บทความโดย รวิชญ์ บุญทน นักศึกษาฝึกงาน

© ทรงวุฒิ จุลละนันท์ / กรีนพีซ

แม้นโยบายทวงคืนผืนป่าที่เกิดขึ้นในยุค คสช.ตั้งแต่ปี 2557 จะอ้างว่าเป็นไปเพื่อลดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ด้วยการออกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 64/2557 เรื่อง การปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทําลายทรัพยากรป่าไม้ แต่นโยบายที่ผิดพลาดนี้สร้างความไม่เป็นธรรมและความขัดแย้งในการเข้าถึงทรัพยากรของชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศ  หนึ่งในนั้นคือพื้นที่ตำบลคำป่าหลาย จังหวัดมุกดาหาร

ภายใต้ปฏิบัติการทวงคืนผืนป่าทำให้ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลายถูกแย่งยึดพื้นที่ทำกิน การเรียกร้องของชุมชนเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบ และยืนยันถึงสิทธิอันชอบธรรมในพื้นที่ทำกินกลายมาเป็นข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานรัฐและชาวบ้าน ทั้งการจับกุม การถูกดำเนินคดีในข้อหาบุกรุก ชุมชนต้องทนอยู่ในสภาพที่ถูกจำกัดสิทธิการทำกิน และการที่จะได้พื้นที่ทำกินคืนก็ยากเย็นแสนเข็ญ 

นอกจาก “ทวงคืนผืนป่า” ที่เป็นมรดกของการใช้อำนาจที่บิดเบี้ยว ยังมี “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่ผลักดันโดยอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดที่ฟอกเขียว ที่ซ้อนทับลงไปบนชะตากรรมของ “คำป่าหลาย” อีกชั้นหนึ่ง

เขตเศรษฐกิจพิเศษ” แลกกับวิถีชีวิตของชาวคำป่าหลาย 

© ทรงวุฒิ จุลละนันท์ / กรีนพีซ

คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ) เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2557 มีมติเห็นชอบให้มุกดาหารเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพเหมาะสมในการจัดตั้ง “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ต่อมาในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน พื้นที่ 3 อำเภอ 11 ตำบล รวมเนื้อที่ 361,524 ไร่ในจังหวัดมุกดาหาร คือพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) มีหน้าที่ส่งเสริมให้มีการลงทุนภายในประเทศ และมีมาตรการลดย่อนภาษีให้แก่บริษัทเอกชนที่มาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ คำถามที่ชุมชนต่อหน่วยงานรัฐคือ แล้วประชาชนอยู่ตรงไหน?ในฐานะเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย พวกเขาจะได้ผลประโยชน์อะไรกับโครงการเหล่านี้บ้าง?

“คำป่าหลาย” คือพื้นที่ทำกินของชุมชนมายาวนาน แต่คนในชุมชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคตแม้แต่น้อย

การต่อสู้กับอุตสาหกรรมเหมืองแร่ 

เป็นเวลา 9 ปีที่ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลายลุกขึ้นต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิทำกิน เริ่มตั้งแต่โครงการเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินทรายเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้างของเอกชนในปี 2559 ที่อนุมัติโดยเทศบาลมุกดาหาร

© ทรงวุฒิ จุลละนันท์ / กรีนพีซ

ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลายยื่นหนังสือยกเลิกคำขอประทานบัตรโครงการเหมือง โดยยืนยันว่ามีการตรวจพบร่องน้ำและแหล่งน้ำซับที่ชาวบ้านในพื้นที่ใช้ประโยชน์มายาวนาน สภาเทศบาลตำบลจึงมีคำสั่งใหม่ไม่เห็นชอบให้มีการทำเหมืองแร่หินทราย

พ.ร.บ.เหมืองแร่ปี 2560 ระบุว่า พื้นที่กำหนดเป็นแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองจะต้องไม่เป็นพื้นที่ที่กฎหมายห้ามการเข้าใช้ประโยชน์โดยเด็ดขาด พื้นที่เขตความปลอดภัยและความมั่นคงแห่งชาติ หรือพื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับ การทำประกอบกิจการเหมืองใดๆ จะต้องกันพื้นที่เหล่านี้ออกก่อน

ถือเป็นชัยชนะสำคัญต่อชาวบ้านกลุ่มน้ำซับคำป่าหลายที่ร่วมยืดหยัดคัดค้านโครงการเหมืองแร่ที่จะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่

ตอบโต้การแย่งยึดที่ดิน

แม้ว่าการคัดค้านโครงการเหมืองแร่จะประสบผล ทว่าความสงบอยู่กับชาวคำป่าหลายได้ไม่นานเมื่อมีนโยบายทวงคืนผืนป่า

เหตุการณ์การยึดคืนพื้นที่ของกรมป่าไม้เริ่มในช่วงปี 2560 – 2561 โดยมีที่ดินที่ถูกยึดจำนวน 2 งาน – 24 ไร่ ทำให้หลายครัวเรือนต้องสูญเสียประโยชน์ในที่ทำกินมายาวนาน

© ทรงวุฒิ จุลละนันท์ / กรีนพีซ

จากการบอกเล่า หน่วยงานรัฐได้ใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรมในการยึดพื้นที่คืน ทั้งข่มขู่ คุกคาม สร้างความหวาดกลัวให้กับชาวบ้านในพื้นที่ รวมถึงการทำลายไร่มันสำปะหลัง ตัดต้นยางพารา เพื่อนำพื้นที่ที่ยึดไปปลูกป่า นอกจากนี้ยังแจ้งความประชาชนในพื้นที่ ข้อหาบุกรุกป่า ซึ่งทำให้ประชาชนหลายคนนั้นต้องมีคดีติดตัว 

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบหลายด้าน รวมทั้งรายได้ที่ลดลง มีประชาชนกว่า 50 ครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบในเรื่องรายได้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อรายได้ลดลงก็ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่ต้องละทิ้งอาชีพเกษตรกรเพื่อออกไปทำงานรับจ้าง หรือไม่ก็ทำงานรับจ้างควบคู่ไปกับการทำงานเกษตร 

การยึดคืนพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน ส่งผลกระทบให้อัตราหนี้ครัวเรือนในชุมชนเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากชุมชนในท้องถิ่นที่ดำรงชีวิตด้วยการพึ่งพาผืนดินและผืนป่าต้องขาดรายได้ การเข้ามายึดพื้นที่โดยรัฐ ทำให้ชุมชนสูญเสียระบบเกษตรกรรมเพื่อเลี้ยงชีพ คนในชุมชนจะต้องถูกบังคับให้เปลี่ยนอาชีพ หรือไม่ก็ต้องอพยพย้ายถิ่นออกจากบ้านของตนเองเพื่อหารายได้จากทางอื่น หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นได้สร้างวงจรอุบาทว์ของความยากจน

ในช่วงที่ชุมชนยังใช้พื้นที่ทำกินได้ ส่วนใหญ่เลือกกู้ยืมเงินกับธนาคารเพื่อการเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อนำมาลงทุนทำการเกษตร แต่เมื่อต้องเผชิญกับการรุกไล่ของปฏิบัติการทวงคืนผืนป่าและการแย่งยึดที่ดิน ทำให้ชุมชนไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตและนำไปขายได้ และงานรับจ้างทั่วไปในพื้นที่ก็ไม่เพียงพอ แน่นอนว่าไม่มีเงินมาจ่ายให้กับธนาคาร ทางเลือกเพียงไม่กี่ทางที่เหลืออยู่นั่นคือการกู้นอกระบบ ซึ่งบางครั้งรายได้ก็ไม่เพียงพอ จ่ายได้แค่ดอกเบี้ยแต่ไม่มีเงินจ่ายหนี้สินที่เป็นเงินต้น

© ทรงวุฒิ จุลละนันท์ / กรีนพีซ

ผลก็คือเกิดวงจรแห่งความจน ซึ่งวงจรดังกล่าวจะถูกส่งต่อไปจากรุ่นสู่รุ่น เพราะผู้ปกครองไม่มีเงินเพียงพอที่จะผลักดันให้ลูกหลานมีโอกาสไปทำงานที่มีรายได้มากกว่า ลูกหลานจึงตกอยู่ในสถานะที่ยากจนเหมือนกัน ยิ่งไปกว่านั้นบางครอบครัวอาจต้องแบกรับภาระจากผู้ปกครองอีกด้วย 

นี่คือการส่งต่อมรดกความยากจนอย่างไม่เต็มใจ และสะท้อนให้เห็นถึงรากเหง้าปัญหาความยากจนที่เกี่ยวข้องกับความสามารถในการเข้าถึงทรัพยากรอย่างเช่นที่ดินทำกิน ซึ่งเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรม

แต่ที่สุดแล้ว ชุมชนชาวคำป่าหลายเลือกที่จะไม่ยอมจำนนต่ออำนาจที่ไม่ชอบธรรม พวกเขาจึงรวมตัว ร่วมทุน ส่งตัวแทนเดินทางมายังกรุงเทพฯ เพื่อยื่นเรื่องให้กับรัฐสภา ให้พิจารณาถึงกรอบของการใช้อำนาจของหน่วยงานรัฐในการแย่งยึดที่กำกินของชุมชน

คณะกรรมาธิการที่ถูกจัดตั้งได้ตรวจสอบและเห็นว่าปฏิบัติการทวงคืนผืนป่าของรัฐนั้นเป็นการใช้อำนาจที่ฉ้อฉล ในท้ายที่สุดที่ดินทำกินกลับมาสู่ชุมชนหลังจากเกือบ 6 ปีที่ถูกแย่งยึดไป พิสูจน์ถึงหยาดเหงื่อ คราบน้ำตา และแรงผลักดันที่ทำให้พวกเขาต่อสู้ เรียกร้องในสิทธิที่ควรจะเป็นของส่วนรวม คือสิ่งที่บ่งบอกถึงพลังของคนในชุมชน จิตสำนึกร่วมของผู้คนที่ต้องการต่อสู้ การเอาชนะความอยุติธรรมที่กดทับพวกเขา

พลังงานหมุนเวียนที่แท้จริงต้องไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

นโยบาย BCG หรือการพัฒนาเพื่อสิ่งแวดล้อมที่สร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจให้กับชุมชน และสังคมกลายเป็นเครื่องมือกดทับชุมชนท้องถิ่น เมื่อบริษัทอุตสาหกรรมพลังงานมุ่งดำเนินโครง

การเพื่อแสวงหากำไรและไม่ใยดีต่อบริบทของสิทธิของชุมชนในการจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในท้องถิ่นอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม

© ทรงวุฒิ จุลละนันท์ / กรีนพีซ

ถึงแม้ว่ากังหันลมผลิตไฟฟ้าจะเป็นระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด ก็ไม่ได้หมายความว่า โครงการจะเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ทำกินของชุมชน จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเปิดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่อย่างกว้างขวางและครอบคลุม ซึ่งไม่ใช่เพียง “การทำประชาพิจารณ์” ที่ทำเป็นแค่พิธีกรรม

บริษัทที่ได้รับอนุญาตจากรัฐในการสร้างฟาร์มกังหันลมผลิตไฟฟ้าได้เข้าไปจับจองพื้นที่โดยนำหลักไปปักเป็นการระบุขอบเขต ชาวบ้านในพื้นที่เล่าว่า “มีเจ้าหน้าที่เอาเสามาปักบริเวณไร่มันสำปะหลัง ซึ่งจู่ ๆ ก็มีแท่งอะไรไม่รู้มาปักอยู่ในไร่โดยไม่บอกกล่าวอะไรเราเลย” ชาวบ้านเองก็ไม่ทราบว่าเหตุใดจึงมีการปักกั้นอาณาเขตเช่นนี้ และไม่มีการแจ้งเหตุอะไรจากทางรัฐเลย ประชาชนต้องเข้าไปสอบถามเอง

ทั้งนี้ หน่วยงานรัฐออกประทานบัตรให้บริษัทสร้างฟาร์มกังหันลมผลิตไฟฟ้าในพื้นที่จำนวน 121 ไร่ 3 งาน 68 ตารางวา โดยทับซ้อนกับพื้นที่ทำกินของชุมชน อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ไม่เคยมีใครเข้ามาถามความคิดเห็นหรือแจ้งกับชุมชนแม้แต่น้อย

การกระทำลักษณะนี้เป็นการละเมิดกระบวนการทางกฎหมายชัดเจน ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลายต้องลุกขึ้นต่อสู้เพื่อยืนยันสิทธิในที่ดินทำกินของตนเองอีกครั้ง ด้วยการแสดงจุดยืนไม่เอาโครงการกังหันลมผลิตไฟฟ้า ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อใช้ประโยชน์ที่ดินที่ชุมชนใช้ประโยชน์ไปแสวงหาผลประโยชน์และฟอกเขียว ผ่านนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจ BCG

แม้ต้องสูญเสีย ทำไมถึงชุมชนลุกขึ้นสู้? 

© ทรงวุฒิ จุลละนันท์ / กรีนพีซ

การต่อสู้ของชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลายยังคงดำเนินต่อเนื่อง ตั้งแต่การคัดค้านโครงการเหมืองแร่หินทราย จนมาถึงโครงการผลิตไฟฟ้าจากกังหันลม  แม้ว่าพวกเขาจะไม่มีกรรมสิทธิ์อย่างถูกต้องตามกฎหมายในพื้นที่ทำกิน แต่การที่พวกเขาใช้พื้นที่นี้หาเลี้ยงชีพมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ พวกเขาจึงควรได้สิทธิ์และมีส่วนร่วมในการใช้และจัดการทรัพยากรนี้ร่วมกับรัฐ 

ผืนดินนี้เป็นสิ่งสุดท้ายที่ชุมชนจะเสียไปไม่ได้ นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมชาวบ้านกลุ่มน้ำซับคำป่าหลายต้องลุกขึ้นมาต่อสู้  นั่นคือที่นี่เป็นที่ทำกินและเปรียบเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของพวกเขา เป็นแหล่งผลิตอาหารแหล่งน้ำซับ 

พวกเขาไม่ได้เพียงสู้เพื่อให้ตนเองมีที่ดินทำกิน แต่พวกเขาต้องการปกป้องผลิตแหล่งอาหาร  แม้ว่าจะต้องเป็นหนี้ และต้องเผชิญกับคดีความแต่สู้เพื่ออนาคตที่พวกเขาจะมีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ สามารถใช้งานและกินได้ ซึ่งสวยงามและสดใสกว่ามลพิษที่มาจากเหมือง และการละเมิดสิทธิชุมชนโดยการฟอกเขียวพลังงานหมุนเวียน

อ้างอิง

https://www.thaipost.net/main/detail/16102

https://mgronline.com/local/detail/9660000048180

https://siamrath.co.th/n/390098

https://www.thaipost.net/district-news/209703/

https://prachatai.com/journal/2022/10/101177

https://prachatai.com/journal/2021/09/95198