ่งมีชีวิตแตกต่างออกไป และไม่สามารถทดแทนได้ด้วยผืนป่าในพื้นที่อื่นของโลก ไม่เท่านั้น ป่ายังเป็นพื้นที่สำหรับชุมชนที่พึ่งพิงผืนป่าและเป็นบ้านของชนพื้นเมืองชาติพันธุ์ที่มักจะถูกลิดรอนสิทธิและไม่ได้รับความเป็นธรรมทางสังคมอย่างเท่าเทียม กรณีการเปลี่ยนผืนป่าเป็นป่าคาร์บอนเครดิตนั้นมีผลกระทบที่สำคัญต่อชนพื้นเมืองชาติพันธุ์ และมักถูกมองว่าเป็นการแย่งยึดพื้นที่จากชุมชนท้องถิ่นในรูปแบบใหม่ หรือที่ชนพื้นเมืองแอมะซอนเรียกว่าเป็น “โจรสลัดคาร์บอน” [10]

Preserved Forest Area in the Realidade District. © Nilmar Lage / Greenpeace
ภาพมุมสูงของป่าแอมะซอนจากการสำรวจของกรีนพีซ บราซิล ระหว่างวันที่ 6-12 กันยายน เพื่อสำรวจการเข้าบุกรุกผืนป่าและเฝ้าระวังไฟป่า © Nilmar Lage / Greenpeace

รูปแบบการรุกรานพื้นที่ชนพื้นเมืองนี้เป็นภัยคุกคามรูปแบบใหม่ โดยผู้นำชนพื้นเมืองเผยว่าพวกเขาได้รับการติดต่อจากบริษัทชดเชยคาร์บอนที่อ้างคำสัญญาด้านเศรษฐกิจ เงินก้อนโตต่าง ๆ หากยินยอมขายคาร์บอนเครดิตให้กับเขา และมีบางกรณีที่เมื่อเซ็นสัญญาแล้วกลับไม่อนุญาตให้ชนพื้นเมืองเข้าถึงพื้นที่ของตนได้ รวมถึงมีในรูปแบบที่สัญญาเป็นภาษาอังกฤษที่หนามาก ไม่มีการอธิบายว่าคืออะไร และชุมชนพื้นเมืองส่วนใหญ่ไม่สามารถอ่านภาษาอังกฤษได้ หรือสามารถอ่านออกเขียนได้ในภาษาทางการได้น้อย พวกเขาจึงไม่ได้รับข้อมูลอย่างแท้จริงว่ากำลังติดในข้อกำหนดสัญญาอะไร และจะมีผลกระทบอย่างไรตามมา อีกกรณีการคุกคามที่เกิดขึ้นที่ป่าในเคนย่าถูกบันทึกไว้ในรายงาน “Blood Carbon” โดยองค์กร Survival International  [11] ระบุถึงโครงการชดเชยคาร์บอนของ Verra ที่คุกคามการทำเกษตรแบบดั้งเดิมตามวัฒนธรรมของชนพื้นเมือง ส่งผลถึงวิถีชีวิต รายได้ และความมั่นคงทางอาหารของชุมชน

การชดเชยคาร์บอนในภาคป่าไม้จึงเชื่อมโยงกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน [12] อย่างมาก ซึ่งอาจนำไปสู่การขับไล่ชนพื้นเมืองหรือชุมชนในป่าจากบ้านของตน เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของบริษัท โดยที่ผลักภาระการลดคาร์บอนของกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ไปสู่ผู้ที่มีส่วนปล่อยคาร์บอนน้อยอย่างชุมชนในป่า

All Eyes on the Amazon - Solidarity Protest in Buenos Aires. © Martin Katz / Greenpeace
นักกิจกรรมกรีนพีซ ถือป้ายประท้วงหน้าสถานทูตบราซิลในกรุง Buenos Aires เพื่อแสดงการสนับสนุนและความเป็นหนึ่งเดียวกับชุมชนชาวพื้นเมืองในบราซิล เพื่อปกป้องสิทธิในผืนดินและที่ทำกิน รวมทั้งปกป้องชุมชนจากการบุรุกพื้นที่ปละการเผาทำลายป่าเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ © Martin Katz / Greenpeace

4.การชดเชยคาร์บอนคือเครื่องมือใหม่ของการฟอกเขียวและแผนสร้างภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมฟอสซิล

เรากำลังเผชิญกับภาวะฉุกเฉินทางสภาพภูมิอากาศ ตัวการโลกเดือดรายใหญ่ คืออุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ต้องยุติการขุดเจาะแหล่งสำรองฟอสซิลแหล่งใหม่ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดห่วงโซ่อุปทานและมีภาระรับผิดในการจ่ายความสูญเสียและความเสียหายจากผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ การปลูกต้นไม้ [13] หรือซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากภาคป่าไม้จึงไม่ได้ช่วยอะไรดังที่กล่าวไปข้างต้น

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ชี้ชัดแล้วว่า คาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศที่ถูกปลดปล่อยออกมานั้นสามารถคงอยู่ต่อไปได้อีกนับศตวรรษ หรือยาวนานกว่านั้น [14] และต้นไม้ที่ปลูกใหม่นั้นกว่าจะมีศักยภาพเพียงพอในการดูดซับคาร์บอนอาจจะต้องใช้เวลาหลายทศวรรษ[15] และยังมีตัวแปรอื่นๆ อีกที่สามารถทำให้ป่าปลูกใหม่ตายไป เช่น ไม่ใช่พันธุ์ท้องถิ่น ภัยแล้ง ไฟป่า และการทำลายป่าด้วยปัจจัยต่างๆ 

นั่นหมายความว่าโครงการชดเชยคาร์บอนภาคป่าไม้นอกจากไม่นำไปสู่การลดก๊าซเรือนกระจกในระดับที่ช่วยหลีกเลี่ยงไม่ให้โลกเดือดไปกว่านี้แล้วยังเป็นเงื่อนไขให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นอีกด้วย

Coal Power Plants in Suralaya, Indonesia. © Ulet  Ifansasti / Greenpeace
ภาพโรงไฟฟ้าถ่านหิน Suralaya ในจังหวัดบันเติน อินโดนีเซีย © Ulet Ifansasti / Greenpeace

ท้ายที่สุดแล้ว การชดเชยคาร์บอนภาคป่าไม้ทั้งหลายจึงเป็นแค่โครงการที่สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับบริษัทอุตสาหกรรมว่ายั่งยืนและรักษ์โลก หรือดึงดูดผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ถึงเวลาที่ทั้งผู้นำประเทศและกลุ่มอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ ต้องยอมรับความจริงกันแล้วว่า ปลูกต้นไม้แค่ไหนก็ไม่พอที่จะกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศที่กำลังเกิดขึ้นจากธุรกิจที่ทำกำไรจากการล่มสลายของสิ่งแวดล้อมได้ ทางรอดของโลกทางเดียวเท่านั้น คือการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบพลังงาน ระบบอาหารและระบบการผลิตการบริโภคของสังคมที่มีความยั่งยืนและเป็นธรรมอย่างแท้จริง


หมายเหตุ : 

[1] ช่วยลดโลกร้อนได้…ด้วยกิจกรรมชดเชยคาร์บอนจาก อบก. YouTube: https://www.youtube.com/watch?v=qSiGH0otUCE

[2] No space for ANY offsets in IPCC’s remaining carbon budget

[3] Timeline: The 60-year history of carbon offsets

[4] กรีนพีซระบุการเจรจามาตรา 6 ที่ COP26 ขยายช่องโหว่ของความตกลงปารีส

[5] Carbon Capture and Storage

[6] No space for ANY offsets in IPCC’s remaining carbon budget

[7]  Babiker, M., et al. 2022. Chapter 12: Cross-sectoral perspectives. In IPCC, 2022: Climate Change 2022: Mitigation of Climate Change. Contribution of Working Group III to the Sixth Assessment Report of the Intergovernmental Panel on Climate Change [P.R. Shukla, et al. (eds.)]. Cambridge University Press, Cambridge, UK and New York, NY, USA. doi: 10.1017/9781009157926.005. Page 1262.

 [8] https://interactive.carbonbrief.org/carbon-offsets-2023/mapped.html

[9] https://www.theguardian.com/environment/2023/jan/18/revealed-forest-carbon-offsets-biggest-provider-worthless-verra-aoe

[10] https://www.theguardian.com/environment/2023/jan/21/amazon-indigenous-communities-carbon-offsetting-pirates-aoe

https://www.survivalinternational.org/news/13659

[11]  https://www.survivalinternational.org/news/13659 

[12] https://www.climatechangenews.com/2019/12/09/carbon-offsets-patchy-human-rights-record-now-un-talks-erode-safeguards/

[13] https://www.theecoexperts.co.uk/blog/are-tree-planting-schemes-working

[14] https://www.nature.com/articles/climate.2008.122

[15] https://www.greenpeace.org.uk/news/the-biggest-problem-with-carbon-offsetting-is-that-it-doesnt-really-work/