ความจริงวันนี้คือประเทศไทยยังไม่มีฐานข้อมูลการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม

“เมื่อไม่มีข้อมูล ไทยก็แก้ไขปัญหามลพิษอากาศแบบตาบอดคลำช้าง” เพ็ญโฉม แซ่ตั้งกล่าว

หลายคนคงคุ้นหูชื่อ “เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง” บ้างจากหน้าข่าวเมื่อเกิดเหตุอุบัติภัย สารเคมีรั่วไหลตามพื้นที่ต่างๆของประเทศ เรามักจะเห็นเธอให้สัมภาษณ์ตามรายการข่าวของสื่อหลักอยู่บ่อยครั้ง 

สำหรับใครที่อาจไม่คุ้นชื่อเธอเท่าไหร่ เพ็ญโฉม แซ่ตั้งคือผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมที่ทำงานเรื่องมลพิษอุตสาหกรรมในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นขยะนำเข้า มลพิษทางอากาศ กากของเสียอุตสาหกรรม

สิ่งที่เราสนใจคือในประเด็นมลพิษทางอากาศ เธอยังคงผลักดันให้เกิดการคุมฝุ่น PM2.5 และมลพิษทางอากาศที่ต้นทางโดยการออกกฎหมายการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register หรือ PRTR) มาเกือบ 20 ปี และขณะนี้มีการจัดทำร่างกฎหมาย PRTR ฉบับภาคประชาชน ร่วมกับทางกรีนพีซและมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม เพื่อรวบรวมรายชื่อประชาชนผู้สนับสนุนให้ได้ 10000 รายชื่อ และจะยื่นสู่รัฐสภาในปีหน้า

เล่าแบบรวบรัด กฎหมาย #ThaiPRTR นี้คือกฎหมายที่มุ่งบังคับให้โรงงานอุตสาหกรรมและแหล่งกำเนิดมลพิษอื่น ๆ เช่น การใช้สารเคมีการเกษตร และการขนส่ง จะต้องส่งรายงานการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมให้หน่วยงานภาครัฐ  กฎหมายนี้ยังส่งเสริม “Community right to know” ทำให้ไทยมี ‘ฐานข้อมูลมลพิษ’ ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ทางเว็บไซต์โดยไม่มีการปกปิดชื่อแหล่งกำเนิดและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ

 เพ็ญโฉมชี้ว่าหากไม่มีกฎหมายนี้ ประเทศไทยไม่มีวันแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศได้ 

แม้ไทยจะอยู่ในฤดูฝนพรำ แต่เรารู้ดีว่าเมื่อเข้าหน้าแล้ง ประเทศไทยจะเผชิญกับฤดูฝุ่นพิษอีกครั้ง เวียนวนมาทุกปี ไม่รู้จบ

ในยุคที่อะไรๆ ก็มาไวไปไวกันซะหมด เราสงสัยว่าอะไรทำให้คนๆ หนึ่งยืนหยัดผลักดันสิ่งหนึ่งมามากกว่า 20 ปี แล้วกฎหมาย PRTR นี้จะช่วยคนไทยแก้ปัญหาฝุ่นพิษได้อย่างไร

วันนี้เราจะไปคุยกับเธอกัน

คุณเริ่มต้นทำงานด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร

เพ็ญโฉม  : พี่เริ่มทำงานตั้งแต่ปี 2541 ค่ะ ก่อนหน้านี้ในช่วงปี 2534 เกิดเหตุการณ์สารเคมีระเบิดที่ท่าเรือคลองเตยซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ใหญ่ที่สุดของคลังเก็บสารเคมีระเบิดในประเทศไทยครั้งนั้นมีชุมชนสลัมที่ถูกไฟไหม้และได้รับสารเคมี พี่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยบังเอิญ เนื่องจากกำลังติดตามเรื่องสิทธิการเข้าถึงข้อมูลของประชาชน ซึ่งในยุคนั้น กรณีสารเคมีระเบิดเป็นตัวอย่างที่สะท้อนถึงปัญหาการปกปิดข้อมูลอย่างชัดเจน เนื่องจากเพิ่งเกิดการทำรัฐประหารขึ้นไม่นาน การท่าเรือได้ปิดบังข้อมูลหมดเลยว่าสารเคมีอะไรบ้างที่ถูกไฟไหม้ เมื่อเป็นเช่นนี้แพทย์ที่โรงพยาบาลก็รักษาผู้บาดเจ็บไม่ถูกเพราะไม่รู้ว่าได้รับสารเคมีอะไรบ้าง นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชน 

พี่เริ่มทำงานเรื่องมลพิษอุตสาหกรรมจริงจังตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา เราเริ่มลองทำงานในพื้นที่เขตอุตสาหกรรม เขตพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ คือ ที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง สิ่งที่ชาวบ้านจะพูดมากที่สุดคือปัญหามลพิษอากาศ ชาวบ้านไม่รู้ว่าอะไรอยู่ในอากาศ สารเคมีที่อยู่ในอากาศมีกลิ่นที่หลากหลายมากเลย และคำถามต่อมาคือว่า เขาอยากรู้ว่ากลิ่นเหล่านี้มันอันตรายไหม มันคืออะไร มันมาจากอุตสาหกรรมประเภทไหนบ้าง เขาถามรัฐบาล ก็ไม่มีใครตอบเขาได้ พี่จึงร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศจากองค์กร Global Community Monitor (GCM) และกลุ่มกรีนพีซ เก็บตัวอย่างอากาศในพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยองอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 5 เดือนมาวิเคราะห์ เพื่อดูว่าในอากาศมันมีสารปนเปื้อนอะไรอยู่บ้าง  

ผลปรากฎว่าตัวอย่างอากาศที่เราเก็บไป 5 ตัวอย่างนี้ส่งไปที่สหรัฐอเมริกา ตรวจพบสารเคมีเป็นพิษทั้งหมด 20 ชนิด ในตัวอย่างอากาศทั้ง 5 ตัวอย่าง ในจำนวนนี้เป็นสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) และสารประกอบกำมะถันอย่างน้อย 6 ถึง 12 ชนิดในแต่ละตัวอย่าง ตัวอย่างเช่น เบนซีน (Benzene) ไวนิลคลอไรด์ (Vinyl Chloride) 1,2 ไดคลอโรอีเธน (1,2-Dichloroethane) คลอโรฟอร์ม (Chloroform) และยังพบว่าในแต่ละตัวอย่างอากาศ มีสารเคมีอย่างน้อย 2 ชนิดที่มีปริมาณสูงเกินค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศหรือระดับการเฝ้าระวังคุณภาพอากาศและอาจจะส่งผลกระทบทางสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ได้ 

ตัวเลขสารเคมีสูงขนาดนั้นได้อย่างไร

เพ็ญโฉม  : ใช่ ตัวเลขมันน่าตกใจมาก เราเลยทำรายงานชื่อ “อะไรอยู่ในอากาศ” เพื่อเผยแพร่ผลการวิเคราะห์ตรวจอากาศ 5 ตัวอย่าง เราก็ใช้ธีมเรื่อง “community right to know” เลย พี่เริ่มศึกษาเรื่องกฎหมายการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register หรือ PRTR) ตั้งแต่ปี 2544-2545 แล้วก็เริ่มติดตามเรื่องนี้มา

ทำไมตอนนั้นถึงเริ่มทำงานเกี่ยวกับฐานข้อมูลมลพิษ

เพ็ญโฉม  : คือเวลาที่เราโฟกัสเรื่องมลพิษทางอากาศ สิ่งที่ชาวบ้านเขาเดือดร้อนมากๆ คือปัญหากลิ่น ฝุ่นละออง กลิ่นเหม็น แล้วทำให้เขาป่วย เรากับนักวิชาการเคยลงไปเก็บตัวอย่างจากบ่อน้ำ 25 ชุมชนในเขตเทศบาลตำบลมาบตาพุดมาตรวจ พบว่าทุกชุมชนมีโลหะหนักปนเปื้อนในน้ำที่เขาใช้ เราศึกษาทั้งเรื่องน้ำและอากาศทำให้รู้ว่าหัวใจสำคัญคือชุมชนควรได้รู้ว่ามีอะไรที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมรอบตัวของเขาบ้าง 

อากาศสำคัญมากๆ เพราะว่าเราหายใจอยู่ตลอดเวลา มีผลกระทบสูงมาก น้ำเรายังหลีกเลี่ยงการใช้ได้ แต่อากาศมันไม่ได้เลย เวลาให้คำปรึกษาชาวบ้าน เราจะต้องตอบด้วยว่าต้องแก้ไขอย่างไร กรณีมลพิษทางอากาศและกลิ่นเหม็นสารเคมี เราหาคำตอบให้ชุมชนในพื้นที่ไม่ได้ ในประเทศไทยยังหานักวิชาการมาช่วยไม่ได้ และในตอนนั้นเราก็มีข้อจำกัดหลายด้านเราก็ต้องไปศึกษาประสบการณ์ของต่างประเทศ ทำให้พี่รู้ว่า ประเทศไทยน่าจะมีกฎหมายเหมือนต่างประเทศที่กำหนดให้มีการเปิดเผยข้อมูลมลพิษที่ปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม อย่างเช่น สหรัฐอเมริกามีฐานข้อมูลมลพิษที่เรียกว่า “Toxics Release Inventory (TRI)”   แล้วรัฐบาลไทยเองก็รู้ แต่ว่าไม่มีการทำ เพราะว่ากลัวภาคอุตสาหกรรมคัดค้านมาก นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้พี่ศึกษาว่าข้อดีของการมีกฎหมาย PRTR มันคืออะไร 

ต่อมาพี่ก็ให้อาสาสมัครสำรวจความเห็นของโรงงานอุตสาหกรรมต่างประเทศที่ตั้งอยู่ในพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง โดยมีเกณฑ์ในการคัดเลือกว่าโรงงานนั้นๆ ต้องมาจากประเทศที่มีกฎหมาย PRTR อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา เยอรมนี หรือญี่ปุ่น ให้โรงงานเหล่านั้นเขาตอบคำถามว่าเขาจะเปิดเผยได้ไหมว่าเขาปล่อยมลพิษอะไรบ้าง เขาไม่ตอบว่าเขาปล่อยอะไรบ้าง แต่เขาบอกว่า เขายินดีจะให้ข้อมูลเหล่านี้นะถ้าประเทศไทยมีกฎหมาย PRTR แล้ว แต่เมื่อประเทศไทยไม่มีกฎหมาย PRTR เขาก็ไม่มีความจำเป็นต้องให้ เขาบอกว่าถ้าอยากได้ก็ให้ไปผลักดันกฎหมายให้มี PRTR ในประเทศไทย 

อึ้งเหมือนกันเนาะ 

เพ็ญโฉม  : เราก็อึ้งเลย ซึ่งมันทำให้เรารู้สึกว่าสิ่งนี้สองมาตรฐานชัดเจน ซึ่งเราบอกว่าถ้าคุณเคารพสิทธิของประชาชน คุณเคารพสิทธิในสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าคุณอยู่ประเทศไหน คุณก็ต้องมีภาระรับผิด เราจึงพิมพ์ออกมาเป็นรายงานชื่อ “Ignorance is Toxic, Double Standard at Map Ta Phut”  

เห็นว่ามีการสำรวจความเห็นภาคอุตสาหกรรมด้วย

เพ็ญโฉม : เราเคยสำรวจความคิดเห็นของบริษัทเอกชนที่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมในพื้นที่ระยองเมื่อปี 2556 ว่าเขาามีความสนใจหรือคิดอย่างไรถ้าประเทศไทยมีกฎหมาย PRTR เราส่งแบบสอบถามไปถึงบริษัทเอกชนประมาณ 300 แห่ง มีโรงงานที่ตอบกลับมาประมาณ  100 กว่าบริษัท และใน 100 กว่าบริษัท มีประมาณ 90% เขาสนับสนุนให้มีกฎหมาย PRTR แล้วเขาบอกว่า บริษัทแม่ของเขาก็ใช้กฎหมาย PRTR กันแล้ว เห็นควรว่าประเทศไทยควรมีกฎหมายแบบนี้ใช้เหมือนกัน ซึ่งเขาก็เชื่อว่าถ้าประเทศไทยมีกฎหมาย PRTR จะช่วยลดความซ้ำซ้อนในการส่งรายงานการระบายมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งเขาจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายแรงงาน มีกฎหมายหลายฉบับมากที่เขาต้องทำตาม แต่ถ้ามีกฎหมาย PRTR จะมีระบบการรายงานเป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งมันจะเป็นการลดภาระของภาคเอกชนในการส่งรายงานโรงงานต่อหน่วยงานที่กำกับดูแลได้ 

ประเทศไทยมีกฎหมายควบคุมภาคอุตสาหกรรมมากมาย กฎหมายเหล่านี้ไม่เพียงพอที่จะควบคุมภาคอุตสาหกรรมงั้นหรือ

เพ็ญโฉม  : ไม่พอค่ะ เพราะการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิตอุตสาหกรรมมีเป็นหมื่นชนิด เราไม่รู้หรอกว่ามีสารอะไร มีการปล่อยมลพิษอย่างไรบ้าง แล้วประเทศไทยใช้ทั้งหมดกี่พันชนิด พอมาดูกฎหมายไทย มีประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมหรือการนิคมอุตสาหกรรมเอาไปใช้ไปประกาศภายใต้หน่วยงานของตน ในประกาศที่ว่าด้วยเรื่องของการปล่อยมลพิษ การรายงานข้อมูลของมลพิษ ที่มีการระบายจากปล่องอากาศเสีย พวกสถิติต่างๆ หรือว่าตัวมลพิษที่มีการปล่อยในรูปแบบของน้ำเสีย ถ้ามาเทียบดูสารมลพิษทั้งหมดแล้ว ครอบคลุมสารเคมีแต่ว่าตัวมลพิษที่มีการปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะทางอากาศมีกว่า 100 ชนิด เพราะฉะนั้นกฎหมายที่มีอยู่คุมไปไม่ถึง 

เอาง่ายๆเลยอย่าง PM 2.5 ที่เราพูดกันอยู่ พอมาดูกฎหมายทุกฉบับที่มีอยู่ ไม่มีกฎหมายฉบับไหนเลยที่พูดว่าจะต้องมีการรวบรวมข้อมูลขึ้นมาทำเป็นฐานข้อมูล เผยแพร่สู่สาธารณะให้ทุกคนเข้าถึงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ทีนี้ข้อมูลที่จะได้จากกฎหมาย PRTR เป็นข้อมูลที่ค่อนข้างเฉพาะเจาะจง คือข้อมูลที่พูดถึงสารเคมีทั้งในรูปของวัตถุดิบและที่เป็นสารมลพิษใช้วัตถุดิบที่เป็นสารเคมีกลุ่มนี้ในปริมาณ เท่าไหร่ ขอแก้เป็น บริษัทหรือโรงงานไม่ต้องเปิดเผยสูตรนะ เพราะการเปิดเผยสูตรมันคือการเปิดเผยความลับทางการค้า แต่แต่ทางบริษัทต้องรายงานว่ามลพิษที่ถูกปล่อยออกมามีกี่ชนิด แล้วแต่ละชนิดมีปริมาณประมาณเท่าไหร่ 

รัฐกล่าวว่าฝุ่นมาจากโรงงานอุตสาหกรรมน้อยมากๆ คุณคิดอย่างไรกับคำกล่าวนี้?

เพ็ญโฉม  : รัฐบาลไม่ทราบหรอกว่าโรงงานปล่อยสารมลพิษอะไรออกมาบ้าง และปล่อยเท่าไหร่ต่อปี ยิ่งฝุ่น PM2.5 ด้วยแล้ว ในปัจจุบันยังไม่มีการตรวจวัดที่ปากปล่องหรือที่แหล่งกำเนิด ทุกวันนี้มีการตรวจเฉพาะปริมาณฝุ่นรวม ณ แหล่งกำเนิดเท่านั้น สำหรับฝุ่น PM2.5 ปัจจุบันมีการตรวจวัดในบรรยายกาศทั่วไปโดยดูระดับความเข้มข้นในบรรยากาศเฉลี่ย 24 ชั่วโมงและค่ารายปี ว่าสูงเกินค่ามาตรฐานหรือไม่ แต่ยังไม่มีการกำหนดให้ตรวจวัด ณ แหล่งกำเนิด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่กำกับดูแลจะไม่สามารถบอกได้ว่าในแต่ละปี โรงงานอุตสาหกรรมปล่อยฝุ่น PM2.5 สู่สิ่งแวดล้อมปริมาณเท่าไหร่ (ในเชิงน้ำหนักรวม) หากเรามีกฎหมาย PRTR จะช่วยให้รัฐบาลมีข้อมูลและรู้ได้ว่าปริมาณฝุ่น PM2.5 ปล่อยจากโรงงานทั่วประเทศต่อปีในปริมาณเท่าไหร่ เช่น กี่กิโลกรัมต่อปี หรือกี่ตันต่อปี เป็นต้น

แล้วอะไรเป็นปัจจัยหลักให้คนไทยแก้ไขมลพิษทางอากาศ ไม่ได้

เพ็ญโฉม  : ความไม่เข้าใจและการมองไม่เห็นความสำคัญ 

เวลาที่คุณไม่เข้าใจ คุณจะไม่รู้เลยว่าต้องทำอย่างไรให้อากาศสะอาด ถ้าคุณเข้าใจ คุณจะรู้ว่าคุณต้องไปแก้ที่แหล่งกำเนิด แล้วถ้าคุณจะแก้ที่แหล่งกำเนิด คุณจะต้องมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจว่าคุณแก้ยังไง ถ้าคุณไม่มีข้อมูล คุณก็แก้ไม่ได้ คุณก็เป็นตาบอดคลำช้าง แล้วแล้วต้องดูว่าใครเป็นผู้ให้ข้อมูล สมมติเราเป็นนายกรัฐมนตรี และในปีนี้นายรัฐมนตรี มลพิษอากาศรุนแรงมากอยู่ในขั้นวิกฤต ถ้าหูของเราฟังแต่ข้อมูลจากแหล่งกำเนิด ผู้ประกอบการว่าฝุ่นมันอยู่ในค่ามาตรฐานนะ ตรวจแล้ว เมื่อวานกรมควบคุมมลพิษก็ลงไปตรวจ กรมโรงงานก็ลงไปตรวจ ก็ไม่มีปัญหาครับ คุณเชื่อไหม คือพอมันไม่มีข้อมูลคุณก็ตาบอดคลำช้าง ต้องเชื่อไปตามที่เขาให้ข้อมูลจริงๆ ใครพูดอะไรมาคุณก็เชื่อคุณก็ฟังเพราะไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนมาให้เราดู และใช้ประกอบการตัดสินใจ 

อีกประเด็นคือการเห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อม ถ้าคุณเห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อม ว่าสิ่งแวดล้อมมันมีคุณค่าอย่างไรบ้างต่อคน ต่อสังคม ต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ เห็นความสำคัญว่าหากสิ่งแวดล้อมล้มจะส่งผลกระทบเหมือนโดมิโนนะ เวลาที่สิ่งแวดล้อมมีปัญหา นั่นหมายถึงว่าความสุขของคนลดลงแล้ว ความเครียดมันเพิ่มขึ้น ความเครียดสะสมก็ทำให้คนป่วย ซึ่งสารมลพิษบางตัวทำลายไปถึงยีนส์ ไม่แปลกเลยว่าทำไมทุกวันนี้คนที่เกิดมามีความไม่สมบูรณ์เยอะ มลพิษบางตัวทำให้เกิดพิษเฉียบพลัน บางตัวป่วยเรื้อรัง ทั้งหมดนี้คือราคาที่สังคมต้องจ่าย คือราคาที่เงินภาษีของเราต้องแบกรับ 

หากว่าผู้นำรัฐบาล รัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี ข้าราชการระดับสูง ผู้ที่ออกกฎหมายเห็นความสำคัญว่ากฎหมาย PRTR นี้จะนำไปสู่อะไร พี่เชื่อว่าเขาจะผลักดันให้มันเกิดเป็นนโยบาย 

การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในเรื่องสิ่งแวดล้อมสำคัญอย่างไร

เพ็ญโฉม  : การเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนสำคัญ ไม่ใช่ว่าพี่พูดว่ามันสำคัญ แต่ว่ามันผ่านระยะกาลเวลาที่ผ่านมามันชี้ให้เห็นว่ามันสำคัญโดยมีหลักฐานที่บอกโดยตัวมันเอง ยกตัวอย่างโรคมินามาตะ หรือโรคจากพิษปรอทที่มินามาตะของญี่ปุ่น ชาวบ้านเห็นความผิดปกติในธรรมชาติ นกเริ่มตาย ปลาเริ่มตาย แมวตาย คนที่จะรับรู้อันดับแรกก็คือชาวบ้าน เพราะฉะนั้นการส่งสัญญาณจากชาวบ้านเป็นตัวบอกเหตุที่ดี ชาวบ้านได้รับสัญญาณที่ผิดปกติแล้วส่งสัญญาณ ถ้าหน่วยงานส่วนท้องถิ่นหรือผู้ประกอบการรับฟัง ปัญหาจะไม่รุนแรง จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมแต่ละประเทศยืนยันแล้วว่าการรับฟังความเห็นของชาวบ้านนั้นมีความสำคัญ มันจะช่วยลดระดับความรุนแรงหรือความเสี่ยงนั้นได้ทันถ่วงที เพราะฉะนั้นชาวบ้านจะเป็นทั้งต้นทางและเป็นปลายทางของความเดือดร้อนที่อาจเกิดขึ้น 

นี่เป็นเหตุให้ตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา สหประชาชาติชี้ว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนมีความสำคัญมา และเป็นพื้นฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืนประเทศสหรัฐอเมริกาในยุคที่เขาแก้ปัญหาโรคมะเร็งจากอุตสาหกรรมปิโตรเลียมได้ เขาวางชาวบ้านให้สังเกตการณ์ กลิ่น สี ควัน ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชุมชน แล้วเอาข้อมูลนี้มาประกอบการวางแผนแก้ไขปัญหา 

ประวัติศาสตร์ของการเคลื่อนไหวต่างๆทำให้เรารู้ว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนนี้สำคัญ คำถามจึงเป็น “ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร” 

จากประสบการณ์การทำงานทั้งหมด คุณได้อะไรจากการเป็นนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม

เพ็ญโฉม : พี่จบศิลปศาสตร์ภาษาอังกฤษมา แต่พอเข้ามาทำเรื่องนี้มันทำให้พี่ต้องศึกษาทุกอย่างด้วยตนเองหมดเลย สมมติจะพูดถึงไดออกซินเราจะต้องไปอ่านว่าตัวนี้คืออะไร ในยุค 10 ปี แรกที่ยังไม่ไม่มีอินเทอร์เน็ต เราหาจากเอกสารเยอะมาก เราต้องทำงานบนเอกสาร อย่างน้อยๆ 5 ปีแรกเราทำงานค้นคว้าจากเอกสารเยอะทีเดียว มันไม่ได้เบ็ดเสร็จง่ายดายอย่างปัจจุบัน เราต้องศึกษากฎหมายเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องของค่ามาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม เรื่องของสารเคมี อันนี้คือพูดง่ายๆ ว่าการทำงานตรงนี้ทำให้เราได้ความรู้พอสมควร ความรู้ในเชิงเนื้อหาวิชาการ ความรู้ในเชิงการขับเคลื่อนงาน 

อีกประเด็นคือพี่ได้เป็นเพื่อนกับชาวบ้านที่เขาเดือดร้อนและเขาไม่มีทางออก อย่างน้อยให้เขามีกำลังใจ เราเป็นคนให้ข้อมูลบ้าง เชื่อมต่อให้กับคนที่น่าจะแนะนำเขาได้ หรือบางอย่างเราก็ลงไปทำวิจัยให้ ไปตรวจสอบให้ งานของเราได้มีส่วนในการที่เข้าไปคลี่คลาย แก้ปัญหาให้ชาวบ้านและสังคมบ้าง

คำถามสุดท้าย เป้าหมายสูงสุดของการเป็นนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมของเพ็ญโฉม แซ่ตั้งคืออะไร

เพ็ญโฉม  : คือจริงๆ พี่ไม่ได้ตั้งเป้าอะไรชัดเจน เหมือนทำมูลนิธิบูรณะนิเวศนี้มาเพื่อเป็นพื้นที่สนับสนุนชาวบ้านที่เขาเดือดร้อนจากมลพิษอุตสาหกรรม ไม่ได้ตั้งเป้าว่าเราจะต้องเป็นนักรณรงค์ที่มีชื่อเสียง หรือเป็นนักรณรงค์ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องอากาศ เชี่ยวชาญเรื่องน้ำ 

เราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ หากเปรียบเทียบไปแล้ว เราอาจจะคล้ายเป็ด คือว่ายน้ำพอได้ บินพอได้ ในงานด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับปัญหามลพิษ เราก็ต้องศึกษาข้อมูลเยอะเพื่อเอามาใช้ประโยชน์ในการรณรงค์และต่อสู้กับปัญหา  เรามีงานรณรงค์หลายเรื่องหลายประเด็นด้วยกัน ก็มีบางงานที่เราทำสำเร็จแล้ว บางงานเราทำไม่สำเร็จ และมีหลายงานมากที่เราต้องทำต่อ มีงานบางงานที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายบ้าง ผลที่เกิดขึ้น ผลที่เกิดขึ้นก็มีส่วนช่วยชุมชนในบางพื้นที่แก้ปัญหาได้หรือลดความรุนแรงของปัญหาลงได้ในระดับหนึ่ง เป็นต้น 

ร่วมผลักดันกฎหมาย #ThaiPRTR เพื่อเปิดเผยข้อมูลมลพิษได้ที่ https://act.gp/3XDRARo

© Tadchakorn Kitchaiphon / กรีนพีซ