ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เฮอร์ริเคนฟลอเรนซ์ได้พัดเข้าถล่มรัฐนอร์ธแคโรไลนา นอกจากได้สร้างความเสียหายให้บ้านเรือน สิ่งปลูกสร้าง รวมถึงมีผู้เสียชีวิตจากพายุลูกนี้แล้ว ยังทำให้มีการสูญเสียในอุตสาหกรรมปศุสัตว์หมูและไก่จำนวนมหาศาลอีกด้วย กล่าวคือ มีไก่และไก่งวงจำนวนราว 3.4 ล้านตัว และหมูราว 5,000 ตัว ต้องจมน้ำตายไป เนื่องจากไม่มีการอพยพสัตว์เหล่านี้

รัฐนอร์ธแคโรไลน่า มีฟาร์มหมูจำนวนมากที่สุดรองเป็นอันดับสอง รองจากไอโอวา โดยมีอุตสาหกรรมฟาร์มหมูราว 2,100 ฟาร์ม และจำนวนหมูเฉลี่ยทั้งหมดราว 9 ล้านตัว ไก่ 819 ล้านตัว และไก่งวง 34 ล้านตัวต่อปี ปริมาณน้ำฝนจากเฮอร์ริเคนทำให้เกิดน้ำท่วมขนาดใหญ่ และอุตสาหกรรมฟาร์มหมูจำนวนมากได้ถูกน้ำท่วมไป ปัญหาสำคัญนอกจากจำนวนชีวิตสัตว์หลายล้านตัวที่ต้องเสียชีวิตไป คือบ่อกำจัดมูลสัตว์ ที่กำลังโดนน้ำท่วม และมูลหมูที่ผลิตของเสียราว 1 หมื่นล้านปอนด์ ต่อปี กำลังไหลออกมาสู่เมืองและระบบนิเวศ

น้ำท่วมฟาร์มปศุสัตว์ในรัฐนอร์แคโลไรน่า (ภาพ: The Guardian)

ตามปกติแล้วบ่อมูลเหล่านี้เป็นบ่อที่ขุดดิน จำนวนมากที่อยู่ใกล้กับแม่น้ำ ไม่ได้มีการปิดไว้ และบางบ่อนั้นมีขนาดใหญ่เทียบเท่ากับสระน้ำมาตรฐานโอลิมปิก ข้อมูลจาก Environmental Quality ของรัฐนอร์ธแคโรไลน่าระบุว่า มีบ่อเก็บมูลหมูที่ถูกน้ำท่วมเสียหายไปแล้ว 30 บ่อ มี 21 บ่อที่มีน้ำท่วมผ่าน และทำให้น้ำผสมกับสารเคมีที่จะนำไปทำเป็นปุ๋ย และบ่อมูลอีก 75 บ่อที่กำลังเต็ม หรือใกล้เต็ม เสี่ยงที่จะล้นทะลักเร็ว ๆ นี้

หากสิ่งปฏิกูลจากบ่อมูลไหลออกไปในสิ่งแวดล้อมจะสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวง โดยข้อมูลจากสำนักข่าว New York Times ระบุตัวอย่างเหตุการณ์ในปี 2542 เมื่อครั้งที่น้ำฝนจากเฮอร์ริเคฟลอยด์ทำให้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ และปฏิกูลได้ไหลลงสู่แม่น้ำ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ วิกฤติจากการแพร่พันธุ์และการจับตัวกันเป็นแพของสาหร่ายเซลล์เดียว หรือที่เรียกว่า Algae Blooms และปลาในแม่น้ำส่วนใหญ่ตายไป เนื่องจากปริมาณออกซิเจนในน้ำลดลงและไม่เพียงพอต่อการหายใจของปลา  และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ส่งผลให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง

ไม่เพียงเท่านั้น สารไนเตรทที่นำมาใช้เป็นปุ๋ยเคมีจากมูลหมูยังส่งผลต่อสุขภาพอีกด้วย พิษของไนเตรทจะทำให้เด็กเกิดโรคบลูเบบี้ ซินโดรมซ์ ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขาดการตื่มน้ำที่มีไนเตรทเจือปน โดยไนเตรทในนั้นจะเข้าไปขวางกั้นการลำเลียงออกซิเจนของเมล็ดเลือดแดง มักเกิดขึ้นกับเด็ก และอาจรุนแรงถึงเสียชีวิตได้ ซึ่งสารไนเตรทนี้อาจมาจากบ่อมูล หรือแม้กระทั่งจากแปลงเกษตรที่ได้รับการฉีดปุ๋ยเคมีไว้อย่างหนักหน่วงก่อนที่เฮอร์ริเคนจะมา สามารถปนเปื้อนแหล่งน้ำใต้ดินและไหลลงสู่แม่น้ำ ซึ่งวิกฤตนี้ยังไม่รวมถึงผลกระทบจากมลพิษเถ้าถ่านหินราว 1,530 ลูกบาศ์กเมตร (ปริมาณพอ ๆ ที่จะบรรจุในรถบรรทุก 180 คัน) จากโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ของ Duke Energy ซึ่งมีสารพิษอันตรายอย่าง สารหนู ปรอท และตะกั่ว

ซาโคบี วิลสัน อาจารย์ภาควิชาสาธารณสุข มหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ กล่าวว่า “ผลกระทบต่อผู้อาศัยในรัฐนอร์ธแคโรไลนาจะยังไม่ชัดเจนขณะที่กำลังอพยพ แต่หลังจากที่พวกเขากลับมาอาศัยในบ้านอีกครั้ง พวกเขาจะพบว่าบ้านเรือนเต็มไปด้วยปฏิกูลที่ปนเปื้อนสารเคมีและยาปฏิชีวินะ”

เมื่อปี 2542 การตรวจตัวอย่างน้ำของน้ำท่วมจากเฮอร์ริเคนฟลอยด์ในนอร์ธแคโรไลนา โดย U.S. Geological Survey พบว่ามีแบคทีเรียอีโคไล และคลอสตริเดียม เพอร์ฟริงเจนส์ ในอัตราสูง ซึ่งก่อโรคอุจจาระร่วง และอาหารเป็นพิษ นอกจากนี้นักวิจัยยังพบเชื้อดื้อยาในตัวของคนงานในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ของนอร์ธแคโรไลนาอีกด้วย

นี่คือผลกระทบที่ชุมชนต้องเผชิญ จากอุตสาหกรรมปศุสัตว์

อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ก่อก๊าซเรือนกระจกสูงเทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคคมนาคมขนส่ง ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เผยว่า การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศส่งผลให้พายุอย่างเฮอร์ริเคนฟลอเรนซ์นั้นทวีความรุนแรงขึ้น “อุณหภูมิของรัฐนั้นสูงขึ้น และมีความชื้นมากขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” เควิน เทรนเบิร์ธ นักวิทยาศาสตร์อาวุโสแห่ง National Center for Atmospheric Research สหรัฐอเมริกา กล่าว และสภาพอากาศเช่นนั้นก่อให้เกิดผลที่ตามมาของพายุ นั่นคือปริมาณน้ำฝนอันมหาศาล และน้ำท่วมอย่างรวดเร็ว และวิกฤตโลกร้อนกำลังทำให้พายุยิ่งรุนแรงขึ้น ถี่ขึ้น เป็นความผิดปกติที่กำลังกลายมาเป็นเรื่องปกติ ซึ่งเมื่อสองปีที่ผ่านมารัฐนอร์ธแคโรไลนาเพิ่งเผชิญกับเฮอร์ริเคนแมทธิว

การปศุสัตว์ถือเป็นหนึ่งในตัวการที่ใหญ่ที่สุดที่ทําให้โลกสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และอาจกำลังพาโลกเราไปสู่จุดแตกหัก นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่า ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการทําปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรมส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของผืนดิน การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ มลพิษจากไนโตรเจนและฟอสฟอรัส และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การที่จะหยุดวัฏจักรของมหันตภัยจากพายุและผลกระทบจากอุตสาหกรรมปศุสัตว์ คือการผันเปลี่ยนไปสู่การทำปศุสัตว์เชิงนิเวศ ควบคู่กับเกษตรกรรมเชิงนิเวศ รูปแบบการทําปศุสัตว์เชิงนิเวศเปิดโอกาสให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้โดยตรงจากการลดจํานวนของสัตว์และลดการผลิตพืชเพื่อเป็นอาหารสัตว์ และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังลดลงได้อีกจากการกักเก็บคาร์บอนในดินและในชีวมวลบนผืนดิน ซึ่งเป็นผืน ดินที่ได้คืนมาหลังจากลดการเลี้ยงสัตว์ลงร้อยละ 50 ของการเลี้ยงสัตว์ในปัจจุบัน เนื่องจากไม่จําเป็นต้องใช้พื้นที่เพาะปลูกและทุ่งหญ้าสําหรับผลิตพืชอาหารสัตว์และหญ้าเลี้ยงสัตว์

ราคาที่แท้จริงของเนื้อสัตว์เชิงอุตสาหกรรมไม่ได้ไม่ได้สะท้อนตามราคาที่เราเห็น แต่ยังมีต้นทุนด้านอื่นๆ แฝงอยู่ด้วย ขณะนี้เรารู้ดีแล้วว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยิ่งแต่จะทำให้พายุทวีความถี่และรุนแรงขึ้น และการขยายตัวของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์มีแต่เพียงจะเร่งให้เกิดผลกระทบโดยไม่รู้จบ และจะต้องเกิดการสูญเสียอีกมากมาย

รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์

About the author

รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์
นักเขียน นักสิ่งแวดล้อม ผู้เชื่อในพลังการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกของทุกคนจากการเลือกกิน เลือกซื้อ เลือกใช้ และการลงมือทำ เพื่อสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด

Comments

Leave your reply