อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลมักอ้างว่า การอนุรักษ์ป่าไม้รวมถึงการปลูกป่าจะชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเผาไหม้น้ำมัน ถ่านหินและก๊าซ หรือคาร์บอนจากฟอสซิลอื่นๆ ได้ โดยการนำป่าไม้มาชดเชยคาร์บอน(carbon offset) ภาคอุตสาหกรรมสามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ต่อไปโดยไม่มีผลกระทบที่เป็นอันตรายใดๆ ต่อระบบสภาพภูมิอากาศโลก

บทความนี้จะอธิบายตรรกะอันบกพร่องที่นำมาใช้เป็นข้ออ้างดังกล่าวข้างต้น แน่นอนว่ามีเหตุผลต่างๆ ในการดูแลปกป้องป่าไม้ แต่การใช้ป่าไม้เป็นกลไกชดเชยให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากเชื้อเพลิงฟอสซิลต่อไปนั้น นอกจากไม่มีเหตุผลมารองรับแล้วยังจะไม่ช่วยกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศอีกด้วย

การประเมินล่าสุดชี้ให้เห็นว่า การทำลายผืนป่า(deforestation)ทั่วโลกมีส่วนในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(CO2) ราวร้อยละ 10-15 % [1] ดังนั้น การยุติการทำลายป่าจึงเป็นกลยุทธ์สำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อหลีกเลี่ยงหายนะภัยจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

เมื่อพิจารณาถึงคำจำกัดความ “การชดเชย (offset)” ไม่ได้นำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวม แต่เป็นการย้ายคาร์บอนจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งเท่านั้น และด้วยลักษณะเฉพาะของคาร์บอนในภาคป่าไม้ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะแทนที่คาร์บอนจากฟอสซิลด้วยคาร์บอนจากป่าไม้ ดังนั้น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคป่าไม้จึงเป็นส่วนเพิ่มเติมจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ไม่ใช่การนำมาชดเชย

คาร์บอนในผืนป่าแตกต่างจากคาร์บอนจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล

มีแหล่งรวมคาร์บอน(carbon pool) 2 ประเภทหลักซึ่งแตกต่างกันและมีคุณลักษณะเฉพาะซึ่งเรามักเข้าใจกันสับสนคือ :

  • แหล่งรวมคาร์บอนเชิงรุก(active carbon pool) หรืออีกนัยหนึ่งคือ “ชีวมณฑล (biosphere)” ประกอบด้วยคาร์บอนทั้งหมดที่หมุนเวียนแลกเปลี่ยนระหว่างชั้นบรรยากาศ พื้นดิน และมหาสมุทร [2] มีเพียงคาร์บอนจากแหล่งนี้เท่านั้นที่มีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • แหล่งรวมคาร์บอนเชิงรับ (passive carbon pool) หรือ “เปลือกโลก(lithosphere)” ประกอบด้วยคาร์บอนที่ถูกฝังอยู่ใต้ธรณีนับหลายล้านปี (เช่น ถ่านหิน น้ำมัน หรือก๊าซฟอสซิล) ตราบเท่าที่ยังไม่ถูกถ่ายโอนไปยังแหล่งคาร์บอนเชิงรุก หรือกล่าวง่ายๆ ตราบเท่าที่เราไม่ไปขุดแหล่งสำรองถ่านหิน น้ำมัน หรือก๊าซฟอสซิล คาร์บอนในแหล่งนี้จะไม่มีส่วนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

พืชพรรณและโดยเฉพาะไม้ยืนต้นชนิดต่างๆ ประกอบด้วยคาร์บอน เมื่อถูกตัดโค่นลง เช่น จากการทำลายป่า เป็นต้น คาร์บอนในแหล่งนี้จะปลดปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศซึ่งนำไปสู่วิกฤตสภาพภูมิอากาศ การปกป้องผืนป่าของโลกนั้นมีความสำคัญเพื่อทำให้วัฐจักรคาร์บอนมีความสมดุลมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ในขณะเดียวกัน สิ่งสำคัญคือต้องไม่เพิ่มปริมาณคาร์บอนโดยรวมในแหล่งรวมคาร์บอนเชิงรุกเพราะในท้ายที่สุดแล้ว ขนาดของแหล่งรวมคาร์บอนเชิงรุกนี้เป็นตัวกำหนดถึงวิกฤตสภาพภูมิอากาศ พูดง่ายๆ คือ ยิ่งมีคาร์บอนมากขึ้นในแหล่งรวมคาร์บอนเชิงรุก คาร์บอนไดออกไซด์ก็จะสะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศมากขึ้น และก่อให้เกิดวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

การหยุดเพิ่มคาร์บอนในแหล่งรวมคาร์บอนเชิงรุกนั้นทำได้โดยการลดและยุติการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลเท่านั้น

 การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นการถ่ายโอนคาร์บอนที่ถูกกักเก็บไว้เป็นเวลาหลายล้านปีในแหล่งรวมคาร์บอนเชิงรับไปยังแหล่งรวมคาร์บอนเชิงรุกโดยไม่อาจหวนกลับคืนมาได้ ผลคือมีคาร์บอนไดออกไซด์ปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศและสะสมมากขึ้นขยายปรากฏการณ์เรือนกระจกและก่อความโกลาหลทางสภาพภูมิอากาศ

นั่นหมายความว่า คาร์บอนจากฟอสซิลและคาร์บอนจากป่าไม้ไม่อาจทดแทนกันได้ คาร์บอนจากฟอสซิล 1 ตันไม่เหมือนกับคาร์บอนจากป่าไม้ 1 ตัน การปลดปล่อยคาร์บอนจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่เพิ่มขึ้นไม่อาจชดเชยด้วยการปลดปล่อยคาร์บอนจากป่าไม้ที่ลดลง

การใช้ป่าไม้เป็นทางเลือกเพื่อชดเชยคาร์บอนสร้างความเข้าใจผิดๆ ว่าเรายังสามารถเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลต่อไปได้ถ้าเพียงแค่ลดการทำลายป่า แต่ในความเป็นจริง เรากำลังเปลี่ยนคาร์บอนเชิงรับให้เป็นคาร์บอนเชิงรุกซึ่งทวีความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในระดับที่เป็นอันตรายในชั้นบรรยากาศ

ป่าไม้จะดูดซับคาร์บอนปริมาณจำกัดในช่วงเวลาที่ยาวนาน

ผู้สนับสนุนการชดเชยคาร์บอนภาคป่าไม้เสนอว่า ต้นไม้สามารถชดเชยคาร์บอนส่วนใหญ่ที่ปล่อยจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้ แต่คำกล่าวอ้างนี้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากวงการวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศ การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ – ไม่ว่าจะมาแหล่งกำเนิดใด – เข้าสู่ชั้นบรรยากาศทันที ในทางกลับกัน การดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ออกจากชั้นบรรยากาศจะใช้เวลานานกว่ามาก ผ่านกระบวนการต่างๆ ในช่วงเวลาที่แตกต่างกันตั้งแต่หลายทศวรรษไปจนถึงหลายล้านปี [3]

แม้ว่าแบบจำลองสภาพภูมิอากาศที่ดำเนินการโดยนักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศจะมีความซับซ้อน แต่แบบจำลองทั้งหมดแสดงให้เห็นถึง “ร่องรอย” ที่ยาวนานของช่วงเวลาที่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ยังคงอยู่ในชั้นบรรยากาศ(residence time of atmospheric CO2)

แบบจำลองสภาพภูมิอากาศที่ใช้โดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ประมาณว่า ในอีกสองสามทศวรรษข้างหน้า ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 15-25% ที่ปลดปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศจะถูกดูดซับโดยมวลแผ่นดิน (ส่วนใหญ่เป็นผืนดินที่มีพืชพรรณปกคลุม) และโดยมหาสมุทรในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันในช่วงเวลาเดียวกัน [4] และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศอีกราว 30% จะถูกดูดซับในช่วงเวลาสองสามศตวรรษ และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อีกราว 20% ที่เหลือจะคงอยู่ในชั้นบรรยากาศเป็นเวลาหลายพันปี นั่นหมายความว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกิจกรรมของมนุษย์ราวครึ่งหนึ่งยังคงอยู่ในชั้นบรรยากาศเป็นเวลาหลายทศวรรษหรือมากกว่านั้น

ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะเดินหน้าเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลต่อไปและคาดหวังให้ป่าไม้หรือส่วนอื่นๆ ของชีวมณฑลดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศที่เป็นผลจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลนั้น ถึงแม้ว่า ทั้งป่าไม้ที่เกิดใหม่และป่าไม้ที่สมบูรณ์เต็มที่จะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศ [5] แต่ก็ดูดซับได้เพียงบางส่วนเท่านั้น และล่าช้าเกินกว่าที่จะป้องกันวิกฤตสภาพภูมิอากาศโลก ป่าไม้ไม่เหมาะสมโดยธรรมชาติที่จะนำมาใช้เป็นทางเลือกในการชดเชยคาร์บอนเพื่อให้อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงขยายกิจการของตนต่อไปไม่สิ้นสุด

เราอยู่ในห้วงแห่งภาวะฉุกเฉินทางสภาพภูมิอากาศ จำเป็นต้องมีการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยทันที เราต้องลงมือทำอย่างมุ่งมั่นเพื่อปลดแอกฟอสซิล และปกป้องป่าไม้ซึ่งมิได้มีเพียงแต่คาร์บอนที่มีอยู่ในป่าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพและชุมชนที่ดูแล ปกป้องและพึ่งพาผืนป่า สู่เส้นทางสู่อนาคตที่ปลอดภัยและเป็นธรรมของทุกสรรพชีวิต

เรียบเรียงจาก Flawed Logic : Why forests cannot offset fossil fuel emissions เขียนโดย Christoph Thies กรีนพีซ เยอรมนี ใน https://www.wrm.org.uy//wp-content/uploads/2013/11/Offsets-briefing-Flawed-Logic.pdf

หมายเหตุ :

[1] IPCC (2013) Climate Change 2013: The Physical Science Basis. Working Group I contribution to the IPCC 5th Assessment Report Ch. 6 http://www. ipcc.ch/report/ar5/wg1/#.Um6XYDhFD5o Baccini A, Goetz SJ, Walker WS, Laporte NT, Sun M, Sulla-Menashe D, Hackler J, Beck, PSA, Dubayah R, Friedl MA, Samanta S & Houghton RA. (2012) Estimated carbon dioxide emissions from tropical deforestation improved by carbon-density maps. Nature Climate Change 2: 182; Harris NL, Brown S, Hagen SC, Saatchi SS, Petrova S, Salas W, Hansen MC, Potapov PV & Lotsch A (2012) Baseline map of carbon emissions from deforestation in tropical regions. Science 336: 1573-1576 ;

[2] These processes occur over timescales ranging from months to thousands of years, making for a rather complex carbon cycle. Biospheric carbon is also termed “labile” or “mobile” carbon as it is taken up from the atmosphere by plants or the ocean, and then returned during processes such as the decay of organic matter.

[3] Archer D, Eby E, Brovkin V, Ridgwell A, Cao L, Mikolajewicz U, Caldeira K, Matsumoto K, Munhoven G, Montenegro A & Tokos K (2009) Atmospheric lifetime of fossil fuel carbon dioxide. Annual Review of Earth and Planetary Sciences 37: 117-134.

[4] PCC (2013) Climate Change 2013: The Physical Science Basis. Working Group I contribution to the IPCC 5th Assessment Report Ch. 6 http://www. ipcc.ch/report/ar5/wg1/#.Um6XYDhFD5o;IPCC (2007). Climate Change 2007: The Physical Science Basis. Contribution of Working Group 1 to the Fourth Assessment Report of the Intergovernmental Panel on Climate Change, Cambridge University Press. Ch. 7

[5] Phillips O, Lewis SL, Baker TR, Chao KJ & Higuchi N (2008) The changing Amazon forest. Philosophical Transactions of the Royal Society. B 363: 1819-1827;
Luyssaert S, Schulze E-D, Börner A, Knohl A, Hessenmöller D, Law BE, Ciais P & Grace J (2008) Old-growth forests as global carbon sinks. Nature 455: 213-215;
Lewis SL Lopez-Gonzalez G, Sonké B, Affum-Baffoe K, Baker TR, Ojo LO, Phillips OL, Reitsma JM, White L, Comiskey JA, Djuikouo K MN, Ewango CE, Feldpausch TR, Hamilton AC, Gloor M, Hart T, Hladik A, Lloyd J, Lovett JC, Makana JR, Malhi Y, Mbago FM, Ndangalasi HJ, Peacock J, Peh KS, Sheil D, Sunderland T, Swaine MD, Taplin J, Taylor D, Thomas SC, Votere R & Wöll H (2009) Increasing carbon storage in intact African tropical forests. Nature 457: 1003-1007.